Promotion of Resilience in Children and Adolescents

การส่งเสริมพลังสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่น

Promotion of Resilience in Children and Adolescents

การส่งเสริมพลังสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่น

นพ พนม เกตุมาน

“The greatest glory in living lies not in never falling, but in rising every time we fall”

Ralph Waldo Emerson 1900

บทนำ

            ชีวิตที่เข้มแข็งเกิดจากการปรับตัว ปัญหาและอุปสรรคเป็นเรื่องปกติของการดำเนินชีวิต เมื่อได้เผชิญปัญหาแล้วปรับตัวได้ จะมีความสามารถในการต่อสู้ปัญหาต่อไป มีความมั่นใจ ไม่ท้อถอย มีพลังทางจิตใจที่จะเผชิญปัญหาในชีวิตได้อย่างมั่นคง  การเรียนรู้และปรับตัวนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เด็ก และสะสมจนเป็นคุณลักษณะที่แตกต่างกันเฉพาะตัว พัฒนาเป็นบุคลิกภาพ เมื่ออยู่ในเหตุการณ์ที่ลำบากหรือสะเทือนขวัญ หรือคุกคามชีวิตมากๆ ที่อาจทำให้ตกใจ กลัว ท้อถอยในระยะแรก เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต คนที่ปรับตัวไม่ได้ อาจเกิดปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ หรือพฤติกรรมผิดปกติได้รุนแรงหรือยาวนาน คนเราจึงต้องมีความสามารถในการต่อสู้ ปรับตัว เพื่อให้กลับมาสู่สภาวะปกติได้ดังเดิมอย่างรวดเร็ว ความสามารถในฟื้นตัวกลับมา หลังจากประสบภัย คือ Resilience หรือ พลังสุขภาพจิต

                เด็กเป็นวัยที่เรียนรู้การปรับตัว การส่งเสริมให้เด็กเติบโต โดยมีพลังสุขภาพจิตดี จะสามารถเผชิญชีวิตที่มีปัญหารุนแรง ภัยพิบัติ โรคระบาด การเจ็บป่วย ได้อย่างมีความสุข

คำจำกัดความ

Resilience” หมายถึง ความสามารถในการฟื้นตัว กลับจากภาวะยากลำบาก สู่สภาพปกติ หรือ ความสามารถในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว บัญญัติศัพท์ในภาษาไทยสำหรับคำนี้ ได้แก่ “พลังสุขภาพจิต”1  (กรมสุขภาพจิต 2552) “ความสามารถในการฟื้นพลัง”2 (พัชรินทร์ อรุณเรือง 2545) “ภูมิคุ้มกันทางใจ”3 (ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา 2549) และ “ความเข้มแข็งทางใจ”4 (ประเวช ตันติพิวัฒนกุล 2550) (2560) และ “ความยืดหยุ่น (ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย)5

สรุป resilience คือ ความสามารถในการฟื้นคืนกลับ ไปสู่สภาวะปกติ เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรง ภาวะเสี่ยง หรือภาวะวิกฤตเป็นภัยต่อชีวิต ได้อย่างรวดเร็ว กลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติเหมือนเดิม

ในคนไทย มีการศึกษาพบว่าคุณลักษณะของคนไทย6 ที่จะแสดงว่ามีพลังสุขภาพจิตดี มี 3 ประการ คือ

  1. พลังอึด  อดทน สงบจิตใจได้เร็ว ยอมรับปัญหา
  2. พลังฮึด  คิดบวก มีกำลังใจ ไม่ท้อแท้ หาโอกาส
  3. พลังสู้  กล้าต่อสู้ เผชิญปัญหา วิเคราะห์ หาคุณค่าและความหมายใหม่ สร้างสรรค์ หาทางออก  แก้ไขปัญหา

ความสามารถในการฟื้นตัวกลับคืนมาเป็นปกตินั้น เป็นการเรียนรู้ในชีวิต ที่เกิดจากประสบการณ์ตั้งแต่เด็ก  ทำให้เกิดความเข้มแข็งทางใจ โดยมีมีปัจจัยช่วย 3 ด้าน7 คือ

                1. กำลังใจ   คือ มีปัจจัยภายนอกที่เป็นต้นทุนทางจิตใจ เป็นหลักให้พึ่งพา เช่น คนที่เป็นที่รัก ได้แก่ พ่อแม่ ญาติ พี่น้อง เพื่อน เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนบ้าน คนที่ใกล้ชิด รับฟัง ให้กำลังใจ  ให้คำปรึกษาแนะนำ ทำให้รูสึกว่ามีที่พึ่ง ไม่โดดเดี่ยว

