การสอนเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพ Health Literacy

การสอนเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพ Health Literacy

                ผมไปจัดกระบวนการเรียนรู้แก่ครูและผู้ปกครองโรงเรียนบ้านนาขนวน อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ตามคำเชิญของครูหยก (ธีรดา อุดมทรัพย์) เมื่อวันที่ 15-16 มิถุนายน 2563 ได้ข้อคิดและแรงบันดาลใจ มาออกแบบการเรียนรู้ เพื่อตอบคำถามว่า เราควรจัดการเรียนรู้อะไรดีหลังโควิด ตามแนวทาง การเรียนรู้ตามปรากฏการณ์ (Phenomenon based learning) คือ การเรียนรู้โดยอาศัยปรากฏการณ์จริงเป็นฐาน ให้นักเรียนได้เรียนรู้และมีพฤติกรรมสุขภาพแบบใหม่ เข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่อย่างยั่งยืน

เรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) เป็นสมรรถนะหนึ่งที่กรมอนามัย กระทรวงสาธาธารณสุข พยายามปลูกฝังให้เกิดขึ้นในคนไทย เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง และสามารถป้องกันโรคได้ แนวคิดที่จะสร้างให้ยั่งยืน ควรเริ่มต้นตั้งแต่เด็กในวัยเรียน การสร้างการเรียนรู้เรื่องนี้ในโรงเรียน จึงเป็นโอกาสเหมาะกับช่วงเวลานี้ ในการทำเป็นบทเรียนต้อนรับเปิดเทอม ผมลองสมมติว่าตัวเองเป็นครู จะสอนอย่างไรดี  ใครสนใจจะลองนำไปใช้ในโรงเรียนก็ยินดีนะครับ

                การเรียนรู้วิธีการแบบนี้ ใช้จังหวะเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น นำมาออกแบบการเรียนรู้แบบนักเรียนมีส่วนร่วม จะรู้สึกตื่นเต้นดี เพราะเรียนจากของจริง ได้ลองคิด ทำด้วยตัวเอง แล้วถอดบทเรียนนำไปใช้กับชีวิตจริงได้ทันที

                การเรียนรู้แบบเดิม จะมุ่งสอนด้วยการบอกให้นักเรียนมีความรู้ และฝึกทักษะกำหนดโดยครู ดำเนินการโดยครู แล้วให้นักเรียนนำไปทำ นักเรียนจะจำได้ ทำตามที่ครูบอก ไปใช้เท่าทีครูบอก แต่ไม่รู้ว่าทำไปทำไม ไม่เกิดความอยากจะทำ บางคนอาจหลีกเลี่ยง ไม่อยากทำ ทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมได้ไม่นาน แต่เมื่อเปลี่ยนการเรียนรู้ให้เด็กมีส่วนร่วมด้วยมากขึ้น นักเรียนจะเป็นเจ้าของความรู้และทักษะนั้น จะมีแรงจูงใจที่จะทำ และเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างถาวรกว่า

                ในกระบวนการเรียนรู้นั้น เด็กจะสนุกตื่นเต้น มีส่วนร่วมด้วยอย่างมาก และสามารถสอดแทรก บูรณาการวิชาต่างๆ และสร้างทักษะหลายๆอย่าง นำไปสู่การสร้างสมรรถนะในการเรียนรู้ (competency based learning)  กระบวนการออกแบบเป็นกลุ่ม ฝึกให้เรียนรู้ตามแนวทาง team based learning

                ปรากฏการณ์ที่น่าเรียนรู้มากในปัจจุบัน สำหรับนักเรียนทุกระดับชั้น คือ เรื่องการระบาดของโรคโควิด19 ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้ ทำให้เกิดคำถามเชิงกลยุทธ สำหรับครูและผู้ปกครอง ว่าเราต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรบ้าง เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่อนี้ในอนาคต แยกย่อยออกเป็นคำถามที่อาจนำไปสู่การตั้งวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของนักเรียนช่วงชั้นต่างๆ คำถามที่สำคัญได้แก่

