คนไทยการ์ดไม่ตก คนต่างชาติไม่ยกการ์ด

คนไทยการ์ดไม่ตก คนต่างชาติไม่ยกการ์ด

                หงุดหงิดกันทั้งประเทศมั้ยละครับ พวกเราช่วยกันป้องกันอย่างดี จนไม่มีผู้ป่วยใหม่โควิด-19 มาเดือนกว่าๆ ถือเป็นความสำเร็จของทั้งประเทศ แล้ววันร้ายคืนร้ายก็มีชาวต่างประเทศที่ได้สิทธิ์พิเศษเข้ามา แล้วไม่ทำตามกติกาบ้านเรา ทำให้วุ่นวายกันไปทั้งเมือง

                บอกตรงๆว่า เหตุการณ์นี้ทำให้ประชาชนไม่พอใจมาก และโกรธที่รัฐบาลขอให้ทุกคนช่วยกันป้องกัน สูญเสียกันไปอย่างมากทั้งเศรษฐกิจ เสรีภาพ และชีวิตแบบเดิม แต่ไม่ได้ระวังในกลุ่มคนที่ได้รับอภิสิทธิ์จากรัฐบาล เข้ามาแล้วทางการไม่ได้ติดตามอย่างจริงจัง เรื่องนี้ประชาชนรับไม่ได้นะครับ

                ตามแนวทางการป้องกันความเสี่ยง เมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ รัฐบาลคงต้องกลับไปทบทวนหาสาเหตุการเกิด และรีบป้องกันความเสี่ยงต่างๆที่จะเป็นสาเหตุโดยเร็ว พร้อมกับการช่วยเหลือเยียวยาแก่คนและชุมชนที่เสียหาย แก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แทนที่จะมามัวหาคนผิดกันครับ การหาสาเหตุน่าจะเริ่มจาก การวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงให้รอบด้าน เชื่อกันว่าการเกิดปัญหาแบบนี้ มักไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการรวมๆกัน เช่น การคัดกรองที่ไม่มีประสิทธิภาพ การไม่กักตัวในสถานที่ที่กำหนด  ความไม่ใส่ใจของคนนั้นในมาตรการป้องกัน การสื่อสารที่ไม่ดีทำให้คนนั้นไม่ตระหนักในความจริงจังในมาตรการ การที่ทางการไม่ตรวจสอบว่า คนที่เดินทางเข้ามาแล้ว ได้เข้าอยู่ในสถานที่กักกันที่กำหนดจริงหรือไม่ มีการละเมิดหรือไม่ ความเกรงใจต่อคนที่มีสิทธิพิเศษ ในกรณีที่คนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย โดยได้รับเอกสิทธ์พิเศษ ทางการทูต จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานควบคุมเรื่องนี้ย่อหย่อนต่อมาตรการ  ไม่กล้าตรวจสอบ กำกับ หรือตักเตือนเมื่อมีการละเมิดกติกา เรื่องนี้เชื่อว่าทางการไทย มีมาตรการรัดกุมอยู่แล้ว และน่าจะมีการแจ้งมาตรการเหล่านั้น แต่อาจจะไม่ได้เน้น หรือกำชับอย่างจริงจังให้ทำตามอย่างเคร่งครัด เพราะถ้ามีการละเมิดแล้วเกิดปัญหา จะเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อประชาชนคนไทยจำนวนมาก ทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างรุนแรง ถ้าได้มีการชี้แจงให้ความรู้ในหลักปฏิบัติก่อนจะเข้าประเทศไทยแล้ว ยังมีการละเมิดอีก แสดงว่าเป็นความไม่ใส่ใจของคนๆนั้น ซึ่งน่าจะคาดเดาต่อไปว่า เกิดจากการได้รับอภิสิทธิ์เช่นนี้ จนเคยชิน แล้วคิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร หรือถ้ามีก็คงแก้ไขได้ บางคนอาจคิดว่ากฎกติกาคงไม่จริงจังมาก อาจเรียนรู้มาว่าบ้านเราไม่ค่อยเข้มงวดเรื่องการทำตามกฎหมาย ไม่ต้องจริงจังมากก็ได้ แต่ไม่รู้ว่าคนไทยเราเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปเป็นแบบใหม่แล้ว ตอนนี้เราเริ่มตระหนักในมาตรการป้องกัน และยอมรับปฏิบัติกัน แม้ว่าจะทำให้ชีวิตไม่สะดวก เกิดปัญหาต่อการการทำงาน กระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ก็ยอมรับ ดังนั้น เมื่อมีการละเมิดแบบนี้ ทำให้เสียความรู้สึกมาก และรัฐบาลต้องตกเป็นผู้รับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังเหตุการณ์นี้คงต้องมีการทบทวนการตรวจสอบการปฏิบัติงานของภาครัฐ ร่วมกับการประกาศให้นานาชาติทราบอย่างจริงจังว่า  ไม่มีการยกเว้นให้กับใครทั้งนั้น ทำตามกติกากันอย่างจริงจัง เชื่อว่าต่างประเทศน่าจะเข้าใจ และตระหนักในความสำคัญของเรื่องนี้ ที่มีในประชาชนชาวไทย รัฐบาลคงไม่อยากให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคง ความเชื่อถือในรัฐบาลอย่างมาก และถ้าประชาชนไม่พอใจมากๆ ถึงขั้นโกรธแค้น ก็คาดเดาได้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อรัฐบาลอย่างแน่นอนครับ

                จะว่าไปแล้ว วิถีชีวิตใหม่ของเรา น่าจะต้องกลับมาเรียนรู้เรื่องการป้องกันความเสี่ยง (Risk Management) ตั้งแต่เด็กๆนะครับ เพื่อปลูกฝังเรื่องการคาดคะเนความเสี่ยง คิดล่วงหน้า และหาทางป้องกันความเสี่ยงทุกรูปแบบ ไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วมาตามแก้ไข ทำให้เกิดนิสัยที่ดีในชีวิต ที่จะป้องกันความเสี่ยงได้มากมาย ตั้งแต่ อุบัติเหตุ อาชญากรรม ไฟไหม้ และโรคระบาดครับ

ไฮไลท์

“เหตุการณ์นี้ทำให้ประชาชนไม่พอใจมาก และโกรธที่รัฐบาลขอให้ทุกคนช่วยกันป้องกัน สูญเสียกันไปอย่างมากทั้งเศรษฐกิจ เสรีภาพ และชีวิตแบบเดิม แต่ไม่ได้ระวังในกลุ่มคนที่ได้รับอภิสิทธิ์จากรัฐบาล เข้ามาแล้วทางการไม่ได้ติดตามอย่างจริงจัง เรื่องนี้ประชาชนรับไม่ได้”

บทความหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ฉบับวันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม 2563

เผยแพร่โดย

ใส่ความเห็น