                2. ความมั่นคงทางอารมณ์  เป็นคุณลักษณะภายในจิตใจ  ที่มีความมั่นคง ไม่หวั่นไหวง่าย เวลาเครียดหรือกลัวจะสงบได้เร็ว ไม่แตกตื่นตกใจ ควบคุมอารมณ์ให้สงบได้ดี มีกำลังใจ ไม่ล้มเลิกอะไรง่ายๆ  อดทน ทนทาน ทนต่อเรื่องไม่สบายใจ ไม่อ่อนไหวง่าย ไม่ถูกกดดันง่าย  ไม่เครียดง่าย  อยู่ในความกดดันได้ ทนต่อความลำบาก  มีความหวังอยู่เสมอ  ไม่หวั่นไหวต่อคำพูดคนอื่น สอนและเตือนตัวเองได้   เอาชนะความทุกข์ใจได้ มองโลกในแง่ดี  ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน  มีความรักและเมตตาหวังดีคนอื่นได้  เข้าใจผู้อื่น เข้าใจโลกและความเป็นจริง ไม่ติดอยู่กับอดีตที่เลวร้าย มีจิตใจที่มุ่งมั่นสู่เป้าหมายที่ต้องการ 

                ความมั่นคงทางจิตใจ มีองค์ประกอบสำคัญ คือ ความคิดด้านบวก (positive thinking) และ อารมณ์ด้านบวก (positive emotion)

                3. การจัดการกับปัญหา  เป็นปัจจัยภายในตน ทักษะในการแก้ปัญหา  ควบคุมตัวเองได้  คิดวิเคราะห์ เข้าใจปัญหา หามุมมองที่ดีต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่หนีปัญหา แสวงหาข้อมูล มีที่ปรึกษา มีความคิดริเริ่มหาวิธีแก้ปัญหาหลากหลาย  รู้ว่าตนเองมีทักษะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ มีทักษะหลายด้าน รู้วิธีที่จะเรียนรู้ในการพัฒนาตนเองต่อไปได้ และสามารถหาทางออกได้ โดยไม่ยอมแพ้  

                การจัดการกับปัญหาจะทำได้ดี เมื่อจิตใจมั่นคง อารมณ์สงบ ไม่หวั่นไหว ทำให้ใช้ความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การประเมินพลังสุขภาพจิต  ใช้แนวทางของ Grotberg8,9,10  เพื่อวัดองค์ประกอบของ resilience  3 ด้าน ดังนี้

                1.  I have (ฉันมี) ปัจจัยสนับสนุนภายนอก ได้แก่ คนที่สนิทสนม มีความสัมพันธ์ดี ผูกพันกันจนเชื่อใจ ไว้วางใจได้ คนที่ช่วยแนะนำ ตักเตือน และสอน เป็นต้นแบบ ให้กำลังใจ สนับสนุน ครอบครัวและชุมชนที่มั่นคง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ระบบทางแพทย์สาธารณสุข การศึกษา สวัสดิการ และความปลอดภัย

                2.  I am (ฉันเป็น) ปัจจัยภายใน เป็นคุณลักษณะ ที่ประกอบด้วย ความเข้มแข็งภายใน  พื้นอารมณ์ที่ดี  ความมั่นคงเข้มแข็งทางใจ สามารถสงบใจได้เร็ว ไม่แตกตื่นตกใจเมื่อประสบภัย  เป็นที่รักและยอมรับของผู้อื่น มีความภาคภูมิใจในตนเอง มีความรักเมตตา เห็นอกเห็นใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความรับผิดชอบ มีอารมณ์ขัน มีความเชื่อในสิ่งที่ดีงาม

                3.  I can(ฉันสามารถ) เป็นปัจจัยภายใน ที่ประกอบด้วย ทักษะการจัดการกับปัญหา การจัดการกับปัญหาได้อย่างเหมาะสม และสร้างสรรค์ทางออก มุ่งมั่นต่อสู้ให้งานสำเร็จ และทักษะการสร้างและรักษาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล  สามารถประเมินอารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น ขอคำแนะนำและขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

                เครื่องมือที่ใช้วัดองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านนี้ คือ แบบประเมินความแข็งแกร่งในชีวิต (Resilience Inventory) พัฒนาเป็นฉบับภาษาไทย11 โดย พัชรินทร์ นินทจันทร์ (ภาคผนวก)

      เครื่องมืออีกฉบับหนึ่งที่ใช้แนวคิดเดียวกัน คือ The Child and Youth Resiliency Measure – CYRM (CYRM) วัดความสามารถในการฟื้นคืนตัวจากอุปสรรคชีวิตของเด็ก (Resilience) ที่สามารถใช้ได้ในหลากหลายวัฒนธรรม12,13,14  (ภาคผนวก)

การเสริมสร้าง Resilience ในเด็กและวัยรุ่น15

      พลังชีวิตไม่ได้เกิดโดยอัตโนมัติ  เป็น การเรียนรู้ไปตามพัฒนาการ ตามวัย สะสม เด็กแต่ละคนเกิดขึ้นแตกต่างกัน มีปัจจัยประกอบ เช่น พื้นอารมณ์ (temperament) ระดับสติปัญญา การช่วยเหลือโดยครอบครัว (family support)  การเผชิญกับปัญหา และการฝึกให้เด็กเผชิญปัญหาตามวัย ปัญหาที่รุนแรงมากเกินความสามารถเด็ก อาจทำให้เกิดความเครียดมาก จนเกินกว่าจะปรับตัวได้ เมื่อเด็กปรับตัวได้ จะเกิดทักษะในการเผชิญและแก้ปัญหา ไม่กลัวเมื่อเกิดปัญหาขึ้นอีก จะปรับตัวได้เร็ว  