  1. นักเรียนมีพฤติกรรมเปลี่ยนอย่างไรบ้าง
  2. โรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
  3. ทำย่างไรให้นักเรียนมีพฤติกรรมสุขภาพแบบใหม่ ที่ยั่งยืนต่อไปเป็นวิถีชีวิตปกติใหม่
  4. จัดการเรียนรู้อย่างไรให้เด็กนำไปใช้ได้ที่บ้าน และในชุมชน อย่างยั่งยืนยาวนาน

ทฤษฎีพฤติกรรมสุขภาพ

                พฤติกรรมสุขภาพ เกิดขึ้นเมื่อ

  • คนมีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับตนเอง
  • รู้ว่าถ้ามีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี จะป้องกันโรคและปลอดภัย
  • รู้ว่าถ้าไม่มีพฤติกรรมสุขภาพ หรือมีความเสี่ยง จะเป็นอันตรายต่อตนเอง
  • มีจิตสำนึกสาธารณะ ที่คำนึงถึงความปลอดภัยของคนอื่น สิ่งแวดล้อม ชุมชน
  • พฤติกรรมเสี่ยง เกิดจากการไม่มีความรู้ ไม่ใส่ใจ หรือเลียนแบบพฤติกรรมผู้อื่น (พ่อแม่ ครู เพื่อน คนที่นักเรียนสนิทด้วย)

                การสร้างพฤติกรรมสุขภาพ จึงต้องมีความรู้ มีทักษะ  มีทัศนคติที่ดีและฝึกทักษะที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่สมรรถนะในการเสริมสร้างและป้องกันโรค  (Health Prevention and Promotion Competency)

ความรู้

  1. เรื่องสุขภาพ อนามัยส่วนบุคคล  การเจริญเติบโต การรักษาสุขอนามัยส่วนตัว การกินอาหาร น้ำหนัก การออกกำลังกาย การป้องกันความเสี่ยงต่างๆ  ทั้งร่างกายและจิตใจ
  2. โรคที่พบบ่อยและป้องกันได้ การเกิดโรค โรคโควิด โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคที่ติดต่อได้ โรคไข้เลือดออก ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
  3. โรคที่ไม่ติดต่อ แต่เกิดจากพฤติกรรม อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเครียด โรคซึมเศร้า
  4. โรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง อุบัติเหตุ จมน้ำ การละเมิดทางร่างกาย การละเมิดทางเพศ

ทักษะ

  1. การควบคุมตนเอง การยับยั้งใจตนเอง
  2. การวางแผนชีวิต
  3. การเตือนตนเอง มีสติ ฝืนใจ ฝึกพฤติกรรมด้วยความตั้งใจ
  4. การสื่อสาร
  5. การแก้ปัญหา

เจตคติ

  1. เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่รังเกียจผู้ป่วย
  2. ตระหนักในปัญหาโรคระบาด
  3. เห็นความสำคัญของการป้องกันโรค
  4. สำนึกต่อส่วนรวมเพื่อช่วยกันป้องกันโรค

การออกแบบการเรียนรู้ (Learning Design)

ขั้นตอน

1 สร้างความสงบ เช็คอินด้วยการสำรวจตัวเอง (Body Scan) กำหนดลมหายใจให้ผ่อนคลาย (Breathing Exercise)

2 สร้างความสนใจ ความตระหนักในกิจกรรมนำที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลัก (โรคโควิด19) เลือกกิจกรรมให้เหมาะกับวัยและชั้นเรียนเด็ก เกมนำเข้าสู่บทเรียน (เลือกเกมให้เหมาะตามอายุ เช่น เกมนำ เกมเชื้อโรค เกมเป็ดชิงพื้นที่ เกมโรคระบาด)

