เพศทางเลือก ทางที่เลือก ทางที่เป็น

เพศทางเลือก ทางที่เลือก ทางที่เป็น

               เดือนมิถุนายนปีนี้คึกคักมากสำหรับคนที่เปิดเผยตนเอง ในเรื่องความชอบทางเพศ ที่มีความแตกต่างกัน คนเรามีอิสระที่จะเดินในชีวิตที่เลือก และเปิดเผยได้ ไม่ติดอยู่ในกรอบคิดเดิม เรื่องนี้น่าเรียนรู้และเข้าใจเพื่อนร่วมโลกของเรานะครับ

               ไม่รู้ว่า Pride Month ที่ผ่านมามีผลอย่างไรต่อน้องๆเพศทางเลือก แต่เดือนนี้ผมมีโอกาสพูดคุยกับน้องหลายคน ที่ชวนพ่อแม่มาพบหมอ อยากปรึกษาเรื่องนี้ คุยกันส่วนตัวแล้วพบว่าตนเองเป็นชายชอบชาย เหตุการณ์จะคล้ายๆกัน คือ พอเริ่มเข้าวัยรุ่น มีความรู้สึกทางเพศก็พบว่า ตนเองมีความพึงพอใจกับเพศชายด้วยกันเอง คือ มีความชอบ ความรู้สึกทางเพศกับเพื่อนผู้ชายด้วยกันเท่านั้น ถ้าจะมีแฟนก็จะมีกับเพศเดียวกัน กับเพศหญิงรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้มีความชอบแบบชู้สาว การแสดงออกโดยทั่วๆไปนั้น ไม่ได้แต่งกายผิดเพศ หรือมีกิริยาท่าทางจะชวนให้สงสัยว่าผิดปกติเลย เรียกว่าถ้าไม่บอกก็จะไม่มีใครทราบว่าเป็นแบบนี้ ไม่อยากปิดบังพ่อแม่ แต่ไม่รู้จะเปิดเผยอย่างไร เกรงว่าพ่อแม่จะเสียใจ เคยคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงตนเองได้ แต่ก็พบว่าไม่สำเร็จ มีคนที่ชอบก็ไม่กล้าบอก กลัวจะเสียเพื่อน เลยแอบๆชอบโดยพลางตัวเป็นเพื่อนสนิทไปแบบเนียนๆ  เคยมีสาวมาจีบไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไร เพื่อนผู้หญิงที่สนิทกันมีหลายคน ก็ไม่กล้าบอกเหมือนกัน ไม่รู้ว่าเพื่อนจะคิดอย่างไร เขาจะเลิกคบหรือรังเกียจมั้ย ชีวิตสับสนมากเครียดมาก เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง จะปรึกษาใครก็ไม่ได้ ครูที่โรงเรียนนั้นไม่เคยคิดจะคุยด้วยเลย ไม่เคยมีการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียน ที่ผ่านมานั้นเรียนรู้จากสื่อสังคม มีคนที่เป็นแบบเดียวกันเลยคุยกันได้ บางคนแนะนำว่าน่าจะมาปรึกษาจิตแพทย์ และถ้าอยากเปิดเผยเรื่องนี้กับครอบครัว น่าจะคุยกับหมอได้ เพราะที่ผ่านมาจิตแพทย์จะช่วยพูดคุยให้พ่อแม่ยอมรับได้ สื่อออนไลน์ตอนนี้ว่องไวมากนะครับ การรักษาของแพทย์ มีการแนะนำบอกต่อกัน เลยรู้ว่าเส้นทางการมาพบจิตแพทย์ปัจจุบันนี้สั้นลงกว่าเมื่อก่อนมาก มีการรีวิวคุณภาพการรักษาลงออนไลน์ ในกลุ่มคนที่มีปัญหาเดียวกัน ทำให้น้องมาพบหมอมากขัน เมื่อถามน้องๆว่าที่ชวนพ่อแม่มาด้วย อยากให้พ่อแม่เป็นอย่างไร น้องทุกคนอยากเปิดเผยเรื่องนี้ แต่ไม่รู้จะพูดอย่างไร กลัวปัญหาร้อยแปด ผมคุยแล้วน้องๆรู้สึกสบายใจขึ้น ที่ดีขึ้นนี้อาจเกิดจากการได้ระบายความทุกข์ใจ รู้สึกหมอเข้าใจ ไม่รังเกียจ ไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวช ไม่ต้องรักษาให้เป็นชายชอบหญิง เพราะเป็นไปไม่ได้ และเมื่อหมอรับปากจะช่วยพูดคุยกับพ่อแม่ และสมาชิกครอบครัวที่ต้องการให้เปิดเผย น้องก็ดูโล่งใจปนกังวลนิดๆ หลังจากนั้นผมได้คุยต่อส่วนตัวกับพ่อแม่ เล่าให้ฟังว่าลูกชายอยากมาพบจิตแพทย์เรื่องอะไร ตอนแจ้งข่าวร้ายนั้นมีขั้นตอนพอสมควร แต่ในที่สุดพ่อแม่ส่วนใหญ่เข้าใจ แม้ว่าช่วงแรกยังไม่แน่ใจ อยากให้หมอรักษาให้หาย ต้องให้ความรู้พ่อแม่ในเรื่องเพศทางเลือก ว่าคืออะไร เกิดได้อย่างไร  ไม่ใช่ความผิดของพ่อแม่ ไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดู ไม่ได้เป็นตามแบบอย่างเพื่อน และไม่ต้องรักษา ความทุกข์ของลูกจะลดลงเมื่อพ่อแม่ยอมรับ ไม่ตำหนิกัน ไม่ว่ากล่าวกัน การทำใจยอมรับในนั้นแตกต่างกันครับ บางครอบครัวใช้เวลาหลายเดือน  แต่ส่วนใหญ่ก็จบได้ด้วยดีในเวลาไม่เกิน 6 เดือน การปรับตัวเข้าหากันนั้นได้ผลดี ไม่เหมือนที่เด็กกลัวล่วงหน้า น้องทั้งหมดรู้สึกว่าการตัดสินใจถูกต้องแล้ว และดีใจที่พ่อแม่ยังรักและห่วงใยเหมือนเดิม หมอก็ดีใจและเอาใจช่วยให้ครอบครัวกลับไปปรับชีวิตกันใหม่ เชื่อว่าถ้าสังคมเรายอมรับมากขึ้น จะช่วยลดแรงกดดันของคนที่เป็นเพศทางเลือกได้เยอะครับ ในทางตรงกันข้าม ท่าทีที่ไม่ยอมรับ หรือรังเกียจกันยังมีในบางกลุ่ม ทำให้น้องปรับตัวยาก และเกิดความเครียดไปจนถึงซึมเศร้าได้นะครับ โรงเรียนเป็นสถานที่ที่น่าจะมีการสอนกันเรื่องนี้  ในหลักสูตรเพศวิถีศึกษาสำหรับชั้นมัธยมศึกษา มีเรียนรู้เรื่องเพศทางเลือกด้วยครับ และน่าสอนพ่อแม่ด้วย เด็กทุกคนควรได้เรียนเรื่องนี้ จะได้ยอมรับกันและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขครับ

               เพศทางเลือก เป็นทางของใครของมัน เราควรยอมรับและให้เกียรติกัน คนมีสิทธิ์จะชอบใคร โดยไม่ติดกรอบเดิม ที่ให้ชอบเพศตรงกันข้ามเท่านั้น เรื่องนี้เราควรเรียนรู้ และมีทัศนคติที่เปิดกว้างกันนะครับ

ไฮไลท์

“ถ้าสังคมเรายอมรับมากขึ้น จะช่วยลดแรงกดดันของคนที่เป็นเพศทางเลือกได้เยอะครับ ในทางตรงกันข้าม ท่าทีที่ไม่ยอมรับ หรือรังเกียจกันยังมีในบางกลุ่ม ทำให้น้องปรับตัวยาก และเกิดความเครียดไปจนถึงซึมเศร้าได้นะครับ”

บทความหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ฉบับวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2565

เป็นเพื่อนหรือแฟน บอกให้ชัดเจน

เป็นเพื่อนหรือแฟน บอกให้ชัดเจน

               การเรียนรู้เรื่องเพศในโรงเรียนนั้น พอลงไปสอนจริงๆ พบว่าเนื้อหากว้างมาก ครอบคลุมประเด็นที่ต้องเจอในชีวิตหลายด้าน เด็กสนุกทุกครั้งที่สอนในชั้นเรียน วันนี้ขอเจาะประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ล้อมวงเข้ามาเลยครับ

               เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น พัฒนาการทางเพศตามปกติจะเกิดขึ้น ด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนเพศ กระตุ้นให้มีความรู้สึกทางเพศ มีความต้องการทางเพศ และสนใจเรื่องเพศ  การเรียนรู้เรื่องเพศศาสตร์ศึกษา ที่ถูกต้องตามหลักการทางแพทย์ คือ การให้ความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดี เพื่อให้ปรับตัวได้ ป้องกันความเสี่ยง และพัฒนาไปเพื่ออยู่ในสังคม และมีครอบครัว ได้อย่างมีความสุข แพทย์จึงผนึกกำลังกันหลายด้าน ทั้งหมอเด็ก หมอสูติ หมอเวชศาสตร์ครอบครัว และจิตแพทย์ ทำงานด้านเพศศาสตร์ศึกษาในวัยรุ่น พบว่าสถานที่ให้การเรียนรู้เรื่องนี้ได้ดี ไม่ใช่ที่โรงพยาบาล แต่เป็นที่โรงเรียนครับ การทำงานร่วมกับครูจึงเกิดขึ้น ประเด็นหนึ่งที่น่าสอนคือ เรื่องความหลากหลายทางเพศครับ อาจารย์แนะแนวโรงเรียนหนึ่ง ที่ผมไปช่วยงานด้วยมาปรึกษา เพราะมีกรณีนักเรียนทำร้ายร่างกายกัน ฝ่ายปกครองสอบสวนแล้วพบว่าเกิดจากความหึงหวง นักเรียนที่เป็นผู้กระทำนั้นแอบชอบเพื่อนคนหนึ่ง ชอบแบบแฟน แต่เพื่อนคนนั้นไม่รู้ว่าเพื่อนเป็นทอม คิดว่าคบแบบเพื่อน จึงสนิทสนมด้วย เนื่องจากโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนหญิงล้วน ความใกล้ชิดสนิทสนมกันจึงเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครสงสัยแม้แต่เพื่อนๆในห้องเดียวกัน วันหนึ่ง นักเรียนที่ถูกชอบนั้น ไปติดต่อคบหากับเพื่อนต่างโรงเรียนที่เป็นผู้ชาย ทำให้นักเรียนคนนั้นไม่พอใจ ต่อว่า ทะเลาะกัน ขอให้เลิกกับผู้ชาย เมื่อไม่ยอมจึงตบตีทำร้ายด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ครูบอกว่ามีกรณีอย่างนี้อีกหลายคู่ และนักเรียนที่มีทอมแอบชอบนั้น ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเพื่อนสนิทเป็นทอม คิดว่าเป็นเพื่อนธรรมดาเลยสนิทด้วยมากๆ ไม่นึกว่าเขาชอบแบบแฟน ไม่ได้คิดว่าจะเป็นแฟนด้วย เพราะไม่ได้ชอบเพศเดียวกันแบบทอมดี้ ครูขอให้หมอช่วยสอน เรื่องความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เด็กเข้าใจกัน ยอมรับ และอยู่ร่วมกัน ไม่เกิดปัญหาแบบนี้อีก ปีนั้นทั้งปี จึงมี  LGBTQ Talk (lesbian gay bisexual transsexual queer) สอนนักเรียนทุกระดับชั้น ทั้งโรงเรียน ตั้งแต่ ม 1 ถึง ม 6 จัดทีละระดับชั้น ปรับเนื้อหาแตกต่างกันตามอายุ โดยขอให้ครูแนะแนว ครูปกครอง และครูทั่วไปเข้าร่วมด้วย เพื่อนำไปสอนหรือดูแลต่อได้ เนื่องจากนักเรียนแต่ละระดับมีจำนวนมาก จึงใช้วิธีบรรยายแบบมีส่วนร่วม มีตัวอย่างและเชิญชวนซักถามตลอดเวลา นักเรียนตื่นเต้นและมีส่วนร่วมดีมากครับ อาจจะสนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว และได้เจอจิตแพทย์ตัวเป็นๆ เลยมีคำถามเยอะจนเวลาไม่พอทุกครั้ง เนื้อหาในวันนั้นเน้นไปที่ การทำความรู้จักความหลากหลายทางเพศ มีอะไรบ้าง เกย์ เลสเบี้ยน ทอม ดี้ ไบ ทรานส์ เควียร์ homosexual heterosexual bisexual transsexual คืออะไร มีลักษณะอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นประเภทไหน เพื่อนเราเป็นแบบไหน จะสังเกตได้อย่างไร ความหลากหลายทางเพศนี้เป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่ เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้หรือไม่ ถ้าแก้ไขไม่ได้จะปรับตัวอย่างไร จะบอกพ่อแม่อย่างไร  ในตอนท้ายชวนให้เข้าใจเพื่อน ไม่รังเกียจกัน เพราะการชอบเพศเดียวกันเป็นความปกติ ไม่ใช่โรคทางจิตเวช ถ้าเราเป็นแบบนี้เวลาจีบใครขอให้บอกตรงๆ ไม่ควรแอบตีเนียนเป็นเพื่อน เพื่อให้ได้โอกาสใกล้ชิดโดยเขาไม่รู้ตัว แบบนี้เป็นการหลอกลวงไม่จริงใจ ส่วนคนที่ไม่ได้ชอบเพศเดียวกันแบบแฟน ถ้ามีเพศเดียวกันมาชอบ ก็ขอให้บอกตรงๆว่าไม่อยากเป็นแฟน ขอคบแบบเพื่อน รักษาระยะห่าง อย่าให้ผูกพันมาก เพราะในอนาคตตัวเองไปมีแฟนผู้ชาย จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องหึงหวงกัน ในชีวิตนักเรียน ทุกคนมีโอกาสเจอเพื่อนที่เป็น LGBTQ ได้เสมอ ถ้าไม่แน่ใจให้ถามกันตรงๆ ว่าเธอเป็นแบบไหน คบกันแบบเพื่อนหรือแฟน จะได้ไม่มีปัญหาระยะยาวครับ

               ความหลากหลายทายเพศเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นแล้วในปัจจุบัน  ถ้าเรารู้จัก เข้าใจ และปฏิบัติต่อกันอย่างเพื่อนร่วมโลก ด้วยความจริงใจ เราก็อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขครับ

ไฮไลท์

“การชอบเพศเดียวกันเป็นความปกติ ไม่ใช่โรคทางจิตเวช ถ้าเราเป็นแบบนี้เวลาจีบใครขอให้บอกตรงๆ ไม่ควรแอบตีเนียนเป็นเพื่อน เพื่อให้ได้โอกาสใกล้ชิดโดยเขาไม่รู้ตัว แบบนี้เป็นการหลอกลวงไม่จริงใจ ส่วนคนที่ไม่ได้ชอบเพศเดียวกันแบบแฟน ถ้ามีเพศเดียวกันมาชอบ ก็ขอให้บอกตรงๆว่าไม่อยากเป็นแฟน ขอคบแบบเพื่อน”

บทความหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ฉบับวันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม 2565

แตกต่างในรัก เพศหญิงและชาย

แตกต่างในรัก เพศหญิงและชาย

                มนุษย์เรามักจะมีความเข้าใจผิดได้บ่อย ข้อหนึ่งที่พบคือ คิดว่าคนอื่นน่าจะคิดหรือรู้สึกเหมือนตัวเอง  อาจทำให้เกิดความเสี่ยงตามมา ตัวอย่างที่ชัดเจนเห็นจะเป็นเรื่องความรักนี่ละครับ

                วันวาเลนไทน์ เทศกาลแห่งความรักที่ผ่านมา มีประเด็นที่นักเรียนสนใจ นำมาถกเถียงกันในห้องวิชา เพศศึกษา ที่ผมช่วยจัดเป็นกิจกรรมกลุ่ม ร่วมกับครูแนะแนว  วิชานี้เด็กๆสนใจกันมากครับ เพราะในห้องเรียน ม 2  กำลังเข้าวัยรุ่น และเริ่มมีความสนใจเรื่องเพศ สนใจเพื่อนต่างเพศ บางคนมีแฟนแล้ว บางคนแอบชอบใครอยู่ และบางคนสงสัยว่าอาจจะมีความเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ ดูจากการแซวกันในห้องเรียนที่ผ่านมานะครับ วันวาเลนไทน์นี่นับเป็นช่วงเวลาเหมาะ ที่จะสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ  ผมเลยลองเปิดประเด็นให้นักเรียนเสนอว่า อยากคุยกันเรื่องอะไร เริ่มด้วยคำถามว่า ว่าวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมานี้ ใครทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง  น่าสนใจมากครับ เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ตื่นตัว อยากคุยกัน และเริ่มเห็นว่าความสนใจเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ  คนที่ยังไม่มีแฟนก็อยากรู้เรื่องของเพื่อนที่มีแฟนแล้ว และอยากรู้ว่าใครไปทำอะไรกันบ้าง ประเด็นที่ผมชวนคุยกันต่อจากนั้น คือ ความแตกต่างระหว่างความคิดและความรู้สึก ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ในเรื่องความรักครับ ลองให้นักเรียนอธิบายความคิดความรู้สึก ของตนเองว่าเมื่อมีความรักจะเกิดอะไรขึ้นต่อตนเอง ทางร่างกาย ความคิดและความรู้สึก เช่น ใจเต้น ใจสั่น หายใจเร็ว หวิว ซาบซ่าน คิดถึงเรื่องนี้ซ้ำ รู้สึกดีที่ได้พบ อยากอยู่ใกล้กัน อยากไปไหนด้วยกัน อยากพบกันบ่อย เวลาได้ใกล้ชิดกันรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ อยากสัมผัสแตะเนื้อต้องตัวกัน แต่เนื่องจากห้องเรียนนี้ เป็นนักเรียนหญิงล้วน  ทำให้อยากรู้ว่าผู้ชายจะคิดและรู้สึกเหมือนตัวเองหรือไม่ หมอเลยนำข้อมูลจากการสำรวจวัยรุ่นเพศชาย มาเล่าให้ฟังด้วย จะได้รู้ว่าถ้ามีแฟนเป็นเพศชาย เขารู้สึกและคิดแตกต่างจากเราหรือไม่  จะได้เข้าใจ เตรียมตัวถูก ประเด็นสำคัญที่พบว่าเป็นความแตกต่างกันระหว่างเพศ ที่ผู้หญิงไม่ค่อยทราบ คือ เรื่องอารมณ์เพศ และความคิดที่เกิดจากผลของอารมณ์เพศครับ ในเพศหญิงนั้น เมื่อมีความรัก อยากอยู่ใกล้ชิด เป็นความสุขใจ  อบอุ่นใจมากกว่าเกิดอารมณ์เพศ เป็นความรักที่เรียกว่า romantic love  แต่ในเพศชายนั้น เมื่อมีความรัก อยากอยู่ใกล้ชิดเพราะทำให้เกิดอารมณ์เพศ ความรู้สึกเพศสูงเร็ว จนทำให้ต้องการมีเพศสัมพันธ์ มากกว่าความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นความรักแบบ erotic love ครับ  ความรู้สึกที่แตกต่างกันนี้เอง อาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้ง่าย เพราะผู้หญิงอาจไม่ระวังตัว คิดว่าผู้ชายคงไม่ได้ต้องการถึงขนาดมีเพศสัมพันธ์ เพราะตัวเองไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น เลยยอมให้ผู้ชายสัมผัส แตะเนื้อต้องตัวได้ง่าย แต่ทางผู้ชายจะคิดว่าผู้หญิงคงจะมีความรู้สึกและความต้องการทางเพศ เหมือนที่ตัวเองมี เลยยอมให้สัมผัสมากขึ้นเรื่อยๆนั้น เป็น “ไฟเขียว” ปิดทางให้เขามีเพศสัมพันธ์ด้วยนั่นเอง ความคิดและความรู้สึกที่แตกต่างกันนี้ละครับ ทำให้วัยรุ่นที่ไม่ได้เรียนรู้เรื่องเพศศึกษา ก้าวไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น โรคติดต่อทางเพศ ตั้งครรภ์ ทำแท้ง และปัญหาในชีวิตต่างๆตามมาอีกมากมาย  การสอนเรื่องเพศศึกษาในยุคนี้ จึงเปิดโลกให้เด็กได้เรียนรู้ เพื่อป้องกันปัญหาทางเพศ ไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้เด็กใจแตก ไปมีเพศสัมพันธ์กันนะครับ โรงเรียนควรมีการสอนเรื่องนี้อย่างเปิดเผย แต่มีเทคนิควิธีการสอนที่ถูกต้อง มิเช่นนั้นเด็กจะเรียนรู้เอง ซึ่งมักจะมีปัญหาตามมาครับ

เมื่อจบกิจกรรมนี้ เชื่อว่านักเรียนได้เรียนรู้ เข้าใจเพศตรงข้าม เห็นความเสี่ยง ที่จะป้องกันตัวเองครับ ในกิจกรรมครั้งต่อมา นักเรียนขอคุยกันต่อในหัวข้อล่วงหน้าว่า ถ้าแฟนขอมีเพศสัมพันธ์จะทำอย่างไร ปฏิเสธได้มั้ย ถ้าปฏิเสธควรจะทำอย่างไร  ถ้ายอมมีเพศสัมพันธ์แล้วผู้ชายเขาจะมองผู้หญิงอย่างไร เขาจะรักเรามากขึ้น หรือน้อยลง จะรู้ได้อย่างไรว่าแฟนจะฟันแล้วทิ้งหรือไม่ เขาจะหลอกเราหรือเปล่า คำถามทั้งหมด ชวนให้นักเรียนอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องนี้กันต่อ ชาว Gen Z น่าเรียนรู้ด้วยนะครับ

ไฮไลท์

“ในเพศหญิงนั้น เมื่อมีความรัก อยากอยู่ใกล้ชิด เป็นความสุขใจ  อบอุ่นใจมากกว่าเกิดอารมณ์เพศ เป็นความรักที่เรียกว่า romantic love  แต่ในเพศชายนั้น เมื่อมีความรัก อยากอยู่ใกล้ชิดเพราะทำให้เกิดอารมณ์เพศ ความรู้สึกเพศสูงเร็ว จนทำให้ต้องการมีเพศสัมพันธ์ มากกว่าความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นความรักแบบ erotic love”

บทความหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ฉบับวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565

เมื่อหมอขอสอน นักเรียนอยากเรียนเรื่องอะไร

                ตอนผมทำงานเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น  เคยไปทำงานช่วยครูแนะแนวในโรงเรียนใกล้ๆโรงพยาบาล เป็นโครงการสุขภาพจิตโรงเรียน  คุณครูขอให้ช่วยสอนสาธิต เรื่องการสอนแบบกลุ่ม เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียน อยากรู้มั้ยครับว่าสอนเรื่องอะไร

                กิจกรรมที่พัฒนาทักษะชีวิตนั้น ปัจจุบันเรียกว่าทักษะในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยทักษะส่วนตัว ทักษะสังคม ที่ไม่ค่อยมีสอนตามปกติ แต่เป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนใช้ความรู้นั้น ให้เป็นประโยชน์ได้เต็มที มีความสุขในชีวิต แก้ไขปัญหาและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น การรู้จักอารมณ์ตนเอง จัดการกับอารมณ์ตัวเองได้  รู้จักอารมณ์คนอื่น  จัดการกับอารมณ์คนอื่นได้ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่แตกต่างจากตนเองได้ มีเป้าหมายตนเอง และสร้างแรงจูงใจให้ไปถึงเป้าหมายได้ ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญมากพอๆกับความรู้ และสามารถออกแบบการเรียนรู้ได้ ด้วยกิจกรรมที่ได้ทำด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมกลุ่ม นักเรียนในห้องเรียนประมาณ 40 คน จัดเป็นกลุ่มขนาดย่อมๆได้พอดี ผมเคยไปทำกลุ่มบำบัดให้นักเรียนที่เครียด แล้วนักเรียนสนุกกันมาก หายเครียดกันได้ง่ายๆ คุณครูแนะแนวเลยอยากเห็นวิธีที่หมอสอนในกลุ่มนักเรียนปกติบ้าง เลยจัดให้ไป 1 ปีการศึกษาเลยครับ เป็นการสอนสาธิตแบบกลุ่ม คาบละ 50 นาที ทุกสัปดาห์ต่อเนื่องกันจนจบปีการศึกษา นักเรียนที่ได้รับสิทธินี้ เป็นนักเรียนชั้น ม2 ห้องหนึ่ง ที่มีเวลาเรียนคาบแนะแนว ตรงกับเวลาที่ผมไปสอนได้ เป็นวันจันทร์คาบก่อนเที่ยง เผื่อว่าเวลาไม่พอจะได้ไม่รบกวนคาบสอนของอาจารย์ท่านอื่น ผมเรียกว่าเป็นกิจกรรมเรียกน้ำย่อย เพราะจบคาบก็หิวพอดี ไม่ต้องซักถามต่อให้เสียเวลา ทุกคนจะได้รีบไปรับประทานอาหารกลางวัน และทีมหมอจะได้มีเวลาทบทวนการจัดกิจกรรมได้ ทีมหมอประกอบด้วย นักจิตวิทยา และแพทย์ประจำบ้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ที่มาฝึกภาคปฏิบัติด้วย มาเป็นผู้ช่วยผู้นำกลุ่ม และพอเก่งขึ้นก็จะได้ลองเป็นผู้นำกลุ่มเอง งานนี้เลยได้ประโยชน์หลายฝ่ายครับ ผมได้สอน นักเรียนได้ทักษะชีวิต  แพทย์ประจำบ้านได้ทักษะการนำกลุ่ม (group facilitator) ครูแนะแนวได้เทคนิคใหม่เพิ่มเติม ไปออกแบบการสอนต่อได้ด้วยตัวเอง บางครั้งมีครูปกครอง และครูอื่นๆมาขอสังเกตการณ์บ้าง ด้วยความสนใจและอยากรู้ว่าทีมหมอมาทำอะไรที่โรงเรียน อ้อ โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนสตรีล้วนนะครับ การจัดกิจกรรมจึงต้องออกแบบให้เหมาะกับบริบทนี้ด้วย นับเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายนักนะครับ นักเรียนหญิง วัยรุ่น ไม่ได้ป่วยหรือมีปัญหาทางจิตเวชใดๆ หมอจะสอนอะไรดี ตอนนั้นคิดว่าเราลองถามนักเรียนดูก่อนดีกว่า ว่าเขาอยากรู้เรื่องอะไร ดังนั้นคาบแรกจึงเป็นการชวนคุย เพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกันก่อน หลังจากกิจกรรมสนุกให้มีส่วนร่วม สร้างความเป็นกันเอง แนะนำตัวกันพอผ่อนคลาย ก็ชวนคิดว่าอยากรู้อะไรบ้าง หมอจะมาชวนทำกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้บางอย่าง แต่จะกำหนดเป้าหมายกันก่อนกับนักเรียน หมอสามารถสอนอะไรได้หลายอย่าง เช่น เรื่องสุขภาพ ทั้งร่างกายและจิตใจ ทักษะชีวิต ทักษะสังคม  ความเครียด ซึมเศร้า เรื่องที่ไม่ซ้ำกับที่ครูสอนได้อยู่แล้วในโรงเรียน แบ่งกลุ่มระดมความเห็นกัน แล้วมาแชร์ในกลุ่มใหญ่ พบว่าเด็กสนุกมากกับการที่ได้ตั้งเป้าหมายของตนเองในการเรียนรู้  และเรื่องที่เลือกกันโดยคะแนนเป็นเอกฉันท์ คือเรื่องอะไรทราบมั้ยครับ เด็กเลือกเรียนรู้เรื่องเพศครับ พอถามว่าไม่มีสอนเรื่องนี้ในโรงเรียนหรือ เด็กๆบอกว่าไม่มีค่ะ ผมมารู้ทีหลังว่าเรื่องเพศศึกษานั้น อยู่ในกลุ่มวิชาเลือก และที่ผ่านมาไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กเลือก ครูใช้เป็นวิชาเลือกที่จะไม่สอน น่าจะเป็นเพราะครูเองไม่ค่อยกล้าสอนเรื่องนี้ก็ได้นะครับ เพราะเนื้อหานั้นลงลึกไปทางแพทย์พอสมควร ครูที่สอนเรื่องนี้ได้สะดวกใจนั้นมีไม่มาก และไม่ได้มีทุกโรงเรียนครับ

พอรับโจทย์มาแบบนี้ ทีมงานเราก็มาคิดวางแผนกัน ว่าจะวางแผนหลักสูตรกันอย่างไร และออกแบบกระบวนการสอนแบบใด จึงจะสนุก นักเรียนมีส่วนร่วม และเปลี่ยนพฤติกรรมนักเรียนกลุ่มนี้ได้จริงๆ คราวหน้ามาติดตามกันนะครับว่าเราทำกันอย่างไร

ไฮไลท์

“เด็กสนุกมากกับการที่ได้ตั้งเป้าหมายของตนเองในการเรียนรู้  และเรื่องที่เลือกกันโดยคะแนนเป็นเอกฉันท์ คือเรื่องอะไรทราบมั้ยครับ เด็กเลือกเรียนรู้เรื่องเพศครับ พอถามว่าไม่มีสอนเรื่องนี้ในโรงเรียนหรือ เด็กๆบอกว่าไม่มีค่ะ ผมมารู้ทีหลังว่าเรื่องเพศศึกษานั้น อยู่ในกลุ่มวิชาเลือก และที่ผ่านมาไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กเลือก ครูใช้เป็นวิชาเลือกที่จะไม่สอน”

บทความหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ฉบับวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565

สอนลูกเรื่องเพศ

สอนลูกเรื่องเพศ

นพ. พนม เกตุมาน

                เรื่องเพศเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กๆควรได้เรียนรู้ เช่นเดียวกับความรู้ด้านอื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต เพื่อให้พัฒนาตนเองไปตามวัย มีชีวิตได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย

                การสอนลูกเรื่องเพศ เริ่มต้นจากที่บ้าน พ่อแม่เป็นแบบอย่างของการเป็นพ่อแม่ที่ดี เด็กจะเรียนรู้บทบาทของเพศจากพ่อแม่ เด็กผู้ชายเรียนรู้บทบาททางเพศชายจากพ่อ เด็กผู้หญิงเรียนรู้บทบาททางเพศจากแม่ การเป็นพ่อแม่ที่ดีจะช่วยให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อครอบครัว ได้เห็นตัวอย่างของการดำเนินชีวิตครอบครัว ที่อบอุ่น และการมีต้นแบบที่ดี เมื่อเติบโตไปจนถึงวัยที่จะมีครอบครัว ก็จะเลือกคู่ครองที่ดี สร้างครอบครัวได้อบอุ่นมั่นคง  มีบทบาทที่ดีในการเป็นพ่อแม่ ช่วยให้ปรับตัวได้ในชีวิตต่อมา การสอนลูกในวัยเด็กเล็ก ตั้งแต่เกิดจนถึงสามขวบ ควรช่วยให้เด็กรับรู้ว่าตนเองเป็นเพศใด หญิงหรือชาย การดูแลรักษาทำความสะอาดร่างกายและอวัยวะเพศ วัยอนุบาลสามขวบถึงหกขวบ ให้มีบทบาททางเพศตรงตามเพศของเด็ก ทั้งการแต่งกาย การเล่น และกิจกรรมต่างๆพ่อควรใกล้ชิดกับลูกชาย แม่ควรใกล้ชิดกับลูกสาว ให้เด็กดูแลความสะอาดอวัยวะเพศตนเอง และสอนข้อควรระวัง เช่น การแต่งกาย การระวังไม่ให้ใครมาละเมิดทางเพศ วัยประถมให้เน้นบทบาททางเพศตรงตามเพศตนเอง วัยมัธยม หรือวัยรุ่น ให้ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เริ่มเป็นหนุ่มสาว ความรู้สึกทางเพศ และการจัดการกับอารมณ์เพศ เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ และยอมรับได้ เลือกเพื่อนต่างเพศได้อย่างปลอดภัย เรียนรู้การมีความสัมพันธ์แบบแฟน เลือกแฟนได้ดี มีขอบเขตที่ปลอดภัย ไม่เกิดปัญหากับการเรียนหรือดำเนินชีวิต การจัดการกับความต้องการทางเพศ เรียนรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ เกิดขึ้นได้อย่างไร นำไปสู่การตั้งครรภ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  ป้องกันการถูกละเมิดทางเพศ ป้องกันเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การคุมกำเนิด การเลือกคู่ครองที่ดี การแต่งงานและชีวิตครอบครัว เนื้อหาเรื่องเพศเหล่านี้ พ่อแม่ควรมีความรู้ มีทักษะในการสอน มีสื่อที่ดีมีคุณภาพประกอบการสอน เช่น หนังสือ สื่อออนไลน์ และควรมีการสอนในโรงเรียน เป็นหลักสูตรเพศศาสตร์ศึกษาหรือ ครอบครัวศึกษา ที่ครูแนะแนวร่วมมือกับพ่อแม่ เพื่อป้องกันปัญหาทางเพศในวัยรุ่น เช่น การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การถูกละเมิดทางเพศ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และช่วยให้วัยรุ่นเรียนรู้ชีวิตได้อย่างถูกต้อง ปรับตัวได้กับความสัมพันธ์ทางเพศ เรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตตามเพศสภาพของตนเอง ไม่ว่าจะมีความพึงพอใจทางเพศอย่างไร เช่น ชายชอบหญิง ชายชอบชาย หญิงชอบชาย หญิงชอบหญิง คนที่ชอบได้ทั้งสองเพศ หรือ ชายหญิงที่มีพฤติกรรมข้ามเพศ หรือคนที่เปลี่ยนเพศ ไม่คิดว่าเป็นความผิดปกติทางจิตใจที่น่าอับอาย ไม่รังเกียจหรือหวาดกลัว อยู่ร่วมกับเพื่อนหรือบุคคลอื่นที่มีความหลากหลายทางเพศได้ ในโรงเรียนจะเป็นชุมชนที่เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องเพศและการฝึกปรับตัวทางเพศที่ดี หลักสูตรเพศศึกษาจึงควรเป็นเรื่องสำคัญที่กำหนดไว้ให้ชัดเจน  ในสังคมทั่วไป ทุกคนมีส่วนช่วยในการสอนเรื่องเพศแก่เด็กและวัยรุ่น โดยการเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ยอมให้มีการละเมิดเด็ก ไม่ควรให้เด็กได้รับสื่อที่ยั่วยุ กระตุ้นทางเพศ ไม่เปิดโอกาสให้เด็กมั่วสุมทางเพศ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ป้องกันการใช้ยาเสพติดที่จะทำให้เกิดเพศสัมพันธ์ได้ง่าย  การเรียนรู้เรื่องเพศที่ดี จะช่วยให้เด็กเรียนรู้อย่างถูกต้อง ไม่ไปเรียนรู้เองซึ่งอาจเรียนรู้แบบเสี่ยง หรือกระตุ้นทางเพศมากเกินไป  มีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องเพศ และเป็นพ่อแม่ต่อไปได้ดี เมื่อมีลูกเองจะสามารถสอนลูกได้ดีเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม ถ้าประสบการณ์ในวัยเด็กไม่ดี ไม่มีพ่อแม่เป็นแบบอย่าง หรือถูกละเมิดทางเพศ มีบาดแผลทางทางใจที่เกิดจากเรื่องเพศ ก็จะเป็นตัวอย่างไม่ดี ไม่มีทักษะในการสอนลูก

เมื่อเตรียมการสอนลูกทางเพศได้ดี มีสื่อการสอน มีคนช่วยสอน พ่อแม่และครูอาจารย์ สามารถวางแผนการสอนเด็กเรื่องเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เติบโตไปสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพและปลอดภัย

รอบรู้เรื่องหัวใจ ใกล้วันวาเลนไทน์

รอบรู้เรื่องหัวใจ ใกล้วันวาเลนไทน์

วันวาเลนไทน์ใกล้เข้ามาแล้ว ใครที่กำลังจะมีความรัก หรือเริ่มมีไปแล้ว น่าจะสนใจเรียนรู้เรื่องนี้กัน จะได้มีความสุขกับชีวิตไปกับความรักที่สมหวัง ประสบความสำเร็จด้านหัวใจได้นั้น ต้องมีความรอบรู้เรื่องนี้ด้วยนะครับความรักเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยากนะครับ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะมีความรัก เริ่มตั้งแต่เด็ก เราก็รักพ่อรักแม่ รักพี่น้อง รักเพื่อน รักครู รักโรงเรียน รักสถาบัน รักเพื่อนร่วมงาน รักแฟน รักลูกหลาน รักประเทศชาติ ความรักแต่ละอย่างคงแตกต่างกันในคุณภาพ แต่ที่เหมือนกันคือ มันทำให้จิตใจเรารู้สึกเป็นสุข เราต้องการรักคนอื่นพอๆกับการได้รับความรัก ถ้าขาดความรัก จิตใจจะเฉื่อยชา ขาดความสุขในชีวิต อาจไปแสวงหาความพึงพอใจจากอย่างอื่นมาทดแทน เช่น ยาเสพติด การพนัน ความรักจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับจิตใจนะครับ ในวันวาเลนไทน์นี้ ความรักน่าจะเน้นไปที่หนุ่มสาว เป็นความรักที่เกิดจากความสนใจทางเพศ สมัยนี้อาจจะเป็นเพศเดียวกันหรือเพศตรงกันข้ามก็ได้ เกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความรู้สึกทางเพศ สนใจและอยากมีเพื่อนต่างเพศ และถ้าถูกใจกันก็อยากจะคบหากันให้สนิทมากขึ้น เรียนรู้จากกันจนเป็นแฟนกันหรือเป็นคู่ครองกัน ความสนใจเพศตรงกันข้ามในวัยรุ่นจึงเป็นเรื่องปกตินะครับ ใครที่ไม่สนใจเลยอาจต้องติดตามสังเกตอย่างใกล้ชิดนะครับ บางคนอาจเข้าสู่วัยรุ่นช้าไปหน่อย ความสนใจทางเพศเลยมาช้า แต่โดยทั่วไป พอเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้นแล้ว ปกติจะสนใจเพศตรงข้ามไม่มากก็น้อย อาจแสดงออกแตกต่างกัน บางคนไม่ปิดบังแสดงออกมาก ควบคุมตนเองน้อย หรือไม่ระมัดระวังตัวจนเลยเถิดไปถึงเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ควบคุม พ่อแม่ส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นห่วง ไม่อยากให้มีแฟนเร็ว เลยหาทางป้องกันไม่ให้ลูกมีเพื่อนต่างเพศ บางคนถึงกับห้ามลูกไม่ให้มีแฟน ซึ่งเป็นไปได้ยากนะครับ ยิ่งห้ามหรือปิดกั้นเรื่องนี้มากเท่าใด ยิ่งทำให้วัยรุ่นแอบมีแฟนลับหลังพ่อแม่ แล้วปิดบังไม่ยอมบอก แอบไปพบกันตามลำพังสองต่อสอง ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น และปิดโอกาสที่ลูกจะได้เรียนรู้เรื่องทางเพศจากพ่อแม่ ถ้าเรื่องเพศไม่สามารถคุยกันในบ้านได้ วัยรุ่นก็จะไปแสวงหานอกบ้าน ไปเรียนรู้เองครับ ทางที่ดีก็คือ ยอมรับว่าลูกเราอาจสนใจเพศตรงข้าม คบหาติดต่อกันได้ พ่อแม่ควรคุยกับลูกได้ว่า เขาชอบใคร หรือมีใครมาชอบ เรียนรู้จากกันอย่างไร การคบกันนั้นเปิดเผยได้อย่างไร ไม่ปิดบังสิ่งที่พ่อแม่ ควรคุยกับลูกว่า คิดอย่างไร รู้สึกอย่างไรกับเพื่อนคนนั้น ชอบเขาเพราะอะไร เขามีอะไรดี มีความเหมือนความต่างกันอย่างไร นิสัยใจคอเขาเป็นอย่างไร เพื่อนฝูง พ่อแม่พี่น้องเขาเป็นอย่างไร เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าคนๆนั้น แท้จริงแล้วเป็นคนอย่างไร นิสัยไปกันได้หรือไม่ ให้สังเกตกันไปนานๆ จะได้รู้ถึงความคิด แนวคิด ค่านิยม การปรับตัว การแก้ปัญหา การเคารพตนเอง มั่นใจตนเอง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจดี มีเมตตา มีความสม่ำเสมอ คงเส้นคงวา ควบคุมอารมณ์ได้ดี ไม่หุนหันพลันแล่น แก้ปัญหาเก่ง เป็นคนที่พึ่งได้ ลองสังเกตด้วยว่า มีภูมิต้านทานอบายมุข เช่น คบเพื่อนดี ไม่เล่นการพนัน ไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ปัจจัยเหล่านี้ คือ ความปลอดภัย จะทำอย่างไรให้เด็กมีความรอบรู้ทางจิตใจเหล่านี้โดยไม่ใช่เป็นบอก หรือบังคับใช้อำนาจสั่งให้เชื่อตรงๆ เพราะวัยรุ่นจะไม่ชอบการบังคับ ถ้าห้ามมากๆ ก็จะแอบทำหรือต่อต้านตรง การสอนเรื่องเหล่านี้จึงควรมีตั้งแต่ก่อนวัยรุ่นครับ บางโรงเรียนมีการสอนเรื่องนี้โดยมีครูที่ชำนาญเป็นพิเศษ ผมเคยไปช่วยครูแนะแนวโรงเรียนหนึ่ง ออกแบบการสอนเรื่องเพศนี้ พบว่าเด็กๆอยากเรียนนะครับ เป็นวิชาที่วัยรุ่นชอบมาก เพราะวิธีสอนเราให้เขาถกเถียงกันว่า “จะเลือกแฟนอย่างไร” สรุปแล้วนักเรียนสอนกันเองครับว่า อย่าเลือกผู้ชายที่ดูเท่ สูบบุหรี่ กินเหล้า เจ้าอารมณ์ ชอบล่วงเกิน สอนจบแล้ว เชื่อว่านักเรียนจะนำไปใช้จริงๆครับ

วัยรุ่นเป็นวัยแห่งความรักนะครับ ยอมรับเถอะว่าเป็นความงดงามของชีวิต ช่วยกันทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งที่ดีงามของชีวิต ให้เขาเรียนรู้ จะป้องกันปัญหาและใช้ความรักอย่างถูกต้องกันครับ

ไฮไลท์

“พ่อแม่ส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นห่วง ไม่อยากให้มีแฟนเร็ว เลยหาทางป้องกันไม่ให้ลูกมีเพื่อนต่างเพศ บางคนถึงกับห้ามลูกไม่ให้มีแฟน ซึ่งเป็นไปได้ยากนะครับ ยิ่งห้ามหรือปิดกั้นเรื่องนี้มากเท่าใด ยิ่งทำให้วัยรุ่นแอบมีแฟนลับหลังพ่อแม่ แล้วปิดบังไม่ยอมบอก แอบไปพบกันตามลำพังสองต่อสอง ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น”

บทความหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564

ปัญหาการเรียนในเด็ก ในโลกยุคดิจิตอล

ปัญหาการเรียนในเด็ก ในโลกยุคดิจิตอล
โลกยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย มีปัญหาเกิดใหม่ตามมาเช่นกัน ข้อมูลข่าวสารและความรู้เพิ่มขึ้นมาก จนน่าสงสัยว่าเด็กยุคใหม่จะเรียนรู้กันอย่างไร ชาว Gen Z คงต้องปรับตัวกันให้ถูกวิธีนะครับ
เวลาเด็กมีปัญหาการเรียน เดิมจะมีสาเหตุหลักๆไม่กี่อย่าง เช่น สติปัญญาบกพร่อง (ปัญญาอ่อน) โรคสมาธิสั้น โรคบกพร่องด้านการเรียนรู้ โรคทางร่างกาย(ตาสั้น ตาเอียง หูตึง เลือดจาง) เครียด ซึมเศร้า ขาดโอกาสการเรียน แต่ในยุคใหม่นี้ อาจจะมีโรคอุบัติใหม่ คือ โรคติดเกม ติดไอที ทำให้เบื่อเรียน ไม่มีสมาธิ ขาดแรงจูงใจในการเรียน
โรคติดเกมนี้เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานมานี้เอง หลังจากที่เกมออนไลน์มีการแพร่ระบาดอย่างมาก เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงได้จากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งก็พัฒนาไปรวดเร็วเช่นกัน จนทุกวันนี้เด็กสามารถเล่นเกมที่เมื่อก่อนเล่นได้จากคอมพิวเตอร์เท่านั้น และโทรศัพท์มือถือก็มีราคาต่ำลงจนทุกคนมีติดตัวได้ ทำให้เด็กเสพเกมได้ง่ายขึ้น และเข้าถึงได้ตลอดเวลา
พ่อแม่สมัยใหม่อาจไม่ค่อยระวังการใช้สื่ออิเลคโทรนิกที่ทันสมัยนี้ บางคนให้ลูกเล็กๆเล่นไอแพดตั้งแต่เล็ก เพราะเด็กสนุก เพลิดเพลิน มีความสุข นั่งนิ่งไม่กวนพ่อแม่เลย เล่นได้เป็นชั่วโมงๆ บางคนคิดว่าช่วยทำให้สมาธิดี หารู้ไม่ว่า การที่เด็กเสพเกมหรือกิจกรรมเหล่านี้โดยไม่ควบคุมตั้งแต่อายุน้อย จะเกิดปัญหาตามมามาก ที่พบบ่อยคือ เด็กไม่สามารถหยุดเล่นได้ในเวลาที่ต้องหยุด บางคนจะเอะอะโวยวาย ก้าวร้าว ถึงขั้นทำร้ายพ่อแม่ที่มาห้ามอย่างรุนแรง ผิดกับนิสัยเดิม ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเมื่อติดเกมแล้ว การควบคุมอารมณ์จะเสียไป ไม่สามารถคุมได้เหมือนเดิม ข่าวที่เห็นกันบ่อยๆ คือ ลูกเอามีดฟันแม่ที่มาหยุดการเล่นเกม พฤติกรรมนี้เป็นอาการของเด็กติดเกมครับ อาการของเด็กติดเกม ดูได้จากการจัดการเวลาของเด็กเอง เมื่อใดก็ตามที่เด็กเล่นเกมมากจนไม่เรียน ไม่กิน ไม่นอน ไม่รับผิดชอบหน้าที่ดังเดิม ต้องคอยบอกให้ทำการบ้าน ให้นอนตามเวลา ให้ไปโรงเรียน หน้าที่ทุกอย่างเสียไปหมด และมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดการเรียนก็ตกลง หรือบางคนไม่ไปเรียนเลย อยู่กับบ้านเล่นเกมทั้งวัน นอกจากนี้ยังควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เวลาถูกห้ามหรือให้หยุดเล่นเกม จะมีอาการมาก เริ่มจาก ต่อรอง ขอเล่นเพิ่ม แอบเล่น จนถึงขึ้นก้าวร้าวทำร้ายคนที่มาห้าม พอถึงขั้นนี้มักยากที่จะแก้ไขแล้วครับ
การป้องกันเด็กติดเกมนั้นสำคัญกว่าการรักษามาก เพราะถ้าปล่อยจนเป็นโรคติดเกมแล้วจะรักษายากมากครับ ควรป้องกันตั้งแต่เด็กอายุน้อยนะครับ เริ่มต้นคือ อย่าให้เด็กได้เล่นเกมคอมพิวเตอร์เร็วเกินไป ก่อนวัยประถมนั้น ไม่ควรให้เด็กเล่นไอแพด เกมในมือถือเลยครับ แต่ควรจะเล่นเกมที่เล่นกับพ่อแม่ให้เหมาะตามวัย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ การสื่อสารกับมนุษย์ด้วยกันมากกว่า เช่น เล่นสมมติบทบาท ศิลปะ ประดิษฐ์ บอร์ดเกม มีเกมมากมายที่เล่นได้ไม่ติด ไม่เกิดปัญหาระยะยาว พ่อแม่ควรเลือกให้ดีครับ เวลาถามพ่อแม่เด็กติดเกมพบว่า พ่อแม่เหล่านั้นไม่ค่อยมีกิจกรรมกับลูกครับ เล่นกับลูกไม่เป็น ไม่เคยฝึกให้ลูกมีกิจกรรมสนุกสร้างสรรค์เลย เวลารักษาจะยากเพราะจะให้ไปทำอะไรในครอบครัวเพื่อทดแทนเกมนั้น ทำไม่ได้เลย
ถ้าเริ่มให้เล่นเกมมือถือหรือเกมออนไลน์ ควรมีการกำหนดกติกากันก่อนครับ กำหนดว่าเกมใดเล่นได้ เกมใดห้ามเล่น พ่อแม่ต้องรู้ว่าลูกกำลังเล่นเกมใด กำหนดเวลาเล่นและเวลาเลิกเล่นอย่างชัดเจน แล้วต้องคอยกำกับให้อยู่ในกติกาสม่ำเสมอ ถ้าละเมิดกติกาควรให้หยุดเล่นสักพักหนึ่ง แล้วเริ่มต้นใหม่ แบบนี้จะไม่เกิดการติดเกมครับ

ไฮไลท์
“เมื่อติดเกมแล้ว การควบคุมอารมณ์จะเสียไป ไม่สามารถควบคุมได้เหมือนเดิม ข่าวที่เห็นกันบ่อยๆ คือ ลูกเอามีดฟันแม่ที่มาหยุดการเล่นเกม พฤติกรรมนี้เป็นอาการของเด็กติดเกมครับ”

แนวทางปฏิบัติสำหรับจิตแพทย์ในการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ 2552

แนวทางปฏิบัติสำหรับจิตแพทย์ในการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ 2552
ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย (18 กันยายน 2552)
(Clinical Practice Guideline in Management of Gender Dysphoria and Transsexualism 2009)
(เอกสารนี้เป็นแนวทาง สำหรับจิตแพทย์ในการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ)

คณะอนุกรรมการร่างแนวทางปฏิบัติฯ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
ศ.พญ. วัณเพ็ญ บุญประกอบ ที่ปรึกษา
ผศ.นพ. พนม เกตุมาน ประธานอนุกรรมการ
รศ.นพ. อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม อนุกรรมการ
นพ. เกษม ตันติผลาชีวะ อนุกรรมการ
นพ. สเปญ อุ่นอนงค์ อนุกรรมการ
นพ. สุกมล วิภาวีพลกุล อนุกรรมการ
พอ.หญิง นวพร หิรัญวิวัฒน์กุล อนุกรรมการ

เจตนารมณ์
เอกสารแนวทางปฏิบัติสำหรับจิตแพทย์ในการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ 2552 ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยฉบับนี้ มิได้มีเจตนาให้มีการบังคับใช้ปฏิบัติหรือเป็นมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยที่จะใช้อ้างอิงทางกฎหมาย เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการนำหลักฐานทางเวชปฏิบัติที่ปรากฏมาใช้กับผู้ป่วยรายนั้นๆ และอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิทยาการและแบบแผนการรักษาที่พัฒนาไป ดังนั้น ประเด็นต่างๆที่แสดงในเอกสารนี้ จึงเป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติและการรักษา การยึดถือไปปฏิบัติมิได้เป็นการประกันว่า การรักษาจะได้รับผลสำเร็จในทุกราย หรือเป็นการสร้างขอบเขตว่าเอกสารนี้ได้รวบรวมการรักษาทุกวิธีที่ได้ผล หรือเอกสารได้ตัดวิธีการรักษาอื่นที่อาจได้ผลออก ดังนั้น จิตแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้เลือกวิธีการรักษาโดยอาศัยข้อมูลที่ผู้ป่วยบอกเล่าร่วมกับกระบวนการวินิจฉัยและวิธีการรักษาที่เป็นไปได้ตามกรณี
ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยได้เชิญจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆดังรายนามปรากฏ มาร่วมกันสร้างเอกสารแนวทางปฏิบัตินี้ โดยอาศัยหลักการรวบรวมหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนในการเลือกข้อมูลการศึกษามาพิจารณา ร่วมกับอาศัยความเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญประกอบกัน เพื่อให้จิตแพทย์พิจารณานำไปใช้

ประวัติความเป็นมา
ปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ผู้ที่มีปัญหานี้บางคนไม่แสดงอาการเป็นพฤติกรรมให้เห็นชัดเจน แต่บางคนอาจแสดงออกเป็นพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกับเพศตนเองตั้งแต่อายุน้อย เช่น กิริยาท่าทาง การพูด การแต่งกาย การเล่น และกิจกรรมทางสังคมต่างๆ เมื่อโตขึ้นบางคนอาจมีความต้องการแปลงเพศ หรือขอผ่าตัดแปลงเพศ
ตามหลักวิชาการทางการแพทย์ การรักษาด้วยวิธีแปลงเพศนั้นจะกระทำได้ในรายที่ผู้ป่วยนั้นเป็นโรคที่มีข้อบ่งชี้ว่าสมควรรักษาด้วยการแปลงเพศ และมีความสามารถในการปรับตัวกับเพศใหม่ได้ การรักษาจำเป็นต้องร่วมมือกันระหว่างจิตแพทย์ กุมารแพทย์หรืออายุรแพทย์เฉพาะทางระบบต่อมไร้ท่อ ศัลยแพทย์ สูตินรีแพทย์ โดยดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือและการรักษาโรคอย่างถูกต้อง
คณะกรรมการแพทยสภา ได้เห็นถึงความสำคัญเรื่องนี้และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อร่างข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การทำศัลยกรรมแปลงเพศ ตามประกาศแพทยสภาที่ 15/2551 ประกอบด้วยแพทย์ผู้แทนจากราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการจัดสัมมนารวบรวมความคิดเห็นจากแพทย์ และผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ จนประกาศข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่อง เกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ พ.ศ. 25521 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ซึ่งจะมีผลใช้ 180 วันนับจากวันประกาศนี้ และประกาศแพทยสภาที่ 58/2552 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติต่อผู้ที่มีพฤติกรรมสับสนในเพศตนเอง หรือต้องการรักษาเพื่อการแปลงเพศ2 ในข้อบังคับฯและประกาศฯทั้งสองฉบับดังกล่าว ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ที่มีพฤติกรรมสับสนในเพศตนเองหรือต้องการรักษาเพื่อการแปลงเพศ ต้องเป็นตามหลักเกณฑ์และขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1. ให้ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อประเมิน วินิจฉัยแยกโรค และให้ความช่วยเหลือผู้นั้นตามแนวทางปฏิบัติของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
2. เมื่อจิตแพทย์ได้ให้การวินิจฉัยผู้ป่วยทางจิตเวชที่มีข้อบ่งชี้ในการแปลงเพศ ให้ส่งปรึกษาแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อเพื่อพิจารณาให้การรักษาโดยการใช้ฮอร์โมน
3. แพทย์ด้านต่อมไร้ท่อต้องตรวจ วินิจฉัย ให้คำแนะนำ และรักษาในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ ด้วยการพิจารณาให้ยาฮอร์โมนในชนิด และขนาดที่เหมาะสม
4. จิตแพทย์จะต้องให้คำแนะนำผู้รับการรักษาทุกราย และผู้รับการรักษาต้องผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตเป็นเพศที่ต้องการอย่างน้อยหนึ่งปี และประเมินผลเพื่อพิจารณารักษาโดยการแปลงเพศต่อไป
5. ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ให้ทำการรักษาเพื่อการแปลงเพศ ผู้รับการรักษาต้องได้รับการรับรองจากจิตแพทย์อย่างน้อยสองท่าน
กรณีที่เป็นผู้ป่วยต่างชาติและได้รับการรับรองโดยจิตแพทย์ต่างชาติแล้ว ต้องให้จิตแพทย์ไทยอย่างน้อยหนึ่งท่านทำการประเมินคัดกรองก่อนผ่าตัด
6. หลังผ่าตัดทำศัลยกรรมแปลงเพศแล้วแพทย์ที่เกี่ยวข้องในการทำการรักษาต้องให้การติดตามดูแลและให้คำปรึกษา ตามความเหมาะสม
จากข้อบังคับแพทยสภาฯ และประกาศแพทยสภาฯดังกล่าว ได้กำหนดบทบาทและหน้าที่ของจิตแพทย์หลายประการ และกำหนดให้ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยกำหนดแนวทางปฏิบัติในการประเมิน วินิจฉัยโรค วินิจฉัยแยกโรค และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการจะแปลงเพศ แพทยสภาจึงได้มอบหมายให้ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับจิตแพทย์ในการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ ซึ่งราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่างแนวทางปฏิบัติในการรักษาและช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศฉบับนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับจิตแพทย์ ในการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ และให้ความเห็นแก่แพทย์ผู้เกี่ยวข้องประกอบการรักษาและการพิจารณาผ่าตัดแปลงเพศ เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับและประกาศแพทยสภาข้างต้น

อุบัติการณ์ของปัญหา3,4,5,6,7
ในสังคมปัจจุบันพบว่ามีพฤติกรรมผิดเพศ (cross -sex behaviors) ที่พบได้บ่อยตั้งแต่เด็ก เช่น การแต่งกาย กิริยาท่าทาง การแสดงออกแบบเพศตรงกันข้าม หรือการทำกิจกรรมที่ตรงกันข้ามกับเพศของตน พฤติกรรมเหล่านี้เป็นปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ มักกลายเป็นปัญหาพฤติกรรมต่อเนื่องมาจนถึงวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือ จะกลายให้เกิดปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ สังคม และพฤติกรรมอื่นๆตามมา
ภาวะที่พบบ่อยที่สุดสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมผิดเพศตนเอง คือ ภาวะรักร่วมเพศ (homosexualism) ซึ่งพบได้ทั้งสองเพศ คือ ภาวะชายชอบชาย (gay) หญิงชอบหญิง (lesbianism) และผู้ที่ชอบทั้งสองเพศ (bisexualism) ภาวะนี้มิใช่โรคทางจิตเวช พฤติกรรมทางเพศภายนอกอาจแสดงออกตรงกันข้ามกับเพศตนเอง เช่น กิริยาท่าทาง การแต่งกาย หรืออาจไม่แสดงให้เห็นภายนอกก็ได้ แต่จะมีความรู้สึกทางเพศกับเพศเดียวกัน เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจะมีความสนใจทางเพศกับเพศเดียวกัน มีความรู้สึกและความพึงพอใจทางเพศกับเพศเดียวกัน
นอกจากนี้ผู้ที่แต่งกายหรือแสดงออกผิดเพศ อาจเป็นพฤติกรรมของผู้ที่เป็นโรคทางจิตเวช หรือภาวะต่อไปนี้
1. Transvestism มีพฤติกรรมแต่งกายผิดเพศ พอใจในพฤติกรรมแต่งกายแบบเพศตรงกันข้าม
2. Transvestic fetishism มีพฤติกรรมเมื่อสัมผัสหรือสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ของเพศตรงกันข้าม แล้วเกิดความรู้สึกทางเพศ แต่ยังมีความรู้สึกทางเพศกับเพศตรงกันข้าม
3. Transsexualism มีพฤติกรรมผิดเพศทุกด้าน มีความคิดว่าตนเองผิดเพศ รู้สึกว่าตนเองเป็นเพศตรงกันข้าม แต่งกายและแสดงออกเป็นเพศตรงกันข้าม รู้สึกว่าอวัยวะเพศเป็นส่วนเกิน รังเกียจอวัยวะเพศตนเองจนอาจถึงกับอยากกำจัดอวัยวะเพศตนเอง บางคนต้องการแปลงเพศเพื่อให้เป็นเพศนั้น
4. Psychosis พฤติกรรมผิดเพศเป็นการแสดงออกของอาการหลงผิดในเอกลักษณ์ทางเพศของตนเอง
ผู้ที่มีภาวะและป่วยด้วยโรคทางจิตเวชเหล่านี้ บางคนอาจมีความต้องการแปลงเพศของตนเอง แต่โรคทางจิตเวช ที่เป็นข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยการแปลงเพศ คือ โรค Transsexualism เท่านั้น อุบัติการณ์ของโรคนี้มีประมาณ 1/30000 ในเพศชาย และประมาณ 1/100000 ในเพศหญิง
อาการสำคัญของโรค จะแสดงพฤติกรรมเอาแบบอย่างเพศตรงกันข้ามอย่างชัดเจน และเป็นตลอด ดังนี้
1. แสดงความต้องการเป็นเพศตรงกันข้ามอยู่เสมอ หรือยืนยันว่าตนเองเป็นเพศตรงกันข้าม
2. แต่งกายเป็นเพศตรงกันข้าม ในเด็กชายชอบแต่งตัวชุดผู้หญิง ในเด็กหญิงมีการยืนยันว่าจะใส่แต่ชุดที่ใส่กันเฉพาะเพศชาย
3. ชอบเล่นเป็นเพศตรงกันข้ามมากในการเล่นแบบสมมุติ หรือมีจินตนาการว่าเป็นเพศตรงกันข้าม โดยเป็นอยู่ตลอด และแสดงออกเป็นกิจกรรมของเพศตรงกันข้าม หลีกเลี่ยงกิจกรรมตามเพศตนเอง
4. ต้องการร่วมในเกมหรือกิจกรรมที่เป็นของเพศตรงกันข้าม หรือมีงานอดิเรกแบบเพศตรงกันข้าม พึงพอใจที่จะมีกิจกรรม
5. ต้องการที่จะมีเพื่อนคู่หูเป็นเพศตรงกันข้ามอย่างมาก
นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคนี้ยังรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจกับเพศตนเอง หรือรู้สึกว่าบทบาทตามเพศของตนเองนั้นไม่เหมาะสมอยู่ตลอด ไม่ชอบและรังเกียจอวัยวะเพศของตนเอง คิดว่าอวัยวะเพศของตนนั้นผิดเพศ น่ารังเกียจ ต้องการกำจัดอวัยวะเพศทิ้ง หรือต้องการแปลงเพศ
หลักการช่วยเหลือ
การช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้
1. พัฒนาการตามวัย
เอกลักษณ์ทางเพศเริ่มพัฒนาตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ได้รับอิทธิพลจากพ่อแม่ ครอบครัว การเลี้ยงดูและสังคม เมื่อเด็กมีอายุ 3 ปี เด็กจะบอกได้ว่าตนเป็นเพศใด หลังจากนั้นจะเรียนรู้พฤติกรรมตามเพศของตนเอง ได้แก่ การแต่งกาย การแสดงออก การพูด การเล่น และกิจกรรมอื่นๆ เช่น เด็กผู้ชายจะยืนปัสสาวะ เด็กผู้หญิงจะนั่งปัสสาวะ ผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศอาจแสดงพฤติกรรมผิดเพศตั้งแต่อายุน้อย และเปลี่ยนแปลงอาการตามวัย เช่น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจึงจะเริ่มรู้ว่าตนเองมีความพึงพอใจทางเพศแบบใด มีความรู้สึกทางเพศกับเพศใด และต้องการมีสภาพความเป็นเพศแบบใด
2. วุฒิภาวะในการเลือกเพศของตนเอง
ผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศมีสิทธิเลือกเพศของตนเองได้ เมื่อมีวุฒิภาวะ การคิดไตร่ตรอง การตัดสินใจเหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปจะสามารถทำได้เมื่ออายุมากกว่า 18 ปี ไม่มีปัญหาบุคลิกภาพรุนแรง และไม่มีปัญหาที่รบกวนต่อการใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ
3. การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช
ผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศควรได้รับการตรวจโดยจิตแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยโรคหรือภาวะทางจิตเวชให้ถูกต้อง เนื่องจากปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศอาจเป็นอาการของโรคทางจิตเวช หรือเป็นภาวะอื่นที่มิใช่โรคทางจิตเวช เช่น homosexualism เป็นต้น เพื่อให้การช่วยเหลือตามการวินิจฉัยโรคหรือภาวะนั้นได้ถูกต้อง
4. การรักษาหรือการช่วยเหลือ
แผนการรักษาหรือการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ ให้เป็นไปตามการวินิจฉัยโรคหรือภาวะที่เป็นอยู่ เมื่อพบว่ามีพฤติกรรมผิดเพศ แพทย์ควรให้ความช่วยเหลือโดยเร็วตั้งแต่อายุน้อย สำหรับผู้ที่ต้องการการรักษาด้วยวิธีแปลงเพศควรได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคทางจิตเวชหรือไม่ เนื่องจากการรักษาด้วยวิธีการแปลงเพศ เป็นข้อบ่งชี้เฉพาะผู้ป่วยโรค Transsexualism ที่ต้องการแปลงเพศเท่านั้น โดยความร่วมมือระหว่างแพทย์หลายสาขา รักษาแบบองค์รวมทั้งทางร่างกาย จิตใจและสังคม โดยครอบครัวมีบทบาทร่วมด้วยตั้งแต่ต้น ไปจนตลอดกระบวนการรักษา ซึ่งจะเป็นขั้นตอนตามลำดับ ได้แก่ การตรวจประเมินทางจิตเวช การรับทราบการวินิจฉัย การรักษาด้วยวิธีประคับประคองทางจิตใจสังคม การทดลองดำเนินชีวิตในรูปแบบเพศใหม่ การใช้ยาหรือฮอร์โมน และการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดแปลงเพศแล้วจำเป็นต้องมีการติดตามผลการรักษาระยะยาว
5. การเลือกวิธีรักษา
กระบวนการรักษาที่ไม่สามารถเปลี่ยนกลับเป็นแบบเดิมได้ เช่น การผ่าตัด ควรเลือกเฉพาะรายที่แพทย์พิจารณาเห็นว่าเมื่อทำแล้วมีผลดีต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย และผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้ดีหลังกระบวนการรักษานั้น
6. การติดตามการรักษา
แพทย์ผู้รักษาควรติดตามและบันทึกผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงระยะที่ผู้ป่วยปรับตัวได้ หลังการผ่าตัดควรติดตามผลการปรับตัวต่อไปอีกอย่างน้อย 12 เดือน

แนวทางปฏิบัติทั่วไปสำหรับจิตแพทย์ ในการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ3,4,5,6,7
1. การวินิจฉัยโรค จิตแพทย์ประเมินทางจิตเวชแก่ผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ เพื่อการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช วินิจฉัยแยกโรคหรือภาวะอื่นๆ และโรคที่พบร่วม รวมถึงปัญหาบุคลิกภาพ ปัญหาทางกาย ปัญหาในครอบครัว และระดับการปรับตัวในชีวิต เพื่อประกอบการวางแผนช่วยเหลือต่อไป
1.1 ข้อมูลที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค
ข้อมูลควรได้จากหลายฝ่าย ทั้งจากผู้ป่วยเอง พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์ เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานผู้ใกล้ชิด ดังต่อไปนี้
1. ประวัติตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น จากผู้ป่วย ครอบครัว โรงเรียน และสังคมสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่แสดงถึงการแสดงออกทางเพศ
2. ประวัติครอบครัว การเลี้ยงดู บทบาทของพ่อแม่และครอบครัว หน้าที่ของครอบครัว (family functions) ทัศนคติของพ่อแม่ต่อเพศของเด็ก ความพึงพอใจของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อการแสดงออกทางเพศ ปัญหาที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ต่อลูก การส่งเสริมให้ลูกแสดงออกตามเพศอย่างถูกต้อง การส่งเสริมบทบาททางเพศที่ถูกต้อง
3. พัฒนาการทางเพศ (psychosexual development) ตั้งเด็กจนถึงปัจจุบัน
4. บทบาททางเพศ (gender role) ได้แก่ การแสดงออกทางเพศทั้งที่บ้าน โรงเรียน และสิ่งแวดล้อมอื่น ตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ กิริยาท่าทาง การพูด การแต่งกาย การเล่น กลุ่มเพื่อน กิจกรรมที่เข้าร่วม และการดำเนินชีวิตอื่นๆ
5. การตรวจร่างกาย เพื่อแยกโรคหรือภาวะทางกายที่อาจทำให้เกิดภาวะนี้ รวมทั้งการตรวจทางกายพิเศษที่จำเป็น
6. การตรวจสภาพจิตใจ (mental status examination) เพื่อประเมินจิตใจโดยทั่วไป และประเมินเรื่อง การบอกเพศตนเอง (core gender) บทบาททางเพศ (gender role) ความพึงพอใจทางเพศ (sexual orientation) และ พยาธิสภาพทางจิตใจอื่นๆ เช่น อาการโรคจิต (psychosis) ความสับสนไม่แน่ใจในเอกลักษณ์ตนเอง (identity confusion)
7. การตรวจอื่นที่มีข้อบ่งชี้ เช่น การทดสอบทางจิตวิทยา (psychological test)
8. ประวัติการทดลองใช้ชีวิตแบบเพศตรงกันข้าม (ถ้ามี) ประกอบด้วยการแต่งกาย กิจกรรม การเข้าสังคม ระยะเวลา ความต่อเนื่อง และผลจากการการทดลองใช้ชีวิตแบบนั้น
9. การทดลองใช้ชีวิตแบบเพศตรงกันข้าม โดยให้มีการแต่งกาย กิจกรรม การเข้าสังคมเช่นเดียวกับเพศตรงกันข้าม อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 12 เดือน และผลจากการการทดลองใช้ชีวิตแบบนั้น
จิตแพทย์ควรบันทึกข้อมูลดังกล่าวอย่างละเอียด สามารถตรวจสอบได้
1.2 การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช (psychiatric diagnosis)8,9 จิตแพทย์ประเมินและให้การวินิจฉัยในด้านต่างๆ 5 ด้าน ดังต่อไปนี้ และบันทึกผลเป็นลายลักษณ์อักษร
1. โรคทางจิตเวช ใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชขององค์การอนามัยโลก (ICD-10)9
2. ปัญหาบุคลิกภาพ ความสามารถในการปรับตัว
3. โรคทางร่างกายที่มีผลต่อการปรับตัว
4. ปัญหาในครอบครัว การยอมรับจากครอบครัว
5. ระดับความสามารถปรับตัวในปัจจุบัน และ ในระยะเวลา 12 เดือนก่อนหน้านั้น

2. การช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับ ผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ
เมื่อจิตแพทย์ประเมินเบื้องต้นในข้อ 1 แล้ว การวางแผนการช่วยเหลือให้เป็นไปตามโรคทางจิตเวช หรือภาวะที่พบ โดยมีแนวทางดังนี้
2.1 ส่งเสริมพัฒนาการทางเพศตามปกติ
1. ให้ความรู้ทางเพศแก่ผู้ที่มีปัญหา ตามสภาพพัฒนาการทางจิตใจ และความสามารถในการรับข้อมูล
2.ให้ความรู้ทางเพศแก่ครอบครัว (พ่อแม่ ญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้อง) ทัศนคติทางเพศ การเลี้ยงดู การส่งเสริมพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสมไม่ให้ผิดเพศ
3. ให้ความรู้ทางเพศแก่ครูอาจารย์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้มีพฤติกรรมเหมาะสมทางเพศที่โรงเรียน
2.2 ทดลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปตามเพศของตนเอง ประกอบด้วย
1. ให้ความรู้เรื่องบทบาททางเพศที่เหมาะสม ตรงกับเพศตนเอง และส่งเสริมการแสดงออกทางเพศตรงตามเพศตนเอง
2. ให้คำปรึกษาสร้างแรงจูงใจให้เปลี่ยนพฤติกรรม ให้มีพฤติกรรมทางเพศตรงตามเพศตนเอง
3. ให้การรักษาแบบพฤติกรรมบำบัด เพื่อเปลี่ยนให้มีพฤติกรรมตรงตามเพศตนเอง
4. ให้คำปรึกษาแนะนำพ่อแม่ เรื่องวิธีการเลี้ยงดูเด็ก
5. ให้คำปรึกษาแนะนำครูอาจารย์ในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมตามเพศที่ถูกต้องตรงตามเพศของตนเอง
2.3 ติดตามการเปลี่ยนแปลงของอาการ ผู้รักษาให้ความช่วยเหลือในข้อ 2.2 อย่างต่อเนื่องจนผู้นั้นเข้าสู่วัยรุ่น หลังจากนั้นผู้รักษาทบทวนการวินิจฉัยอีกครั้ง แล้วให้การช่วยเหลือหรือการรักษาต่อไปตามการวินิจฉัยภาวะหรือโรคนั้นๆ

3. การช่วยเหลือหรือรักษาผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศประเภทต่างๆ
หลังจากจิตแพทย์วินิจฉัยโรคแล้ว จะวางแผนช่วยเหลือบุคคลนั้นให้สอดคล้องกับการวินิจฉัยโรคและภาวะต่างๆ ดังนี้
3.1 การช่วยเหลือผู้ที่มี ภาวะรักร่วมเพศ (homosexualism)
การช่วยเหลือประกอบด้วย
• การให้ความรู้เรื่องภาวะรักร่วมเพศ (psychoeducation) แก่บุคคลนั้น และครอบครัว
• การแนะนำปรึกษาเรื่องการปรับตัว การแสดงออก
• การให้คำปรึกษาแนะนำพ่อแม่และครอบครัว ให้เข้าใจ ยอมรับ ไม่คาดหวังให้กลับมาเป็นรักต่างเพศ (heterosexual) และยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวต่อไป
• การช่วยเหลือทางจิตใจสังคมอื่น เช่น การปรับตัว การจัดการกับความเครียดและอารมณ์ซึมเศร้า การมีคู่รัก การแต่งงาน การดำเนินชีวิตคู่ เป็นต้น
• การให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติแก่ครูอาจารย์สำหรับการดูแลนักเรียนที่มีภาวะรักร่วมเพศ
3.2 การรักษาโรครักร่วมเพศที่มีความขัดแย้งภายในตน (Egodystonic homosexualism)
การช่วยเหลือประกอบด้วย
• การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ (psychoeducation) แก่ผู้นั้น และครอบครัว
• การแนะนำปรึกษาเรื่องการปรับตัว การแสดงออก
• การให้คำปรึกษาแนะนำพ่อแม่ ครอบครัว ให้เข้าใจ เตรียมตัว เตรียมใจ เพื่อยอมรับ ไม่คาดหวังสูงว่าจะกลับมาเป็นรักต่างเพศ (heterosexual) และยังคงมีความสัมพันธ์ดีในครอบครัวต่อไป
• การช่วยเหลือทางจิตใจสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเอง เลือกและยอมรับเพศตามสภาพที่เหมาะสมกับตนเอง ตามที่ตนเองเลือก และมีชีวิตอย่างเป็นสุขต่อไปได้

3.3 การรักษาโรค Transsexualism
หลักการ ผู้รักษาประกอบด้วย จิตแพทย์ กุมารแพทย์หรืออายุรแพทย์เฉพาะทางระบบต่อมไร้ท่อ สูตินรีแพทย์และศัลยแพทย์ ให้เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศฯ และข้อบังคับแพทยสภาฯ และสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของราชวิทยาลัยฯที่เกี่ยวข้อง

แนวทางปฏิบัติสำหรับจิตแพทย์ในการรักษาโรค Transsexualism3,10,11,12,13,14,15
(Clinical Practice Guidelines for Psychiatrist in Treatment of Transsexualism)
จิตแพทย์ผู้รักษา ดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอน ตั้งแต่แรกดังนี้
1. การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช
จิตแพทย์ประเมินและวินิจฉัยโรคทางจิตเวช (psychiatric disorder) และโรคที่พบร่วม (co-morbid psychiatric disorders or conditions) โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคขององค์การอนามัยโลก (ICD-10) และลงความเห็นการวินิจฉัยด้านต่างๆ 5 ด้าน ดังนี้
1. โรคทางจิตเวช การวินิจฉัยโรค Transsexualism (F64.0) ใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรค ขององค์การอนามัยโลก (ICD-10)9
2. ปัญหาบุคลิกภาพ ความสามารถในการปรับตัว
3. โรคทางร่างกายที่มีผลต่อการปรับตัว
4. ปัญหาในครอบครัว การยอมรับจากครอบครัว
5. ระดับการปรับตัวในปัจจุบัน และ ในระยะเวลา 12 เดือนก่อนหน้านั้น

2. การรักษาเบื้องต้น
• การให้ความรู้ (psychoeducation) แก่ผู้ป่วยและครอบครัว ดังต่อไปนี้
1.1. ความรู้เรื่องโรค (knowledge about transsexualism)
1.2. ความรู้เรื่องกระบวนการรักษา (knowledge about the process of treatment)
1.3. ความรู้เรื่องผลที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการรักษา และหลังการรักษา เช่น ผลของการใช้ยา ฮอร์โมน ผลของการผ่าตัด ผลแทรกซ้อน ผลทางกฎหมาย การปรับตัว
• การให้คำปรึกษาพ่อแม่ในการเลี้ยงดู หรือครอบครัวบำบัด (family counseling or family therapy) ให้คำแนะนำปรึกษาพ่อแม่ ครอบครัว ให้เข้าใจและยอมรับ และมีบทบาทที่ถูกต้อง ส่งเสริมการเลี้ยงดู ปรับทัศนคติครอบครัวให้ยอมรับการเลือกสภาพเพศของผู้ป่วย ไม่คาดหวังจากผู้ป่วยมากเกินไป โดยยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวต่อไป
• การให้คำปรึกษาแนะนำหรือจิตบำบัดรายบุคคล (individual counseling or psychotherapy) ให้คำแนะนำปรึกษาหรือจิตบำบัด ในเรื่องการปรับตัว การแสดงออก ปัญหาที่คาดว่าจะเผชิญในอนาคต และการช่วยเหลือทางจิตใจสังคม
3. การทดลองให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตเป็นเพศตรงกันข้าม ตามที่ตนต้องการ (real life experience)
จิตแพทย์วางแผนร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัว ในการทดลองให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตเป็นเพศตรงกันข้าม โดยมีการประเมินและบันทึกผลการปรับตัวอย่างสม่ำเสมอ ทุก 3-6 เดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน เพื่อให้ผู้ป่วยเรียนรู้ เผชิญปัญหาจริง และฝึกการปรับตัว
การทดลองใช้ชีวิตแบบเพศตรงกันข้าม ประกอบด้วยการปรับตัวให้เป็นที่ยอมรับในสถานการณ์ต่างๆ ต่อไปนี้
• การแต่งกายแบบเพศตรงกันข้ามตลอดเวลา
• การเข้าร่วมกิจกรรม กลุ่มเพื่อน กีฬา งานอดิเรก
• การใช้ชีวิตในสังคม ที่มีการแยกกิจกรรม หรือ สถานที่ที่มีการกำหนดเพศ เช่น ห้องน้ำสาธารณะ
• การดำเนินชีวิตเกี่ยวกับการเรียนหรือการทำงาน ความสัมพันธ์กับบุคคล การถูกตรวจสอบเพศโดยเจ้าหน้าที่
• การเผชิญปัญหาอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เช่น การเกณฑ์ทหาร การใช้คำนำหน้า ที่ไม่สามารถเปลี่ยนจากนายเป็นนางสาวได้ การไม่ยอมรับของครอบครัวเพื่อนและสังคม อุปสรรคในการใช้สถานที่ หรือกิจกรรมบางอย่าง
ในกรณีที่ผู้ป่วยให้ประวัติว่าก่อนพบจิตแพทย์ ได้ทดลองดำเนินชีวิตแบบเพศตรงกันข้ามด้วยตัวเองมาแล้วอย่างน้อย 12 เดือน ให้จิตแพทย์ใช้ดุลยพินิจประเมินจากข้อมูลรอบด้านจากหลายแหล่ง เช่น จากผู้ป่วย พ่อแม่ญาติ ครูอาจารย์ เพื่อน และเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าการดำเนินชีวิตที่ได้ทำมาก่อนหน้าแล้วนั้น มีรายละเอียดที่ครอบคลุมการทดลองใช้ชีวิตแบบเพศตรงกันข้ามตามสถานการณ์ต่างๆข้างต้นนี้จริง มีความต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อย 12 เดือนจริง และผู้ป่วยปรับตัวได้จริง ในกรณีเช่นนี้จิตแพทย์สามารถลงความเห็นได้ว่าผู้ป่วยผ่านการทดลองใช้ชีวิตแบบเพศตรงกันข้ามได้สำเร็จมาแล้ว

4. การติดตามการรักษา และการปรึกษาแพทย์ที่เกี่ยวข้อง
หลังการช่วยเหลือทางจิตใจสังคม จิตแพทย์จะประเมินความคิดผู้ป่วยเกี่ยวกับเพศสภาพตนเอง ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยได้ทดลองใช้ชีวิตแบบเพศใหม่แล้วปรับตัวได้ดี และยังคงมีความต้องการแปลงเพศ จิตแพทย์จะให้ความรู้ผู้ป่วยในเรื่องการแปลงเพศ ดังนี้
4.1 ขั้นตอนต่อไปของการแปลงเพศ ปัญหาทางจิตใจ สังคม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และอุปสรรคต่างๆ เช่น ไม่สามารถเปลี่ยนคำนำหน้าจากนาย เป็นนางสาว ยังไม่มีกฎหมายรองรับเพศสภาพใหม่ เป็นต้น
4.2 การปรึกษากุมารแพทย์หรืออายุรแพทย์เฉพาะทางระบบต่อมไร้ท่อ16เพื่อพิจารณาการใช้ฮอร์โมนหรือยา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยังสามารถเปลี่ยนกลับเป็นสภาพเดิมได้ ข้อบ่งชี้และระยะเวลาที่เริ่มต้นให้ฮอร์โมนขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกุมารแพทย์หรืออายุรแพทย์เฉพาะทางระบบต่อมไร้ท่อ
4.3 การผ่าตัด จะทำได้เมื่อจิตแพทย์มีความเห็นว่ามีความพร้อมต่อการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งประเมินจาก การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช บุคลิกภาพ การปรับตัวทั่วๆไปที่ผ่านมา และผู้ป่วยได้ผ่านผ่านการทดลองใช้ชีวิตเป็นเพศตรงกันข้ามและสามารถปรับตัวได้ดีอย่างน้อย 12 เดือน17,18,19 โดยจิตแพทย์จะมีจดหมายแสดงความเห็นไปยังแพทย์ผู้จะผ่าตัด (ดูภาคผนวก) ในขั้นตอนการปรึกษาแพทย์ผ่าตัดต่อไป
4.4 การผ่าตัดแปลงเพศ การพิจารณาขึ้นอยู่กับสูตินรีเวชแพทย์หรือศัลยแพทย์ ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้รักษา แพทย์ผู้ผ่าตัดจะขอให้จิตแพทย์คนที่ 2 ตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคทางจิตเวชอีกครั้ง จึงจะพิจารณาผ่าตัดให้ได้

5. การปรึกษากุมารแพทย์หรืออายุรแพทย์เฉพาะทางระบบต่อมไร้ท่อ16
หลังจากจิตแพทย์ช่วยเหลือและติดตามผลการรักษาตามขั้นตอนข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยยังคงมีความต้องการแปลงเพศ จิตแพทย์ส่งปรึกษากุมารแพทย์หรืออายุรแพทย์เฉพาะทางระบบต่อมไร้ท่อ เพื่อพิจารณาการรักษาด้วยฮอร์โมนหรือยา และติดตามผลก่อนการส่งปรึกษาแพทย์ผู้ผ่าตัดแปลงเพศ

6. การปรึกษาแพทย์ผู้ผ่าตัดแปลงเพศ (ศัลยแพทย์ หรือ สูตินรีเวชแพทย์)
ถ้าผู้ป่วยมีความต้องการผ่าตัดแปลงเพศ จิตแพทย์ผู้รักษาจะส่งผู้ป่วยเพื่อปรึกษาแพทย์ผู้ผ่าตัดแปลงเพศ (ศัลยแพทย์ หรือ สูตินรีเวชแพทย์) พร้อมจดหมายแสดงความคิดเห็น (letter of recommendation) ระบุสิ่งที่จิตแพทย์ได้ดำเนินการไปแล้ว ต่อไปนี้
1. การตรวจวินิจฉัยโรคทางจิตเวช
2. แผนการรักษา ผลการรักษาและผลการติดตามโดยจิตแพทย์
3. ความเห็นของจิตแพทย์ต่อการพิจารณาผ่าตัดและการประเมินความพร้อมในการรับการผ่าตัดแปลงเพศ
แพทย์ผู้ผ่าตัดแปลงเพศ จะให้ความรู้ผู้ป่วยเรื่องกระบวนการผ่าตัด ผลการผ่าตัด ผลทางร่างกายหลังการผ่าตัด ปัญหาและผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น การติดเชื้อ การตีบตันท่อปัสสาวะ การตอบสนองทางเพศที่อาจไม่ดี เมื่อผ่าตัดแล้วไม่สามารถผ่าตัดกลับคืนมาเป็นเพศเดิมได้อีก และอาจไม่สามารถมีลูกได้ หลังจากนั้นถ้าผู้ป่วยยังต้องการผ่าตัดแปลงเพศ แพทย์ผ่าตัดจะส่งผู้ป่วยไปขอความเห็นในเรื่องการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชจากจิตแพทย์อีกหนึ่งคน เพื่อตรวจ วินิจฉัยและให้จดหมายแสดงการวินิจฉัยทางจิตเวชยืนยันว่าเป็นโรค Transsexualism ตรงกันกับจิตแพทย์ท่านแรก ซึ่งเป็นโรคที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดแปลงเพศ

7. การติดตามการรักษา17,18,19,20,21
จิตแพทย์ประเมินผลการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ทั้งก่อนและหลังการรักษาด้วยฮอร์โมน และการผ่าตัดแปลงเพศ หลังการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว จิตแพทย์ผู้รักษาควรติดตามผลต่อไปอีก 12 เดือน

การลงความเห็นของจิตแพทย์คนที่ 2 ในการวินิจฉัยโรค Transsexualism
ในกรณีที่ผู้ป่วยขอผ่าตัดแปลงเพศ จิตแพทย์คนที่ 2 จะได้รับการขอร้องให้ตรวจยืนยันการวินิจฉัยโรคเป็นคนที่ 2 ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ พ.ศ. 2552 ให้จิตแพทย์ประเมินทางจิตเวช วินิจฉัยโรคทางจิตเวช และเขียนจดหมาย (letter of recommendation) แสดงผลเฉพาะการตรวจและวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ให้แพทย์ผู้พิจารณาการผ่าตัดแปลงเพศ
แพทย์ผู้ผ่าตัดจะผ่าตัดแปลงเพศได้ เมื่อความเห็นการวินิจฉัยของจิตแพทย์ทั้งสองคนตรงกันว่าผู้ป่วยเป็นโรค Transsexualism
แผนภูมิการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศ และรักษาโรค Transsexualism
(Algorithm of Management of Gender Dysphoria and Transsexualism)

เอกสารอ้างอิง
1. ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่อง เกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ พ.ศ. ๒๕๕๒. ราชกิจจานุเบกษา ๒๕๕๒;๑๒๖(ตอนพิเศษ ๗๗ง), ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒;๓๗-๓๘.
2. ประกาศแพทยสภาที่ ๕๘/๒๕๕๒, ๒๐ เมษายน ๒๕๕๒.
3. Meyer WJ III, Bockting WO, Cohen-Kettenis PT, Coleman E, Di Ceglie D, Devor H, Gooren L, Hage JJ, Kirk S, Kuiper B, Laub D, Lawrence A, Menard Y, Monstrey S, Patton J, Schaefer L, Webb A, Wheeler CC. The standards of care for Gender Identity Disorders, 6th ed. Minneapolis MN: Harry Benjamin International Gender Dysphoria Association, 2001. Available at http://www.hbigda.org. Accessed March 31,2008.
4. Bowman C, Goldberg J. Care of the Patient Undergoing Sex Reassignment Surgery (SRS). Vancouver Coastal Health, Transcend Transgender Support & Education Society, and the Canadian Rainbow Health Coalition, 2006. Available at http://www.vch.ca/transhealth/resources/library/tcpdocs/guidelines-surgery.pdf . Accessed May 31,2008.
5. Paul A, Thompson S. Policy on Gender Identity Disorder (GID) services. Health Commission Wales (HCW), 2005. Available at http://new.wales.gov.uk/916148/916555/1223351/1044Doc1. Accessed May 31, 2008.
6. Clinical Guidelines for the Management of Disorders of Sex Development in Childhood. Intersex Society of North America, 2006. Available at http://www.dsdguidelines.org/htdocs/clinical/index.html. Accessed March 31, 2008.
7. Royal College of Psychiatrists. Gender Identity Disorders in Children and Adolescents – Guidance for Management. Council Report CR63. London: Royal College of Psychiatrists,1998. Available at http://www.symposion.com/ijt/ijtc0402.htm. Accessed March 31, 2008.
8. American Psychiatric Association. Diagnostic and statistical manual of mental disorders ,4th ed. Washington, DC: APA;1994.
9. World Health Organization. The ICD-10 Classification of mental and behavioural disorders. Clinical descriptions and diagnostic guidelines. Geneva: WHO;1992.
10. Cohen-Kettenis PT, van Goozen SH M. Sex reassignment of adolescent transsexuals: a follow up study. J Am Acad Child Adolesc Psychiatry 1997; 36: 263-71.
11. Di Ceglie D. Management and therapeutic aims with children and adolescents with gender identity disorders and their families. In : Di Ceglie D, Freedman D, eds. A stranger in my own body: atypical gender identity development and mental health. London: Karnac; 1998.185-97.
12. Green R, Roberts CW, Williams K, et al. Specific cross-gender behaviour in boyhood and later homosexual orientation. Br J Psychiatry 1987;151: 84-8.
13. Money J, Russo AJ. Homosexual vs transvestite or transsexual gender identity/role: outcome study in boys. Int J Fam Psychiatry 1981;2: 139-45.
14. Zucker KJ. Cross-gender identified children. In : Steiner B, ed. Gender dysphoria. New York: Plenum Press; 1985. 75-174.
15. Zucker KJ, Bradley SJ. Gender identity disorder and psychosexual problems in children and adolescents. New York: Plenum Press; 1995.
16. Dahl M, Feldman J, Goldberg JM, Jaber A, Bockting WO, Knudson G. Endocrine therapy for transgender adults in British Columbia: suggested guidelines. Vancouver: Vancouver Coastal Health Authority;2006.
17. Landen M, Walinder J, Hambert G, Lundstrom B. Factors predictive of regret in sex reassignment. Acta Psychiatr Scand1998; 97: 284-9.
18. Cohen-Kettenis PT, Van Goozen SHM. Sex reassignment of adolescent transsexuals: a follow-up study. J Am Acad Child Adolesc Psychiatry 1997; 36: 263-71.
19. Smith YLS, Van Goozen SHM, Kuiper AJ, Cohen-Kettenis PT. Sex reassignment: outcomes and predictors of treatment for adolescent and adult transsexuals. Psychol Med 2005; 35: 89-99.
20. Rakic Z, Starcevic V, Maric J, Kelin K. The outcome of sex reassignment surgery in Belgrade: 32 patients of both sexes. Arch Sex Behav 1996; 25: 515-25.
21. Rehman J, Lazer S, Benet AE, Schaefer LC, Melman A. The reported sex and surgery satisfactions of 28 postoperative male-to-female transsexual patients. Arch Sex Behav1999; 28: 71-89.

ภาคผนวก

ก. จดหมายแสดงความเห็นของจิตแพทย์ (Letter of Recommendation)
(ต่อไปนี้เป็นแนวทาง หรือตัวอย่างในการออกหนังสือรับรอง สำหรับจิตแพทย์ในการแสดงความเห็นสำหรับผู้ป่วยโรค Transsexualism)

จิตแพทย์ผู้รักษา ควรออกจดหมายแสดงความคิดเห็นโดยระบุข้อมูลต่อไปนี้
1. ชื่อ และเลขที่ประจำตัวผู้ป่วย (Identification of the patient, name and hospital number)
2. วันที่เริ่มมาตรวจรักษา (Date of first visit)
3. การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช (Psychiatric assessment and diagnosis)
1. โรคทางจิตเวช การวินิจฉัยโรค Transsexualism (F64.0) และโรคทางจิตเวชอื่นๆ ใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรค ขององค์การอนามัยโลก (ICD-10)
2. ปัญหาบุคลิกภาพ ความสามารถในการปรับตัว
3. โรคทางร่างกายที่มีผลต่อการปรับตัว
4. ปัญหาในครอบครัว การยอมรับจากครอบครัว
5. ระดับการปรับตัวในปัจจุบัน และ ในระยะเวลา 12 เดือนก่อนหน้านั้น
4. การรักษา (Treatment and follow up )
1. แผนการรักษา ควรระบุ
• การรักษาทางจิตเวช
• การดำเนินชีวิตแบบเพศตรงกันข้ามอย่างน้อย 12 เดือน
• การปรึกษาแพทย์ต่อมไร้ท่อ
• การปรึกษาแพทย์ผ่าตัด (ศัลยแพทย์ หรือ สูติ-นรีแพทย์)
2. ผลการรักษา
5. การประเมินความพร้อมต่อการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ (Patient’s readiness to sex reassignment surgery)17,18,19
6. ข้อมูลของจิตแพทย์ผู้ตรวจ (Identification of the psychiatrist) ได้แก่ ชื่อจิตแพทย์ผู้ตรวจ พร้อมลงลายมือชื่อกำกับ หมายเลขใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ และสถานที่ติดต่อได้ของจิตแพทย์

หมายเหตุ จิตแพทย์คนที่ 2 ผู้ประเมินทางจิตเวชเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ประกอบการพิจารณาผ่าตัดแปลงเพศ ออกจดหมายแสดงความเห็นเฉพาะ ข้อ 1,2,3 และ 6 ไปยังแพทย์ผู้ผ่าตัด

ข. ตัวอย่างเอกสารรับรอง
(เอกสารต่อไปนี้เป็นแนวทาง หรือตัวอย่างในการออกหนังสือรับรอง สำหรับจิตแพทย์ในการแสดงความเห็นสำหรับผู้ป่วยโรค Transsexualism)
คำแนะนำ
1. จิตแพทย์ผู้รักษา ออกจดหมายแสดงความคิดเห็นจิตแพทย์ (ข้อ 1-3)
2. จิตแพทย์(คนที่ 2) ออกจดหมายแสดงความคิดเห็นจิตแพทย์ ในการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช (เฉพาะข้อ 1)

1. สรุปการตรวจและวินิจฉัยโรคทางจิตเวช (Psychiatric assessment and diagnosis)

ชื่อผู้ป่วย …………………………………………………….…………………..……เพศ……………… อายุ…………….ปี
วันที่ตรวจ……………………………………..

หัวข้อ ผล
การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช (ICD-10)
ปัญหาบุคลิกภาพ ความสามารถในการปรับตัว

โรคทางร่างกายที่มีผลต่อการปรับตัว

ปัญหาในครอบครัว การยอมรับจากครอบครัว

ระดับการปรับตัวในปัจจุบัน และ ในระยะเวลา
12 เดือนก่อนหน้านั้น

ลงลายมือชื่อจิตแพทย์ผู้ตรวจ ………………………………………………………..

ชื่อจิตแพทย์ผู้ตรวจ ………………………………………………………………………………………… เลขที่ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม………………………….

ที่อยู่ของจิตแพทย์ผู้ประเมิน ที่สามารถติดต่อสอบถามได้……………………………………………………………………………………….…
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

หมายเลขโทรศัพท์ ………………………………….. e-mail address………………………………………………………..
2. ผลการรักษาโรค ตามแผนการรักษา (Treatment plan and follow up)

หัวข้อปฏิบัติการ
Item of Procedures วันที่
Date ผล
Result
1. การวินิจฉัยโรค
Psychiatric diagnosis (ICD-10)
2. การให้ความรู้เรื่องโรค
Providing the knowledge about transsexualism
3. การให้ความรู้เรื่องกระบวนการรักษา
Providing the knowledge about the process of treatment
4. การให้ความรู้เรื่องปัญหา ผลแทรกซ้อนและการปรับตัวหลังการผ่าตัด
Providing the knowledge about complications and adjustment
5. การให้ความรู้เรื่องปัญหาทางจิตใจ สังคม และกฎหมาย
Providing the knowledge about psychosocial and legal aspects
6. การให้ความรู้เรื่องโรค การให้คำแนะนำปรึกษาแก่ครอบครัว
Psychoeducation and counseling to the family
7. การประเมินบุคลิกภาพ และความสามารถในการปรับตัว
Assessment of personality and adaptation skills
8. การให้คำแนะนำปรึกษาเบื้องต้น หรือการทำจิตบำบัด
Individual counseling or psychotherapy
9. การให้คำแนะนำปรึกษาครอบครัว หรือครอบครัวบำบัด
Family counseling or family therapy
10. การปรึกษา กุมารแพทย์ หรืออายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ
Consultation with endocrinologist (pediatrician or internal medicine
11. การปรึกษาศัลยแพทย์ หรือสูตินรีเวชแพทย์
Consultation with surgeon or obstetric gynecologist
12. การดำเนินชีวิตแบบเพศตรงกันข้ามอย่างน้อย 12 เดือน
Global functioning of 12 months trial period of real life experience

หมายเหตุ จิตแพทย์ผู้รักษา ระบุวันที่ดำเนินการตามแผนการรักษาหัวข้อต่างๆ และผลที่เกิดกับผู้ป่วยหรือญาติ

(เอกสารต่อไปนี้เป็นแนวทาง หรือตัวอย่างในการออกหนังสือรับรอง สำหรับจิตแพทย์ในการแสดงความเห็นสำหรับผู้ป่วยโรค Transsexualism)

3. การประเมินความพร้อมต่อการผ่าตัดแปลงเพศ (Patient’s readiness to sex reassignment surgery)
จิตแพทย์ผู้รักษา ควรประเมินความพร้อมตามหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้

หัวข้อประเมิน มาก
/ดี ปานกลาง
/พอใช้ น้อย
/ไม่ดี ไม่มี
/ไม่ดีมากๆ
1.1 ความรู้เรื่องโรค
Knowledge about transsexualism
1.2 ความรู้เรื่องกระบวนการรักษา
Knowledge about the process of treatment
1.3 ความรู้เรื่องปัญหา ผลแทรกซ้อนและการปรับตัวหลังการผ่าตัด
Knowledge about complications and adjustment
1.4 ความรู้เรื่องปัญหาทางจิตใจ สังคม และกฎหมาย
Knowledge about psychosocial and legal aspects
2.1 ติดตามแผนการรักษาทุกขั้นตอน
Follow every step of treatment plan
2.2 ความร่วมมือในการปฏิบัติแต่ละขั้นตอนของการรักษา
Co-operation with each step of treatment
3.1 เอกลักษณ์ทางเพศ (gender identity) ชัดเจนและถาวร
Unchanged gender identity
3.2 ความรู้สึกรังเกียจต้องการกำจัดอวัยวะเพศของตนถาวร
Persistent requirement to get rid of sex organ
3.4 แสดงเจตนาชัดเจน ต่อเนื่องยาวนาน ต่อความต้องการเปลี่ยนเพศ มากกว่า 1 ปีติดต่อกัน
Persistent requirement to have sex reassignment
4.1 ความสามารถในการปรับตัวทั่วไป ก่อนการรักษา
Previous general adaptation before treatment
4.2 การปรับตัวทางเพศ ก่อนการรักษา
Previous sexual adaptation before treatment
4.3 การปรับตัวระยะทดลอง (real life experience) 12 เดือน
Adaptation in 12 months real life experience trial period
4.4 ความพึงพอใจในบทบาทเพศใหม่ของตน
Satisfaction in new gender role
5.1 บุคลิกภาพเดิม
Previous personality
5.2 ความสามารถในการใช้ดุลยพินิจตัดสินใจด้วยตนเอง
Competency in judgment
6.1 ความรู้เรื่องโรค transsexualism ของสมาชิกครอบครัว
Knowledge of transsexualism in the family
6.2 ทัศนคติ การยอมรับและความร่วมมือของครอบครัว
Attitude, acceptance and cooperation from the family

(เอกสารต่อไปนี้เป็นแนวทาง หรือตัวอย่างในการออกหนังสือรับรอง สำหรับจิตแพทย์ในการแสดงความเห็นสำหรับผู้ป่วยโรค Transsexualism)
สรุปผลการประเมินความพร้อมต่อการผ่าตัดแปลงเพศ

ผู้ป่วยมีความพร้อมต่อการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ ในระดับ ……………..……
ความเห็นต่อการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ………………………………………………………………………………………….…

ชื่อจิตแพทย์…………………………………………………………………………………วันที่ประเมิน………………………………

ลายเซ็นจิตแพทย์…………………………………………………………………….
(……………………………………………………………………………….)

ที่อยู่ของจิตแพทย์ผู้ประเมิน ที่สามารถติดต่อสอบถามได้ ……………………………………………………………………
……………………………………………………………………………………………………………………………………
หมายเลขโทรศัพท์………………………… e-mail address…………………………………………………

การประเมินความพร้อมในการผ่าตัดแปลงเพศ (Psychiatric evaluation of patient’s readiness to sex reassignment surgery)
( แนวทางต่อไปนี้จิตแพทย์อาจพิจารณาใช้ ตามดุลยพินิจของจิตแพทย์)
การประเมินความพร้อม อาจพิจารณาปัจจัยบวกที่ส่งเสริมการปรับตัวหลังการผ่าตัดแปลงเพศ 6 ประการ ดังนี้
1. ได้รับ psychoeducation เรื่องโรค Transsexualism ครบถ้วน
2. ได้รับการรักษาเป็นขั้นตอนตามแนวทางปฏิบัติ ติดตามการรักษาสม่ำเสมอ
3. อาการของโรคมีความชัดเจน ต่อเนื่อง ยาวนานและถาวร
4. ปรับตัวได้ดี ก่อนและระหว่างการทดลองใช้ชีวิตจริง (real life experience)
5. บุคลิกภาพเดิมดี ปราศจากอาการทางจิตเวช หรือโรคทางจิตเวชอื่นที่จะเป็นอุปสรรคในการปรับตัว
6. ครอบครัวมีความรู้ ให้ความร่วมมือ ยอมรับผู้ป่วย และปรับตัวเข้าหากันได้ดี
จิตแพทย์ประเมินปัจจัยบวก 6 ข้อ และมีแนวทางจัดระดับความพร้อมในการพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนเพศเป็น 4 ระดับดังนี้
ระดับที่ 1 มีความพร้อมดีมาก มีปัจจัยบวก ครบ 6 ข้อ
ความเห็นต่อการผ่าตัดแปลงเพศ มีความพร้อมดีมาก คาดว่าจะปรับตัวได้ดีหลังการผ่าตัดแปลงเพศ สมควรผ่าตัดได้

ระดับที่ 2 มีความพร้อมดี มีปัจจัยบวก 5 ข้อ และมีปัจจัยข้อ 1-4 ทุกข้อ
ความเห็นต่อการผ่าตัดแปลงเพศ มีความพร้อมดี คาดว่าจะมีปัญหาในการปรับตัวหลังการผ่าตัดแปลงเพศเล็กน้อย สมควรรับการผ่าตัดเปลี่ยนเพศได้ และติดตามอย่างใกล้ชิด

ระดับที่ 3 มีความพร้อมปานกลาง มีปัจจัยบวก 4 ข้อ
ความเห็นต่อการผ่าตัดแปลงเพศ มีความพร้อมปานกลาง คาดว่าจะมีปัญหาบางประการในการปรับตัวหลังการผ่าตัด สมควรให้รอการผ่าตัดไว้ก่อน และให้ความช่วยเหลือทางจิตใจและสังคมในปัญหานั้นอีกอย่างน้อย 6 เดือน แล้วประเมินความพร้อมใหม่

ระดับที่ 4 มีความพร้อมน้อย มีปัจจัยบวก น้อยกว่า 4 ข้อ
ความเห็นต่อการผ่าตัดแปลงเพศ มีความพร้อมน้อย คาดว่าจะมีปัญหามากในการปรับตัวหลังการผ่าตัดแปลงเพศ ไม่สมควรผ่าตัด ควรแนะนำการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด หากผู้ป่วยยืนยันขอผ่าตัดแปลงเพศ ให้การช่วยเหลือทางจิตใจสังคมต่อไป แล้วประเมินความพร้อมใหม่ทุก 6 เดือน

(เอกสารต่อไปนี้เป็นแนวทาง หรือตัวอย่างในการออกหนังสือรับรอง สำหรับจิตแพทย์ในการแสดงความเห็นสำหรับผู้ป่วยโรค Transsexualism)
ค. สรุปคำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อยในจิตแพทย์ และคำแนะนำเพิ่มเติม จากอนุกรรมการฯ

1. ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยต่างชาติมาขอทำการผ่าตัดแปลงเพศในประเทศไทย แม้จะมีผลการตรวจรักษามาจากจิตแพทย์ต่างประเทศแล้ว จำเป็นต้องขอให้จิตแพทย์ไทยตรวจอีกหรือไม่
ตอบ แม้จะมีความเห็นจิตแพทย์ต่างประเทศมาแล้ว 2 คน ก็ตาม จำเป็นต้องให้จิตแพทย์ไทยตรวจวินิจฉัยโรคอีก 1คน เช่นกัน

2. การทดลองให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตเป็นเพศตรงกันข้าม อย่างน้อย 12 เดือน ถ้าผู้ป่วยมาเล่าให้ฟังว่าทดลองทำมาเรียบร้อยแล้ว ใช้ได้หรือไม่ จำเป็นต้องให้เริ่มทดลองใหม่อีก 12 เดือน หรือไม่
ตอบ ถ้าทำมาแล้วจริง และทำถูกต้องตามแนวทาง ผลปรับตัวได้ดี ก็ไม่ต้องเริ่มทดลองใหม่ ถือว่าใช้ได้
แต่จิตแพทย์ควรหาข้อมูลประกอบเพื่อยืนยันว่าได้ทำจริง เช่น ทำอะไรบ้าง ผลเป็นอย่างไร ควรมีข้อมูลจากพ่อแม่ ญาติพี่น้องหรือเพื่อนร่วมงานที่เชื่อถือได้ หรือตรวจสอบข้อมูลได้จากผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้บังคับบัญชา ครูอาจารย์ หรือเพื่อนร่วมงาน จิตแพทย์ใช้วิจารณญาน ในการประเมินความเชื่อถือในข้อนี้ ถ้าคิดว่าทำได้จริงก็ไม่จำเป็นให้เริ่มต้นทดลองใหม่
อย่างไรก็ตามจิตแพทย์ควรให้ความรู้ผู้ป่วยว่า การให้ข้อมูลนี้ตรงไปตรงมา เป็นการประเมินการเผชิญปัญหาจริง และฝึกการปรับตัว เป็นประโยชน์ในการรักษา ถ้าให้ข้อมูลไม่ตรง จะเกิดผลเสียในการปรับตัวหลังผ่าตัด

3. จิตแพทย์จำเป็นต้องใช้เอกสารในภาคผนวกในการบันทึกหรือเขียนจดหมายไปยังแพทย์ผู้ผ่าตัดหรือไม่ เขียนแบบอื่นได้หรือไม่
ตอบ ไม่จำเป็นต้องใช้แบบตัวอย่างนั้นทุกประการ ตัวอย่างในภาคผนวกเป็นแนวทาง ซึ่งครอบคลุมรายละเอียดที่จำเป็น ครบถ้วน การเขียนด้วยรูปแบบอื่นสามารถทำได้ อาจเขียนด้วยลายมือ แต่ลงชื่อกำกับ พร้อมระบุรายละเอียดของตนเอง เพื่อให้มีการตรวจสอบได้

4. จิตแพทย์จะปฏิเสธไม่ตรวจโรคนี้ได้หรือไม่
ตอบ ควรช่วยกันตรวจ เพราะการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค Transsexualism นั้นไม่ยาก และจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จริงตามระบาดวิทยานั้นมีไม่มากนัก ในการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านจิตเวชศาสตร์ และจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น มีสอนเรื่องนี้ทุกสถาบัน จิตแพทย์จะช่วยแนะนำทั้งผู้ที่เป็นและมิได้เป็นโรค Transsexualism อย่างถูกต้อง ป้องกันการแปลงเพศที่ไม่ถูกต้อง
ในระยะยาวเมื่อประชาชนมีความรู้มากขึ้น การตรวจและรักษา Transsexualism นั้นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือกุมารแพทย์ จะมีบทบาทมากขึ้นมากขึ้น เพราะจะเน้นให้ตรวจวินิจฉัยโรคนี้ได้ตั้งแต่เด็กก่อนวัยรุ่น รวมทั้งภาวะ Homosexualism ที่ทั้งเด็กและบิดามารดาต้องการคำแนะนำปรึกษาเช่นกัน

(สรุปจากจากการประชุมอนุกรรมการแพทยสภา เพื่อประกาศใช้ ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่อง เกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ พ.ศ. ๒๕๕๒. และประกาศแพทยสภาที่ ๕๘/๒๕๕๒)
12 พฤศจิกายน 2552
ผศ. นพ. พนม เกตุมาน