รู้ได้อย่างไรว่าเด็กมี resilience16

      เด็กที่มีพลังสุขภาพจิตดี จะผ่านพ้นการเปลี่ยนแปลงตามวัยได้อย่างราบรื่น มีพัฒนาการครบทุกด้าน มีความฉลาดทางอารมณ์  มี Executive function และแนวคิดทางบวก (Growth Mindset) พฤติกรรมแสดงออกถึงการปรับตัวได้ มีทักษะสังคม มีเพื่อน ผลการเรียนตามเกณฑ์ เมื่อเติบโตขึ้นมีงานและอาชีพ ไม่มีปัญหาอารมณ์ ไม่มีพฤติกรรมผิดปกติ

ทฤษฎีของพลังสุขภาพจิตในเด็ก17 (The Child Resilience Theory)

                การส่งเสริมให้เกิดพลังสุขภาพจิต ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ปัจจัยป้องกันส่งเสริม( compensatory model) ปัจจัยป้องกันความเสี่ยงในชีวิต (protective factor model)  

ปัจจัยป้องกันส่งเสริม เป็นตัวช่วยให้ลดความเสี่ยงก่อนเกิดปัญหา เช่นพ่อแม่หรือครูที่ดี จะช่วยปกป้อง (risk-protective process) โดยการเลือกสิ่งแวดล้อม ทำให้ความเสี่ยงลดลง หรือพ่อแม่ครูช่วยส่งเสริมให้เด็กมีปัจจัยบวกในการเผชิญปัญหา (protective-protective process)  โดยการฝึกให้เด็กเผชิญปัญหาตามวัย ไม่ปกป้องช่วยเหลือมากเกินไป

การฝึกให้เด็กเผชิญปัญหา18  “what doesn’t kill you makes you stronger”

The challenge model: เป็นรูปแบบการฝึกให้เด็กเผชิญกับปัญหา หรือความเสี่ยงตามวัย จะเกิดความเข้มแข็งทางจิตใจและสามารถเผชิญปัญหาที่ใหญ่ขึ้นได้ แต่รูปแบบนี้ควรระวังเพราะเด็กแต่ละคนมีการตอบสนองแตกต่างกันตามพื้นฐานอารมณ์ของเด็ก ระดับสติปัญญา และการช่วยเหลือจากสิ่งแวดล้อม และปัญหานั้นไม่รุนแรงมากจนเกินกว่าที่เด็กจะปรับตัวได้  ถ้าเหตุการณ์รุนแรงมากเกินไป เช่น ถูกทารุณ ถูกข่มขืน เผชิญเหตุภัยพิบัติ เด็กอาจเกิดอาการของ โรคเครียดเฉียบพลัน (acute stress disorder) หรือ โรคเครียดภายหลังภยันตราย (posttraumatic stress disorder)  การเผชิญเหตุการณ์ควรอยู่ในวิสัยที่เด็กทั่วๆไปจะเผชิญ เช่น การย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียน บุคคลในครอบครัวย้ายเข้าย้ายออก หรือเสียชีวิต และมีการช่วยเหลือประคับประคองให้เด็กสามารถปรับตัวได้ เช่น รับฟัง ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ แก้ปัญหาที่เด็กไม่สามารถทำได้เอง การเผชิญปัญหาน้อยๆจะช่วยให้มีทักษะและความมั่นใจ มองโลกในแง่บวก มีความหวังว่าเวลาเจอปัญหา จะมีทางออกได้

ข้อสังเกตประการหนึ่ง ที่จะช่วยบอกว่าเด็กมี resilience คือ เด็กสามารถปรับตัวกลับได้เร็วเมื่อเผชิญปัญหาตามปกติในชีวิต ในทางตรงกันข้าม เด็กที่พ่อแม่เลี้ยงดูแบบช่วยเหลือมากเกินไป (overprotective attitude) ไม่ให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เด็กจะขาดทักษะในการปรับตัว เวลาเจอปัญหาในชีวิตจะเครียดง่าย ท้อแท้ง่าย ไม่ยอมต่อสู้ปัญหาด้วยตัวเอง

กิจกรรมสร้าง resilience ในเด็ก(Resilience Activities for Kids) 19,20,21,22 

                พ่อแม่และครูควรช่วยให้เด็กและวัยรุ่น โดยการเลี้ยงดู และการเรียน มีเป้าหมายให้เกิดสมรรถนะต่างๆ เพื่อให้เกิด resilience การฝึกควรมีกิจกรรมต่อไปนี้