  • ตรวจสอบความรู้เดิม แต่ละคนมีความรู้อะไรมาก่อนบ้าง รู้อะไร รู้มาอย่างไร มีความเหมือนความแตกต่างกันหรือไม่ อยากรู้อะไรเพิ่มเติม
  • แลกเปลี่ยนปัญหาอุปสรรคที่ทุกคนผ่านมา มีคนที่รู้จักเป็นโรคนี้บ้าง ผลการรักษาเป็นอย่างไร
  • ตั้งคำถามเพื่อให้สนใจ ท้าทาย ชวนหาคำตอบด้วยการลงมือทำ เป็นกลุ่มย่อย
    • การตรวจคัดกรอง ทำไปทำไม ใครควรทำบ้าง
    • ทำไมคนต่างประเทศตายเยอะ
    • ประเทศไทยป้องกันได้อย่างไร ได้ผลดีหรือไม่ วัดผลอย่างไร
    • สถานที่ที่มีความเสี่ยง (สนามมวย สถานบันเทิง ฯลฯ) ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยง
    • กลุ่มอายุที่มีความเสี่ยง สาเหตุที่เสี่ยง ใครมีผู้สูงอายุในบ้าน
    • ประเทศไทยมีวิธีป้องกันแตกต่างจากต่างประเทศอย่างไร
    • สาเหตุที่การป้องกันล้มเหลว (กรณีศึกษา ตรวจพบผู้ป่วยต่างชาติ ได้รับอภิสิทธิ์ทางการทูต 2 เหตุการณ์)
    • ทำไมต้องหยุดเรียน เรียนออนไลน์
    • ทำไมถึงต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ใช้ช้อนกลางส่วนตัว
    • ทำไมเราถึงต้องเรียนรู้เรื่องนี้

3 ใช้กิจกรรมนำเข้าสู่ปัญหาที่เจอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยการสนทนากลุ่มย่อย และกลุ่มใหญ่ แล้วสรุป

  • แบ่งกลุ่มย่อย 2-3 สำรวจโรงเรียน บันทึกการเปลี่ยนแปลงที่เห็น (เช่น การคัดกรอง การล้างมือ การเว้นระยะห่าง การจัดเวลาและวันเรียน การสวมหน้ากากอนามัย ฯลฯ)
  • นำกลับมาเล่าให้เพื่อนฟัง พร้อมรูปถ่าย เรื่องราว และรายละเอียด พร้อมเหตุผล เท่าทีนักเรียนทราบมา
  • สนทนาในกลุ่ม ถกเถียง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สนทนา ให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน แนวทางการปฏิบัติตัว(ทำไมถึงต้องทำ ได้ประโยชน์อะไร ถ้าไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น มีปัญหาอุปสรรคอะไรที่ทำให้ทำไม่ได้ จะทำให้สำเร็จได้อย่างไร ถ้าเพื่อนไม่ทำควรทำอย่างไร๗
  • ครูช่วยเติมความรู้ แนวทาง และช่วยสรุปประเด็นสำคัญ (สุขภาพเป็นทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องส่วนรวม ถ้าเราไม่ทำจะมีผลกระทบต่อคนอื่นด้วย ต้องป้องกันไปพร้อมๆกัน และมีวิธีเตือนเพื่อน หรือสอนคนอื่นด้วยวิธีการนุ่มนวล เพื่อประโยชน์ของทุกคน)
  • ครูแสดงตัวอย่างแหล่งข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม (หนังสือ คู่มือ เอกสาร เว็บไซท์ เพจ ฯลฯ) และแนะนำให้นักเรียนติดตามข่าว และความคืบหน้าของสถานการณ์ตามแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

4 สะท้อนการเรียนรู้ (Group Reflection) แบ่งปันการสะท้อนความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่จะกลับไปทำ สรุปการเรียนรู้และการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ในโรงเรียน ครอบครัว ชุมชน พฤติกรรมที่เราจะต้องเปลี่ยนใหม่ มีอะไรบ้าง เพราะอะไร

5 การทำงานร่วมกับทางบ้านและชุมชน

5.1 บ้าน

1 กลับไปบ้าน บันทึกการสังเกตในบ้านและชุมชน หาปัจจัยเสี่ยง นำมาสนทนาในกลุ่มย่อยในวันต่อไป และช่วยกันถอดบทเรียน