การสอนเพศศึกษาในวัยรุ่น : การป้องกันปัญหาทางเพศในโรงเรียน

ปัญหาทางเพศพบได้บ่อยในวัยรุ่น เนื่องจากวัยนี้เริ่มมีความสนใจทางเพศ มีความต้องการทางเพศ แต่ขาดความรู้และการควบคุมตนอง การสอนเรื่องเพศแก่วัยรุ่น เป็นกระบวนการศึกษาที่จำเป็นเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ เพื่อให้มีความรู้ มีทัศนคติ และมีพฤติกรรมในเรื่องเพศถูกต้อง ตลอดจนสามารถปรับตัวตามพัฒนาการของชีวิตอย่างเหมาะสม1 การสอนเรื่องเพศมีเนื้อหาที่ครอบคลุมกว้างขวางต่อเนื่องมาตั้งแต่เด็ก วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจและสังคมอย่างมากและรวดเร็ว การเรียนรู้เรื่องเพศเกิดได้จากการสอนและแบบอย่างโดยพ่อแม่ ครอบครัว ครู เพื่อน และสังคมสิ่งแวดล้อม จนวัยรุ่นเกิดการเรียนรู้เป็นเอกลักษณ์ทางเพศ มีทักษะสังคมและบทบาททางเพศที่เหมาะสม สามารถควบคุมตัวเองในเรื่องเพศได้ การสอนเรื่องเพศจำเป็นต้องให้สอดคล้องตามพัฒนาการปกติ ผู้สอนเรื่องเพศควรมีความรู้เรื่องพัฒนาการทางเพศของวัยรุ่น เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้อง

วัตถุประสงค์การสอนเพศศึกษา
การสอนเรื่องเพศสามารถสอนได้ตั้งแต่เด็กยังเล็ก คู่ขนานไปกับการส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน ในครอบครัวพ่อแม่ควรเป็นผู้สอน เมื่อเข้าโรงเรียนครูควรสอน โดยให้ครอบคลุมเนื้อหาที่จำเป็น และสอดคล้องไปกับการสอนของพ่อแม่ที่บ้าน เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นพ่อแม่และครูควรส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้เรื่องนี้ โดยมีแนวทางที่ถูกต้อง
การสอนเพศศึกษาในโรงเรียนนั้น กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้เรื่อง “เพศศึกษา” ในนักเรียน2 โดยแบ่งการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ออกเป็น 6 ด้าน ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักในการสอนทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ดังนี้
1. พัฒนาการทางเพศ(Human sexual development) ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเจริญเติบโต พัฒนาการทางเพศตามวัย ทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม
2. สัมพันธภาพ (Interpersonal relation) การสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลในสังคม การสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับเพื่อนเพศเดียวกัน และต่างเพศ การเลือกคู่ การเตรียมตัวก่อนสมรส และการสร้างครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา พ่อ-แม่-ลูก
3. ทักษะส่วนบุคคล (Personal and communication skills) ความสามารถในการจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เช่น ทักษะการสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์ และควบคุมความสัมพันธ์ให้อยู่ในความถูกต้องเหมาะสม ทักษะการปฏิเสธ ทักษะการขอความช่วยเหลือ ทักษะการจัดการกับอารมณ์ ทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ
4. พฤติกรรมทางเพศ (Sexual behaviors) การแสดงออกถึงพฤติกรรมทางเพศหรือบทบาททางเพศ (Gender role) ที่เหมาะสมกับบทบาททางเพศและวัย เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่เกิดความเสี่ยงทางเพศ(เช่น เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น เพศสัมพันธ์ที่ปราศจากการป้องการตั้งครรภ์หรือการติดเชื้อ) การสร้างเอกลักษณ์ทางเพศที่เหมาะสม ความเสมอภาคทางเพศ และบทบาททางเพศที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคมอย่างสมดุล
5. สุขอนามัยทางเพศ (Sexual health) ความรู้ความเข้าใจและสามารถดูแลสุขภาพอนามัยทางเพศได้ตามวัย เช่น การดูแลรักษาอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ อนามัยการเจริญพันธุ์ การสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่างๆและความผิดปกติในลักษณะและหน้าที่ของอวัยวะเพศ การหลีกเลี่ยงอันตรายจากการชอกช้ำ บาดเจ็บ อักเสบ และติดเชื้อ รวมถึงการถูกล่วงเกินทางเพศ
6. สังคมและวัฒนธรรม (Society and culture) ค่านิยมในเรื่องเพศที่เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทย การให้เกียรติเพศตรงข้าม การรักนวลสงวนตัว ไม่ปล่อยใจให้เกิดเพศสัมพันธ์โดยง่าย การปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะจากสื่อที่ยั่วยุทางเพศต่างๆ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ
ในการสอนเพศศึกษาในนักเรียนดังกล่าว ได้กำหนดช่วงชั้นที่สอนออกเป็น 4 ระดับ ช่วงชั้นแรกตั้งแต่ ป.1-32 ช่วงชั้นที่2 ตั้งแต่ ป.4-6 3 ช่วงชั้นที่3 ตั้งแต่ ม.1-3 4 ช่วงชั้นที่ 4 ตั้งแต่ ม.4-65 โดยออกแบบให้เนื้อหาสอดคล้องกับการเรียนรู้ และแทรกลงไปในการเรียนของเด็ก ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนต้น ไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย

หลักการสอน
หลักการสอนเพศศึกษา มีดังต่อไปนี้6
1. สอนให้เด็กรับรู้ไปตามพัฒนาการทางเพศ และพัฒนาการทางจิตใจ เริ่มตั้งแต่เกิด แบ่งสอนตามวัยและความสามารถในการรับรู้ของเด็ก ผู้สอนต้องมีความรู้ว่าวัยใดควรให้ความสนใจเรื่องใด เช่น วัยอนุบาลควรให้ความสนใจกับการถ่ายทอดแบบอย่างทางเพศ พ่อแม่มีความสำคัญที่เด็กจะพัฒนาบทบาททางเพศตามเพศของตนเองอย่างถูกต้อง
2. ผู้สอนควรมีความรู้ทางเพศอย่างถูกต้อง ควรสนใจ หาความรู้หรือสอบถามจากผู้รู้ หนังสือ หรือสื่อที่มีคุณภาพดี การหาความรู้เรื่องนี้ทำให้พ่อแม่มีทัศนคติที่เป็นกลางกับเรื่องเพศ และรู้จักสื่อที่เหมาะสม ควรเลือกสื่อที่ง่าย ให้ความรู้ถูกต้อง เหมาะกับวัย ไม่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ พ่อแม่สามารถหาความรู้จากหนังสือ วีดิโอ ซีดี ฯลฯ ควรอ่านให้เข้าใจก่อน ถ้าจะนำไปสอน ควรวางแผนในใจว่าจะสอนอย่างไร ใช้คำพูดแบบใดจึงจะเหมาะสม คิดล่วงหน้าไว้ก่อนว่าเด็กอาจสงสัยเรื่องใด เพื่อเตรียมตอบคำถามง่ายๆของเด็กอยากรู้ บางครั้งอาจแนะนำให้เด็กเอาหนังสือไปอ่านก่อนล่วงหน้า แล้วค่อยมาพูดคุยกันตอนหลัง ให้เด็กเตรียมคำถามที่สงสัยมาคุยกัน คำถามใดที่ตอบไม่ได้ ให้บอกตรงๆว่าไม่รู้ แต่จะไปถามใครที่รู้มาบอกภายหลัง หรือให้เด็กลองค้นหาคำตอบด้วยตัวเองไปก่อนจากสื่อที่มีอยู่ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันกับพ่อแม่ในภายหลัง
3. การสอนเรื่องเพศควรคู่ขนานไปตามการเรียนรู้ปกติ ตามจังหวะ เวลา และสถานการณ์ที่เหมาะสม รู้จักใช้เหตุการณ์ที่เกิดในชีวิตประจำวันเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้ หรือกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ เช่นเหตุการณ์สุนัขที่บ้านคลอดลูก สามารถนำมาสอนเรื่องการตั้งครรภ์ และการคลอดลูกได้
4. สอนให้เหมาะกับความสนใจ ความอยากรู้ และความสามารถทางสติปัญญา ที่เด็กจะรับได้และเข้าใจได้ เด็กเล็กต้องมีวิธีบอก ใช้คำพูดง่ายๆ ให้สั้นๆ เข้าใจง่าย เป็นรูปธรรม มีตัวอย่างประกอบ ไม่ควรอธิบายยืดยาวจนเด็กสับสน เด็กโตสามารถอธิบายมากขึ้น ให้ความรู้ที่ซับซ้อนได้ พี่น้องอายุต่างกัน การอธิบายย่อมไม่เหมือนกัน เวลาสอนต้องสังเกตด้วยว่าเด็กเข้าใจหรือไม่ ถ้าสงสัยให้มีโอกาสถามทันที
5. สอนก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือก่อนเกิดปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามอายุและพัฒนาการ เช่น การสอนเรื่องประจำเดือนควรสอนในระดับประถมปลาย (ป. 5-6)ซึ่งเป็นวัยก่อนมีประจำเดือนเล็กน้อย การสอนการป้องกันตัวเองทางเพศควรสอนตั้งแต่เล็กและต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่น เนื่องจากทุกวัยอาจโดนละเมิดทางเพศได้ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน
6. ผู้สอนมีท่าทีและทัศนคติเป็นกลาง ผู้สอนไม่ควรรังเกียจหรืออายเวลาสอนเรื่องเพศ พยายามพูดด้วยท่าทีสงบ เป็นกลาง เตรียมคำพูดล่วงหน้า และฝึกฝนให้คล่องด้วยตนเอง ไม่แสดงความรู้สึกด้านลบ เมื่อเด็กแสดงความสนใจเรื่องเพศ ควรเปิดใจกว้าง คิดเสมอว่าความอยากรู้อยากเห็นและการแสดงออกทางเพศ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของวัยรุ่น การสอนให้เขารู้อย่างถูกต้องไม่มีผลเสีย ดีกว่าให้เขารู้เองจากแหล่งอื่นซึ่งมีโอกาสเรียนรู้แบบผิดๆ
7. ควรให้ความรู้อย่างถูกต้อง ไม่ควรบ่ายเบี่ยงหรือหลอกเด็ก หรือพูดให้เด็กเข้าใจผิด ถ้ารู้ว่าเด็กเข้าใจผิดควรรีบแก้ไขทันที เด็กอาจสับสนถ้าได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ครบ หรือข้อมูลขัดแย้งกัน
8. พ่อแม่ และ ครูช่วยกันสอนให้สอดคล้องกัน เมื่อไม่ทราบหรือไม่เข้าใจ ควรปรึกษาแพทย์

เป้าหมายของพัฒนาการทางเพศ
พัฒนาการทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการบุคลิกภาพ ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก มีความต่อเนื่องไปจนพัฒนาการเต็มที่ในวัยรุ่น หลังจากนั้น จะเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพที่ติดตัวตลอดชีวิต เมื่อสิ้นสุดวัยรุ่น จะเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งต่อไปนี้7
1. มีความรู้เรื่องเพศ ตามวัย และพัฒนาการทางเพศ ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยของร่างกาย และจิตใจสังคม ของทั้งตนเองและผู้อื่น เรียนรู้เรื่องของเพศตรงกันข้าม ความแตกต่างกันระหว่างเพศด้วย
2. มีเอกลักษณ์ทางเพศของตนเอง ได้แก่ การรับรู้เพศตนเอง(core gender) บทบาททางเพศและพฤติกรรมทางเพศ(gender role) มีความพึงพอใจทางเพศหรือความรู้สึกทางเพศต่อเพศตรงข้ามหรือต่อเพศเดียวกัน(sexual orientation) วัยรุ่นจะรู้ใจตนเองว่ามีความรู้สึกและความต้องการทางเพศแบบใด ชอบเพศเดียวกัน (homosexualism) หรือชอบเพศตรงข้าม (heterosexualism)
3. มีพฤติกรรมการรักษาสุขภาพทางเพศ (sexual health behaviors) ได้แก่ การรู้จักร่างกายและหน้าที่อวัยวะเพศของตนเอง ดูแลรักษาทำความสะอาด ป้องกันการบาดเจ็บ การติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศ การถูกล่วงเกินละเมิดทางเพศ การป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ (เพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ การทำแท้ง)
4. ทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่จะเป็นคู่ครอง การเลือกคู่ครอง การรักษาความสัมพันธ์นี้ให้ยาวนาน การแก้ไขปัญหาต่างๆในชีวิตร่วมกัน การสื่อสาร การมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่ครองอย่างมีความสุข การวางแผนชีวิตและครอบครัว
5. บทบาทในครอบครัว บทบาทและหน้าที่สำหรับการเป็นลูก การเป็นพี่-น้อง และสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว หน้าที่และความรับผิดชอบของการเป็นพ่อแม่ ตามกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมของสังคม
6. ทัศนคติทางเพศที่ถูกต้อง ภูมิใจพอใจในเพศของตนเอง ไม่รังเกียจหรือปิดบัง ปิดกั้นการเรียนรู้ทางเพศที่เหมาะสม รู้จักควบคุมพฤติกรรมทางเพศให้แสดงออกถูกต้อง ให้เกียรติผู้อื่น ไม่ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้อื่น ยับยั้งใจตนเองไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร

พัฒนาการทางเพศในวัยรุ่น
การเข้าใจพื้นฐานพัฒนาการทางเพศในวัยรุ่น จะช่วยให้ผู้สอน มีแนวทาง และกำหนดวัตถุประสงค์การสอน ให้สอดคล้องกับพัฒนาการทางเพศปกติ ดังนี้8
วัยรุ่นตอนต้น อายุ 12-18 ปี
เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจสังคมทางเพศอย่างมาก ได้แก่
พัฒนาการทางร่างกาย ( Physical development ) มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทั่วไป และการเปลี่ยนแปลงทางเพศ วัยนี้ มีการสร้างและหลั่งฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนของการเจริญเติบโตอย่างมากและรวดเร็ว ร่างกายเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แขนขายาวขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงอื่นประมาณ 2 ปี เพศหญิงมีไขมันมากกว่าชาย เพศชายมีกล้ามเนื้อมากกว่าทำให้แข็งแรงกว่า
การเปลี่ยนแปลงทางเพศ (sexual changes) ที่เห็นได้ชัดเจน คือวัยรุ่นชายจะเกิดนมขึ้นพาน(หัวนมโตขึ้นเล็กน้อย กดเจ็บ) เสียงแตก หนวดเคราขึ้น และเริ่มมีฝันเปียก (nocturnal ejaculation – การหลั่งน้ำอสุจิในขณะหลับ มักสัมพันธ์กับความฝันเรื่องเพศ) การเกิดฝันเปียกครั้งแรกเป็นสัญญาณวัยรุ่นของเพศชาย ส่วนวัยรุ่นหญิงจะเป็นสาวขึ้น คือ เต้านมมีขนาดโตขึ้น ไขมันที่เพิ่มขึ้นทำให้มีรูปร่างทรวดทรง สะโพกผายออก และเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก (menarche) การมีประจำเดือนครั้งแรก เป็นสัญญาณเข้าสู่วัยรุ่นในหญิง ทั้งสองเพศมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศที่ขนาดโตขึ้น และเปลี่ยนเป็นแบบผู้ใหญ่ มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ มีกลิ่นตัว มีสิวขึ้น
พัฒนาการทางจิตใจ (Psychological Development) วัยนี้สติปัญญาพัฒนาสูงขึ้น จนมีความคิดเป็นรูปธรรม ความสามารถเรียนรู้ เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ได้ลึกซึ้ง มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์สิ่งต่างๆได้มากขึ้นตามลำดับ สามารถคิดได้ดี คิดเป็น คิดรอบคอบได้หลายด้าน ทำให้สามารถตัดสินใจได้ ความสามารถทางสติปัญญาเพิ่มมากขึ้นจนเหมือนผู้ใหญ่ แต่ยังขาดประสบการณ์ ขาดความรอบคอบ มีความหุนหันพลันแล่น ขาดการยั้งคิดหรือไตร่ตรอง ทำอะไรวู่วามหรือทำตามอารมณ์ ตามความอยาก ตามสัญชาติญาณ หรือตามความต้องการทางเพศที่มีมากขึ้น พัฒนาการทางจิตใจช่วยให้วัยรุ่น มีการยั้งคิด ควบคุม และปรับตัว (adjustment) ต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีในเวลาต่อมา
เอกลักษณ์ (identity) วัยรุ่นเริ่มแสดงออกถึงสิ่งตนเองชอบ สิ่งที่ตนเองถนัด ซึ่งแสดงถึงความเป็นตัวตนของเขาที่โดดเด่น ได้แก่ วิชาที่เขาชอบเรียน กีฬาที่ชอบเล่น งานอดิเรก การใช้เวลาว่างให้เกิดความเพลิดเพลิน กลุ่มเพื่อนที่ชอบและสนิทสนมด้วย โดยเขาจะเลือกคบคนที่มีส่วนคล้ายคลึงกัน หรือเข้ากันได้ และเกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดแบบอย่างจากกลุ่มเพื่อนนี้เอง ทั้งแนวคิด ค่านิยม ระบบจริยธรรม การแสดงออกและการแก้ปัญหาในชีวิต จนสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของตน และกลายเป็นบุคลิกภาพนั่นเอง วัยนี้จะมีเอกลักษณ์ทางเพศ(sexual identity) ชัดเจนขึ้น ประกอบด้วย การรับรู้ว่าตนเองเป็นเพศใด (core gender identity) ซึ่งจะคงที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กอายุ 3 ปี พฤติกรรมที่แสดงออกทางเพศ (gender role) คือพฤติกรรมซึ่งเด็กแสดงออกให้ผู้อื่นเห็น ได้แก่ กิริยาท่าทาง คำพูด การแต่งกาย เหมาะสมและตรงกับเพศตนเอง และความรู้สึกพึงพอใจทางเพศ (sexual orientation) คือความรู้สึกทางเพศกับเพศใด ทำให้วัยรุ่นบอกได้ว่าตนเองมีความชอบทางเพศกับเพศเดียวกัน(homosexualism) กับเพศตรงข้าม (heterosexualism) หรือได้กับทั้งสองเพศ (bisexualism)
ความพึงพอใจทางเพศนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ทำได้ยาก วัยรุ่นจะรู้ด้วยตัวเองว่า ความพึงพอใจทางเพศของตนแบบนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะควบคุมได้เฉพาะการแสดงออกภายนอก ไม่ให้แสดงออกผิดเพศมากจนเป็นที่ล้อเลียนกลั่นแกล้งของเพื่อนๆ
วัยรุ่นต้องการเป็นที่ยอมรับจากผู้อื่น (acceptance) การยอมรับจากกลุ่มเพื่อน การได้รับการยอมรับนี้ช่วยให้จิตใจเกิดความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย เห็นคุณค่าของตนเอง มั่นใจตนเอง วัยนี้จึงมักอยากเด่นอยากดัง อยากให้มีคนรู้จักมากๆ อยากมีความสามารถพิเศษ อยากเป็นที่ชื่นชม ชื่นชอบของคนอื่นๆ บางครั้งวัยรุ่นต้องการเป็นที่ยอมรับชื่นชมจากผู้อื่นมากๆ โดยแสดงออกเป็นพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม เช่น การแต่งกายยั่วยวนทางเพศ เพื่อให้เป็นที่สนใจของเพศตรงข้าม วัยรุ่นที่เป็นรักร่วมเพศอาจแสดงออกผิดเพศมากขึ้น เพื่อให้เป็นที่สนใจและยอมรับ หรือเมื่อถูกกีดกันจากเพศเดียวกัน ก็อาจจับกลุ่มพวกที่แสดงออกผิดเพศเหมือนกัน เป็นการแสวงหากลุ่มที่ยอมรับ แต่ทำให้การแสดงออกผิดเพศมากขึ้น
ความภาคภูมิใจตนเอง (self esteem) เกิดจากการที่ตนเองเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและคนอื่น รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เป็นคนดีและมีประโยชน์แก่ผู้อื่น ทำอะไรได้สำเร็จ เกิดความรู้สึกพอใจตนเอง ภูมิใจตนเอง เมื่อถึงขั้นนี้ เวลาทำอะไรสำเร็จจะไม่จำเป็นต้องการการชื่นชมจากภายนอก เพราะเขาสามารถชื่นชมตนเองได้ การเปลี่ยนแปลงทางเพศในวัยนี้อาจทำให้เด็กรู้สึกภูมิใจในตนเอง จากการมีการเปลี่ยนแปลงทางเพศที่ทำให้เป็นที่สนใจของผู้อื่น ในทางตรงข้ามเด็กที่เปลี่ยนแปลงช้า หรือไม่มีลักษณะเด่นทางเพศอาจเสียความภูมิใจในตนเอง เสียความมั่นใจตนเอง (self confidence) วัยรุ่นบางคนไม่มีข้อดีข้อเด่นด้านใดเลย อาจแสดงออกทางเพศมากขึ้นเพื่อให้ตนเองรู้สึกภูมิใจ หรือบางคนมีแฟนเร็วหรือมีเพศสัมพันธ์เร็วเพราะเป็นวิธีที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีคนต้องการ มีคนทำดีด้วย วัยรุ่นที่มีปัญหาครอบครัวจึงมักมีพฤติกรรมทางเพศเร็ว การมีแฟน มีเพศสัมพันธ์ เพื่อชดเชยหรือทดแทนความรู้สึกเบื่อ เหงา ไร้ค่า แต่เมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้ว อาจไม่ได้รู้สึกตนเองมีคุณค่ามากขึ้น ก็แสวงหาเพศสัมพันธ์กับคนใหม่ บางคนใช้เรื่องเพศเป็นสะพานสู่ความต้องการทางวัตถุ ได้เงินตอบแทน หรือโอ้อวดเพื่อนๆว่าเป็นที่สนใจ มีพลังทางเพศมาก
ความเป็นตัวของตัวเอง (independent : autonomy) วัยนี้รักอิสระ เสรีภาพ ไม่ค่อยชอบอยู่ในกฎเกณฑ์กติกาใดๆ ชอบคิดเอง ทำเอง พึ่งตัวเอง เชื่อความคิดตนเอง มีปฏิกิริยาตอบโต้ผู้ใหญ่ที่บีบบังคับสูง ความอยากรู้อยากเห็นอยากลองมีสูงสุดในวัยนี้ ทำให้อาจเกิดพฤติกรรมเสี่ยงได้ง่าย ถ้าวัยรุ่นขาดการยั้งคิดที่ดี เมื่อมีความสนใจทางเพศ อาจมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่น แต่งกาย การเที่ยวกลางคืน ดื่มเหล้าหรือเสพยาเสพติด ทำให้เกิดเพศสัมพันธ์ตามมา การจัดขอบเขตในวัยรุ่นจึงต้องให้พอดี ถ้าห้ามมากเกินไป วัยรุ่นอาจแอบทำนอกสายตาผู้ใหญ่ แต่ถ้าปล่อยปละละเลยเกินไป วัยรุ่นจะขาดกรอบที่ใช้เป็นหลักในการควบคุมตนเอง การสอนการควบคุมตัวเองเรื่องเพศจึงต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดี ฝึกให้คิดด้วยตัวเอง เปิดโอกาสให้วัยรุ่นเรียนรู้ แต่อยู่ในขอบเขต
การควบคุมตนเอง (self control) วัยนี้เรียนรู้ที่จะควบคุมความคิด การรู้จักยั้งคิด การคิดให้เป็นระบบ เพื่อให้สามารถใช้ความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ แต่วัยรุ่นบางคนอาจขาดการควบคุมตนเอง เมื่อเกิดความรู้สึกทางเพศหรือความต้องการทางเพศ อาจนำมาซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศได้ วัยนี้ควรสอนให้ควบคุมตนเองโดยอยากควบคุมจากใจตนเอง ให้รู้ว่า ถ้าไม่ควบคุม จะเกิดข้อเสียอะไรบ้าง ถ้าควบคุมจะมีข้อดีอย่างไร การฝึกให้วัยรุ่นใช้สมองส่วนคิดมากขึ้นนี้ จะทำให้เกิดการคิดก่อนทำ ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ สมอง “ส่วนคิด” จะมาควบคุมสมอง “ส่วนอยาก” หรือควบคุมด้านอารมณ์ได้มากขึ้น อารมณ์เพศสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเองเช่นกัน
อารมณ์ (mood) อารมณ์จะปั่นป่วน เปลี่ยนแปลง หงุดหงิด เครียด โกรธ กังวล ง่าย อาจมีอารมณ์ซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุ อารมณ์ไม่ดีเหล่านี้อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว มีผลต่อการเรียนและการดำเนินชีวิต ในวัยรุ่นตอนต้น การควบคุมอารมณ์ยังไม่ค่อยดีนัก บางครั้งยังทำอะไรตามอารมณ์ตัวเอง แต่จะค่อยๆดีขึ้นเมื่อโตขึ้น วัยรุ่นจะสามารถจัดการกับความวิตกกังวล และอารมณ์ซึมเศร้าได้ ด้วยการเข้าใจ รู้อารมณ์ตัวเอง สงบอารมณ์ได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ปรึกษาหารือ กิจกรรมเบนความรู้สึก ฝึกสติสมาธิ หรือกิจกรรมผ่อนคลายตนเอง ฝึกปรับเปลี่ยนความคิด การแก้ปัญหา
วัยรุ่นบางคนอาจหันไปใช้กิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดหรือเพิ่มความสนุกสนานแต่เกิดปัญหาตามมา ได้แก่ การมีแฟน มีเพศสัมพันธ์ การใช้เหล้าและยาเสพติด แต่เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว และทำให้เกิดปัญหาแทรกทับซ้อนมากขึ้น จึงควรช่วยฝึกให้วัยรุ่นใช้วิธีแก้ไขปัญหาอารมณ์อย่างถูกต้อง
อารมณ์เพศเกิดขึ้นวัยนี้มาก ทำให้มีความสนใจเรื่องทางเพศ หรือมีพฤติกรรมทางเพศ เช่นการมีเพื่อนต่างเพศ การดูสื่อยั่วยุทางเพศรูปแบบต่าง การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในวัยนี้ แต่ควรให้มีแต่พอควร ไม่หมกมุ่นหรือปล่อยให้มีสิ่งแวดล้อมกระตุ้นทางเพศมากเกินไป วัยนี้อาจแสดงพฤติกรรมทางเพศบางอย่างอาจเป็นปัญหา เช่น เบี่ยงเบนทางเพศ กามวิปริต หรือการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น การฝึกให้วัยรุ่นเข้าใจ ยอมรับ และจัดการอารมณ์เพศอย่างถูกต้องดีกว่าปล่อยให้วัยรุ่นเรียนรู้เอง
จริยธรรม (moral development) วัยนี้สามารถพัฒนาให้มีจริยธรรม แยกแยะความผิดชอบชั่วดีได้ เริ่มมีระบบมโนธรรมของตนเอง ต้องการความถูกต้อง ความชอบธรรมในสังคม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ต้องการเป็นคนดี เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น และบางคนอาจรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับความไม่ถูกต้องในสังคม หรือในบ้าน แม้แต่พ่อแม่ของตนเองเขาก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป เมื่อรู้ว่าอะไรผิดถูก วัยรุ่นตอนต้นจะเริ่มมีการควบคุมตนเอง ในระยะแรกอาจยังไม่ดีนัก แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลาย การควบคุมตนเองจะดีขึ้น จนเป็นระบบจริยธรรมที่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่ คือรู้ว่าอะไรไม่ควรทำ และสามารถควบคุมตนเองได้ด้วย จริยธรรมวัยนี้เกิดจากการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับคนใกล้ชิด คือพ่อแม่ ครู และเพื่อน การมีแบบอย่างที่ดี จะช่วยให้วัยรุ่นมีจริยธรรมที่ดีด้วย เพื่อนมีอิทธิพลสูงในการสร้างทัศนคติค่านิยมและจริยธรรม ถ้าเพื่อนไม่ดี อาจชักจูงให้เด็กขาดระบบจริยธรรมที่ถูกต้อง โดยเฉพาะจริยธรรมทางเพศ วัยรุ่นที่อยู่ในกลุ่มที่เห็นว่า การมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องปกติ จะมีเพศสัมพันธ์สูงกว่าวัยรุ่นทั่วไปอื่นๆ
จริยธรรมทางเพศในวัยรุ่นนี้ ควรให้เกิดความเข้าใจต่อเพศตรงข้าม ให้เกียรติ และยับยั้งใจทางเพศ ไม่ละเมิดทางเพศหรือล่วงเกินผู้อื่น
พัฒนาการทางสังคม (social development) วัยนี้จะเริ่มห่างจากทางบ้าน ไม่ค่อยสนิทสนมคลุกคลีกับพ่อแม่พี่น้องเหมือนเดิม แต่สนใจเพื่อนมากกว่า ใช้เวลากับเพื่อนนานๆ มีกิจกรรมนอกบ้านมาก ไม่อยากไปไหนกับทางบ้าน และเริ่มมีความสนใจเพศตรงข้าม สนใจสังคมสิ่งแวดล้อม ปรับตัวเองให้เข้ากับกฎเกณฑ์กติกาของกลุ่ม ของสังคมได้ดีขึ้น มีความสามารถในทักษะสังคม (social skills and life skills) การสื่อสารเจรจา การแก้ปัญหา การประนีประนอม การยืดหยุ่นโอนอ่อนผ่อนตามกัน และการทำงานร่วมกับผู้อื่น พัฒนาการทางสังคมที่ดีจะเป็นพื้นฐานมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และบุคลิกภาพที่ดี สร้างความสัมพันธ์กับคนที่พึงพอใจทางเพศ และรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาวจนตกลงร่วมเป็นคู่ครอง และสร้างครอบครัวให้ยืนยาวต่อไปได้
การเรียนรู้ทางสังคมนี้ นอกจากแบบอย่างของชีวิตครอบครัวพ่อแม่แล้ว สภาพสังคม วัฒนธรรมเป็นแบบอย่างให้ดำเนินรอยตามด้วย

เป้าหมายในการสอนเพศศึกษาในวัยรุ่น
การสอนเรื่องเพศในวัยรุ่น9 ควรกำหนดเป้าหมายเป็น 2 ช่วงอายุ ดังนี้
วัยรุ่นตอนต้น(12-15 ปี)
วัยนี้เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น พฤติกรรมทางเพศเห็นมากขึ้นและชัดเจนขึ้น เนื่องจากเด็กเริ่มมีความรู้สึกทางเพศ และความสนใจทางเพศ จากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศ วัยนี้ต้องการความรู้เรื่องเพศที่แตกต่างกันระหว่างวัยรุ่นตอนต้นและตอนปลาย และมักแสวงหาจากแหล่งที่ไม่เหมาะสม เช่น ตามหนังสือหรือ เว็บไซต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่เป็นสื่อที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางเพศ หรือเป็นเพศวิปริต ทำให้วัยรุ่นเรียนรู้ไม่ถูกต้อง หรือหมกมุ่นเรื่องเพศมากเกินไป วัยนี้ควรมีเวลาพูดคุยให้ความรู้ และเปิดโอกาสให้วัยรุ่นซักถามข้อสงสัยเรื่องเพศ
ในโรงเรียน ควรมีกิจกรรมที่สอนเรื่องเพศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในวัยรุ่น และการจัดการกับอารมณ์เพศตนเอง ควรสอนบทบาททางเพศที่เหมาะสม ตามขนบธรรมเนียมประเพณีด้วย
1. พัฒนาการทางเพศ วัยนี้ควรสอนให้เด็กเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ อิทธิพลของฮอร์โมนส์ที่มีต่อร่างกายและจิตใจ การเกิดประจำเดือน ฝันเปียก อารมณ์เพศ ความรู้สึกและความต้องการทางเพศ สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางเพศ ปฏิกิริยาตอบสนองทางเพศเมื่อมีอารมณ์เพศ ได้แก่ การแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย และการมีสิ่งหล่อลื่นออกมาในช่องคลอดหญิง
วัยนี้เริ่มรู้ตัวว่าตนเองมีความรู้สึกทางเพศกับเพศเดียวกัน หรือกับเพศตรงข้าม เรียกว่า ความพึงพอใจทางเพศ(sexual orientation) ถ้าชอบเพศตรงข้ามเรียกว่า รักต่างเพศ(heterosexuality) ถ้าชอบเพศเดียวกันเรียกกว่า รักร่วมเพศ(homosexuality) ในกลุ่มรักร่วมเพศยังแบ่งออกเป็น รักร่วมเพศชาย(gay) และรักร่วมเพศหญิง(lesbian)
ในเด็กผู้หญิงควรสอนการดูแลเรื่องประจำเดือน การปวดประจำเดือน การจัดการกับอารมณ์ที่แปรปรวนก่อนมีประจำเดือน ประจำเดือนที่ไม่สม่ำเสมอ
2. สัมพันธภาพ วัยนี้ควรสอนให้มีเพื่อนต่างเพศ ทักษะสังคมในการคบเพื่อนต่างเพศ การแสดงออกอย่างเหมาะสมเมื่อสนใจเพศตรงข้าม ใช้เวลาโดยไม่รบกวนหน้าที่ประจำของตนเอง ไม่ให้ความสัมพันธ์มากระทบการใช้เวลาในการเรียน หรือความรับผิดชอบอื่นๆ ยังไม่ควรคบใครแบบแฟน แต่ใช้ความสัมพันธ์แบบเพื่อนเพื่อเรียนรู้นิสัยใจคอ และการปรับตัวเข้าหากัน การระมัดระวังในการใกล้ชิดกัน ความแตกต่างระหว่างความรู้สึกของหญิงชายเวลาใกล้ชิดกัน เพศชายมีแนวโน้มจะเกิดความรู้สึกทางเพศรุนแรงและอยากมีเพศสัมพันธ์ ในขณะที่ฝ่ายหญิงรู้สึกอบอุ่นใจ ไม่ได้อยากมีเพศสัมพันธ์มากเท่า การใกล้ชิดกันทำให้มีโอกาสเกิดเพศสัมพันธ์ได้ง่าย
3. ทักษะส่วนบุคคล ทักษะในการสื่อสารเจรจา การสร้างความสัมพันธ์และรักษาความสัมพันธ์ให้ยาวนาน การควบคุมตนเอง ควบคุมอารมณ์ จัดการกับอารมณ์และความต้องการทางเพศ
4. พฤติกรรมทางเพศ ทัศนคติและบทบาททางเพศ ควรได้รับการปลูกฝังให้เป็นกลาง สามารถสนใจและศึกษาเรื่องเพศได้ในกรอบที่พอเหมาะ ทัศนคติถูกต้องต่อการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ไม่รู้สึกผิดบาปที่ทำ แต่ควบคุมให้มีพอสมควรไม่หมกมุ่นจนเกินไป มีการแต่งกายที่เหมาะสม ถูกต้องตามเพศ มีความความสนใจเพศตรงข้ามได้แต่แสดงออกถูกต้อง ไม่ละเมิดหรือฉวยโอกาสทางเพศต่อผู้อื่น
5. สุขอนามัยทางเพศ ได้แก่ การรักษาความสะอาดเวลามีประจำเดือน การทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกต้อง เมื่อมีอารมณ์เพศ มีการจัดการกับอารมณ์เพศอย่างถูกต้อง ทางออกทางเพศ(sexual outlet) ได้แก่ การระบายด้วยการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน ไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์กับหญิงบริการทางเพศ นอกจากนี้ยังมีวิธีการระบายอารมณ์เพศด้วยวิธีอื่น ได้แก่ การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา กิจกรรมกลุ่ม งานอดิเรก การป้องกันการหมกมุ่นทางเพศมากเกินไป โดยการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการอยู่ตามลำพัง อยู่คนเดียว หรืออยู่กับเพื่อนต่างเพศตามลำพัง หลีกเลี่ยงเหล้าและยาเสพติด หลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยงต่างๆ เก็บสิ่งกระตุ้นยั่วยุทางเพศ เช่น รูปภาพ ปฏิทินที่มีรูปกระตุ้นทางเพศ
6. สังคมและวัฒนธรรม ความเสี่ยงทางเพศ ควรให้เด็กมีพฤติกรรมเหมาะสมกับสังคมประเพณี เช่น การแต่งกาย ไม่ควรยั่วยวนทางเพศ ควรให้ถูกต้องตามเพศตนเอง ไม่ส่งเสริมให้เด็กแต่งกาย หรือมีกิริยาท่าทางผิดเพศ แม้ว่าเด็กจะเริ่มรู้ตนองว่าเป็นรักร่วมเพศ ก็ไม่ควรให้แสดงออกมากจนคนอื่นๆเห็นชัดเกินไป จนอาจถูกล้อเลียน