  1. การจัดการกับชีวิต การบริหารจัดการเวลา การใช้เงิน การสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนและเพื่อนต่างเพศ  ความรับผิดชอบในบ้าน การเรียน และกิจกรรมต่อสังคมและส่วนรวม สร้างทัศนคติทางบวกในการอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่าปลอดภัยและมีความสุข รับผิดชอบผู้อื่นและสังคมสิ่งแวดล้อม ทำประโยชน์และไม่ทำอันตรายแก่ผู้อื่นและส่วนรวม
  2. กิจกรรมจิตอาสา ช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยส่วนรวม ใส่ใจคนอื่น มองส่วนรวม  ทำให้เกิดความเข้าใจผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจ มีพฤติกรรมเป็นที่รักและยอมรับ มีทักษะสังคมและการช่วยเหลือ การทำงานร่วมกับผู้อื่น รับผิดชอบสังคม มีความหมายในการดำเนินชีวิต ทำให้ลดการมองตนเอง ลดความต้องการของตนเอง มีความสุขกับการช่วยเหลือผู้อื่น
  3. การทำงาน สร้างความรับผิดชอบ การจัดการกับเวลา การบังคับหักห้ามใจตนเอง การควบคุมตนเอง เริ่มจากงานบ้าน ทำโดยหน้าที่ไม่ต้องมีค่าตอบแทน เมื่อเข้าวัยรุ่นอาจมีงานทำเพื่อหารายได้ ทำให้พึ่งพาตัวเองได้ เกิดความรู้สึกภูมิใจตนเอง มรคุณค่าและความมั่นใจตนเอง การทำงานจะช่วยเสริมทักษะในการสื่อสาร ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา และทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
  4. กิจกรรมนอกหลักสูตร (Extracurricular Activities๗ ทำตามความชอบความถนัด ความสนใจอยากรู้ จัดการกับเวลาและหน้าที่ มีเป้าหมายในชีวิต และมีความสุขกับชีวิต
  5. คิดบวก (Optimistic) หัดมองเหตุการณ์ด้านบวก และเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง มองหาสิ่งดีที่ซ่อนอยู่
  6. ผ่อนคลาย (Relaxation) มีกิจกรรมที่สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย เช่น การออกกำลังกาย กิจกรรมศิลปะ วาดรูป ระบายสี ร้องเพลง ฟังเพลง การฝึกจิตใจให้สงบ การสวดมนต์ การฝึกสมาธิ การปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ และงานงานอดิเรก
  7. ฟังคนอื่นและเรียนรู้จากผู้อื่น (Listening Learning from other) ฝึกทักษะในการฟัง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจชีวิต และเรียนรู้จากข้อคิดหรือชีวิตของผู้อื่น ทำให้มองเหตุการณ์อย่างกว้างขวาง ไม่ยึดติดกับความคิดตนเอง
  8. เริ่มสิ่งใหม่ (Try new things) มีความคิดริเริ่มและกล้าทำสิ่งใหม่ ไม่กลัวความล้มเหลว มีความสุขกับการเรียนรู้และแก้ไขตนเอง สร้างสิ่งดีๆต่อตนเองและผู้อื่น
  9. ฝึกเห็นใจ (Practice Empathy) ฝึกให้เข้าใจผู้อื่นไปจนถึงรากฐานของผู้นั้น เห็นอกเห็นใจและยอมรับความคิดความรู้สึกของผู้อื่น มีจิตเมตตากรุณาและอยากช่วยเหลือผู้อื่น
  10. ตั้งเป้าหมาย (Set Realistic Goal)  มีความเข้าใจตนเองและสามารถตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้จริง
  11. พักบ้าง (Take a Break) มีความสงบพักได้ ผ่อนคลายได้เมื่อเครียด หยุดพักเพื่อให้ร่างกายและจิตใจสงบ ฟื้นตัวและมีกำลังใจกำลังกายกลับมาต่อสู้ต่อไป
  12. กิจวัตร (Routine Activities) มีการวางแผนในการดำเนินชีวิตตามปกติ สม่ำเสมอในกิจวัตรประจำวัน การกิน การนอน การออกกำลังกาย การพักผ่อน การจัดตารางเวลาของชีวิตที่สม่ำเสมอคงที่
  13. เพื่อนสนิท (Close Meaningful  Friendship) มีเพื่อนที่สนิท ไว้วางใจได้  รับฟัง และสามารถปรึกษาได้
  14. เฝ้าระวัง (Prepare for Stressor) ไม่ประมาท มีการเฝ้าระวังความเสี่ยง อันตราย มีการป้องกันและมีแผนการแก้ไข
  15. ยอมรับการเปลี่ยนแปลง (Accept the Change) มองโลกและยอมรับการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
  16. แสวงหาความพึงพอใจ (Passion) รู้ตนเองว่าชื่นชอบสิ่งใด และมีความพยายามไปถึงสิ่งนั้น ดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความฝันและเป้าหมายตนเอง

บทบาทของพ่อแม่23,24

พ่อแม่เป็นต้นแบบ (role model) พ่อแม่เป็นแบบอย่างในการเผชิญอย่างหนักแน่น ไม่แตกตื่นตกใจ ควบคุมสถานการณ์ได้ ช่วยให้เผชิญปัญหา และเอาชนะอุปสรรคและแสดงวิธีการหรือสอนให้เด็กช่วยตัวเอง ภายในขอบเขตที่ทำได้ จนสามารถผ่านพ้นอุปสรรคไปด้วยดี ในการเป็นแบบอย่าง พ่อแม่ควรสื่อสารทัศนคติทางบวก ในการเผชิญปัญหา เป็นความท้าทาย และการมองโลก และความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหานั้น ทัศนคติของพ่อแม่ ควรเป็นแบบประชาธิปไตย (authoritative attitude) รับฟัง เปิดโอกาส อารมณ์ดี หนักแน่น ไม่หวั่นไหว สงบสติอารมณ์ได้เร็ว เข้มแข็ง ไม่ก้าวร้าว ยอมรับความผิดพลาด ไม่ยอมแพ้ และมองโลกในด้านบวก