2 สอนคนที่บ้าน พ่อแม่ สมาชิกครอบครัว ว่าเรียนรู้มาอย่างไร ประเด็นสำคัญ และทุกคนควรทำอย่างไร ในประเด็นต่างๆที่เรียนรู้มา แล้วเขียนบันทึกเพื่อกลับมาแลกเปลี่ยนในคาบต่อๆไป ในหัวข้อตัวอย่างต่อไปนี้

  • การล้างมือ
  • การใช้ช้อนกลาง
  • การออกกำลังกาย

5.2 ชุมชน

                สร้างความร่วมมือ ช่วยเหลือ และมีส่วนร่วมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในชุมชน ในระบบสาธารณสุข เช่น บุคคลในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ สต) โรงพยาบาลอำเภอ  อสม ผสส อนามัยอำเภอ แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ  เพื่อร่วมให้ข้อมูล  ความรู้ในชุมชน และส่งเสริมการป้องกันในชุมชน

อุปกรณ์การเรียนรู้

1 ภาพ ได้แก่ ภาพสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในโรงเรียน อ่างล้างมือใหม่หน้าโรงเรียน หม้อต้มน้ำลวกช้อนก่อนรับประทานอาหาร

เจลแอลกอฮอล์  QR code ก่อนเข้าร้านค้า  ภาพโคโรน่าไวรัส  Info-graphic การเว้นระยะห่าง ภาพการระบาดและผลที่เกิดขึ้นต่อครอบครัว การเรียน การดำเนินชีวิต เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้

2 วิดีไอ การล้างมือ เพื่อใช้ฝึกทักษะการล้างมือ

3 วิดีโอ เรื่องโรคโควิด (เลือกให้เหมาะกับวัยเด็ก) เน้น เรื่อง ความรู้ การเกิดโรค การรักษา การป้องกัน

ตัวอย่างโครงการสำหรับการทำงานกลุ่ม

  • แผนการป้องกันในชั้นเรียน เราจะทำอะไรบ้าง
  • ถ้าเพื่อนเราคนหนึ่งในห้องป่วยด้วยโรคนี้
  • ทำไมถึงต้องมีการป้องกัน (ทั้งๆที่ไม่มีผู้ป่วยใหม่)
  • ถ้าท่านต้องถูกกักตัว State Quarantine
  • สถานที่เสี่ยง พร้อมเหตุผล
  • เรียนออนไลน์ ประสบการณ์ อยากให้เปลี่ยนแปลงอย่างไร
  • การเรียนในยุคต่อไป ควรเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างไร
  • กรณีศึกษา วัดไม่ยอมเผาศพผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด
  • การเล่น การเรียน กิจกรรม ที่ช่วยเสริมการรักษาระยะห่างทางสังคม
  • เมื่อเป็นหวัด ควรทำอย่างไร
  • พี่สอนน้อง ล้างมือ
  • พฤติกรรมสุขภาพในครอบครัว ความเสี่ยง
  • ตารางทำความสะอาด ทุกระยะเวลาท่าใด เพราะอะไร
  • ใครมีปู่ย่าตายาย ทำไมถึงต้องป้องกัน
  • เชื้อโควิดอยู่ที่ใด อยู่ได้นานเท่าไร ตายได้อย่างไร
  • พฤติกรรมใหม่หลังโควิด (New Normal) ควรมีอะไรบ้าง เพราะอะไร
  • ความเชื่อและพฤติกรรมผิดๆ ที่เกิดขึ้นหลังการระบาดของโรคโควิด
  • การติดตามข่าวสาร ความรู้เรื่องโรคโควิด (เรื่องการระบาดซ้ำ การเกิดโรคในที่ต่างๆ การพัฒนาวัคซีน ฯลฯ)
  • วัคซีนป้องกันโรคได้อย่างไร