วัยรุ่นตอนปลาย (15-18 ปี)
วัยนี้โตพอที่จะเรียนรู้เรื่องเพศได้ด้วยตนเอง ผู้ใหญ่ควรมีคำแนะนำในการหาความรู้เรื่องเพศ โดยการมีสื่อที่ถูกต้อง เช่น หนังสือ เทปโทรทัศน์ หรือเว็บไซต์ที่ให้ความรู้อย่างมีคุณภาพ ให้วัยรุ่นได้ศึกษาได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ควรมีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสำรวจว่าวัยรุ่นเรียนรู้อย่างถูกต้องหรือไม่ หรือเปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้ซักถามในเรื่องเพศเป็นครั้งคราว
ในโรงเรียน การสอนเรื่องเพศในชั้น หรือเป็นกลุ่ม จะช่วยให้วัยรุ่นปรับทัศนคติทางเพศได้ถูกต้องขึ้น เช่น การให้เกียรติกันทางเพศ การไม่มีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น เป็นต้น
สิ่งที่สอนในวัยรุ่นตอนปลายนี้ ควรช่วยเขาสามารถมีชีวิตครอบครัวได้อย่างมีความสุข ป้องกันความเสี่ยงต่างๆทางเพศได้ การสอนค่อยเพิ่มมากขึ้นตามสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมของวัยรุ่น ดังนี้
1. พัฒนาการทางเพศ วัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจและสังคมเต็มที่ บอกผู้อื่นได้ชัดเจนว่า ตนเองมีความพึงพอใจทางเพศกับเพศเดียวกัน หรือเพศตรงข้าม หรือ ทั้งสองเพศ มีเอกลักษณ์ทางเพศแน่นอน ชัดเจน และพึงพอใจต่อเอกลักษณ์นี้ วัยนี้อาจเรียนรู้เรื่องเพศมาไม่ถูกต้องจากเพื่อนๆ หรือสื่ออื่นๆ จึงควรหาโอกาสพูดคุยกับวัยรุ่น เพื่อสอบถามความรู้ ความเชื่อ หรือทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง และแก้ไขให้ถูกต้อง วัยนี้ควรยอมรับเอกลักษณ์ทางเพศของตน
2. สัมพันธภาพ วัยนี้เริ่มสนใจทางเพศอย่างจริงจัง ต้องการมีแฟน ควรสอนให้รู้จักการเลือกแฟน การคบแบบแฟน การสังเกตนิสัยใจคอ ความเข้ากันได้ทั้งร่างกาย จิตใจอารมณ์ แยกแยะข้อดีข้อเสียของตนเองและแฟนได้ มีทักษะในการปรับตัวเข้าหากัน เมื่อพบว่าไม่เหมาะสมกัน ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ก่อนที่ความสัมพันธ์จะลึกซึ้งยาวนานเกิดไป จนอาจเลิกคบกันไม่ได้ ควรสอนเรื่องชีวิตครอบครัว การเลือกคู่ครอง การแต่งงาน และปรับตัวในชีวิตสมรส
3. ทักษะส่วนบุคคล มีทักษะในการปรับตัว สื่อสารบอกความต้องการตนเอง ให้สามารถตอบสนองความต้องการของกันและกันได้อย่างสมดุล มีการปรับเปลี่ยนตนเองแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองบ้าง เพื่อให้พึงพอใจด้วยกัน มีทักษะในการดำเนินชีวิตร่วมกัน วางแผนอนาคต ควบคุมตนเองให้รับผิดชอบต่อครอบครัว ทำหน้าที่สามี ภรรยา พ่อและแม่ที่ดี การรับผิดชอบต่อครอบครัวต้องทำอย่างไร การเลี้ยงลูกที่ดีทำได้อย่างไร
4. พฤติกรรมทางเพศ ควรสอนวิธีปฏิเสธเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ควรสอนเรื่อง การเตรียมตัวก่อนการแต่งงาน การตรวจทางร่างกายละโรคหรือภาวะที่จำเป็นก่อนแต่งงาน เรื่องการตอบสนองทางเพศปกติ (normal sexual response) การมีเพศสัมพันธ์อย่างมีความสุข ในกรณีที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน หรือเพศสัมพันธ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ การทำความสะอาดอวัยวะเพศหลังเพศสัมพันธ์ ผลที่จะเกิดจากเพศสัมพันธ์ การวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด
5. สุขอนามัยทางเพศ ควรสอนการเปลี่ยนแปลงทางเพศที่จะเกิดในขณะตั้งครรภ์ เพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดบุตรและการดูแลหลังการคลอดบุตร การคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราวและถาวร การทำหมันและการเลี้ยงดูบุตร การวางแผนครอบครัว การแท้งบุตร ความผิดปกติทางเพศเช่น รักร่วมเพศโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
6. สังคมและวัฒนธรรม ควรสอนให้ยับยั้งใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนสมรส การซื่อสัตย์ต่อคู่ครองตนเอง บทบาทที่ดีของพ่อแม่ เป็นอย่างไร การแสดงออกทางเพศให้เหมาะสมอยู่ในประเพณีที่ดี และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ เช่น การแต่งงานทำได้ในอายุใด การทำผิดทางเพศมีโทษอย่างไรบ้าง

เทคนิควิธีการสอนเรื่องเพศแบบกลุ่ม
การสอนเรื่องเพศในห้องเรียน สามารถทำได้ โดยการจัดกิจกรรม คาบละ 50 นาที โดยใช้เทคนิคกลุ่ม ให้นักเรียนมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น และสรุปการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ครูเป็นผู้ช่วยกระตุ้นให้ นักเรียนมีส่วนร่วม ครูชมพฤติกรรมที่ดี เสริมเนื้อหาให้ครบ และสรุปการเรียนรู้
กิจกรรมควรจัดต่อเนื่อง ทุกสัปดาห์ ประมาณ 8-12 ครั้ง ต่อเทอม หรือจัด ตลอดปี 12-24 ครั้ง
ควรเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-2 เป็นต้นไป

กิจกรรม 1 อยากรู้อะไรบ้าง
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอ ข่าวหนังสือพิมพ์ เทปวีดิทัศน์ หรือ วิดีโอคลิป ในเรื่องปัญหาทางเพศ ถามนักเรียนว่า มีความคิดอย่างไร 10 นาที
2. ครู แบ่งนักเรียน เป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มละ ไม่เกิน 5 คน ให้ทุกกลุ่มระดมสมองว่า ในกลุ่มต้องการเรียนรู้เรื่องใดบ้างที่เกี่ยวกับเพศ ให้ได้มากที่สุด เสร็จแล้วให้นำเสนอทีละกลุ่ม 30 นาที
3. ครูสรุปเรื่องที่ต้องการร่วมกัน เขียนบนกระดานดำ 5 นาที
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที
ครูนำผลการนำเสนอมากำหนดหัวข้อกิจกรรมโดยรวม จำนวน 8-12 ครั้ง (แล้วแต่เวลา)

กิจกรรม 2 ประจำเดือน คืออะไร
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอ ปัญหาที่วัยรุ่นเขียนถามในคอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศ จากหนังสือพิมพ์ ถามนักเรียนว่า มีความคิดอย่างไร ใครเคยมีปัญหานี้บ้าง 10 นาที
2. ครู แบ่งนักเรียน เป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มละ ไม่เกิน 5 คน ให้ทุกกลุ่มระดมสมองว่า ในกลุ่มอยากรู้เรื่องใดบ้างที่เกี่ยวกับประจำเดือน หรือปัญหาที่เคยเจอ ให้ได้มากที่สุด เสร็จแล้วให้นำเสนอทีละกลุ่ม หลังการนำเสนอของแต่ละกลุ่ม ให้ช่วยกันแสดงความคิดเกี่ยวกับการช่วยเหลือเวลามีปัญหา เช่น อาการปวดประจำเดือน การเลื่อนประจำเดือน 30 นาที
3. ครูอธิบาย เรื่องประจำเดือน การดูแล 5 นาที
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที
หมายเหตุ ถ้าเป็นสหศึกษา อาจให้แยกกลุ่มชาย-หญิง ในกลุ่มชาย ให้ระดมสมอง เกี่ยวกับ ความอยากรู้เกี่ยวกับประจำเดือน

กิจกรรม 3 อารมณ์ทางเพศ มาจากไหน
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอ ข่าวหนังสือพิมพ์ คลิปวีดิทัศน์ ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (หรือการทำแท้ง) ถามนักเรียนว่า ปัญหานี้เกิดจากสาเหตุใด 5 นาที
ครูสรุปประเด็น อารมณ์เพศในวัยรุ่นอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ (หรือการทำแท้ง)
2. ครู แบ่งนักเรียน เป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มละ ไม่เกิน 5 คน ให้ทุกกลุ่มระดมสมองว่า เมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศ จะจัดการอย่างไร เสร็จแล้วให้นำเสนอทีละกลุ่ม 30 นาที
3. ครูสรุปเรื่องที่ต้องการร่วมกัน เขียนบนกระดานดำ 10 นาที
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 4 เพศหญิง-ชาย แตกต่างกันอย่างไร

1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอรูป จินตนาการทางเพศของชายและหญิงที่แตกต่างกันเมื่ออยู่ใกล้ชิดกัน นักเรียนคิดอย่างไร 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก คำถาม ท่านเห็นด้วยหรือไม่ “เกิดเป็นชายแท้จริงแสนลำบาก เกิดเป็นหญิงนั้นยากกว่าหลายเท่า” เพราะอะไร แบ่งกลุ่ม ให้เลือกว่าจะเป็นหญิง หรือชาย 30 นาที
3. สรุปข้อจำกัดของทั้งสองเพศ บทบาททางเพศ เข้าใจความแตกต่างของสองเพศ ให้รู้สึกดีต่อเพศตนเอง ระมัดระวังตนเอง ป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น 10 นาที
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 5 แฟน เลือกอย่างไร
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอภาพข่าวดารา “เตียงหัก” ถามนักเรียนว่า เกิดจากอะไร ครูสรุปประเด็นนำสู่กิจกรรมหลัก ว่าการเลือกแฟนหรือคู่ครองเป็นเรื่องสำคัญ นักเรียนมีหลักในการเลือกคู่ครองอย่างไร 5 นาที
2. จับคู่ แลกเปลี่ยนกันเปิดเผยว่า เลือกแฟนอย่างไร 30 นาที
3. ครูให้นักเรียนแสดงความเห็นเป็นคู่ สรุปประเด็น 5 นาที
4. ครูสรุปปัจจัยบวก ที่ได้จากนักเรียน อาจให้ลองเรียงลำดับความสำคัญ 5 นาที
1. บุคลิกภาพดี ใจดี มีเมตตา รับฟัง อารมณ์เย็น สนุก ช่วยเหลือ
2. ครอบครัวดี พ่อแม่พี่น้องดี ไม่มีโรคในกรรมพันธุ์ ไม่มีประวัติทำผิดกฎหมาย
3. ฐานะดี
4. สุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีโรคทางจิตเวช เรียนดี มีอาชีพดี มั่นคง
5. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 6 ก่อนแต่งงาน ควรคบกันนานเท่าใด
1. กิจกรรมนำ ข่าวหนังสือพิมพ์นักร้องชื่อดังแยกทางกับสามี หลังจากแต่งงานกันมา 7 ปี 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก แบ่งกลุ่มย่อยกลุ่มละ 3 คน ปรึกษากันว่าควรคบกันนานเท่าไรจึงจะแต่งงานกัน ถามและแสดงความเห็น 30 นาที
3. ครูสรุป ประเด็นสำคัญถามและแสดงความเห็น 10 นาที
1. รู้จักสั้น ปกปิดตนเอง ไม่แสดงข้อเสีย คบกันยาวได้เห็นธาตุแท้
2. เวลาที่จะเห็นตัวตนจริง 1-2 ปี
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 7 เพศสัมพันธ์ ก่อนแต่งงาน ข้อดีข้อเสีย
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอข่าว “ท้องก่อนแต่ง” ถามความเห็นนักเรียน 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก โต้วาที ประเด็น “เพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ประโยชน์มีมากกว่า” 30 นาที
3. ครูสรุปการเรียนรู้ ข้อควรระวังสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน 10 นาที
4. ประเด็นชวนคิด
1. การเป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ สังคม
2. การตั้งครรภ์
3. ทัศนคติของฝ่ายชายที่อาจเปลี่ยนแปลง
4. การยอมรับผล ถ้าไม่ได้ลงเอยด้วยการแต่งงานกัน
5. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 8 ทอมดี้ ตุ๊ดแต๋ว ใครเป็นบ้าง
1. กิจกรรมนำ ข่าวการแต่งงาน ระหว่างทอมกับดี้ จากหนังสือพิมพ์ 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก ระดมสมองในกลุ่มย่อย 5 คน ถ้าเพื่อนฉันเป็นแบบนี้ ฉันจะช่วยเหลือเขาอย่างไร 5 นาที
3. ครูเสนอประเด็นชวนคิด เกย์ และ ทอม-ดี้ คืออะไร รู้ได้อย่างไรว่าเป็น จัดเป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่ รักษาได้หรือไม่ จะเปลี่ยนแปลงเพื่อนอย่างไร ขอเชิญฟังจากจิตแพทย์ 30 นาที
4. เชิญจิตแพทย์บรรยายเรื่อง พฤติกรรมผิดเพศ (homosexualism, transsexualism)
5. สรุปการเรียนรู้ 5 นาที
1. รักร่วมเพศ ไม่ใช่โรคทางจิตเวช
2. ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
3. การปรับตัวในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ
4. เพื่อนควรเข้าใจ และช่วยเหลือ ยอมรับ ไม่รังเกียจ
5. ไม่ส่งเสริมให้แสดงออกมากเกินไปในบางสังคม
6. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 9 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ป้องกันอย่างไร
1. กิจกรรมนำ ภาพรูปติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถามนักเรียนว่ารู้สึกอย่างไร 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก บรรยาย หรือฉายวีดิโอ เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จบแล้ว ถามนักเรียนว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้าง 30 นาที
3. ครูสรุป 10 นาที
1. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง เน้นโรคเอดส์
2. การป้องกัน หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีความเสี่ยง การใช้ถุงยางอนามัย
3. ครูสาธิตการใช้ถุงยางอนามัย
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 10 การแต่งงาน คืออะไร
1. กิจกรรมนำ ก่อนเรียน 1 วัน ให้คำถามกลับไปถามพ่อแม่ว่า การแต่งงาน คืออะไร พ่อแม่แต่งงานกันอย่างไร
2. กิจกรรมหลัก ให้นักเรียนส่งการบ้าน เลือกตัวอย่างที่น่าสนใจ นำเสนอในชั้น แล้วขอความเห็นนักเรียน เสนอปัญหาในกลุ่มว่า ก่อนแต่งงาน เตรียมตัวอะไร 5 นาที
3. แบ่งกลุ่ม 5 คน ระดมสมอง “ก่อนแต่งงาน เตรียมตัวอะไร” 30 นาที หรือ ครูเชิญสูติแพทย์ บรรยายเรื่อง การเตรียมตัวก่อนแต่งงาน 35 นาที
4. ครูสรุปการเรียนรู้ การเตรียมตัวก่อนแต่งงาน 5 นาที
1. การเตรียมทางร่างกาย ตรวจโรค
2. การเตรียมทางจิตใจ
3. การวางแผนครอบครัว
5. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 11 บทบาทสามี-ภรรยา
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอพฤติกรรมที่ไม่ธรรมดาของเพศชายหญิง เช่น ชายทำงานบ้าน หญิงเป็นทหาร ถามนักเรียนว่ามีความเห็นอย่างไร 5 นาที
2. แบ่งกลุ่มคละเพศ 5-6 คนต่อกลุ่ม ช่วยกันคิดว่า หลังจากแต่งงานกัน บทบาทของสามี-ภรรยา จะมีอะไรบ้าง 30 นาที
3. ครูสรุป บทบาท สามีภรรยา 10 นาที
1. การทำงาน
2. การสร้างครอบครัว
3. การมีบุตร เพื่ออะไร
4. วางแผนครอบครัวอย่างไร
5. เป้าหมายของครอบครัวคืออะไร
6. ให้ชาย-หญิง เข้าใจบทบาทกัน ช่วยเหลือกัน
4.ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 12 มีลูกตอนไหนดี
กิจกรรมต่อจากครั้งที่ 11
1. กิจกรรมหลัก เชิญดารา นักร้อง ศิษย์เก่าของโรงเรียนมาแสดงความคิดเห็น แบบ Panel discussion ในประเด็น การวางแผนมีลูก 40 นาที
2. สรุปการเรียนรู้ 5 นาที
1. ควรวางแผนล่วงหน้า จะมีลูกกี่คน แต่ละคนห่างกันกี่ปี ชายหญิงกี่คน
2. ใครเป็นคนเลี้ยงลูก
3. หลักการทั่วไป
1. ไม่ควรตั้งครรภ์หลัง อายุ 30 ปี
2. ลูกแต่ละคนห่างกัน 2-3 ปี
3. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 13 คุมกำเนิด ทำอย่างไร
1. กิจกรรมนำ ข่าววัยรุ่นเสียชีวิตจากการทำแท้ง 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก ให้นักเรียนช่วยกันหาแนวทางป้องกัน สรุปที่การคุมกำเนิด ครูหรือสูติแพทย์บรรยายเรื่อง “การคุมกำเนิด” 30 นาที
3. สรุปการเรียนรู้ 10 นาที
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

คำแนะนำสำหรับการจัดกิจกรรมแบบกลุ่ม
1. ครูใช้วิธีการหลากหลาย เช่น กิจกรรมกลุ่ม บรรยายสั้นสลับกิจกรรมกลุ่ม โต้วาที ชมภาพยนตร์สั้นแล้ว ให้สรุปการเรียนรู้ ชมวีดิโอคลิปแล้วสนทนากลุ่ม ระดมสมอง Buzz Group เพื่อนสอนเพื่อน Four Station Technic, Coffee Shop Technic, เพื่อนสอนเพื่อน, โครงงาน(Project), พี่สอนน้อง, แสดงละคร, เกม, สถานการณ์สมมติ
2. กิจกรรมหรือการบรรยายบางเรื่อง อาจหาวิทยากรภายนอกที่น่าสนใจ เช่น
• เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในวัยรุ่น ประจำเดือน อาจเชิญวิทยากรเฉพาะ เช่น สูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์
• เรื่อง เกี่ยวกับรักร่วมเพศ (homosexualism, gay, lesbianism, transsexualism) อาจเชิญจิตแพทย์
• เรื่องการวางตัวทางเพศ บทบาททางเพศที่เหมาะสมอาจเชิญอาจารย์ที่สอนเรื่องเพศศึกษาเก่งๆจากโรงเรียนอื่น หรือรุ่นพี่ หรือ ดารา นักแสดงที่เป็นแบบอย่างที่ดี
3. กิจกรรมควรใช้วิธีให้นักเรียนมีส่วนร่วม (participatory learning) ให้นักเรียน ได้มีบทบาท ได้แสดงออก เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตัวเองและจากเพื่อนด้วยกัน ในตอนท้ายกิจกรรมให้นักเรียนสรุปการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
4. ครูส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ด้วยการ กระตุ้นให้แสดงออกและมีส่วนร่วมให้มากที่สุด เชิญคนที่เงียบๆไม่กล้าแสดงออกให้พูดคุย สร้างบรรยากาศสนุก เป็นกันเอง ผ่อนคลาย ยอมรับ ชมพฤติกรรมที่ดี เช่น กล้าแสดงออก มีเหตุผล คิดถึงใจคนอื่น ยอมรับเพื่อน ให้อภัย ครูคอยช่วยเสริมส่วนส่วนที่ยังไม่ครบ ในตอนท้ายเท่านั้น หลีกเลี่ยงการสอนมากเกินไป แนะนำมากไป หรือ บังคับข่มขู่ ก่อนจบกิจกรรมทุกครั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนซักถาม สรุปประเด็นเรียนรู้
5. ขั้นตอนการจัดกิจกรรม แบ่งเวลากิจกรรมเป็น 5 ขั้น ดังนี้
• ขั้นที่ 1 เกริ่นนำ บอกเป้าหมาย การเรียนรู้ ในครั้งนี้ ต้องการให้เกิดการเรียนรู้อะไร บทบาทนักเรียนจะทำอะไรบ้าง ครูคาดหวังอะไร สั้นๆ ประมาณ ไม่เกิน 2 นาที
• ขั้นที่ 2 กิจกรรมนำเข้าสู่การเรียน เพื่อให้สนใจ เกิดความตระหนัก ควรน่าสนใจ ตื่นเต้น เช่น แบบสอบถาม ข่าวหนังสือพิมพ์ ละครทีวี ภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่ เกมสั้นๆ หรือ คำถาม โดยเลือกกิจกรรมนำนี้ให้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหรือเป้าหมายหลัก ประมาณ 5 นาที
• ขั้นที่ 3 กิจกรรมหลัก ให้นักเรียนมีส่วนร่วม ควรสนุก เกิดความคิด มีการแสดงออกให้ทั่วถึง ครูช่วยกระตุ้นคนที่ไม่ค่อยพูด การสอนในชั้นขนาด 40-50 คน ควรแบ่งเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ5-7 คน เพื่อให้มีโอกาสแสดงออกและมีส่วนร่วมทั่งถึง ครูควรเข้าไปกระตุ้นในแต่ละกลุ่มย่อยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ อาจหาผู้ช่วยครู เช่นรุ่นพี่ หรืออาจารย์ช่วยสอน (teacher assistant : TA) ประจำกลุ่มย่อย ใช้ใบงาน แผ่นสรุปงาน เพื่อให้สรุปผลงานและวัดผลงานของแต่ละกลุ่ม 15-30 นาที
• ขั้นที่ 4 สรุปการเรียนรู้ ให้นักเรียนช่วยกันสรุปว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้าง มีประโยชน์อย่างไร สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงอย่างไร ครูช่วยเพิ่มเติมให้ครบตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และชมพฤติกรรมที่ดีของนักเรียนที่แสดงออกในกลุ่ม เช่น การเป็นผู้นำผู้ตามที่ดี การแสดงความเห็น การรับฟังผู้อื่น 10 นาที
• ขั้นที่ 5 คำถามและข้อคิด 3 นาที
6. การประเมินผล โดยการสังเกตพฤติกรรมในขณะร่วมกิจกรรม(การมีส่วนร่วม แสดงออก) ความสม่ำเสมอของการร่วมกิจกรรม แบบสอบถามความพึงพอใจ และพฤติกรรมของนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงดีขึ้นหลังกิจกรรม

ตัวอย่างกิจกรรม
1. สถานการณ์สมมติ การใช้สถานการณ์สมมติ เป็นสถานการณ์ที่ตั้งขึ้น เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์วิธีการแก้ปัญหา หรือแสดงทักษะบางประการ
หัวข้อสถานการณ์สมมติ ได้แก่ การเลือกแฟน การป้องกันปัญหาเวลาอยู่ใกล้ชิดกับเพศตรงข้าม เหื่อป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงเพศสัมพันธ์
วิธีการใช้สถานการณ์สมมติ
1. กำหนดใบงานของสถานการณ์สมมติ และแสดงความคิดเห็นเป็นกลุ่มย่อย
2. กำหนดบทบาท และให้แสดงบทบาทสมมติ (role playing)
การจัดประสบการณ์เรียนรู้
ตัวอย่างสถานการณ์สมมติ
สถานการณ์สมมติ 1
เกด กับ ชิต เป็นแฟนกันมา 3 เดือน ในวันลอยกระทง ชิตพาเกดไปเที่ยวจนดึกกลับบ้านไม่ได้ ชิตเลยชวนเกดไปนอนค้างที่บ้านของตน
ในคืนนั้นเอง ชิตขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย
ท่านเป็นเกด ท่านจะตัดสินใจอย่างไร

สถานการณ์สมมติ 2
เกด กับ ชิต เป็นแฟนกันมา 3 เดือน ในวันลอยกระทง ชิตพาเกดไปเที่ยวจนดึกกลับบ้านไม่ได้ ชิตเลยชวนเกดไปนอนค้างที่บ้านของตน
ในคืนนั้นเอง ชิตขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย
ท่านเป็นเกด ท่านไม่ยอม
ชิตบอกว่า ถ้ารักกันจริง ต้องแสดงให้เห็นด้วยเพศสัมพันธ์ ไม่งั้นก็เป็นแค่เพื่อน
ท่านเป็นเกด ท่านจะตัดสินใจอย่างไร

สถานการณ์สมมติ 3
เกด กับ ชิต เป็นแฟนกันมา 3 เดือน ในวันลอยกระทง ชิตพาเกดไปเที่ยวจนดึกกลับบ้านไม่ได้ ชิตเลยชวนเกดไปนอนค้างที่บ้านของตน
ในคืนนั้นเอง ชิตขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย
ท่านยอมมีเพศสัมพันธ์ เพราะรักชิตจริง คิดว่าเขาคงมั่นใจในความรักของท่าน
เดือนต่อมา ประจำเดือนท่านขาดไป ท่านจะทำอย่างไร

สถานการณ์สมมติ 4
เกด กับ ชิต เป็นแฟนกันมา 3 เดือน ในวันลอยกระทง ชิตพาเกดไปเที่ยวจนดึกกลับบ้านไม่ได้ ชิตเลยชวนเกดไปนอนค้างที่บ้านของตน
ในคืนนั้นเอง ชิตขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย
ท่านยอมมีเพศสัมพันธ์ เพราะรักชิตจริง คิดว่าเขาคงมั่นใจในความรักของท่าน
เดือนต่อมา ประจำเดือนท่านขาดไป ท่านไปตรวจแล้วพบว่าท้อง
ท่านบอกเรื่องนี้กับชิต ชิตไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นพ่อของเด็ก บอกว่า “ที่ยอมมีเพศสัมพันธ์กันง่ายแบบนี้ ก็คงมีกับผู้ชายอื่นง่ายๆด้วยเหมือนกัน”
ท่านจะทำอย่างไรต่อไป

สถานการณ์สมมติ 5
วิทย์เป็นนักเรียนชั้น ม3 โรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่ง วันหนึ่ง ไก่เพื่อนร่วมห้องเขียนจดหมายมาสารภาพรัก บอกว่าแอบชอบวิทย์มานานแล้ว
วิทย์ควรจะทำอย่างไรต่อไป

2. การเรียนรู้จากสื่อ

2.1 การตอบปัญหาทางเพศจากหนังสือพิมพ์

2.2 ข่าวหนังสือพิมพ์

2.3 ข่าวโทรทัศน์ วิดีโอคลิป อินเตอร์เน็ต
ครูสามารถบันทึกสื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น นำมานำเสนอ เป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนใจ คิด วิเคราะห์ แก้ไข และป้องกันปัญหา

การวัดผลพฤติกรรมในกลุ่ม
ครูควรมีวิธีวัดพฤติกรรมของนักเรียนในกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนพยายามฝึกทักษะในการทำงานกลุ่ม ก่อนเริ่มกิจกรรมครูควรบอกนักเรียนทุกคนว่า จะมีการวัดพฤติกรรมนักเรียนอย่างไร เช่น การมีส่วนร่วม การ แบ่งงาน การมีส่วนร่วม แบ่งงาน การเป็นผู้นำ ผู้ตาม ฯลฯ
การวัดพฤติกรรม อาจแยกเป็น 2 แบบ คือ
1. คะแนนกลุ่ม ทุกคนในกลุ่มจะได้รับเท่ากันทุกคน นักเรียนจะพยายามทำตามที่ครูคาดหวัง การชมในพฤติกรรมดีที่คาดหวังจะช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น
2. คะแนนรายบุคคล แต่ละคนจะได้รับแตกต่างกัน ตามพฤติกรรมที่แสดงออกจริง ผู้วัดต้องอยู่ในกลุ่มตลอดเวลา
ตัวอย่างที่1. ใบบันทึกคะแนนพฤติกรรมกลุ่ม
เรื่องที่ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12
กลุ่มที่
การมีส่วนร่วม แบ่งงาน
20 คะแนน
การแสดงความคิดเห็น
10 คะแนน
การเป็นผู้นำ ผู้ตาม
10 คะแนน
การสรุปเนื้อหา
10 คะแนน
คะแนนผลงานกลุ่ม
50 คะแนน
อาจารย์……………………………………………………………………. วันที่………………..

ตัวอย่างที่ 2 ใบบันทึกคะแนนรายบุคคล

ชื่อกลุ่ม ……………………………………………………………………….หัวหน้ากลุ่ม……………………………………………………..

คำขวัญของกลุ่ม……………………………………………………………………………………………………………………………………..

ชื่อ ความสนใจ/
มีส่วนร่วม การแสดงความคิดเห็น/แสดงออก การเป็นผู้นำ/
ผู้ตาม ความพยายามให้งานสำเร็จ ความสัมพันธ์
กับผู้อื่น
1.
2.
3.
4.
5.
6.
7.
อาจารย์……………………………………………………………………. วันที่………………..

เทคนิคกระตุ้นกลุ่ม (Facilitating Techniques)
ครูจะเป็นผู้กระตุ้นให้กลุ่มทำกิจกรรม โดยมีขั้นตอน โดยปรับให้เหมาะสมกับเวลาที่มี ดังนี้
1. การแนะนำตัว ผู้นำกลุ่มแนะนำตัวเอง ให้ทุกคนแนะนำตัวเองสั้นๆ
2. อธิบายวัตถุประสงค์ของการคุยกันเป็นกลุ่ม เวลาที่จะใช้ เน้นกติกาของกลุ่ม คือการเรียนรู้จากกันการเปิดเผยและช่วยเหลือกัน ทุกคนจะมีโอกาสแสดงออก เช่น เล่าเรื่องของตนเอง ในระหว่างนั้นให้คนอื่นตั้งใจฟัง และช่วยเหลือเหลือกันโดยการแสดงความคิด ความรู้สึก และการแก้ปัญหา กติกาหลัก คือ ขอให้พูดกับกลุ่ม ทีละคน ใครต้องการพูดขอให้ยกมือ ผู้นำกลุ่มจะดูแลให้ได้พูดทุกคน
3. ในครั้งแรกครูควรเน้นเรื่องการรักษาความลับของกัน ไม่นำเรื่องที่คุยกันในกลุ่มไปเปิดเผยข้างนอก
4. ครูขออาสาสมัครนักเรียนที่จะแสดงออก หรือเปิดเผยเรื่องในประเด็นการเรียนรู้ในครั้งนี้ ขอให้เล่าให้กลุ่มฟัง เริ่มต้นจากสิ่งที่เปิดเผยได้ง่าย
5. หลังจากเล่าเรื่อง ขอความคิดเห็นจากคนอื่น จับประเด็นที่นักเรียนส่วนใหญ่มีส่วนร่วม เช่น ปัญหาที่คล้ายกัน ความเดือดร้อนเหมือนกัน ครูอาจตั้งคำถามนำว่าใครมีประสบการณ์เหล่านี้ บ้าง หรือปัญหานี้ใครมีคล้ายๆกัน เพื่อสร้างความรู้สึกร่วม และส่งเสริมให้เปิดเผยมากขึ้น และวิธีการแก้ไขที่ได้ทำไปแล้ว
6. ครูเลือกประเด็นเป้าหมายที่น่าสนใจ ให้นักเรียนแสดงออกเพิ่มเติมว่า เกิดอย่างไร แก้ไขอย่างไร สิ่งที่ทำแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผล
7. ครูเชิญสมาชิกคนอื่นๆ ว่า จะมีใครมีคำแนะนำเพื่อนบ้าง เปิดโอกาสให้แสดงออกหลายๆวิธี
8. ใช้คำถามสามเหลี่ยม “Triangular Questions” สำรวจและเรียนรู้กันในด้าน
ก. ความคิด(Thinking) หรือความเชื่อ ทัศนคติ
ข. ความรู้สึก(Feeling) หรือ อารมณ์
ค. พฤติกรรม(Behaviors) การแก้ปัญหา การแสดงออก การสื่อสาร
เช่น
“แฟนชวนไปเที่ยว(พฤติกรรม) ชอบหรือไม่(รู้สึก) นักเรียนคิดว่ามีความเสี่ยงหรือไม่(ความคิด) ถ้ามีความเสี่ยง เสี่ยงต่ออะไร (ทัศนคติ ความเชื่อ ประสบการณ์เดิม การเรียนรู้ที่ผ่านมา) การระวังนั้นจะทำให้ตอบรับหรือปฏิเสธ (ความคิด)”
9. ครูชมพฤติกรรมหรือวิธีการที่ดี ให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น แนะนำให้ฟังความคิดของกันและกัน ไตร่ตรองข้อดีของทางเลือกนั้น ส่งเสริมให้หาวิธีดีๆ และนำไปปฏิบัติ
10. ตัวอย่างของการคิดดี ได้แก่ คิดหลายทาง คิดด้านบวก มองโลกในแง่ดี คิดรอบคอบ และหยุดคิดได้ในบางเวลา
11. ตัวอย่างของการฝึกความรู้สึก ได้แก่ การรู้จักอารมณ์ตนเอง การฝึกใจให้สงบ การผ่อนคลายตนเอง กิจกรรมผ่อนคลาย
12. ส่งเสริมตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ดี ได้แก่ การปรึกษาหารือ เวลามีเรื่องไม่สบายใจ หาผู้รับฟังที่ดี เช่น เพื่อน ครู พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เปิดเผย การเล่าจะเป็นการระบายความรู้สึก และเปิดใจรับคำแนะนำดีๆ ทางออกแก้ปัญหาที่แตกต่าง ในการแก้ปัญหา มีการหาข้อมูลให้ครบ คิดทางเลือก วิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย
13. การจัดสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมเบนความสนใจ เช่น เล่น เกม กีฬา ศิลปะ ดนตรี กิจกรรมกลุ่ม ทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น บำเพ็ญประโยชน์ เพื่อให้ผ่อนคลาย ลดความรู้สึกหรือหมกมุ่นทางเพศ
14. ใช้เทคนิคกลุ่มชวนให้มีส่วนร่วมทุกคน เช่น ขอให้คนที่แสดงความเห็นแล้วเชิญคนต่อไปที่ยังไม่ได้แสดง จนกว่าจะครบทุกคน (round turn)
15. ครูให้ความรู้ในเรื่องที่เตรียมไว้ สั้นๆ พร้อมแหล่งข้อมูลที่นักเรียนสามารถหาเพิ่มเติม เช่นหนังสือ เว็บไซต์
16. สรุปการเรียนรู้ ให้สมาชิกช่วยกันสรุป ผู้นำกลุ่มช่วยเสริมในตอนท้าย
17. คำถาม หรือข้อคิดเห็น
หมายเหตุ เวลาในการสอนแบบกลุ่ม ควรประมาณ 50-90 นาที ถ้ามีเวลาน้อยควร กำหนดเป้าหมายแคบ ให้มีจุดเน้นชัดเจน ถ้ามีเนื้อหามากควรจัดเป็น กิจกรรมกลุ่มหลายครั้งต่อเนื่องกัน(series)

เอกสารอ้างอิง
1. กองวางแผนครอบครัวและประชากร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. แผนการอบรมเพศศึกษาสำหรับพ่อแม่. กรุงเทพฯ: บริษัท วิสคอม เซ็นเตอร์ จำกัด, 2543.
2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาช่วงชั้นที่ 1 (ป1-3). กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2548.
3. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาช่วงชั้นที่ 2 (ป4-6). กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2548.
4. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาช่วงชั้นที่ 3 (ม1-3). กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2548.
5. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาช่วงชั้นที่ 4 (ม4-6). กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2548.
6. พนม เกตุมาน. โตแล้วนะน่าจะรู้ไว้ พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2542.
7. ศรีธรรม ธนะภูมิ. พัฒนาการทางอารมณ์และบุคลิกภาพ. กรุงเทพฯ: ชวนพิมพ์, 2535;60-115.
8. จันทร์วิภา ดิลกสัมพันธ์. เพศศึกษา พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, 2543;69-77.
9. นิกร ดุสิตสิน, วีระ นิยมวัน, ไพลิน ศรีสุโข. คู่มือการสอนเพศศาสตรศึกษาระดับมัธยม พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545;1-14.
10. พนม เกตุมาน. สุขใจกับลูกวัยรุ่น. กรุงเทพฯ: บริษัทแปลนพับลิชิ่งจำกัด, 2535;60-88.