กลุ่มวัยรุ่นสร้าง resilience25

                ใช้กิจกรรมกลุ่มสร้างการควบคุมตนเอง โดยการทบทวนตนเองและเรียนรู้ความเข้มแข็งภายในตน สร้าง “mental map”  เพื่อใช้ต่อสู้กับกับปัญหา ใช้คำถาม เพื่อให้เปิดเผยเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมา ให้มีความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อถือได้ มีความสัมพันธ์กับคนอื่นที่ดี มีความมุ่งมั่นทำเพื่อตนเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ใช้จินตนาการจัดการกับอารมณ์ มีอารมณ์ขัน และมีการกระทำที่ถูกต้องบนจริยธรรมที่ดี

สรุป

พลังชีวิต (resilience) คือความสามารถในการต่อสู้ปัญหา เพื่อกลับคืนสู่ปกติ  เป็นสิ่งที่เรียนรู้และสร้างได้ ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น พ่อแม่และครูมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างให้เกิดตั้งแต่เด็ก เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขเมื่อเกิดปัญหาในชีวิต

เอกสารอ้างอิง

1.กรมสุขภาพจิต. เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี พลังสุขภาพจิต RQ. สำนักสุขภาพจิตสังคม กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข , 2552. cited 20 May 2020. Available from: https://www.dmh.go.th/download/dmhnews/kom2008-2.pdf

2.พัชรินทร์ อรุณเรือง. ผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มต่อความสามารถในการฟื้นพลัง และกลวิธีการเผชิญปัญหาของวัยรุ่นตอนต้น. [วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต]. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2545.

3.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. อาร์คิว ภูมิคุ้มกันทางใจ 2549. cited 20 May 2020. Available from: http://www.happyhomeclinic.com/a21-RQ.htm

4.มะลิวรรณ วงษ์ขันธ์. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความแข็งแกร่งในชีวิตวัยรุ่น. วิทยานิพนธ์ปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดล; 2557.

5.เกษม ตันติผลาชีวะ, ศิริลักษณ์ ศุภปิติพร, มาโนช หล่อตระกูล, วีรพล อุณหรัศมี, มานิต ศรีสุรภานนท์.ศัพท์จิตเวช ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. 2560, 79.

6.กรมสุขภาพจิต. เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี พลังสุขภาพจิต RQ. สำนักสุขภาพจิตสังคม กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข , 2552.

7.กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข.แบบประเมินความเข้มแข็งทางใจ. cited 20 May 2020. Available from:http://envocc.ddc.moph.go.th/uploads/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1/20-21_11_61/C_3.pdf

8.Grotberg E. Promoting resilience in children: A new approach. University of Alabama at Birmingham: Civitan International Research Center,1993.

9.Grotberg EH.  The International Resilience Project: Promoting resilience in children.1995. cited 20 May 2020. Available from: https://files.eric.ed.gov/fulltext/ED383424.pdf

10.Grotberg E, Badri G. Sudanese children in the family and culture. In: Gielen UP, Adler LL,  Milgram NA. Eds. Psychology in International Perspective. Amsterdam: Swets & Zeitlinger, 1992: 213-32.

11.พัชรินทร์ นินทจันทร์. ความแข็งแกร่งในชีวิต แนวคิด การประเมิน และการประยุกต์ใช้. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : จุดทอง; 2558.

12.Ungar M. Resilience across cultures. British Journal of Social Work 2008; 38(2): 218-35.

13.Ungar M, Liedenberg L, Boothroyd R, et al. The study of  youth resilience across cultures: lessons from a pilot study of measurement development. Research in Human Development 2008; 5(3); 166-80.

14. Pityaratstian N, Ketumarn P, Piyasilpa V, Sidthiraksa N, Ularntinon S. Recovery and beyond: working with young tsunami victims in Thailand. Seishin Shinkeigaku Zasshi. 2010;112(2):153-8.

15.Greenberg, M. (2007). Promoting resilience in children and youth: Preventive interventions and their interface with neuroscience. Annals of the New York Academy of Sciences, 16, 139-150.

16. Masten, A. (2014). Ordinary magic: Resilience in development. New York, NY: The Guilford Press.

17.Yates, T. & Masten, A. (2012). Fostering the future: Resilience theory and the practice of positive psychology. cited 2 May 2020. Available from:  https://doi.org/10.1002/9780470939338.ch32

18.Yates, T. & Masten, A. (2012). Fostering the future: Resilience theory and the practice of positive psychology. cited 23 May 2020. Available from: https://doi.org/10.1002/9780470939338.ch32

19.American Psychological Association (2019). Resilience guide for parents and teachers. cited 22 May 2020. Available from:  https://www.apa.org/helpcenter/resilience.aspx

20.Blaustein, M. & Kinniburgh, K. (2018). Treating traumatic stress in children and adolescents, second edition: How to foster resilience through attachment, self-regulation, and competency. Guilford Publications. cited 21 May 2020. Available from:  https://www.guilford.com/books/Treating-Traumatic-Stress-in-Children-and-Adolescents/Blaustein-Kinniburgh/9781462537044/prior-editions

21.Gavidia-Payne, S., Denny, B., Davis, K., Francis, A., & Jackson, M. (2015) Parental resilience: A neglected construct in resilience research. Clinical Psychologist,19(3), 111-121.