แนวทางการจัดการเรียนรู้

                การเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมจากภายใน ใช้แนวทางการเรียนรู้แบบนักเรียนมีส่วนร่วม (participatory learning) ได้ทำ คิดและวิเคราะห์ จนนำไปสู่ข้อสรุปด้วยตัวเอง (constructivism) เรียนรู้แบบกลุ่มขนาดเล็ก (small group) ผสมผสานวิธีการต่างๆต่อไปนี้

  • Phenomenon Based Learning
  • Project Based Learning
  • Team Based Learning
  • Transformative Learning

การประเมินและวัดผล

การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation)

  1. การมีส่วนร่วมในกิจกรรม (student engagement)
  2. การสะท้อนการเรียนรู้ (reflection)

การประเมินผลลัพภ์ (Output and Outcome Evaluation)

  1. พฤติกรรมสุขภาพ (การสวมหน้ากากอนามัย การอยู่ห่าง การใช้ช้อนกลางของตนเอง การล้างมือบ่อยๆ)
  2. ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy ) (ดูภาคผนวกแบบประเมิน HL กรมอนามัย กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข)
  3. อัตราการเจ็บป่วย

เอกสารอ้างอิง

https://www.hfocus.org/content/2019/05/17212

ภาคผนวก

พฤติกรรมสุขภาพ (health behavior)

พฤติกรรมสุขภาพหมายถึงการกระทําหรือการปฏิบัติของบุคคลที่มีผลต่อสุขภาพซึ่งเป็นผลมาจากการเรียนรู้ของบุคคลเป็นสําคัญโดยแสดงออกให้เห็นได้ในลักษณะของการกระทําและไม่กระทําในสิ่งที่เป็นผลต่อสุขภาพ หรือผลเสียต่อสุขภาพ  พฤติกรรมสุขภาพของคนอาจแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

3.1 พฤติกรรมการป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพ (preventive and promotive health behavior) พฤติกรรมการป้องกันโรค เช่น การไปตรวจร่างกายเป็นประจําทุกปี การสวมหมวกนิรภัย เมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นต้น พฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหารที่ประโยชน์การออกกําลังกายเป็นประจํา การผักผ่อนที่เพียงพอ ซึ่งพฤติกรรมสุขภาพเหล่านี้ เป็นการกระทําใน ภาวะปกติของคน เมื่อยังไม่ได้เจ็บป่วย

3.2 พฤติกรรมเมื่อเจ็บป่วย (illness   behavior) หมายถึง การปฏิบัติที่บุคคล เมื่อรู้สึก มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นการรับรู้ ถ้าความผิดปกติที่เกิดขึ้น กับระยะที่มีพฤติกรรมตอบสนอง กับความผิดปกตินั้นๆ ซึ่งจะแตกต่างกันไป ในแต่ละคน

3.3  พฤติกรรมที่เป็นบทบาทของการเจ็บป่วย (sick role behavior) หมายถึง การปฏิบัติที่บุคคลกระทําหลังจากได้ทราบผลการวินิจฉัยแล้ว เป็นพฤติกรรมที่ทําตามคําสั่งหรือ คําแนะนําของผู้ให้การรักษา เพื่อให้หายจากการเจ็บป่วยนั้น

 พฤติกรรมสุขภาพของบุคคล ถือว่า เป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลสําคัญที่สุด ของสุขภาพคนเราถึง 51% พฤติกรรมสุขภาพของคนเรา จะถูกต้อง เหมาะสมเพียงใด ขึ้นอยู่กับ ความรู้ทัศน คติและการปฏิบัติของบุคคลนั่นเอง

Health Literacy

แบบประเมิน HL กรมอนามัย กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข Health Education Devision

http://www.hed.go.th/linkHed/411

คู่มือรหัสแบบประเมิน

http://www.hed.go.th/linkHed/411

องค์ความรู้สำหรับการดำเนินงานสุขศึกษาในโรงเรียน

http://www.hed.go.th/linkHed/342

เผยแพร่โดย

ใส่ความเห็น