ภาคผนวก

1. สรุปเนื้อหาสำหรับการสอนเพศศึกษาตามวัยต่างๆ

วัย 1 ปีแรก
พัฒนาการทางเพศ
พ่อแม่รับรู้เพศเด็กตามที่แพทย์กำหนด จากอวัยวะเพศภายนอก
ยังไม่รู้เพศตนเอง
สัมพันธภาพ
การตอบสนองความต้องการของเด็กสร้างความมั่นคงในจิตใจอารมณ์
สื่อสารผ่านการร้อง การสัมผัส กอด
ทักษะส่วนบุคคล
แยกตนเองและผู้อื่น เป็นคนละคนกัน
รอคอยได้เมื่อพ้น 6 เดือน จำหน้าแม่เมื่ออายุ 9 เดือน
พฤติกรรมทางเพศ
ความพอใจอยู่ที่การกิน การดูด การกัด การสัมผัส
สุขอนามัยทางเพศ
พ่อแม่ช่วยเหลือทำความสะอาดทางเพศ
สังคมและวัฒนธรรม
เด็กแยกตนเองจากสิ่งแวดล้อม

วัย 1-3 ปี
พัฒนาการทางเพศ
สอนให้เด็กรู้จักเพศตนเอง(core gender) และเพศของผู้อื่น
ให้พอใจและภูมิใจในเพศของตนเอง
สัมพันธภาพ
พ่อแม่ความสัมพันธ์ที่มั่นคงแน่นอน ให้เด็กเกิดความผูกพันมั่นคงใน จิตใจ
ทักษะส่วนบุคคล
สามารถควบคุมตนเองได้ โดยเฉพาะการขับถ่าย ฝึกให้เด็กช่วยตัวเอง ขับถ่ายเป็นที่ทาง เป็นเวลา
พฤติกรรมทางเพศ
กำกับให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสมและตรงตามเพศของเด็ก เช่น การแต่งกาย การพูด การเล่น ควรกำกับดูแลให้
เบนความสนใจไม่ให้เด็กเล่นอวัยวะเพศตนเอง
สุขอนามัยทางเพศ
สอนการทำความสะอาดอวัยวะเพศตนเอง
การระวังรักษาอวัยวะเพศตนเอง
สังคมและวัฒนธรรม
เด็กเริ่มเรียนรู้กฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ฝึกให้เด็กรู้จักกฎเกณฑ์กติกาในบ้าน พื้นฐานของระเบียบวินัย และการควบคุมตนเอง

วัย 3-6 ปี
พัฒนาการทางเพศ
สนใจอวัยวะเพศตนเองและของผู้อื่น สอนให้เด็กรู้จักการดูแลรักษาอวัยวะเพศตนเอง
สัมพันธภาพ
ถ่ายทอดแบบอย่างทางเพศจากพ่อแม่ พ่อแม่ใกล้ชิดกับลูกเป็นแบบอย่างทางเพศที่ดีกับลูกเพศเดียวกัน
ทักษะส่วนบุคคล
พึ่งพาตัวเองได้ ช่วยตัวเองได้ สามารถแยกตัวเองจากพ่อแม่
เข้าใจเหตุผลง่ายๆ
พฤติกรรมทางเพศ
อยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศ เวลาอธิบายเรื่องเพศควรใช้คำอธิบายด้วยเหตุผลง่ายๆ
สอนพฤติกรรมที่เหมาะสมทางเพศ ไม่ส่งเสริมให้เด็กแสดงออกผิดเพศ เช่นการแต่งกาย ท่าทาง หรือการเล่นผิดเพศ
สุขอนามัยทางเพศ
การทำความสะอาดอวัยวะเพศตนเอง
การแยกใช้ห้องน้ำห้องส้วมหญิงชาย
การระวังรักษาอวัยวะเพศไม่ให้ใครมาละเมิด
สอนทักษะในการปฏิเสธการล่วงละเมิดทางกาย ฝึกให้เด็กปฏิเสธมิให้ผู้อื่นแตะต้องร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะเพศของตนเอง
การปฏิเสธ เช่น การไปไหนกับคนแปลกหน้า การรับของ ขนม หรือของเล่นจากคนที่ไม่รู้จัก
การขอความช่วยเหลือเมื่อไม่แน่ใจในความปลอดภัย
หลีกเลี่ยงไปไหนตามลำพัง
สังคมและวัฒนธรรม
ทัศนคติของผู้ใหญ่ต่อเรื่องเพศเป็นกลาง
ยอมรับการอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศ อธิบายให้เด็กเข้าใจตามสมควร
เพศหญิงชายไม่มีความแตกต่างกัน
ไม่ทำให้เด็กรังเกียจอวัยวะเพศตนเอง
ควบคุมพฤติกรรมทางเพศให้เหมาะสม ไม่ละเมิดผู้อื่น
ไม่ให้ใครมาละเมิดตนเอง
เมื่อเด็กสนใจหมกมุ่น หรือกระตุ้นตัวเองทางเพศ ผู้ใหญ่ห้ามสั้นๆด้วยท่าทีสงบ หากิจกรรมเบนความสนใจเด็ก หรือจัดสิ่งแวดล้อมให้เด็กไม่อยู่คนเดียว
ไม่ควรขู่หรือทำให้เด็กกลัวจนเกินไป

วัย 6-12 ปี
พัฒนาการทางเพศ
ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางเพศชัดเจน
สัมพันธภาพ
จับกลุ่มเล่นแยกเพศ ให้เด็กเล่นตามเพศเดียวกัน
ทักษะส่วนบุคคล
เข้าใจเหตุผลที่เป็นรูปธรรม
เข้าใจจิตใจผู้อื่นมากขึ้น
รับผิดชอบต่อส่วนรวม ชอบแข่งขันการเรียน
พฤติกรรมทางเพศ
ส่งเสริมพฤติกรรมเหมาะสมกับเพศตนเอง
สอนเรื่องสถานการณ์เสี่ยงทางเพศ
สุขอนามัยทางเพศ
ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงตนเองสำหรับวัยรุ่น ในเด็กบางคนเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น
สังคมและวัฒนธรรม
สอนให้เกียรติกันทางเพศ ไม่ละเมิด
ให้มีพฤติกรรมเหมาะสมตามเพศ เพศชายช่วยเหลือเพศหญิง

วัย 12-15 ปี
พัฒนาการทางเพศ
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ
อารมณ์เพศ ความรู้สึกและความต้องการทางเพศ สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางเพศ
ปฏิกิริยาตอบสนองทางเพศเมื่อมีอารมณ์เพศ
ความพึงพอใจทางเพศ(sexual orientation)
สัมพันธภาพ
การมีเพื่อนต่างเพศ ทักษะสังคมในการคบเพื่อนต่างเพศ การแสดงออกอย่างเหมาะสมเมื่อสนใจเพศตรงข้าม
ทักษะส่วนบุคคล
ทักษะในการสื่อสารเจรจา
การสร้างความสัมพันธ์และรักษาความสัมพันธ์ให้ยาวนาน
การควบคุมตนเอง
ควบคุมอารมณ์ จัดการกับอารมณ์และความต้องการทางเพศ
พฤติกรรมทางเพศ
ศึกษาเรื่องเพศได้ในกรอบที่พอเหมาะ
ทัศนคติถูกต้องต่อการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ควบคุมให้มีพอสมควร
การแต่งกายที่เหมาะสม ถูกต้องตามเพศ
มีความความสนใจเพศตรงข้ามได้แต่แสดงออกถูกต้อง
ไม่ละเมิดหรือฉวยโอกาสทางเพศต่อผู้อื่น
สุขอนามัยทางเพศ
การทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกต้อง
การจัดการกับอารมณ์เพศอย่างถูกต้อง มีทางออกทางเพศ(sexual outlet) การระบายอารมณ์เพศด้วยวิธีอื่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา
การป้องกันการหมกมุ่นทางเพศมากเกินไป โดยการจัดสิ่งแวดล้อม
หลีกเลี่ยงเหล้าและยาเสพติด หลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยง
สังคมและวัฒนธรรม
พฤติกรรมเหมาะสมกับสังคมประเพณี
พฤติกรรมให้ถูกต้องตามเพศตนเอง

วัย 15-18 ปี
พัฒนาการทางเพศ
ยอมรับ พอใจเอกลักษณ์ทางเพศ
แก้ไขความเชื่อหรือทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง
สัมพันธภาพ
การเลือกแฟน การคบแบบแฟน
การสังเกตนิสัยใจคอ ความเข้ากันได้
ทักษะในการปรับตัวเข้าหา
การเลือกคู่ครอง
ชีวิตครอบครัว
การแต่งงาน และปรับตัวในชีวิตสมรส
ทักษะส่วนบุคคล
การปรับตัว
สื่อสารบอกความต้องการตนเอง
การปรับเปลี่ยนตนเองแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง
ทักษะในการดำเนินชีวิตร่วมกัน
การวางแผนอนาคต
ควบคุมตนเองให้รับผิดชอบต่อครอบครัว
การเลี้ยงลูก
พฤติกรรมทางเพศ
การปฏิเสธเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน
เพศสัมพันธ์
การใช้ถุงยางอนามัย การคุมกำเนิด
การเตรียมตัวก่อนการแต่งงาน
การตอบสนองทางเพศปกติ
การมีเพศสัมพันธ์อย่างมีความสุข
การวางแผนครอบครัว
สุขอนามัยทางเพศ
การเปลี่ยนแปลงทางเพศที่จะเกิดในขณะตั้งครรภ์
เพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์
การคลอดบุตรและการดูแลหลังการคลอดบุตร
การคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราวและถาวร
การทำหมันและการเลี้ยงดูบุตร
การวางแผนครอบครัว
การแท้งบุตร
ความผิดปกติทางเพศ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
สังคมและวัฒนธรรม
การยับยั้งใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนสมรส
การซื่อสัตย์ต่อคู่ครองตนเอง
บทบาทที่ดีของพ่อแม่
การแสดงออกทางเพศให้เหมาะสมอยู่ในประเพณีที่ดี
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ

2. ตัวอย่างแผนการสอน

ชื่อกิจกรรม นิทานจริยธรรม “แฟนเก่า หรือกิ๊กใหม่”
สรุปลักษณะกิจกรรม ผู้นำกลุ่มอ่านนิทานให้สมาชิกกลุ่มฟัง หลังจากนั้นให้สมาชิกกลุ่มแสดงความคิดเห็น และทำงานกลุ่มโดยตอบคำถามแสดงถึงความคิดเชิงจริยธรรม และแสดงผลงานความคิดกลุ่มแก่กลุ่มอื่น ผู้นำกลุ่มแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
วัตถุประสงค์ ฝึกความคิดเชิงจริยธรรม เรียนรู้ความคิดเชิงจริยธรรมจากผู้อื่น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง
ลักษณะของกลุ่ม
• จำนวนสมาชิกกลุ่ม 15-90 คน แบ่งกลุ่มย่อย 4-6 กลุ่ม กลุ่มละ 5-15 คน
• คุณสมบัติของสมาชิกกลุ่ม อายุ 12 ปีขึ้นไป
เวลา 60-90 นาที
ทรัพยากรที่ใช้
1. นิทาน 1 เรื่อง ชื่อ “แฟนเก่า หรือกิ๊กใหม่”
2. บันทึกผลงานกลุ่ม
การดำเนินกิจกรรมกลุ่ม
1. การนำเข้าสู่กิจกรรม
ผู้นำกลุ่มถามกลุ่มใหญ่ว่า มีใครไม่เคยมีปัญหาชีวิตบ้าง ลองให้ยกตัวอย่างสั้นๆ สรุปว่าชีวิตคงจะต้องเผชิญปัญหาทุกคน กิจกรรมต่อไปนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาในชีวิต โดยจะแบ่งสมาชิกเป็นกลุ่มย่อย 6 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันคิดวิเคราะห์ปัญหาจากนิทานที่จะแจกให้
ผู้นำกลุ่มแบ่งกลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มย่อย 6 กลุ่ม
2. การดำเนินกิจกรรม
ผู้นำกลุ่มอ่านนิทานให้ฟัง และแนะนำให้กลุ่มช่วยกันทำงานกลุ่ม ให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด ประมาณ 15 นาที หลังจากนั้นผู้นำกลุ่มแจกนิทาน และกระดาษสรุปผลงานกลุ่มให้หัวหน้ากลุ่ม หลังจากนั้นให้ผู้แทนกลุ่มนำเสนอผลงานกลุ่มละ 5 นาที
• ผลงาน
• วิธีการดำเนินงาน
3. การวิเคราะห์เรียนรู้ที่เกิดขึ้น
ผู้นำกลุ่มให้แต่ละกลุ่มสรุปว่าได้เรียนรู้อะไร จากกิจกรรมนี้
ประเด็นการวิเคราะห์
• คำตอบของกลุ่มใดถูก เพราะเหตุผลใด
• เหตุใดจึงตัดสินไม่ได้ว่าคำตอบใดถูกต้องที่สุด
4. การสังเคราะห์การเรียนรู้
ผู้นำกลุ่มให้กลุ่มช่วยกันคิดว่า การเรียนรู้ในกิจกรรมนี้ จะนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร
5. สรุปการเรียนรู้
ผู้นำกลุ่มสรุปผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น
รายละเอียดทรัพยากรที่ใช้
นิทาน เรื่อง “แฟนเก่า หรือกิ๊กใหม่”
หนุ่มสาวคู่หนึ่งรักกันมากตั้งแต่เรียนอยู่ด้วยกันในมหาวิทยาลัย แต่พ่อฝ่ายหญิงไม่ชอบฝ่ายชายเนื่องจากฐานะ และตระกูลด้อยกว่าฝ่ายหญิงมาก จึงกีดกันทุกทาง ไม่ยอมให้มาพบกันที่บ้าน
หนุ่มสาวยังแอบพบกัน โดยแม่ฝ่ายสาวเห็นใจทั้งคู่มากแอบให้ความช่วยเหลือ ทำให้ทั้งคู่ได้พบกันเป็นประจำที่บ้านเวลาพ่อไม่อยู่ ต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด ความใกล้ชิดมีมากขึ้นจนเมื่ออยู่ด้วยกันตามลำพังในห้องสองต่อสอง ฝ่ายชายขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย ครั้งแรกฝ่ายหญิงไม่ยินยอม แต่ฝ่ายชายบอกว่าการมีเพศสัมพันธ์กันเป็นการพิสูจน์ว่ารักจริง ฝ่ายหญิงนำเรื่องแฟนขอมีเพศสัมพันธ์นี้ไปปรึกษาเพื่อนสาวที่สนิทกันที่มหาวิทยาลัย เพื่อนคนนั้นบอกว่า มีไปเถอะ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครเขาถือกันแล้วเรื่องนี้
วันหนึ่งขณะที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน ทั้งคู่มีเพศสัมพันธ์กันด้วยความเต็มใจทั้งสองฝ่าย ต่อมาฝ่ายหญิงพบว่าตนเองตั้งครรภ์ จึงปรึกษาเพื่อนคนเดิม เพื่อนบอกว่า เธอแย่มากที่ไม่รู้จักป้องกันตัวเอง และแนะนำให้บอกฝ่ายชาย ฝ่ายชายเมื่อทราบเรื่องจึงขอให้แต่งงานด้วยทันที และให้ลาออกจากการเรียน
พ่อเมื่อทราบเรื่องโกรธและขู่ฝ่ายชายว่าจะฆ่าให้ตาย และยังโกรธแม่มากที่ช่วยให้ทั้งคู่แอบพบกันที่บ้าน จึงทำร้ายร่างกายแม่รุนแรงมากจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล บังคับให้ลูกสาวไปทำแท้งกับเพื่อนซึ่งเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แล้วส่งลูกสาวไปเรียนต่อต่างประเทศหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยทันที
แม่ของฝ่ายหญิงซึ่งไม่ค่อยเห็นด้วยกับสามี แอบให้ที่อยู่ลูกสาวเพื่อให้ฝ่ายชายติดต่อได้ ฝ่ายชายยังติดต่อทางจดหมายและโทรศัพท์ถึงเป็นประจำ แม้ว่าแต่ต่อมาตนเองจะคบกับเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องเป็นแฟนอีกคน จนถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กัน และในที่สุดแต่งงานกัน โดยฝ่ายชายไม่บอกแฟนเก่าที่กำลังเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ
เมื่อสาวแฟนเก่าเรียนจบมาจากต่างประเทศ พบว่าแฟนแต่งงานแล้วก็เสียใจมาก กินยาฆ่าตัวตาย แต่ไม่ตายต้องรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ระหว่างนั้นฝ่ายชายมาเยี่ยมขอกลับมาเริ่มความสัมพันธ์ใหม่เพราะยังรักมากอยู่ ส่วนภรรยาที่แต่งงานกันมา 2-3 ปีแล้วนั้นตอนนี้มีปัญหากันมาก เพราะขี้หึงและเวลาโกรธจะทะเลาะรุนแรงมาก ขณะนี้กำลังพยายามหย่าจากภรรยา ฝ่ายหญิงยังมีความรักชายหนุ่มมาก จึงตกลงจะแต่งงานด้วยถ้าหย่าสำเร็จ
ชายหนุ่มกลับมาขอหย่ากับภรรยา แต่ภรรยาไม่ยอม และเอาปืนออกมาขู่ว่าถ้ารู้ว่าสามีไปพบกันอีกจะใช้ปืนยิงให้ตายทั้งคู่และฆ่าตัวตายตามไปด้วย ฝ่ายชายจึงแย่งปืนกันในรถยนต์จนรถชนต้นไม้ข้างทาง ภรรยาจนเสียชีวิตในรถยนต์ ฝ่ายชายหลบหนีไปเล่าเรื่องให้ฝ่ายหญิงฟัง
จากเรื่องนี้ มีบุคคลที่สำคัญ 7 คน คือ
1. ชายหนุ่ม
2. หญิงสาว
3. พ่อหญิงสาว
4. แม่หญิงสาว
5. เพื่อนหญิงสาว
6. แฟนสาวคนใหม่ของชายหนุ่ม
7. แพทย์ช่วยทำแท้งให้หญิงสาว
งานของกลุ่ม ช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่า และสรุปผลงานกลุ่ม ตามหัวข้อต่อไปนี้
1. ใครเลวที่สุด เรียงลำดับจากมากไปน้อย พร้อมเหตุผล
2. ถ้าท่านเป็นฝ่ายหญิง ท่านจะทำอย่างไร
3. ถ้าท่านเป็นฝ่ายชาย ท่านจะทำอย่างไร
2. กระดาษสรุปผลงานกลุ่ม

ผลงานกลุ่ม

กลุ่มที่…………………..
หัวหน้ากลุ่ม ………………………..
ชื่อสมาชิกกลุ่ม ……………………………………………………………………………………………………………………………

ข้อ 1 ใครเลวที่สุด

ลำดับ บุคคล เหตุผล
1

2

3

4

5

6

7

ข้อ 2 ถ้าท่านเป็นฝ่ายหญิง ท่านจะทำอย่างไร

ข้อ 3 ถ้าท่านเป็นฝ่ายชาย ท่านจะทำอย่างไร

การประยุกต์กิจกรรม

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

พนม เกตุมาน การสอนเพศศึกษาในวัยรุ่น : การป้องกันปัญหาทางเพศในโรงเรียน
คู่มือบุคคลากรทางการแพทย์ในการดูแลเด็กวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์.
บรรยายในการประชุมวิชาการประจำปี 2553 “วัยรุ่นและทารกเกิดก่อนกำหนด…..ปัญหาที่ท้าทาย” 9 กรกฎาคม 2553 รร มิราเคิ้ล แกรนด์
โครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทยในพระอุปถัมภ์ฯ

ผศ. นพ. พนม เกตุมาน
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

การสอนทักษะสังคมทางเพศในวัยรุ่น

ปัญหาทางเพศพบได้บ่อยในวัยรุ่น เนื่องจากวัยนี้เริ่มมีความสนใจทางเพศ มีความต้องการทางเพศ แต่ขาดความรู้และการควบคุมตนอง การสอนเรื่องเพศแก่วัยรุ่น เป็นกระบวนการศึกษาที่จำเป็นเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ เพื่อให้มีความรู้ มีทัศนคติ และมีพฤติกรรมในเรื่องเพศถูกต้อง ตลอดจนสามารถปรับตัวตามพัฒนาการของชีวิตอย่างเหมาะสม1 การสอนเรื่องเพศมีเนื้อหาที่ครอบคลุมกว้างขวางต่อเนื่องมาตั้งแต่เด็ก วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจและสังคมอย่างมากและรวดเร็ว การเรียนรู้เรื่องเพศเกิดได้จากการสอนและแบบอย่างโดยพ่อแม่ ครอบครัว ครู เพื่อน และสังคมสิ่งแวดล้อม จนวัยรุ่นเกิดการเรียนรู้เป็นเอกลักษณ์ทางเพศ มีทักษะสังคมและบทบาททางเพศที่เหมาะสม สามารถควบคุมตัวเองในเรื่องเพศได้ การสอนเรื่องเพศจำเป็นต้องให้สอดคล้องตามพัฒนาการปกติ ผู้สอนเรื่องเพศควรมีความรู้เรื่องพัฒนาการทางเพศของวัยรุ่น เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้อง

วัตถุประสงค์การสอนทักษะสังคมทางเพศ
การสอนเรื่องเพศสามารถสอนได้ตั้งแต่เด็กยังเล็ก คู่ขนานไปกับการส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน ในครอบครัวพ่อแม่ควรเป็นผู้สอน เมื่อเข้าโรงเรียนครูควรสอน โดยให้ครอบคลุมเนื้อหาที่จำเป็น และสอดคล้องไปกับการสอนของพ่อแม่ที่บ้าน เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นพ่อแม่และครูควรส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้เรื่องนี้ โดยมีแนวทางที่ถูกต้อง
การสอนเพศศึกษาในโรงเรียนนั้น กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้เรื่อง “เพศศึกษา” ในนักเรียน2 โดยแบ่งการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ออกเป็น 6 ด้าน ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักในการสอนทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ดังนี้
1. พัฒนาการทางเพศ(Human sexual development) ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเจริญเติบโต พัฒนาการทางเพศตามวัย ทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม
2. สัมพันธภาพ (Interpersonal relation) การสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลในสังคม การสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับเพื่อนเพศเดียวกัน และต่างเพศ การเลือกคู่ การเตรียมตัวก่อนสมรส และการสร้างครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา พ่อ-แม่-ลูก
3. ทักษะส่วนบุคคล (Personal and communication skills) ความสามารถในการจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เช่น ทักษะการสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์ และควบคุมความสัมพันธ์ให้อยู่ในความถูกต้องเหมาะสม ทักษะการปฏิเสธ ทักษะการขอความช่วยเหลือ ทักษะการจัดการกับอารมณ์ ทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ
4. พฤติกรรมทางเพศ (Sexual behaviors) การแสดงออกถึงพฤติกรรมทางเพศหรือบทบาททางเพศ (Gender role) ที่เหมาะสมกับบทบาททางเพศและวัย เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่เกิดความเสี่ยงทางเพศ(เช่น เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น เพศสัมพันธ์ที่ปราศจากการป้องการตั้งครรภ์หรือการติดเชื้อ) การสร้างเอกลักษณ์ทางเพศที่เหมาะสม ความเสมอภาคทางเพศ และบทบาททางเพศที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคมอย่างสมดุล
5. สุขอนามัยทางเพศ (Sexual health) ความรู้ความเข้าใจและสามารถดูแลสุขภาพอนามัยทางเพศได้ตามวัย เช่น การดูแลรักษาอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ อนามัยการเจริญพันธุ์ การสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่างๆและความผิดปกติในลักษณะและหน้าที่ของอวัยวะเพศ การหลีกเลี่ยงอันตรายจากการชอกช้ำ บาดเจ็บ อักเสบ และติดเชื้อ รวมถึงการถูกล่วงเกินทางเพศ
6. สังคมและวัฒนธรรม (Society and culture) ค่านิยมในเรื่องเพศที่เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทย การให้เกียรติเพศตรงข้าม การรักนวลสงวนตัว ไม่ปล่อยใจให้เกิดเพศสัมพันธ์โดยง่าย การปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะจากสื่อที่ยั่วยุทางเพศต่างๆ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ
ในการสอนเพศศึกษาในนักเรียนดังกล่าว ได้กำหนดช่วงชั้นที่สอนออกเป็น 4 ระดับ ช่วงชั้นแรกตั้งแต่ ป.1-32 ช่วงชั้นที่2 ตั้งแต่ ป.4-6 3 ช่วงชั้นที่3 ตั้งแต่ ม.1-3 4 ช่วงชั้นที่ 4 ตั้งแต่ ม.4-65 โดยออกแบบให้เนื้อหาสอดคล้องกับการเรียนรู้ และแทรกลงไปในการเรียนของเด็ก ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนต้น ไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย

หลักการสอน
หลักการสอนเพศศึกษา มีดังต่อไปนี้6
1. สอนให้เด็กรับรู้ไปตามพัฒนาการทางเพศ และพัฒนาการทางจิตใจ เริ่มตั้งแต่เกิด แบ่งสอนตามวัยและความสามารถในการรับรู้ของเด็ก ผู้สอนต้องมีความรู้ว่าวัยใดควรให้ความสนใจเรื่องใด เช่น วัยอนุบาลควรให้ความสนใจกับการถ่ายทอดแบบอย่างทางเพศ พ่อแม่มีความสำคัญที่เด็กจะพัฒนาบทบาททางเพศตามเพศของตนเองอย่างถูกต้อง
2. ผู้สอนควรมีความรู้ทางเพศอย่างถูกต้อง ควรสนใจ หาความรู้หรือสอบถามจากผู้รู้ หนังสือ หรือสื่อที่มีคุณภาพดี การหาความรู้เรื่องนี้ทำให้พ่อแม่มีทัศนคติที่เป็นกลางกับเรื่องเพศ และรู้จักสื่อที่เหมาะสม ควรเลือกสื่อที่ง่าย ให้ความรู้ถูกต้อง เหมาะกับวัย ไม่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ พ่อแม่สามารถหาความรู้จากหนังสือ วีดิโอ ซีดี ฯลฯ ควรอ่านให้เข้าใจก่อน ถ้าจะนำไปสอน ควรวางแผนในใจว่าจะสอนอย่างไร ใช้คำพูดแบบใดจึงจะเหมาะสม คิดล่วงหน้าไว้ก่อนว่าเด็กอาจสงสัยเรื่องใด เพื่อเตรียมตอบคำถามง่ายๆของเด็กอยากรู้ บางครั้งอาจแนะนำให้เด็กเอาหนังสือไปอ่านก่อนล่วงหน้า แล้วค่อยมาพูดคุยกันตอนหลัง ให้เด็กเตรียมคำถามที่สงสัยมาคุยกัน คำถามใดที่ตอบไม่ได้ ให้บอกตรงๆว่าไม่รู้ แต่จะไปถามใครที่รู้มาบอกภายหลัง หรือให้เด็กลองค้นหาคำตอบด้วยตัวเองไปก่อนจากสื่อที่มีอยู่ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันกับพ่อแม่ในภายหลัง
3. การสอนเรื่องเพศควรคู่ขนานไปตามการเรียนรู้ปกติ ตามจังหวะ เวลา และสถานการณ์ที่เหมาะสม รู้จักใช้เหตุการณ์ที่เกิดในชีวิตประจำวันเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้ หรือกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ เช่นเหตุการณ์สุนัขที่บ้านคลอดลูก สามารถนำมาสอนเรื่องการตั้งครรภ์ และการคลอดลูกได้
4. สอนให้เหมาะกับความสนใจ ความอยากรู้ และความสามารถทางสติปัญญา ที่เด็กจะรับได้และเข้าใจได้ เด็กเล็กต้องมีวิธีบอก ใช้คำพูดง่ายๆ ให้สั้นๆ เข้าใจง่าย เป็นรูปธรรม มีตัวอย่างประกอบ ไม่ควรอธิบายยืดยาวจนเด็กสับสน เด็กโตสามารถอธิบายมากขึ้น ให้ความรู้ที่ซับซ้อนได้ พี่น้องอายุต่างกัน การอธิบายย่อมไม่เหมือนกัน เวลาสอนต้องสังเกตด้วยว่าเด็กเข้าใจหรือไม่ ถ้าสงสัยให้มีโอกาสถามทันที
5. สอนก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือก่อนเกิดปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามอายุและพัฒนาการ เช่น การสอนเรื่องประจำเดือนควรสอนในระดับประถมปลาย (ป. 5-6)ซึ่งเป็นวัยก่อนมีประจำเดือนเล็กน้อย การสอนการป้องกันตัวเองทางเพศควรสอนตั้งแต่เล็กและต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่น เนื่องจากทุกวัยอาจโดนละเมิดทางเพศได้ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน
6. ผู้สอนมีท่าทีและทัศนคติเป็นกลาง ผู้สอนไม่ควรรังเกียจหรืออายเวลาสอนเรื่องเพศ พยายามพูดด้วยท่าทีสงบ เป็นกลาง เตรียมคำพูดล่วงหน้า และฝึกฝนให้คล่องด้วยตนเอง ไม่แสดงความรู้สึกด้านลบ เมื่อเด็กแสดงความสนใจเรื่องเพศ ควรเปิดใจกว้าง คิดเสมอว่าความอยากรู้อยากเห็นและการแสดงออกทางเพศ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของวัยรุ่น การสอนให้เขารู้อย่างถูกต้องไม่มีผลเสีย ดีกว่าให้เขารู้เองจากแหล่งอื่นซึ่งมีโอกาสเรียนรู้แบบผิดๆ
7. ควรให้ความรู้อย่างถูกต้อง ไม่ควรบ่ายเบี่ยงหรือหลอกเด็ก หรือพูดให้เด็กเข้าใจผิด ถ้ารู้ว่าเด็กเข้าใจผิดควรรีบแก้ไขทันที เด็กอาจสับสนถ้าได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ครบ หรือข้อมูลขัดแย้งกัน
8. พ่อแม่ และ ครูช่วยกันสอนให้สอดคล้องกัน เมื่อไม่ทราบหรือไม่เข้าใจ ควรปรึกษาแพทย์

เป้าหมายของพัฒนาการทางเพศ
พัฒนาการทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการบุคลิกภาพ ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก มีความต่อเนื่องไปจนพัฒนาการเต็มที่ในวัยรุ่น หลังจากนั้น จะเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพที่ติดตัวตลอดชีวิต เมื่อสิ้นสุดวัยรุ่น จะเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งต่อไปนี้7
1. มีความรู้เรื่องเพศ ตามวัย และพัฒนาการทางเพศ ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยของร่างกาย และจิตใจสังคม ของทั้งตนเองและผู้อื่น เรียนรู้เรื่องของเพศตรงกันข้าม ความแตกต่างกันระหว่างเพศด้วย
2. มีเอกลักษณ์ทางเพศของตนเอง ได้แก่ การรับรู้เพศตนเอง(core gender) บทบาททางเพศและพฤติกรรมทางเพศ(gender role) มีความพึงพอใจทางเพศหรือความรู้สึกทางเพศต่อเพศตรงข้ามหรือต่อเพศเดียวกัน(sexual orientation) วัยรุ่นจะรู้ใจตนเองว่ามีความรู้สึกและความต้องการทางเพศแบบใด ชอบเพศเดียวกัน (homosexualism) หรือชอบเพศตรงข้าม (heterosexualism)
3. มีพฤติกรรมการรักษาสุขภาพทางเพศ (sexual health behaviors) ได้แก่ การรู้จักร่างกายและหน้าที่อวัยวะเพศของตนเอง ดูแลรักษาทำความสะอาด ป้องกันการบาดเจ็บ การติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศ การถูกล่วงเกินละเมิดทางเพศ การป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ (เพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ การทำแท้ง)
4. ทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่จะเป็นคู่ครอง การเลือกคู่ครอง การรักษาความสัมพันธ์นี้ให้ยาวนาน การแก้ไขปัญหาต่างๆในชีวิตร่วมกัน การสื่อสาร การมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่ครองอย่างมีความสุข การวางแผนชีวิตและครอบครัว
5. บทบาทในครอบครัว บทบาทและหน้าที่สำหรับการเป็นลูก การเป็นพี่-น้อง และสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว หน้าที่และความรับผิดชอบของการเป็นพ่อแม่ ตามกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมของสังคม
6. ทัศนคติทางเพศที่ถูกต้อง ภูมิใจพอใจในเพศของตนเอง ไม่รังเกียจหรือปิดบัง ปิดกั้นการเรียนรู้ทางเพศที่เหมาะสม รู้จักควบคุมพฤติกรรมทางเพศให้แสดงออกถูกต้อง ให้เกียรติผู้อื่น ไม่ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้อื่น ยับยั้งใจตนเองไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร

พัฒนาการทางเพศในวัยรุ่น
การเข้าใจพื้นฐานพัฒนาการทางเพศในวัยรุ่น จะช่วยให้ผู้สอน มีแนวทาง และกำหนดวัตถุประสงค์การสอน ให้สอดคล้องกับพัฒนาการทางเพศปกติ ดังนี้8
วัยรุ่นตอนต้น อายุ 12-18 ปี
เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจสังคมทางเพศอย่างมาก ได้แก่
พัฒนาการทางร่างกาย ( Physical development ) มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทั่วไป และการเปลี่ยนแปลงทางเพศ วัยนี้ มีการสร้างและหลั่งฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนของการเจริญเติบโตอย่างมากและรวดเร็ว ร่างกายเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แขนขายาวขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงอื่นประมาณ 2 ปี เพศหญิงมีไขมันมากกว่าชาย เพศชายมีกล้ามเนื้อมากกว่าทำให้แข็งแรงกว่า
การเปลี่ยนแปลงทางเพศ (sexual changes) ที่เห็นได้ชัดเจน คือวัยรุ่นชายจะเกิดนมขึ้นพาน(หัวนมโตขึ้นเล็กน้อย กดเจ็บ) เสียงแตก หนวดเคราขึ้น และเริ่มมีฝันเปียก (nocturnal ejaculation – การหลั่งน้ำอสุจิในขณะหลับ มักสัมพันธ์กับความฝันเรื่องเพศ) การเกิดฝันเปียกครั้งแรกเป็นสัญญาณวัยรุ่นของเพศชาย ส่วนวัยรุ่นหญิงจะเป็นสาวขึ้น คือ เต้านมมีขนาดโตขึ้น ไขมันที่เพิ่มขึ้นทำให้มีรูปร่างทรวดทรง สะโพกผายออก และเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก (menarche) การมีประจำเดือนครั้งแรก เป็นสัญญาณเข้าสู่วัยรุ่นในหญิง ทั้งสองเพศมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศที่ขนาดโตขึ้น และเปลี่ยนเป็นแบบผู้ใหญ่ มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ มีกลิ่นตัว มีสิวขึ้น
พัฒนาการทางจิตใจ (Psychological Development) วัยนี้สติปัญญาพัฒนาสูงขึ้น จนมีความคิดเป็นรูปธรรม ความสามารถเรียนรู้ เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ได้ลึกซึ้ง มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์สิ่งต่างๆได้มากขึ้นตามลำดับ สามารถคิดได้ดี คิดเป็น คิดรอบคอบได้หลายด้าน ทำให้สามารถตัดสินใจได้ ความสามารถทางสติปัญญาเพิ่มมากขึ้นจนเหมือนผู้ใหญ่ แต่ยังขาดประสบการณ์ ขาดความรอบคอบ มีความหุนหันพลันแล่น ขาดการยั้งคิดหรือไตร่ตรอง ทำอะไรวู่วามหรือทำตามอารมณ์ ตามความอยาก ตามสัญชาติญาณ หรือตามความต้องการทางเพศที่มีมากขึ้น พัฒนาการทางจิตใจช่วยให้วัยรุ่น มีการยั้งคิด ควบคุม และปรับตัว (adjustment) ต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีในเวลาต่อมา
เอกลักษณ์ (identity) วัยรุ่นเริ่มแสดงออกถึงสิ่งตนเองชอบ สิ่งที่ตนเองถนัด ซึ่งแสดงถึงความเป็นตัวตนของเขาที่โดดเด่น ได้แก่ วิชาที่เขาชอบเรียน กีฬาที่ชอบเล่น งานอดิเรก การใช้เวลาว่างให้เกิดความเพลิดเพลิน กลุ่มเพื่อนที่ชอบและสนิทสนมด้วย โดยเขาจะเลือกคบคนที่มีส่วนคล้ายคลึงกัน หรือเข้ากันได้ และเกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดแบบอย่างจากกลุ่มเพื่อนนี้เอง ทั้งแนวคิด ค่านิยม ระบบจริยธรรม การแสดงออกและการแก้ปัญหาในชีวิต จนสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของตน และกลายเป็นบุคลิกภาพนั่นเอง วัยนี้จะมีเอกลักษณ์ทางเพศ(sexual identity) ชัดเจนขึ้น ประกอบด้วย การรับรู้ว่าตนเองเป็นเพศใด (core gender identity) ซึ่งจะคงที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กอายุ 3 ปี พฤติกรรมที่แสดงออกทางเพศ (gender role) คือพฤติกรรมซึ่งเด็กแสดงออกให้ผู้อื่นเห็น ได้แก่ กิริยาท่าทาง คำพูด การแต่งกาย เหมาะสมและตรงกับเพศตนเอง และความรู้สึกพึงพอใจทางเพศ (sexual orientation) คือความรู้สึกทางเพศกับเพศใด ทำให้วัยรุ่นบอกได้ว่าตนเองมีความชอบทางเพศกับเพศเดียวกัน(homosexualism) กับเพศตรงข้าม (heterosexualism) หรือได้กับทั้งสองเพศ (bisexualism)
ความพึงพอใจทางเพศนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ทำได้ยาก วัยรุ่นจะรู้ด้วยตัวเองว่า ความพึงพอใจทางเพศของตนแบบนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะควบคุมได้เฉพาะการแสดงออกภายนอก ไม่ให้แสดงออกผิดเพศมากจนเป็นที่ล้อเลียนกลั่นแกล้งของเพื่อนๆ
วัยรุ่นต้องการเป็นที่ยอมรับจากผู้อื่น (acceptance) การยอมรับจากกลุ่มเพื่อน การได้รับการยอมรับนี้ช่วยให้จิตใจเกิดความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย เห็นคุณค่าของตนเอง มั่นใจตนเอง วัยนี้จึงมักอยากเด่นอยากดัง อยากให้มีคนรู้จักมากๆ อยากมีความสามารถพิเศษ อยากเป็นที่ชื่นชม ชื่นชอบของคนอื่นๆ บางครั้งวัยรุ่นต้องการเป็นที่ยอมรับชื่นชมจากผู้อื่นมากๆ โดยแสดงออกเป็นพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม เช่น การแต่งกายยั่วยวนทางเพศ เพื่อให้เป็นที่สนใจของเพศตรงข้าม วัยรุ่นที่เป็นรักร่วมเพศอาจแสดงออกผิดเพศมากขึ้น เพื่อให้เป็นที่สนใจและยอมรับ หรือเมื่อถูกกีดกันจากเพศเดียวกัน ก็อาจจับกลุ่มพวกที่แสดงออกผิดเพศเหมือนกัน เป็นการแสวงหากลุ่มที่ยอมรับ แต่ทำให้การแสดงออกผิดเพศมากขึ้น
ความภาคภูมิใจตนเอง (self esteem) เกิดจากการที่ตนเองเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและคนอื่น รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เป็นคนดีและมีประโยชน์แก่ผู้อื่น ทำอะไรได้สำเร็จ เกิดความรู้สึกพอใจตนเอง ภูมิใจตนเอง เมื่อถึงขั้นนี้ เวลาทำอะไรสำเร็จจะไม่จำเป็นต้องการการชื่นชมจากภายนอก เพราะเขาสามารถชื่นชมตนเองได้ การเปลี่ยนแปลงทางเพศในวัยนี้อาจทำให้เด็กรู้สึกภูมิใจในตนเอง จากการมีการเปลี่ยนแปลงทางเพศที่ทำให้เป็นที่สนใจของผู้อื่น ในทางตรงข้ามเด็กที่เปลี่ยนแปลงช้า หรือไม่มีลักษณะเด่นทางเพศอาจเสียความภูมิใจในตนเอง เสียความมั่นใจตนเอง (self confidence) วัยรุ่นบางคนไม่มีข้อดีข้อเด่นด้านใดเลย อาจแสดงออกทางเพศมากขึ้นเพื่อให้ตนเองรู้สึกภูมิใจ หรือบางคนมีแฟนเร็วหรือมีเพศสัมพันธ์เร็วเพราะเป็นวิธีที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีคนต้องการ มีคนทำดีด้วย วัยรุ่นที่มีปัญหาครอบครัวจึงมักมีพฤติกรรมทางเพศเร็ว การมีแฟน มีเพศสัมพันธ์ เพื่อชดเชยหรือทดแทนความรู้สึกเบื่อ เหงา ไร้ค่า แต่เมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้ว อาจไม่ได้รู้สึกตนเองมีคุณค่ามากขึ้น ก็แสวงหาเพศสัมพันธ์กับคนใหม่ บางคนใช้เรื่องเพศเป็นสะพานสู่ความต้องการทางวัตถุ ได้เงินตอบแทน หรือโอ้อวดเพื่อนๆว่าเป็นที่สนใจ มีพลังทางเพศมาก
ความเป็นตัวของตัวเอง (independent : autonomy) วัยนี้รักอิสระ เสรีภาพ ไม่ค่อยชอบอยู่ในกฎเกณฑ์กติกาใดๆ ชอบคิดเอง ทำเอง พึ่งตัวเอง เชื่อความคิดตนเอง มีปฏิกิริยาตอบโต้ผู้ใหญ่ที่บีบบังคับสูง ความอยากรู้อยากเห็นอยากลองมีสูงสุดในวัยนี้ ทำให้อาจเกิดพฤติกรรมเสี่ยงได้ง่าย ถ้าวัยรุ่นขาดการยั้งคิดที่ดี เมื่อมีความสนใจทางเพศ อาจมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่น แต่งกาย การเที่ยวกลางคืน ดื่มเหล้าหรือเสพยาเสพติด ทำให้เกิดเพศสัมพันธ์ตามมา การจัดขอบเขตในวัยรุ่นจึงต้องให้พอดี ถ้าห้ามมากเกินไป วัยรุ่นอาจแอบทำนอกสายตาผู้ใหญ่ แต่ถ้าปล่อยปละละเลยเกินไป วัยรุ่นจะขาดกรอบที่ใช้เป็นหลักในการควบคุมตนเอง การสอนการควบคุมตัวเองเรื่องเพศจึงต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดี ฝึกให้คิดด้วยตัวเอง เปิดโอกาสให้วัยรุ่นเรียนรู้ แต่อยู่ในขอบเขต
การควบคุมตนเอง (self control) วัยนี้เรียนรู้ที่จะควบคุมความคิด การรู้จักยั้งคิด การคิดให้เป็นระบบ เพื่อให้สามารถใช้ความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ แต่วัยรุ่นบางคนอาจขาดการควบคุมตนเอง เมื่อเกิดความรู้สึกทางเพศหรือความต้องการทางเพศ อาจนำมาซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศได้ วัยนี้ควรสอนให้ควบคุมตนเองโดยอยากควบคุมจากใจตนเอง ให้รู้ว่า ถ้าไม่ควบคุม จะเกิดข้อเสียอะไรบ้าง ถ้าควบคุมจะมีข้อดีอย่างไร การฝึกให้วัยรุ่นใช้สมองส่วนคิดมากขึ้นนี้ จะทำให้เกิดการคิดก่อนทำ ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ สมอง “ส่วนคิด” จะมาควบคุมสมอง “ส่วนอยาก” หรือควบคุมด้านอารมณ์ได้มากขึ้น อารมณ์เพศสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเองเช่นกัน
อารมณ์ (mood) อารมณ์จะปั่นป่วน เปลี่ยนแปลง หงุดหงิด เครียด โกรธ กังวล ง่าย อาจมีอารมณ์ซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุ อารมณ์ไม่ดีเหล่านี้อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว มีผลต่อการเรียนและการดำเนินชีวิต ในวัยรุ่นตอนต้น การควบคุมอารมณ์ยังไม่ค่อยดีนัก บางครั้งยังทำอะไรตามอารมณ์ตัวเอง แต่จะค่อยๆดีขึ้นเมื่อโตขึ้น วัยรุ่นจะสามารถจัดการกับความวิตกกังวล และอารมณ์ซึมเศร้าได้ ด้วยการเข้าใจ รู้อารมณ์ตัวเอง สงบอารมณ์ได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ปรึกษาหารือ กิจกรรมเบนความรู้สึก ฝึกสติสมาธิ หรือกิจกรรมผ่อนคลายตนเอง ฝึกปรับเปลี่ยนความคิด การแก้ปัญหา
วัยรุ่นบางคนอาจหันไปใช้กิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดหรือเพิ่มความสนุกสนานแต่เกิดปัญหาตามมา ได้แก่ การมีแฟน มีเพศสัมพันธ์ การใช้เหล้าและยาเสพติด แต่เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว และทำให้เกิดปัญหาแทรกทับซ้อนมากขึ้น จึงควรช่วยฝึกให้วัยรุ่นใช้วิธีแก้ไขปัญหาอารมณ์อย่างถูกต้อง
อารมณ์เพศเกิดขึ้นวัยนี้มาก ทำให้มีความสนใจเรื่องทางเพศ หรือมีพฤติกรรมทางเพศ เช่นการมีเพื่อนต่างเพศ การดูสื่อยั่วยุทางเพศรูปแบบต่าง การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในวัยนี้ แต่ควรให้มีแต่พอควร ไม่หมกมุ่นหรือปล่อยให้มีสิ่งแวดล้อมกระตุ้นทางเพศมากเกินไป วัยนี้อาจแสดงพฤติกรรมทางเพศบางอย่างอาจเป็นปัญหา เช่น เบี่ยงเบนทางเพศ กามวิปริต หรือการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น การฝึกให้วัยรุ่นเข้าใจ ยอมรับ และจัดการอารมณ์เพศอย่างถูกต้องดีกว่าปล่อยให้วัยรุ่นเรียนรู้เอง
จริยธรรม (moral development) วัยนี้สามารถพัฒนาให้มีจริยธรรม แยกแยะความผิดชอบชั่วดีได้ เริ่มมีระบบมโนธรรมของตนเอง ต้องการความถูกต้อง ความชอบธรรมในสังคม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ต้องการเป็นคนดี เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น และบางคนอาจรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับความไม่ถูกต้องในสังคม หรือในบ้าน แม้แต่พ่อแม่ของตนเองเขาก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป เมื่อรู้ว่าอะไรผิดถูก วัยรุ่นตอนต้นจะเริ่มมีการควบคุมตนเอง ในระยะแรกอาจยังไม่ดีนัก แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลาย การควบคุมตนเองจะดีขึ้น จนเป็นระบบจริยธรรมที่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่ คือรู้ว่าอะไรไม่ควรทำ และสามารถควบคุมตนเองได้ด้วย จริยธรรมวัยนี้เกิดจากการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับคนใกล้ชิด คือพ่อแม่ ครู และเพื่อน การมีแบบอย่างที่ดี จะช่วยให้วัยรุ่นมีจริยธรรมที่ดีด้วย เพื่อนมีอิทธิพลสูงในการสร้างทัศนคติค่านิยมและจริยธรรม ถ้าเพื่อนไม่ดี อาจชักจูงให้เด็กขาดระบบจริยธรรมที่ถูกต้อง โดยเฉพาะจริยธรรมทางเพศ วัยรุ่นที่อยู่ในกลุ่มที่เห็นว่า การมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องปกติ จะมีเพศสัมพันธ์สูงกว่าวัยรุ่นทั่วไปอื่นๆ
จริยธรรมทางเพศในวัยรุ่นนี้ ควรให้เกิดความเข้าใจต่อเพศตรงข้าม ให้เกียรติ และยับยั้งใจทางเพศ ไม่ละเมิดทางเพศหรือล่วงเกินผู้อื่น
พัฒนาการทางสังคม (social development) วัยนี้จะเริ่มห่างจากทางบ้าน ไม่ค่อยสนิทสนมคลุกคลีกับพ่อแม่พี่น้องเหมือนเดิม แต่สนใจเพื่อนมากกว่า ใช้เวลากับเพื่อนนานๆ มีกิจกรรมนอกบ้านมาก ไม่อยากไปไหนกับทางบ้าน และเริ่มมีความสนใจเพศตรงข้าม สนใจสังคมสิ่งแวดล้อม ปรับตัวเองให้เข้ากับกฎเกณฑ์กติกาของกลุ่ม ของสังคมได้ดีขึ้น มีความสามารถในทักษะสังคม (social skills and life skills) การสื่อสารเจรจา การแก้ปัญหา การประนีประนอม การยืดหยุ่นโอนอ่อนผ่อนตามกัน และการทำงานร่วมกับผู้อื่น พัฒนาการทางสังคมที่ดีจะเป็นพื้นฐานมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และบุคลิกภาพที่ดี สร้างความสัมพันธ์กับคนที่พึงพอใจทางเพศ และรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาวจนตกลงร่วมเป็นคู่ครอง และสร้างครอบครัวให้ยืนยาวต่อไปได้
การเรียนรู้ทางสังคมนี้ นอกจากแบบอย่างของชีวิตครอบครัวพ่อแม่แล้ว สภาพสังคม วัฒนธรรมเป็นแบบอย่างให้ดำเนินรอยตามด้วย

เป้าหมายในการสอนเพศศึกษาในวัยรุ่น
การสอนเรื่องเพศในวัยรุ่น9 ควรกำหนดเป้าหมายเป็น 2 ช่วงอายุ ดังนี้
วัยรุ่นตอนต้น(12-15 ปี)
วัยนี้เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น พฤติกรรมทางเพศเห็นมากขึ้นและชัดเจนขึ้น เนื่องจากเด็กเริ่มมีความรู้สึกทางเพศ และความสนใจทางเพศ จากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศ วัยนี้ต้องการความรู้เรื่องเพศที่แตกต่างกันระหว่างวัยรุ่นตอนต้นและตอนปลาย และมักแสวงหาจากแหล่งที่ไม่เหมาะสม เช่น ตามหนังสือหรือ เว็บไซต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่เป็นสื่อที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางเพศ หรือเป็นเพศวิปริต ทำให้วัยรุ่นเรียนรู้ไม่ถูกต้อง หรือหมกมุ่นเรื่องเพศมากเกินไป วัยนี้ควรมีเวลาพูดคุยให้ความรู้ และเปิดโอกาสให้วัยรุ่นซักถามข้อสงสัยเรื่องเพศ
ในโรงเรียน ควรมีกิจกรรมที่สอนเรื่องเพศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในวัยรุ่น และการจัดการกับอารมณ์เพศตนเอง ควรสอนบทบาททางเพศที่เหมาะสม ตามขนบธรรมเนียมประเพณีด้วย
1. พัฒนาการทางเพศ วัยนี้ควรสอนให้เด็กเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ อิทธิพลของฮอร์โมนส์ที่มีต่อร่างกายและจิตใจ การเกิดประจำเดือน ฝันเปียก อารมณ์เพศ ความรู้สึกและความต้องการทางเพศ สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางเพศ ปฏิกิริยาตอบสนองทางเพศเมื่อมีอารมณ์เพศ ได้แก่ การแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย และการมีสิ่งหล่อลื่นออกมาในช่องคลอดหญิง
วัยนี้เริ่มรู้ตัวว่าตนเองมีความรู้สึกทางเพศกับเพศเดียวกัน หรือกับเพศตรงข้าม เรียกว่า ความพึงพอใจทางเพศ(sexual orientation) ถ้าชอบเพศตรงข้ามเรียกว่า รักต่างเพศ(heterosexuality) ถ้าชอบเพศเดียวกันเรียกกว่า รักร่วมเพศ(homosexuality) ในกลุ่มรักร่วมเพศยังแบ่งออกเป็น รักร่วมเพศชาย(gay) และรักร่วมเพศหญิง(lesbian)
ในเด็กผู้หญิงควรสอนการดูแลเรื่องประจำเดือน การปวดประจำเดือน การจัดการกับอารมณ์ที่แปรปรวนก่อนมีประจำเดือน ประจำเดือนที่ไม่สม่ำเสมอ
2. สัมพันธภาพ วัยนี้ควรสอนให้มีเพื่อนต่างเพศ ทักษะสังคมในการคบเพื่อนต่างเพศ การแสดงออกอย่างเหมาะสมเมื่อสนใจเพศตรงข้าม ใช้เวลาโดยไม่รบกวนหน้าที่ประจำของตนเอง ไม่ให้ความสัมพันธ์มากระทบการใช้เวลาในการเรียน หรือความรับผิดชอบอื่นๆ ยังไม่ควรคบใครแบบแฟน แต่ใช้ความสัมพันธ์แบบเพื่อนเพื่อเรียนรู้นิสัยใจคอ และการปรับตัวเข้าหากัน การระมัดระวังในการใกล้ชิดกัน ความแตกต่างระหว่างความรู้สึกของหญิงชายเวลาใกล้ชิดกัน เพศชายมีแนวโน้มจะเกิดความรู้สึกทางเพศรุนแรงและอยากมีเพศสัมพันธ์ ในขณะที่ฝ่ายหญิงรู้สึกอบอุ่นใจ ไม่ได้อยากมีเพศสัมพันธ์มากเท่า การใกล้ชิดกันทำให้มีโอกาสเกิดเพศสัมพันธ์ได้ง่าย
3. ทักษะส่วนบุคคล ทักษะในการสื่อสารเจรจา การสร้างความสัมพันธ์และรักษาความสัมพันธ์ให้ยาวนาน การควบคุมตนเอง ควบคุมอารมณ์ จัดการกับอารมณ์และความต้องการทางเพศ
4. พฤติกรรมทางเพศ ทัศนคติและบทบาททางเพศ ควรได้รับการปลูกฝังให้เป็นกลาง สามารถสนใจและศึกษาเรื่องเพศได้ในกรอบที่พอเหมาะ ทัศนคติถูกต้องต่อการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ไม่รู้สึกผิดบาปที่ทำ แต่ควบคุมให้มีพอสมควรไม่หมกมุ่นจนเกินไป มีการแต่งกายที่เหมาะสม ถูกต้องตามเพศ มีความความสนใจเพศตรงข้ามได้แต่แสดงออกถูกต้อง ไม่ละเมิดหรือฉวยโอกาสทางเพศต่อผู้อื่น
5. สุขอนามัยทางเพศ ได้แก่ การรักษาความสะอาดเวลามีประจำเดือน การทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกต้อง เมื่อมีอารมณ์เพศ มีการจัดการกับอารมณ์เพศอย่างถูกต้อง ทางออกทางเพศ(sexual outlet) ได้แก่ การระบายด้วยการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน ไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์กับหญิงบริการทางเพศ นอกจากนี้ยังมีวิธีการระบายอารมณ์เพศด้วยวิธีอื่น ได้แก่ การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา กิจกรรมกลุ่ม งานอดิเรก การป้องกันการหมกมุ่นทางเพศมากเกินไป โดยการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการอยู่ตามลำพัง อยู่คนเดียว หรืออยู่กับเพื่อนต่างเพศตามลำพัง หลีกเลี่ยงเหล้าและยาเสพติด หลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยงต่างๆ เก็บสิ่งกระตุ้นยั่วยุทางเพศ เช่น รูปภาพ ปฏิทินที่มีรูปกระตุ้นทางเพศ
6. สังคมและวัฒนธรรม ความเสี่ยงทางเพศ ควรให้เด็กมีพฤติกรรมเหมาะสมกับสังคมประเพณี เช่น การแต่งกาย ไม่ควรยั่วยวนทางเพศ ควรให้ถูกต้องตามเพศตนเอง ไม่ส่งเสริมให้เด็กแต่งกาย หรือมีกิริยาท่าทางผิดเพศ แม้ว่าเด็กจะเริ่มรู้ตนองว่าเป็นรักร่วมเพศ ก็ไม่ควรให้แสดงออกมากจนคนอื่นๆเห็นชัดเกินไป จนอาจถูกล้อเลียน

วัยรุ่นตอนปลาย (15-18 ปี)
วัยนี้โตพอที่จะเรียนรู้เรื่องเพศได้ด้วยตนเอง ผู้ใหญ่ควรมีคำแนะนำในการหาความรู้เรื่องเพศ โดยการมีสื่อที่ถูกต้อง เช่น หนังสือ เทปโทรทัศน์ หรือเว็บไซต์ที่ให้ความรู้อย่างมีคุณภาพ ให้วัยรุ่นได้ศึกษาได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ควรมีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสำรวจว่าวัยรุ่นเรียนรู้อย่างถูกต้องหรือไม่ หรือเปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้ซักถามในเรื่องเพศเป็นครั้งคราว
ในโรงเรียน การสอนเรื่องเพศในชั้น หรือเป็นกลุ่ม จะช่วยให้วัยรุ่นปรับทัศนคติทางเพศได้ถูกต้องขึ้น เช่น การให้เกียรติกันทางเพศ การไม่มีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น เป็นต้น
สิ่งที่สอนในวัยรุ่นตอนปลายนี้ ควรช่วยเขาสามารถมีชีวิตครอบครัวได้อย่างมีความสุข ป้องกันความเสี่ยงต่างๆทางเพศได้ การสอนค่อยเพิ่มมากขึ้นตามสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมของวัยรุ่น ดังนี้
1. พัฒนาการทางเพศ วัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจและสังคมเต็มที่ บอกผู้อื่นได้ชัดเจนว่า ตนเองมีความพึงพอใจทางเพศกับเพศเดียวกัน หรือเพศตรงข้าม หรือ ทั้งสองเพศ มีเอกลักษณ์ทางเพศแน่นอน ชัดเจน และพึงพอใจต่อเอกลักษณ์นี้ วัยนี้อาจเรียนรู้เรื่องเพศมาไม่ถูกต้องจากเพื่อนๆ หรือสื่ออื่นๆ จึงควรหาโอกาสพูดคุยกับวัยรุ่น เพื่อสอบถามความรู้ ความเชื่อ หรือทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง และแก้ไขให้ถูกต้อง วัยนี้ควรยอมรับเอกลักษณ์ทางเพศของตน
2. สัมพันธภาพ วัยนี้เริ่มสนใจทางเพศอย่างจริงจัง ต้องการมีแฟน ควรสอนให้รู้จักการเลือกแฟน การคบแบบแฟน การสังเกตนิสัยใจคอ ความเข้ากันได้ทั้งร่างกาย จิตใจอารมณ์ แยกแยะข้อดีข้อเสียของตนเองและแฟนได้ มีทักษะในการปรับตัวเข้าหากัน เมื่อพบว่าไม่เหมาะสมกัน ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ก่อนที่ความสัมพันธ์จะลึกซึ้งยาวนานเกิดไป จนอาจเลิกคบกันไม่ได้ ควรสอนเรื่องชีวิตครอบครัว การเลือกคู่ครอง การแต่งงาน และปรับตัวในชีวิตสมรส
3. ทักษะส่วนบุคคล มีทักษะในการปรับตัว สื่อสารบอกความต้องการตนเอง ให้สามารถตอบสนองความต้องการของกันและกันได้อย่างสมดุล มีการปรับเปลี่ยนตนเองแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองบ้าง เพื่อให้พึงพอใจด้วยกัน มีทักษะในการดำเนินชีวิตร่วมกัน วางแผนอนาคต ควบคุมตนเองให้รับผิดชอบต่อครอบครัว ทำหน้าที่สามี ภรรยา พ่อและแม่ที่ดี การรับผิดชอบต่อครอบครัวต้องทำอย่างไร การเลี้ยงลูกที่ดีทำได้อย่างไร
4. พฤติกรรมทางเพศ ควรสอนวิธีปฏิเสธเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ควรสอนเรื่อง การเตรียมตัวก่อนการแต่งงาน การตรวจทางร่างกายละโรคหรือภาวะที่จำเป็นก่อนแต่งงาน เรื่องการตอบสนองทางเพศปกติ (normal sexual response) การมีเพศสัมพันธ์อย่างมีความสุข ในกรณีที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน หรือเพศสัมพันธ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ การทำความสะอาดอวัยวะเพศหลังเพศสัมพันธ์ ผลที่จะเกิดจากเพศสัมพันธ์ การวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด
5. สุขอนามัยทางเพศ ควรสอนการเปลี่ยนแปลงทางเพศที่จะเกิดในขณะตั้งครรภ์ เพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดบุตรและการดูแลหลังการคลอดบุตร การคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราวและถาวร การทำหมันและการเลี้ยงดูบุตร การวางแผนครอบครัว การแท้งบุตร ความผิดปกติทางเพศเช่น รักร่วมเพศโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
6. สังคมและวัฒนธรรม ควรสอนให้ยับยั้งใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนสมรส การซื่อสัตย์ต่อคู่ครองตนเอง บทบาทที่ดีของพ่อแม่ เป็นอย่างไร การแสดงออกทางเพศให้เหมาะสมอยู่ในประเพณีที่ดี และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ เช่น การแต่งงานทำได้ในอายุใด การทำผิดทางเพศมีโทษอย่างไรบ้าง

เทคนิควิธีการสอนเรื่องเพศแบบกลุ่ม
การสอนเรื่องเพศในห้องเรียน สามารถทำได้ โดยการจัดกิจกรรม คาบละ 50 นาที โดยใช้เทคนิคกลุ่ม ให้นักเรียนมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น และสรุปการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ครูเป็นผู้ช่วยกระตุ้นให้ นักเรียนมีส่วนร่วม ครูชมพฤติกรรมที่ดี เสริมเนื้อหาให้ครบ และสรุปการเรียนรู้
กิจกรรมควรจัดต่อเนื่อง ทุกสัปดาห์ ประมาณ 8-12 ครั้ง ต่อเทอม หรือจัด ตลอดปี 12-24 ครั้ง
ควรเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-2 เป็นต้นไป

กิจกรรม 1 อยากรู้อะไรบ้าง
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอ ข่าวหนังสือพิมพ์ เทปวีดิทัศน์ หรือ วิดีโอคลิป ในเรื่องปัญหาทางเพศ ถามนักเรียนว่า มีความคิดอย่างไร 10 นาที
2. ครู แบ่งนักเรียน เป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มละ ไม่เกิน 5 คน ให้ทุกกลุ่มระดมสมองว่า ในกลุ่มต้องการเรียนรู้เรื่องใดบ้างที่เกี่ยวกับเพศ ให้ได้มากที่สุด เสร็จแล้วให้นำเสนอทีละกลุ่ม 30 นาที
3. ครูสรุปเรื่องที่ต้องการร่วมกัน เขียนบนกระดานดำ 5 นาที
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที
ครูนำผลการนำเสนอมากำหนดหัวข้อกิจกรรมโดยรวม จำนวน 8-12 ครั้ง (แล้วแต่เวลา)

กิจกรรม 2 ประจำเดือน คืออะไร
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอ ปัญหาที่วัยรุ่นเขียนถามในคอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศ จากหนังสือพิมพ์ ถามนักเรียนว่า มีความคิดอย่างไร ใครเคยมีปัญหานี้บ้าง 10 นาที
2. ครู แบ่งนักเรียน เป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มละ ไม่เกิน 5 คน ให้ทุกกลุ่มระดมสมองว่า ในกลุ่มอยากรู้เรื่องใดบ้างที่เกี่ยวกับประจำเดือน หรือปัญหาที่เคยเจอ ให้ได้มากที่สุด เสร็จแล้วให้นำเสนอทีละกลุ่ม หลังการนำเสนอของแต่ละกลุ่ม ให้ช่วยกันแสดงความคิดเกี่ยวกับการช่วยเหลือเวลามีปัญหา เช่น อาการปวดประจำเดือน การเลื่อนประจำเดือน 30 นาที
3. ครูอธิบาย เรื่องประจำเดือน การดูแล 5 นาที
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที
หมายเหตุ ถ้าเป็นสหศึกษา อาจให้แยกกลุ่มชาย-หญิง ในกลุ่มชาย ให้ระดมสมอง เกี่ยวกับ ความอยากรู้เกี่ยวกับประจำเดือน

กิจกรรม 3 อารมณ์ทางเพศ มาจากไหน
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอ ข่าวหนังสือพิมพ์ คลิปวีดิทัศน์ ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (หรือการทำแท้ง) ถามนักเรียนว่า ปัญหานี้เกิดจากสาเหตุใด 5 นาที
ครูสรุปประเด็น อารมณ์เพศในวัยรุ่นอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ (หรือการทำแท้ง)
2. ครู แบ่งนักเรียน เป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มละ ไม่เกิน 5 คน ให้ทุกกลุ่มระดมสมองว่า เมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศ จะจัดการอย่างไร เสร็จแล้วให้นำเสนอทีละกลุ่ม 30 นาที
3. ครูสรุปเรื่องที่ต้องการร่วมกัน เขียนบนกระดานดำ 10 นาที
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 4 เพศหญิง-ชาย แตกต่างกันอย่างไร

1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอรูป จินตนาการทางเพศของชายและหญิงที่แตกต่างกันเมื่ออยู่ใกล้ชิดกัน นักเรียนคิดอย่างไร 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก คำถาม ท่านเห็นด้วยหรือไม่ “เกิดเป็นชายแท้จริงแสนลำบาก เกิดเป็นหญิงนั้นยากกว่าหลายเท่า” เพราะอะไร แบ่งกลุ่ม ให้เลือกว่าจะเป็นหญิง หรือชาย 30 นาที
3. สรุปข้อจำกัดของทั้งสองเพศ บทบาททางเพศ เข้าใจความแตกต่างของสองเพศ ให้รู้สึกดีต่อเพศตนเอง ระมัดระวังตนเอง ป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น 10 นาที
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 5 แฟน เลือกอย่างไร
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอภาพข่าวดารา “เตียงหัก” ถามนักเรียนว่า เกิดจากอะไร ครูสรุปประเด็นนำสู่กิจกรรมหลัก ว่าการเลือกแฟนหรือคู่ครองเป็นเรื่องสำคัญ นักเรียนมีหลักในการเลือกคู่ครองอย่างไร 5 นาที
2. จับคู่ แลกเปลี่ยนกันเปิดเผยว่า เลือกแฟนอย่างไร 30 นาที
3. ครูให้นักเรียนแสดงความเห็นเป็นคู่ สรุปประเด็น 5 นาที
4. ครูสรุปปัจจัยบวก ที่ได้จากนักเรียน อาจให้ลองเรียงลำดับความสำคัญ 5 นาที
1. บุคลิกภาพดี ใจดี มีเมตตา รับฟัง อารมณ์เย็น สนุก ช่วยเหลือ
2. ครอบครัวดี พ่อแม่พี่น้องดี ไม่มีโรคในกรรมพันธุ์ ไม่มีประวัติทำผิดกฎหมาย
3. ฐานะดี
4. สุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีโรคทางจิตเวช เรียนดี มีอาชีพดี มั่นคง
5. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 6 ก่อนแต่งงาน ควรคบกันนานเท่าใด
1. กิจกรรมนำ ข่าวหนังสือพิมพ์นักร้องชื่อดังแยกทางกับสามี หลังจากแต่งงานกันมา 7 ปี 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก แบ่งกลุ่มย่อยกลุ่มละ 3 คน ปรึกษากันว่าควรคบกันนานเท่าไรจึงจะแต่งงานกัน ถามและแสดงความเห็น 30 นาที
3. ครูสรุป ประเด็นสำคัญถามและแสดงความเห็น 10 นาที
1. รู้จักสั้น ปกปิดตนเอง ไม่แสดงข้อเสีย คบกันยาวได้เห็นธาตุแท้
2. เวลาที่จะเห็นตัวตนจริง 1-2 ปี
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 7 เพศสัมพันธ์ ก่อนแต่งงาน ข้อดีข้อเสีย
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอข่าว “ท้องก่อนแต่ง” ถามความเห็นนักเรียน 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก โต้วาที ประเด็น “เพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ประโยชน์มีมากกว่า” 30 นาที
3. ครูสรุปการเรียนรู้ ข้อควรระวังสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน 10 นาที
4. ประเด็นชวนคิด
1. การเป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ สังคม
2. การตั้งครรภ์
3. ทัศนคติของฝ่ายชายที่อาจเปลี่ยนแปลง
4. การยอมรับผล ถ้าไม่ได้ลงเอยด้วยการแต่งงานกัน
5. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 8 ทอมดี้ ตุ๊ดแต๋ว ใครเป็นบ้าง
1. กิจกรรมนำ ข่าวการแต่งงาน ระหว่างทอมกับดี้ จากหนังสือพิมพ์ 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก ระดมสมองในกลุ่มย่อย 5 คน ถ้าเพื่อนฉันเป็นแบบนี้ ฉันจะช่วยเหลือเขาอย่างไร 5 นาที
3. ครูเสนอประเด็นชวนคิด เกย์ และ ทอม-ดี้ คืออะไร รู้ได้อย่างไรว่าเป็น จัดเป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่ รักษาได้หรือไม่ จะเปลี่ยนแปลงเพื่อนอย่างไร ขอเชิญฟังจากจิตแพทย์ 30 นาที
4. เชิญจิตแพทย์บรรยายเรื่อง พฤติกรรมผิดเพศ (homosexualism, transsexualism)
5. สรุปการเรียนรู้ 5 นาที
1. รักร่วมเพศ ไม่ใช่โรคทางจิตเวช
2. ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
3. การปรับตัวในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ
4. เพื่อนควรเข้าใจ และช่วยเหลือ ยอมรับ ไม่รังเกียจ
5. ไม่ส่งเสริมให้แสดงออกมากเกินไปในบางสังคม
6. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 9 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ป้องกันอย่างไร
1. กิจกรรมนำ ภาพรูปติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถามนักเรียนว่ารู้สึกอย่างไร 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก บรรยาย หรือฉายวีดิโอ เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จบแล้ว ถามนักเรียนว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้าง 30 นาที
3. ครูสรุป 10 นาที
1. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง เน้นโรคเอดส์
2. การป้องกัน หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีความเสี่ยง การใช้ถุงยางอนามัย
3. ครูสาธิตการใช้ถุงยางอนามัย
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 10 การแต่งงาน คืออะไร
1. กิจกรรมนำ ก่อนเรียน 1 วัน ให้คำถามกลับไปถามพ่อแม่ว่า การแต่งงาน คืออะไร พ่อแม่แต่งงานกันอย่างไร
2. กิจกรรมหลัก ให้นักเรียนส่งการบ้าน เลือกตัวอย่างที่น่าสนใจ นำเสนอในชั้น แล้วขอความเห็นนักเรียน เสนอปัญหาในกลุ่มว่า ก่อนแต่งงาน เตรียมตัวอะไร 5 นาที
3. แบ่งกลุ่ม 5 คน ระดมสมอง “ก่อนแต่งงาน เตรียมตัวอะไร” 30 นาที หรือ ครูเชิญสูติแพทย์ บรรยายเรื่อง การเตรียมตัวก่อนแต่งงาน 35 นาที
4. ครูสรุปการเรียนรู้ การเตรียมตัวก่อนแต่งงาน 5 นาที
1. การเตรียมทางร่างกาย ตรวจโรค
2. การเตรียมทางจิตใจ
3. การวางแผนครอบครัว
5. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 11 บทบาทสามี-ภรรยา
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอพฤติกรรมที่ไม่ธรรมดาของเพศชายหญิง เช่น ชายทำงานบ้าน หญิงเป็นทหาร ถามนักเรียนว่ามีความเห็นอย่างไร 5 นาที
2. แบ่งกลุ่มคละเพศ 5-6 คนต่อกลุ่ม ช่วยกันคิดว่า หลังจากแต่งงานกัน บทบาทของสามี-ภรรยา จะมีอะไรบ้าง 30 นาที
3. ครูสรุป บทบาท สามีภรรยา 10 นาที
1. การทำงาน
2. การสร้างครอบครัว
3. การมีบุตร เพื่ออะไร
4. วางแผนครอบครัวอย่างไร
5. เป้าหมายของครอบครัวคืออะไร
6. ให้ชาย-หญิง เข้าใจบทบาทกัน ช่วยเหลือกัน
4.ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 12 มีลูกตอนไหนดี
กิจกรรมต่อจากครั้งที่ 11
1. กิจกรรมหลัก เชิญดารา นักร้อง ศิษย์เก่าของโรงเรียนมาแสดงความคิดเห็น แบบ Panel discussion ในประเด็น การวางแผนมีลูก 40 นาที
2. สรุปการเรียนรู้ 5 นาที
1. ควรวางแผนล่วงหน้า จะมีลูกกี่คน แต่ละคนห่างกันกี่ปี ชายหญิงกี่คน
2. ใครเป็นคนเลี้ยงลูก
3. หลักการทั่วไป
1. ไม่ควรตั้งครรภ์หลัง อายุ 30 ปี
2. ลูกแต่ละคนห่างกัน 2-3 ปี
3. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 13 คุมกำเนิด ทำอย่างไร
1. กิจกรรมนำ ข่าววัยรุ่นเสียชีวิตจากการทำแท้ง 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก ให้นักเรียนช่วยกันหาแนวทางป้องกัน สรุปที่การคุมกำเนิด ครูหรือสูติแพทย์บรรยายเรื่อง “การคุมกำเนิด” 30 นาที
3. สรุปการเรียนรู้ 10 นาที
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