22.Petty, K. (2014). Ten ways to foster resilience in young children – teaching kids to “bounce back.” Dimensions of Early Childhood, 42(3), 2014 35-39.

23.Wolin S, Desetta A, Hefner K.  A leader’s guide to the struggle to be strong: How to foster resilience in teens. Minneapolis, MN: Free Spirit Publishing, 2000.

24..Angelou M. August). A conversation with Dr. Maya Angelou 2013. cited 20 May 2020. cited 22 May 2020. Available from: //www.youtube.com/watch?v=Di–gOiowIc

25.Wolin S, Desetta A, Hefner K.  A leader’s guide to the struggle to be strong: How to foster resilience in teens. Minneapolis, MN: Free Spirit Publishing. 2000.

ภาคผนวก

แบบประเมินความแข็งแกร่งในชีวิต (Resilience Inventory)

แบบประเมินความแข็งแกร่งในชีวิตสร้างขึ้นโดย พัชรินทร์ นินทจันทร์และคณะ16 พัฒนาจากแนวคิด resilience ของ Edith Henderson Grotberg แบ่งเป็น 3 องค์ประกอบ ได้แก่ I am แหล่งสนับสนุนภายนอกที่ส่งเสริมให้เกิดความแข็งแกร่งในชีวิต (external supports) I have ความเข้มแข็งภายในของแต่ละบุคคล (inner strengths) และ I can ปัจจัยด้านทักษะในการจัดการกับปัญหาและสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (interpersonal and problem – solving skills) มีข้อคำถามทั้งหมด 28 ข้อ เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประเมินค่า (rating scale) แต่ละข้อคำถามมีคำตอบให้เลือกตอบ 5 ระดับ ตั้งแต่ระดับ 1 หมายถึง ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 2 หมายถึง ไม่เห็นด้วย 3 หมายถึง เฉยๆ 4 หมายถึง เห็นด้วย และ 5 หมายถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง คะแนนรวมในความแข็งแกร่งในชีวิต มีค่า 28-140 คะแนน คะแนนสูงแสดงว่ามีความแข็งแกร่งในชีวิตสูง โดยในงานวิจัยนี้ผู้วิจัยใช้คำว่าความสามารถในการฟื้นคืนกลับ

จากการทดสอบมีค่าความเชื่อมั่น cronbach’s alpha เท่ากับ .86-.91 โดยมีการนำไปใช้ในกลุ่มเป้าหมาย เด็กด้อยโอกาส นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ประชาชนในชุมชน นักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท และผ่านการตรวจสอบเชิงโครงสร้างขององค์ประกอบความแข็งแกร่งในชีวิต พบว่า องค์ประกอบความแข็งแกร่งในชีวิตมีความตรงเชิงโครงสร้าง

แบบประเมินความแข็งแกร่งในชีวิต (Resilience Inventory)

            คำชี้แจง ข้อความข้างล่างนี้เป็นข้อความที่บุคคลใช้ในการบรรยายตัวเอง กรุณาอ่านแต่ละข้อความ และเขียนเครื่องหมาย X ข้อที่ตรงกับคำตอบของท่านมากที่สุดเพียงข้อเดียวในแต่ละข้อคำถามเพื่อแสดงระดับความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยของท่านเกี่ยวกับข้อความแต่ละข้อความที่พูดถึงตัวท่าน

ข้อ 1. ฉันมีคนในครอบครัวอย่างน้อย 1 คน ที่ฉันสามารถไว้ใจ/เชื่อใจได้ และพร้อมที่จะให้ความรัก           แก่ฉันเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

                            1                                       2                          3                          4                                5

             ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ                เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 2. ฉันเป็นคนที่รู้จักเห็นอกเห็นใจและสามารถแสดงออกซึ่งความห่วงใยใส่ใจต่อคนรอบข้าง

                            1                                       2                          3                          4                                5

             ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ                เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 3. ฉันมีคนที่จะคอยสอน/ตักเตือน/บอก ในการกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อที่ฉันจะได้ไม่ทำในสิ่งที่อาจ            นำปัญหาและความยุ่งยากมาสู่ตัวเอง

                            1                                       2                          3                          4                                5

             ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ                เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 4. ฉันสามารถที่จะมีอารมณ์ขันเพื่อช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของตนเอง

                            1                                       2                          3                          4                                5

             ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ                เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 5. ฉันมีครอบครัวที่มั่นคง

                            1                                       2                          3                          4                                5

             ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ                เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 6. ฉันสามารถที่จะหาทางออกหรือวิธีการใหม่ๆ ที่ใช้ในการจัดการกับปัญหาที่เผชิญอยู่

                            1                                       2                          3                          4                                5

             ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ                เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 7. ฉันมีบุคคลหรือแหล่งที่ให้การดูแลฉันในเรื่องของการได้รับบริการ/สวัสดิการทางสังคม และ           ด้านความปลอดภัย

                            1                                       2                          3                          4                                5

             ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ                เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 8. ฉันสามารถที่จะขอความช่วยเหลือจากใครสักคนได้ในเวลาที่ฉันต้องการ

                            1                                       2                          3                          4                                5

             ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ                เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 9. ฉันเป็นคนที่สามารถที่จะรักและเป็นที่รักของคนอื่นได้

                            1                                       2                          3                          4                                5

             ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ                เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 10.คนใกล้ชิดของฉันบอกฉันว่าฉันเป็นคนมีนิสัยดีและวางตัวสบายๆ

                            1                                       2                          3                          4                                5

             ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ                เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 11.ฉันมีคนนอกครอบครัวอย่างน้อย 1 คนที่สามารถไว้ใจ/เชื่อใจได้ และพร้อมที่จะให้ความรัก             แก่ฉันเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

                            1                                       2                          3                          4                                5

             ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ                เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 12.ฉันเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะยอมรับและยกย่อง             ผู้อื่น

                            1                                       2                          3                          4                                5

             ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ                เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 13.  ฉันพร้อมที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ฉันกระทำ และยอมรับผลของการกระทำนั้น

                                1                                      2                          3                       4                                5

                ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ             เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 14.  ฉันรู้จักเลือกจังหวะเวลาและรู้กาลเทศะที่เหมาะสมในการพูดคุยกับผู้อื่น

                                1                                      2                          3                       4                                5

                ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ             เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 15.   คนอื่นๆ มักดูจะมีความสุขเมื่อได้พบเห็น/พูดคุยกับฉัน

                                1                                      2                          3                       4                                5

                ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ             เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 16.  ฉันเชื่อว่าชีวิตนี้ยังมีความหวังเสมอ

                                1                                      2                          3                       4                                5

                ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ             เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 17.  ฉันเป็นคนอารมณ์ดี

                                1                                      2                          3                       4                                5

                ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ             เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 18.  ฉันมีแบบอย่างที่ดีซึ่งแสดงให้เห็นอย่างสม่ำเสมอว่าการกระทำต่างๆ ในทางที่ถูกที่ควรเป็น         อย่างไร

                                1                                      2                          3                       4                                5

                ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ             เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 19.  ฉันเป็นคนที่ไม่ละความพยายามในงานที่ทำอยู่จนกว่าสำเร็จ

                                1                                      2                          3                       4                                5

                ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ             เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 20.  ฉันสามารถที่จะบอกความคิด ความรู้สึกของตนเองให้กับผู้อื่นได้

                                1                                      2                          3                       4                                5

                ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ             เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 21.  ฉันเป็นคนที่คิดพิจารณาวางแผนในอนาคตที่เป็นไปได้ในความเป็นจริง

                                1                                      2                          3                       4                                5

                ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ             เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 22.  ฉันสามารถที่จะจัดการกับปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

                                1                                      2                          3                       4                                5

                ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ             เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 23.  ฉันมีบุคคลหรือแหล่งที่ให้การดูแลฉันในเรื่องของสุขภาพและการศึกษา

                                1                                      2                          3                       4                                5

                ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ             เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 24.  ฉันมีคนที่พร้อมจะให้กำลังใจและสนับสนุนให้ฉันเป็นตัวของตัวเอง

                                1                                      2                          3                       4                                5

                ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ             เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 25.  ฉันมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งต่างๆ จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีแม้อยู่ในภาวะยากลำบาก

                                1                                      2                          3                       4                                5

                ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ             เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 26. ฉันรู้จักเลือกจังหวะเวลาและรู้กาลเทศะที่เหมาะสมในการแสดงออกทั้งด้านการพูดและการ       กระทำ

                                1                                      2                          3                       4                                5

                ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ             เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 27.  ฉันมีความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจ

                                1                                      2                          3                       4                                5

                ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย                     เฉยๆ             เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ข้อ 28. ฉันมีชีวิตอยู่ในชุมชนที่ดูแลฉันและให้ความช่วยเหลือฉันได้เมื่อฉันต้องการ (เช่น              โรงเรียน ชุมชน ที่พักอาศัยฯ )

                                1                                      2                          3                       4                                5

       ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง          ไม่เห็นด้วย   เฉยๆ       เห็นด้วย            เห็นด้วยอย่างยิ่ง

The Child and Youth Resilience Measure (CYRM)12,13

The Child and Youth Resilience Measure (CYRM) พัฒนาโดย Resilience Research Centre ในโครงการ The International Resilience Project  ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแบบวัดความสามารถในการฟื้นคืนตัวจากอุปสรรคชีวิตของเด็ก (Resilience) ที่สามารถใช้ได้ในหลากหลายวัฒนธรรม  ในเบื้องต้นแบบวัดมีจำนวนข้อคำถาม 58 ข้อ  หลังจากนั้นได้นำไปทดลองใช้กับเด็กและเยาวชนจำนวน 1451 ราย (ชาย 694, หญิง 757, mean age = 16) ใน 11 ประเทศ  ประชากรที่ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาคือเด็กและเยาวชนที่เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางจิตสังคมต่าง ๆ เช่นความรุนแรงในชุมชน  การต้องอาศัยในสถานสงเคราะห์  การมีปัญหาสุขภาพจิต  การโยกย้ายถิ่นฐาน  ความยากจน  การได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองและสงคราม  ผลการศึกษาพบว่า CYRM เป็นแบบวัดที่มีความเที่ยงตรง  โดยค่า Cronbach alpha จาก subscales ต่าง ๆ คือ Individual (23 ข้อ) ,Relational (7 ข้อ), Community (15 ข้อ), และ Cultural (12 ข้อ) ได้เท่ากับ .84, .66, .79, .71 ตามลำดับ  หลังจากนั้นผู้วิจัยได้ทำการลดข้อคำถามลงเหลือ 28 ข้อเป็นฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน

CYRM ฉบับภาษาไทยแปลโดย นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร หลังจากที่ได้ติดต่อและได้รับอนุญาต และได้รับคำแนะนำวิธีการเก็บข้อมูลและแบบสอบถามต้นฉบับ(CYRM_INTERVIEW_GUIDE) จาก Resilience Research Centre ที่มหาวิทยาลัย Dalhousie ประเทศแคนาดา

การทดสอบ Psychometric properties ของแบบสอบถาม CYRM ฉบับภาษาไทยนี้ยังไม่มีการทดสอบ 

แบบประเมินความสามารถในการฟื้นคืนตัวจากอุปสรรคชีวิตของเด็ก

(The Child and Youth Resiliency Measure – CYRM)

คำแนะนำ – จงอ่านข้อความต่อไปนี้  และพิจารณาว่าข้อความแต่ละข้อนั้นตรงกับชีวิตจริงของท่านมากน้อยเพียงใด 

 ไม่เลย   เลยเล็กน้อยปานกลาง  ค่อนข้างมากมาก    สำหรับจนท.
1. ฉันมีคนที่ฉันชื่นชมและยึดเป็นแบบอย่าง      
2. ฉันมักให้ความร่วมมือกับผู้อื่นในการทำสิ่งต่าง ๆ      
3. การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับฉัน      
4. ฉันรู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์ทางสังคมที่แตกต่างกัน      
5. ฉันรู้สึกว่าพ่อแม่ (หรือผู้ปกครอง) ดูแลฉันอย่างใกล้ชิด      
6. ฉันรู้สึกว่าพ่อแม่ (หรือผู้ปกครอง) รู้เรื่องเกี่ยวกับตัวฉันเป็นอย่างดี      
7. ฉันได้รับประทานอาหารอย่างเพียงพอในแต่ละวัน      
8. ถ้าฉันได้เริ่มทำอะไรแล้วฉันมักพยายามทำให้สำเร็จ      
9. ความเชื่อทางศาสนาเป็นสิ่งที่ให้ความหวังและกำลังใจกับฉัน      
10. ฉันภาคภูมิใจในเชื้อชาติของฉัน      
11. คนอื่น ๆ มองว่าฉันเป็นคนน่าคบหา      
12. ฉันสามารถพูดคุยระบายความรู้สึกกับบุคคลในครอบครัว      
13. ฉันสามารถแก้ปัญหาชีวิตได้โดยไม่ต้องพึ่งสุราหรือสารเสพติด      
14. ฉันรู้สึกว่ามีเพื่อนที่พร้อมจะช่วยเหลือให้กำลังใจฉัน      
15. ฉันรู้ว่าฉันควรไปหาใครดีในชุมชนเวลาฉันต้องการความช่วยเหลือ      
16. ฉันรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน      
17. ฉันคิดว่าครอบครัวจะยืนหยัดเคียงข้างฉันเสมอเมื่อฉันพบอุปสรรค      
18. ฉันคิดว่าเพื่อนจะยืนหยัดเคียงข้างฉันเสมอเมื่อฉันพบอุปสรรค      
19. ผู้คนในชุมชนของฉันปฏิบัติต่อฉันด้วยความยุติธรรม      
20. ฉันมีโอกาสได้แสดงให้คนอื่นเห็นว่าฉันกำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่      
 ไม่เลย   เลยเล็กน้อยปานกลาง  ค่อนข้างมากมาก    สำหรับจนท.
21. ฉันรู้ว่าจุดแข็งหรือข้อดีของฉันคืออะไร      
22. ฉันมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศาสนาที่มีคนจัดขึ้น      
23. ฉันคิดว่าการได้ทำประโยชน์ให้ชุมชนที่ฉันอยู่เป็นเรื่องสำคัญ      
24. ฉันรู้สึกปลอดภัยเวลาอยู่กับครอบครัว      
25. ฉันมีโอกาสฝึกฝนทักษะการทำงานที่จะมีประโยชน์ในภายภาคหน้า      
26. ฉันชอบประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในครอบครัวของฉัน      
27. ฉันชอบประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในชุมชนของฉัน      
28. ฉันภาคภูมิใจที่ฉันเป็นคนไทย      

เผยแพร่โดย

ใส่ความเห็น