คำแนะนำสำหรับการจัดกิจกรรมแบบกลุ่ม
1. ครูใช้วิธีการหลากหลาย เช่น กิจกรรมกลุ่ม บรรยายสั้นสลับกิจกรรมกลุ่ม โต้วาที ชมภาพยนตร์สั้นแล้ว ให้สรุปการเรียนรู้ ชมวีดิโอคลิปแล้วสนทนากลุ่ม ระดมสมอง Buzz Group เพื่อนสอนเพื่อน Four Station Technic, Coffee Shop Technic, เพื่อนสอนเพื่อน, โครงงาน(Project), พี่สอนน้อง, แสดงละคร, เกม, สถานการณ์สมมติ
2. กิจกรรมหรือการบรรยายบางเรื่อง อาจหาวิทยากรภายนอกที่น่าสนใจ เช่น
• เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในวัยรุ่น ประจำเดือน อาจเชิญวิทยากรเฉพาะ เช่น สูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์
• เรื่อง เกี่ยวกับรักร่วมเพศ (homosexualism, gay, lesbianism, transsexualism) อาจเชิญจิตแพทย์
• เรื่องการวางตัวทางเพศ บทบาททางเพศที่เหมาะสมอาจเชิญอาจารย์ที่สอนเรื่องเพศศึกษาเก่งๆจากโรงเรียนอื่น หรือรุ่นพี่ หรือ ดารา นักแสดงที่เป็นแบบอย่างที่ดี
3. กิจกรรมควรใช้วิธีให้นักเรียนมีส่วนร่วม (participatory learning) ให้นักเรียน ได้มีบทบาท ได้แสดงออก เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตัวเองและจากเพื่อนด้วยกัน ในตอนท้ายกิจกรรมให้นักเรียนสรุปการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
4. ครูส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ด้วยการ กระตุ้นให้แสดงออกและมีส่วนร่วมให้มากที่สุด เชิญคนที่เงียบๆไม่กล้าแสดงออกให้พูดคุย สร้างบรรยากาศสนุก เป็นกันเอง ผ่อนคลาย ยอมรับ ชมพฤติกรรมที่ดี เช่น กล้าแสดงออก มีเหตุผล คิดถึงใจคนอื่น ยอมรับเพื่อน ให้อภัย ครูคอยช่วยเสริมส่วนส่วนที่ยังไม่ครบ ในตอนท้ายเท่านั้น หลีกเลี่ยงการสอนมากเกินไป แนะนำมากไป หรือ บังคับข่มขู่ ก่อนจบกิจกรรมทุกครั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนซักถาม สรุปประเด็นเรียนรู้
5. ขั้นตอนการจัดกิจกรรม แบ่งเวลากิจกรรมเป็น 5 ขั้น ดังนี้
• ขั้นที่ 1 เกริ่นนำ บอกเป้าหมาย การเรียนรู้ ในครั้งนี้ ต้องการให้เกิดการเรียนรู้อะไร บทบาทนักเรียนจะทำอะไรบ้าง ครูคาดหวังอะไร สั้นๆ ประมาณ ไม่เกิน 2 นาที
• ขั้นที่ 2 กิจกรรมนำเข้าสู่การเรียน เพื่อให้สนใจ เกิดความตระหนัก ควรน่าสนใจ ตื่นเต้น เช่น แบบสอบถาม ข่าวหนังสือพิมพ์ ละครทีวี ภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่ เกมสั้นๆ หรือ คำถาม โดยเลือกกิจกรรมนำนี้ให้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหรือเป้าหมายหลัก ประมาณ 5 นาที
• ขั้นที่ 3 กิจกรรมหลัก ให้นักเรียนมีส่วนร่วม ควรสนุก เกิดความคิด มีการแสดงออกให้ทั่วถึง ครูช่วยกระตุ้นคนที่ไม่ค่อยพูด การสอนในชั้นขนาด 40-50 คน ควรแบ่งเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ5-7 คน เพื่อให้มีโอกาสแสดงออกและมีส่วนร่วมทั่งถึง ครูควรเข้าไปกระตุ้นในแต่ละกลุ่มย่อยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ อาจหาผู้ช่วยครู เช่นรุ่นพี่ หรืออาจารย์ช่วยสอน (teacher assistant : TA) ประจำกลุ่มย่อย ใช้ใบงาน แผ่นสรุปงาน เพื่อให้สรุปผลงานและวัดผลงานของแต่ละกลุ่ม 15-30 นาที
• ขั้นที่ 4 สรุปการเรียนรู้ ให้นักเรียนช่วยกันสรุปว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้าง มีประโยชน์อย่างไร สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงอย่างไร ครูช่วยเพิ่มเติมให้ครบตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และชมพฤติกรรมที่ดีของนักเรียนที่แสดงออกในกลุ่ม เช่น การเป็นผู้นำผู้ตามที่ดี การแสดงความเห็น การรับฟังผู้อื่น 10 นาที
• ขั้นที่ 5 คำถามและข้อคิด 3 นาที
6. การประเมินผล โดยการสังเกตพฤติกรรมในขณะร่วมกิจกรรม(การมีส่วนร่วม แสดงออก) ความสม่ำเสมอของการร่วมกิจกรรม แบบสอบถามความพึงพอใจ และพฤติกรรมของนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงดีขึ้นหลังกิจกรรม

ตัวอย่างกิจกรรม
1. สถานการณ์สมมติ การใช้สถานการณ์สมมติ เป็นสถานการณ์ที่ตั้งขึ้น เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์วิธีการแก้ปัญหา หรือแสดงทักษะบางประการ
หัวข้อสถานการณ์สมมติ ได้แก่ การเลือกแฟน การป้องกันปัญหาเวลาอยู่ใกล้ชิดกับเพศตรงข้าม เหื่อป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงเพศสัมพันธ์
วิธีการใช้สถานการณ์สมมติ
1. กำหนดใบงานของสถานการณ์สมมติ และแสดงความคิดเห็นเป็นกลุ่มย่อย
2. กำหนดบทบาท และให้แสดงบทบาทสมมติ (role playing)
การจัดประสบการณ์เรียนรู้
ตัวอย่างสถานการณ์สมมติ
สถานการณ์สมมติ 1
เกด กับ ชิต เป็นแฟนกันมา 3 เดือน ในวันลอยกระทง ชิตพาเกดไปเที่ยวจนดึกกลับบ้านไม่ได้ ชิตเลยชวนเกดไปนอนค้างที่บ้านของตน
ในคืนนั้นเอง ชิตขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย
ท่านเป็นเกด ท่านจะตัดสินใจอย่างไร

สถานการณ์สมมติ 2
เกด กับ ชิต เป็นแฟนกันมา 3 เดือน ในวันลอยกระทง ชิตพาเกดไปเที่ยวจนดึกกลับบ้านไม่ได้ ชิตเลยชวนเกดไปนอนค้างที่บ้านของตน
ในคืนนั้นเอง ชิตขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย
ท่านเป็นเกด ท่านไม่ยอม
ชิตบอกว่า ถ้ารักกันจริง ต้องแสดงให้เห็นด้วยเพศสัมพันธ์ ไม่งั้นก็เป็นแค่เพื่อน
ท่านเป็นเกด ท่านจะตัดสินใจอย่างไร

สถานการณ์สมมติ 3
เกด กับ ชิต เป็นแฟนกันมา 3 เดือน ในวันลอยกระทง ชิตพาเกดไปเที่ยวจนดึกกลับบ้านไม่ได้ ชิตเลยชวนเกดไปนอนค้างที่บ้านของตน
ในคืนนั้นเอง ชิตขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย
ท่านยอมมีเพศสัมพันธ์ เพราะรักชิตจริง คิดว่าเขาคงมั่นใจในความรักของท่าน
เดือนต่อมา ประจำเดือนท่านขาดไป ท่านจะทำอย่างไร

สถานการณ์สมมติ 4
เกด กับ ชิต เป็นแฟนกันมา 3 เดือน ในวันลอยกระทง ชิตพาเกดไปเที่ยวจนดึกกลับบ้านไม่ได้ ชิตเลยชวนเกดไปนอนค้างที่บ้านของตน
ในคืนนั้นเอง ชิตขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย
ท่านยอมมีเพศสัมพันธ์ เพราะรักชิตจริง คิดว่าเขาคงมั่นใจในความรักของท่าน
เดือนต่อมา ประจำเดือนท่านขาดไป ท่านไปตรวจแล้วพบว่าท้อง
ท่านบอกเรื่องนี้กับชิต ชิตไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นพ่อของเด็ก บอกว่า “ที่ยอมมีเพศสัมพันธ์กันง่ายแบบนี้ ก็คงมีกับผู้ชายอื่นง่ายๆด้วยเหมือนกัน”
ท่านจะทำอย่างไรต่อไป

สถานการณ์สมมติ 5
วิทย์เป็นนักเรียนชั้น ม3 โรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่ง วันหนึ่ง ไก่เพื่อนร่วมห้องเขียนจดหมายมาสารภาพรัก บอกว่าแอบชอบวิทย์มานานแล้ว
วิทย์ควรจะทำอย่างไรต่อไป

2. การเรียนรู้จากสื่อ

2.1 การตอบปัญหาทางเพศจากหนังสือพิมพ์

2.2 ข่าวหนังสือพิมพ์

2.3 ข่าวโทรทัศน์ วิดีโอคลิป อินเตอร์เน็ต
ครูสามารถบันทึกสื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น นำมานำเสนอ เป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนใจ คิด วิเคราะห์ แก้ไข และป้องกันปัญหา

การวัดผลพฤติกรรมในกลุ่ม
ครูควรมีวิธีวัดพฤติกรรมของนักเรียนในกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนพยายามฝึกทักษะในการทำงานกลุ่ม ก่อนเริ่มกิจกรรมครูควรบอกนักเรียนทุกคนว่า จะมีการวัดพฤติกรรมนักเรียนอย่างไร เช่น การมีส่วนร่วม การ แบ่งงาน การมีส่วนร่วม แบ่งงาน การเป็นผู้นำ ผู้ตาม ฯลฯ
การวัดพฤติกรรม อาจแยกเป็น 2 แบบ คือ
1. คะแนนกลุ่ม ทุกคนในกลุ่มจะได้รับเท่ากันทุกคน นักเรียนจะพยายามทำตามที่ครูคาดหวัง การชมในพฤติกรรมดีที่คาดหวังจะช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น
2. คะแนนรายบุคคล แต่ละคนจะได้รับแตกต่างกัน ตามพฤติกรรมที่แสดงออกจริง ผู้วัดต้องอยู่ในกลุ่มตลอดเวลา
ตัวอย่างที่1. ใบบันทึกคะแนนพฤติกรรมกลุ่ม
เรื่องที่ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12
กลุ่มที่
การมีส่วนร่วม แบ่งงาน
20 คะแนน
การแสดงความคิดเห็น
10 คะแนน
การเป็นผู้นำ ผู้ตาม
10 คะแนน
การสรุปเนื้อหา
10 คะแนน
คะแนนผลงานกลุ่ม
50 คะแนน
อาจารย์……………………………………………………………………. วันที่………………..

ตัวอย่างที่ 2 ใบบันทึกคะแนนรายบุคคล

ชื่อกลุ่ม ……………………………………………………………………….หัวหน้ากลุ่ม……………………………………………………..

คำขวัญของกลุ่ม……………………………………………………………………………………………………………………………………..

ชื่อ ความสนใจ/
มีส่วนร่วม การแสดงความคิดเห็น/แสดงออก การเป็นผู้นำ/
ผู้ตาม ความพยายามให้งานสำเร็จ ความสัมพันธ์
กับผู้อื่น
1.
2.
3.
4.
5.
6.
7.
อาจารย์……………………………………………………………………. วันที่………………..

เทคนิคกระตุ้นกลุ่ม (Facilitating Techniques)
ครูจะเป็นผู้กระตุ้นให้กลุ่มทำกิจกรรม โดยมีขั้นตอน โดยปรับให้เหมาะสมกับเวลาที่มี ดังนี้
1. การแนะนำตัว ผู้นำกลุ่มแนะนำตัวเอง ให้ทุกคนแนะนำตัวเองสั้นๆ
2. อธิบายวัตถุประสงค์ของการคุยกันเป็นกลุ่ม เวลาที่จะใช้ เน้นกติกาของกลุ่ม คือการเรียนรู้จากกันการเปิดเผยและช่วยเหลือกัน ทุกคนจะมีโอกาสแสดงออก เช่น เล่าเรื่องของตนเอง ในระหว่างนั้นให้คนอื่นตั้งใจฟัง และช่วยเหลือเหลือกันโดยการแสดงความคิด ความรู้สึก และการแก้ปัญหา กติกาหลัก คือ ขอให้พูดกับกลุ่ม ทีละคน ใครต้องการพูดขอให้ยกมือ ผู้นำกลุ่มจะดูแลให้ได้พูดทุกคน
3. ในครั้งแรกครูควรเน้นเรื่องการรักษาความลับของกัน ไม่นำเรื่องที่คุยกันในกลุ่มไปเปิดเผยข้างนอก
4. ครูขออาสาสมัครนักเรียนที่จะแสดงออก หรือเปิดเผยเรื่องในประเด็นการเรียนรู้ในครั้งนี้ ขอให้เล่าให้กลุ่มฟัง เริ่มต้นจากสิ่งที่เปิดเผยได้ง่าย
5. หลังจากเล่าเรื่อง ขอความคิดเห็นจากคนอื่น จับประเด็นที่นักเรียนส่วนใหญ่มีส่วนร่วม เช่น ปัญหาที่คล้ายกัน ความเดือดร้อนเหมือนกัน ครูอาจตั้งคำถามนำว่าใครมีประสบการณ์เหล่านี้ บ้าง หรือปัญหานี้ใครมีคล้ายๆกัน เพื่อสร้างความรู้สึกร่วม และส่งเสริมให้เปิดเผยมากขึ้น และวิธีการแก้ไขที่ได้ทำไปแล้ว
6. ครูเลือกประเด็นเป้าหมายที่น่าสนใจ ให้นักเรียนแสดงออกเพิ่มเติมว่า เกิดอย่างไร แก้ไขอย่างไร สิ่งที่ทำแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผล
7. ครูเชิญสมาชิกคนอื่นๆ ว่า จะมีใครมีคำแนะนำเพื่อนบ้าง เปิดโอกาสให้แสดงออกหลายๆวิธี
8. ใช้คำถามสามเหลี่ยม “Triangular Questions” สำรวจและเรียนรู้กันในด้าน
ก. ความคิด(Thinking) หรือความเชื่อ ทัศนคติ
ข. ความรู้สึก(Feeling) หรือ อารมณ์
ค. พฤติกรรม(Behaviors) การแก้ปัญหา การแสดงออก การสื่อสาร
เช่น
“แฟนชวนไปเที่ยว(พฤติกรรม) ชอบหรือไม่(รู้สึก) นักเรียนคิดว่ามีความเสี่ยงหรือไม่(ความคิด) ถ้ามีความเสี่ยง เสี่ยงต่ออะไร (ทัศนคติ ความเชื่อ ประสบการณ์เดิม การเรียนรู้ที่ผ่านมา) การระวังนั้นจะทำให้ตอบรับหรือปฏิเสธ (ความคิด)”
9. ครูชมพฤติกรรมหรือวิธีการที่ดี ให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น แนะนำให้ฟังความคิดของกันและกัน ไตร่ตรองข้อดีของทางเลือกนั้น ส่งเสริมให้หาวิธีดีๆ และนำไปปฏิบัติ
10. ตัวอย่างของการคิดดี ได้แก่ คิดหลายทาง คิดด้านบวก มองโลกในแง่ดี คิดรอบคอบ และหยุดคิดได้ในบางเวลา
11. ตัวอย่างของการฝึกความรู้สึก ได้แก่ การรู้จักอารมณ์ตนเอง การฝึกใจให้สงบ การผ่อนคลายตนเอง กิจกรรมผ่อนคลาย
12. ส่งเสริมตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ดี ได้แก่ การปรึกษาหารือ เวลามีเรื่องไม่สบายใจ หาผู้รับฟังที่ดี เช่น เพื่อน ครู พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เปิดเผย การเล่าจะเป็นการระบายความรู้สึก และเปิดใจรับคำแนะนำดีๆ ทางออกแก้ปัญหาที่แตกต่าง ในการแก้ปัญหา มีการหาข้อมูลให้ครบ คิดทางเลือก วิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย
13. การจัดสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมเบนความสนใจ เช่น เล่น เกม กีฬา ศิลปะ ดนตรี กิจกรรมกลุ่ม ทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น บำเพ็ญประโยชน์ เพื่อให้ผ่อนคลาย ลดความรู้สึกหรือหมกมุ่นทางเพศ
14. ใช้เทคนิคกลุ่มชวนให้มีส่วนร่วมทุกคน เช่น ขอให้คนที่แสดงความเห็นแล้วเชิญคนต่อไปที่ยังไม่ได้แสดง จนกว่าจะครบทุกคน (round turn)
15. ครูให้ความรู้ในเรื่องที่เตรียมไว้ สั้นๆ พร้อมแหล่งข้อมูลที่นักเรียนสามารถหาเพิ่มเติม เช่นหนังสือ เว็บไซต์
16. สรุปการเรียนรู้ ให้สมาชิกช่วยกันสรุป ผู้นำกลุ่มช่วยเสริมในตอนท้าย
17. คำถาม หรือข้อคิดเห็น
หมายเหตุ เวลาในการสอนแบบกลุ่ม ควรประมาณ 50-90 นาที ถ้ามีเวลาน้อยควร กำหนดเป้าหมายแคบ ให้มีจุดเน้นชัดเจน ถ้ามีเนื้อหามากควรจัดเป็น กิจกรรมกลุ่มหลายครั้งต่อเนื่องกัน(series)

เอกสารอ้างอิง
1. กองวางแผนครอบครัวและประชากร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. แผนการอบรมเพศศึกษาสำหรับพ่อแม่. กรุงเทพฯ: บริษัท วิสคอม เซ็นเตอร์ จำกัด, 2543.
2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาช่วงชั้นที่ 1 (ป1-3). กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2548.
3. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาช่วงชั้นที่ 2 (ป4-6). กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2548.
4. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาช่วงชั้นที่ 3 (ม1-3). กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2548.
5. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาช่วงชั้นที่ 4 (ม4-6). กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2548.
6. พนม เกตุมาน. โตแล้วนะน่าจะรู้ไว้ พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2542.
7. ศรีธรรม ธนะภูมิ. พัฒนาการทางอารมณ์และบุคลิกภาพ. กรุงเทพฯ: ชวนพิมพ์, 2535;60-115.
8. จันทร์วิภา ดิลกสัมพันธ์. เพศศึกษา พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, 2543;69-77.
9. นิกร ดุสิตสิน, วีระ นิยมวัน, ไพลิน ศรีสุโข. คู่มือการสอนเพศศาสตรศึกษาระดับมัธยม พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545;1-14.
10. พนม เกตุมาน. สุขใจกับลูกวัยรุ่น. กรุงเทพฯ: บริษัทแปลนพับลิชิ่งจำกัด, 2535;60-88.

ภาคผนวก

1. สรุปเนื้อหาสำหรับการสอนเพศศึกษาตามวัยต่างๆ

วัย 1 ปีแรก
พัฒนาการทางเพศ
พ่อแม่รับรู้เพศเด็กตามที่แพทย์กำหนด จากอวัยวะเพศภายนอก
ยังไม่รู้เพศตนเอง
สัมพันธภาพ
การตอบสนองความต้องการของเด็กสร้างความมั่นคงในจิตใจอารมณ์
สื่อสารผ่านการร้อง การสัมผัส กอด
ทักษะส่วนบุคคล
แยกตนเองและผู้อื่น เป็นคนละคนกัน
รอคอยได้เมื่อพ้น 6 เดือน จำหน้าแม่เมื่ออายุ 9 เดือน
พฤติกรรมทางเพศ
ความพอใจอยู่ที่การกิน การดูด การกัด การสัมผัส
สุขอนามัยทางเพศ
พ่อแม่ช่วยเหลือทำความสะอาดทางเพศ
สังคมและวัฒนธรรม
เด็กแยกตนเองจากสิ่งแวดล้อม

วัย 1-3 ปี
พัฒนาการทางเพศ
สอนให้เด็กรู้จักเพศตนเอง(core gender) และเพศของผู้อื่น
ให้พอใจและภูมิใจในเพศของตนเอง
สัมพันธภาพ
พ่อแม่ความสัมพันธ์ที่มั่นคงแน่นอน ให้เด็กเกิดความผูกพันมั่นคงใน จิตใจ
ทักษะส่วนบุคคล
สามารถควบคุมตนเองได้ โดยเฉพาะการขับถ่าย ฝึกให้เด็กช่วยตัวเอง ขับถ่ายเป็นที่ทาง เป็นเวลา
พฤติกรรมทางเพศ
กำกับให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสมและตรงตามเพศของเด็ก เช่น การแต่งกาย การพูด การเล่น ควรกำกับดูแลให้
เบนความสนใจไม่ให้เด็กเล่นอวัยวะเพศตนเอง
สุขอนามัยทางเพศ
สอนการทำความสะอาดอวัยวะเพศตนเอง
การระวังรักษาอวัยวะเพศตนเอง
สังคมและวัฒนธรรม
เด็กเริ่มเรียนรู้กฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ฝึกให้เด็กรู้จักกฎเกณฑ์กติกาในบ้าน พื้นฐานของระเบียบวินัย และการควบคุมตนเอง

วัย 3-6 ปี
พัฒนาการทางเพศ
สนใจอวัยวะเพศตนเองและของผู้อื่น สอนให้เด็กรู้จักการดูแลรักษาอวัยวะเพศตนเอง
สัมพันธภาพ
ถ่ายทอดแบบอย่างทางเพศจากพ่อแม่ พ่อแม่ใกล้ชิดกับลูกเป็นแบบอย่างทางเพศที่ดีกับลูกเพศเดียวกัน
ทักษะส่วนบุคคล
พึ่งพาตัวเองได้ ช่วยตัวเองได้ สามารถแยกตัวเองจากพ่อแม่
เข้าใจเหตุผลง่ายๆ
พฤติกรรมทางเพศ
อยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศ เวลาอธิบายเรื่องเพศควรใช้คำอธิบายด้วยเหตุผลง่ายๆ
สอนพฤติกรรมที่เหมาะสมทางเพศ ไม่ส่งเสริมให้เด็กแสดงออกผิดเพศ เช่นการแต่งกาย ท่าทาง หรือการเล่นผิดเพศ
สุขอนามัยทางเพศ
การทำความสะอาดอวัยวะเพศตนเอง
การแยกใช้ห้องน้ำห้องส้วมหญิงชาย
การระวังรักษาอวัยวะเพศไม่ให้ใครมาละเมิด
สอนทักษะในการปฏิเสธการล่วงละเมิดทางกาย ฝึกให้เด็กปฏิเสธมิให้ผู้อื่นแตะต้องร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะเพศของตนเอง
การปฏิเสธ เช่น การไปไหนกับคนแปลกหน้า การรับของ ขนม หรือของเล่นจากคนที่ไม่รู้จัก
การขอความช่วยเหลือเมื่อไม่แน่ใจในความปลอดภัย
หลีกเลี่ยงไปไหนตามลำพัง
สังคมและวัฒนธรรม
ทัศนคติของผู้ใหญ่ต่อเรื่องเพศเป็นกลาง
ยอมรับการอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศ อธิบายให้เด็กเข้าใจตามสมควร
เพศหญิงชายไม่มีความแตกต่างกัน
ไม่ทำให้เด็กรังเกียจอวัยวะเพศตนเอง
ควบคุมพฤติกรรมทางเพศให้เหมาะสม ไม่ละเมิดผู้อื่น
ไม่ให้ใครมาละเมิดตนเอง
เมื่อเด็กสนใจหมกมุ่น หรือกระตุ้นตัวเองทางเพศ ผู้ใหญ่ห้ามสั้นๆด้วยท่าทีสงบ หากิจกรรมเบนความสนใจเด็ก หรือจัดสิ่งแวดล้อมให้เด็กไม่อยู่คนเดียว
ไม่ควรขู่หรือทำให้เด็กกลัวจนเกินไป

วัย 6-12 ปี
พัฒนาการทางเพศ
ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางเพศชัดเจน
สัมพันธภาพ
จับกลุ่มเล่นแยกเพศ ให้เด็กเล่นตามเพศเดียวกัน
ทักษะส่วนบุคคล
เข้าใจเหตุผลที่เป็นรูปธรรม
เข้าใจจิตใจผู้อื่นมากขึ้น
รับผิดชอบต่อส่วนรวม ชอบแข่งขันการเรียน
พฤติกรรมทางเพศ
ส่งเสริมพฤติกรรมเหมาะสมกับเพศตนเอง
สอนเรื่องสถานการณ์เสี่ยงทางเพศ
สุขอนามัยทางเพศ
ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงตนเองสำหรับวัยรุ่น ในเด็กบางคนเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น
สังคมและวัฒนธรรม
สอนให้เกียรติกันทางเพศ ไม่ละเมิด
ให้มีพฤติกรรมเหมาะสมตามเพศ เพศชายช่วยเหลือเพศหญิง

วัย 12-15 ปี
พัฒนาการทางเพศ
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ
อารมณ์เพศ ความรู้สึกและความต้องการทางเพศ สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางเพศ
ปฏิกิริยาตอบสนองทางเพศเมื่อมีอารมณ์เพศ
ความพึงพอใจทางเพศ(sexual orientation)
สัมพันธภาพ
การมีเพื่อนต่างเพศ ทักษะสังคมในการคบเพื่อนต่างเพศ การแสดงออกอย่างเหมาะสมเมื่อสนใจเพศตรงข้าม
ทักษะส่วนบุคคล
ทักษะในการสื่อสารเจรจา
การสร้างความสัมพันธ์และรักษาความสัมพันธ์ให้ยาวนาน
การควบคุมตนเอง
ควบคุมอารมณ์ จัดการกับอารมณ์และความต้องการทางเพศ
พฤติกรรมทางเพศ
ศึกษาเรื่องเพศได้ในกรอบที่พอเหมาะ
ทัศนคติถูกต้องต่อการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ควบคุมให้มีพอสมควร
การแต่งกายที่เหมาะสม ถูกต้องตามเพศ
มีความความสนใจเพศตรงข้ามได้แต่แสดงออกถูกต้อง
ไม่ละเมิดหรือฉวยโอกาสทางเพศต่อผู้อื่น
สุขอนามัยทางเพศ
การทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกต้อง
การจัดการกับอารมณ์เพศอย่างถูกต้อง มีทางออกทางเพศ(sexual outlet) การระบายอารมณ์เพศด้วยวิธีอื่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา
การป้องกันการหมกมุ่นทางเพศมากเกินไป โดยการจัดสิ่งแวดล้อม
หลีกเลี่ยงเหล้าและยาเสพติด หลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยง
สังคมและวัฒนธรรม
พฤติกรรมเหมาะสมกับสังคมประเพณี
พฤติกรรมให้ถูกต้องตามเพศตนเอง

วัย 15-18 ปี
พัฒนาการทางเพศ
ยอมรับ พอใจเอกลักษณ์ทางเพศ
แก้ไขความเชื่อหรือทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง
สัมพันธภาพ
การเลือกแฟน การคบแบบแฟน
การสังเกตนิสัยใจคอ ความเข้ากันได้
ทักษะในการปรับตัวเข้าหา
การเลือกคู่ครอง
ชีวิตครอบครัว
การแต่งงาน และปรับตัวในชีวิตสมรส
ทักษะส่วนบุคคล
การปรับตัว
สื่อสารบอกความต้องการตนเอง
การปรับเปลี่ยนตนเองแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง
ทักษะในการดำเนินชีวิตร่วมกัน
การวางแผนอนาคต
ควบคุมตนเองให้รับผิดชอบต่อครอบครัว
การเลี้ยงลูก
พฤติกรรมทางเพศ
การปฏิเสธเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน
เพศสัมพันธ์
การใช้ถุงยางอนามัย การคุมกำเนิด
การเตรียมตัวก่อนการแต่งงาน
การตอบสนองทางเพศปกติ
การมีเพศสัมพันธ์อย่างมีความสุข
การวางแผนครอบครัว
สุขอนามัยทางเพศ
การเปลี่ยนแปลงทางเพศที่จะเกิดในขณะตั้งครรภ์
เพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์
การคลอดบุตรและการดูแลหลังการคลอดบุตร
การคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราวและถาวร
การทำหมันและการเลี้ยงดูบุตร
การวางแผนครอบครัว
การแท้งบุตร
ความผิดปกติทางเพศ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
สังคมและวัฒนธรรม
การยับยั้งใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนสมรส
การซื่อสัตย์ต่อคู่ครองตนเอง
บทบาทที่ดีของพ่อแม่
การแสดงออกทางเพศให้เหมาะสมอยู่ในประเพณีที่ดี
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ

2. ตัวอย่างแผนการสอน

ชื่อกิจกรรม นิทานจริยธรรม “แฟนเก่า หรือกิ๊กใหม่”
สรุปลักษณะกิจกรรม ผู้นำกลุ่มอ่านนิทานให้สมาชิกกลุ่มฟัง หลังจากนั้นให้สมาชิกกลุ่มแสดงความคิดเห็น และทำงานกลุ่มโดยตอบคำถามแสดงถึงความคิดเชิงจริยธรรม และแสดงผลงานความคิดกลุ่มแก่กลุ่มอื่น ผู้นำกลุ่มแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
วัตถุประสงค์ ฝึกความคิดเชิงจริยธรรม เรียนรู้ความคิดเชิงจริยธรรมจากผู้อื่น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง
ลักษณะของกลุ่ม
• จำนวนสมาชิกกลุ่ม 15-90 คน แบ่งกลุ่มย่อย 4-6 กลุ่ม กลุ่มละ 5-15 คน
• คุณสมบัติของสมาชิกกลุ่ม อายุ 12 ปีขึ้นไป
เวลา 60-90 นาที
ทรัพยากรที่ใช้
1. นิทาน 1 เรื่อง ชื่อ “แฟนเก่า หรือกิ๊กใหม่”
2. บันทึกผลงานกลุ่ม
การดำเนินกิจกรรมกลุ่ม
1. การนำเข้าสู่กิจกรรม
ผู้นำกลุ่มถามกลุ่มใหญ่ว่า มีใครไม่เคยมีปัญหาชีวิตบ้าง ลองให้ยกตัวอย่างสั้นๆ สรุปว่าชีวิตคงจะต้องเผชิญปัญหาทุกคน กิจกรรมต่อไปนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาในชีวิต โดยจะแบ่งสมาชิกเป็นกลุ่มย่อย 6 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันคิดวิเคราะห์ปัญหาจากนิทานที่จะแจกให้
ผู้นำกลุ่มแบ่งกลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มย่อย 6 กลุ่ม
2. การดำเนินกิจกรรม
ผู้นำกลุ่มอ่านนิทานให้ฟัง และแนะนำให้กลุ่มช่วยกันทำงานกลุ่ม ให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด ประมาณ 15 นาที หลังจากนั้นผู้นำกลุ่มแจกนิทาน และกระดาษสรุปผลงานกลุ่มให้หัวหน้ากลุ่ม หลังจากนั้นให้ผู้แทนกลุ่มนำเสนอผลงานกลุ่มละ 5 นาที
• ผลงาน
• วิธีการดำเนินงาน
3. การวิเคราะห์เรียนรู้ที่เกิดขึ้น
ผู้นำกลุ่มให้แต่ละกลุ่มสรุปว่าได้เรียนรู้อะไร จากกิจกรรมนี้
ประเด็นการวิเคราะห์
• คำตอบของกลุ่มใดถูก เพราะเหตุผลใด
• เหตุใดจึงตัดสินไม่ได้ว่าคำตอบใดถูกต้องที่สุด
4. การสังเคราะห์การเรียนรู้
ผู้นำกลุ่มให้กลุ่มช่วยกันคิดว่า การเรียนรู้ในกิจกรรมนี้ จะนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร
5. สรุปการเรียนรู้
ผู้นำกลุ่มสรุปผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น
รายละเอียดทรัพยากรที่ใช้
นิทาน เรื่อง “แฟนเก่า หรือกิ๊กใหม่”
หนุ่มสาวคู่หนึ่งรักกันมากตั้งแต่เรียนอยู่ด้วยกันในมหาวิทยาลัย แต่พ่อฝ่ายหญิงไม่ชอบฝ่ายชายเนื่องจากฐานะ และตระกูลด้อยกว่าฝ่ายหญิงมาก จึงกีดกันทุกทาง ไม่ยอมให้มาพบกันที่บ้าน
หนุ่มสาวยังแอบพบกัน โดยแม่ฝ่ายสาวเห็นใจทั้งคู่มากแอบให้ความช่วยเหลือ ทำให้ทั้งคู่ได้พบกันเป็นประจำที่บ้านเวลาพ่อไม่อยู่ ต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด ความใกล้ชิดมีมากขึ้นจนเมื่ออยู่ด้วยกันตามลำพังในห้องสองต่อสอง ฝ่ายชายขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย ครั้งแรกฝ่ายหญิงไม่ยินยอม แต่ฝ่ายชายบอกว่าการมีเพศสัมพันธ์กันเป็นการพิสูจน์ว่ารักจริง ฝ่ายหญิงนำเรื่องแฟนขอมีเพศสัมพันธ์นี้ไปปรึกษาเพื่อนสาวที่สนิทกันที่มหาวิทยาลัย เพื่อนคนนั้นบอกว่า มีไปเถอะ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครเขาถือกันแล้วเรื่องนี้
วันหนึ่งขณะที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน ทั้งคู่มีเพศสัมพันธ์กันด้วยความเต็มใจทั้งสองฝ่าย ต่อมาฝ่ายหญิงพบว่าตนเองตั้งครรภ์ จึงปรึกษาเพื่อนคนเดิม เพื่อนบอกว่า เธอแย่มากที่ไม่รู้จักป้องกันตัวเอง และแนะนำให้บอกฝ่ายชาย ฝ่ายชายเมื่อทราบเรื่องจึงขอให้แต่งงานด้วยทันที และให้ลาออกจากการเรียน
พ่อเมื่อทราบเรื่องโกรธและขู่ฝ่ายชายว่าจะฆ่าให้ตาย และยังโกรธแม่มากที่ช่วยให้ทั้งคู่แอบพบกันที่บ้าน จึงทำร้ายร่างกายแม่รุนแรงมากจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล บังคับให้ลูกสาวไปทำแท้งกับเพื่อนซึ่งเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แล้วส่งลูกสาวไปเรียนต่อต่างประเทศหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยทันที
แม่ของฝ่ายหญิงซึ่งไม่ค่อยเห็นด้วยกับสามี แอบให้ที่อยู่ลูกสาวเพื่อให้ฝ่ายชายติดต่อได้ ฝ่ายชายยังติดต่อทางจดหมายและโทรศัพท์ถึงเป็นประจำ แม้ว่าแต่ต่อมาตนเองจะคบกับเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องเป็นแฟนอีกคน จนถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กัน และในที่สุดแต่งงานกัน โดยฝ่ายชายไม่บอกแฟนเก่าที่กำลังเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ
เมื่อสาวแฟนเก่าเรียนจบมาจากต่างประเทศ พบว่าแฟนแต่งงานแล้วก็เสียใจมาก กินยาฆ่าตัวตาย แต่ไม่ตายต้องรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ระหว่างนั้นฝ่ายชายมาเยี่ยมขอกลับมาเริ่มความสัมพันธ์ใหม่เพราะยังรักมากอยู่ ส่วนภรรยาที่แต่งงานกันมา 2-3 ปีแล้วนั้นตอนนี้มีปัญหากันมาก เพราะขี้หึงและเวลาโกรธจะทะเลาะรุนแรงมาก ขณะนี้กำลังพยายามหย่าจากภรรยา ฝ่ายหญิงยังมีความรักชายหนุ่มมาก จึงตกลงจะแต่งงานด้วยถ้าหย่าสำเร็จ
ชายหนุ่มกลับมาขอหย่ากับภรรยา แต่ภรรยาไม่ยอม และเอาปืนออกมาขู่ว่าถ้ารู้ว่าสามีไปพบกันอีกจะใช้ปืนยิงให้ตายทั้งคู่และฆ่าตัวตายตามไปด้วย ฝ่ายชายจึงแย่งปืนกันในรถยนต์จนรถชนต้นไม้ข้างทาง ภรรยาจนเสียชีวิตในรถยนต์ ฝ่ายชายหลบหนีไปเล่าเรื่องให้ฝ่ายหญิงฟัง
จากเรื่องนี้ มีบุคคลที่สำคัญ 7 คน คือ
1. ชายหนุ่ม
2. หญิงสาว
3. พ่อหญิงสาว
4. แม่หญิงสาว
5. เพื่อนหญิงสาว
6. แฟนสาวคนใหม่ของชายหนุ่ม
7. แพทย์ช่วยทำแท้งให้หญิงสาว
งานของกลุ่ม ช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่า และสรุปผลงานกลุ่ม ตามหัวข้อต่อไปนี้
1. ใครเลวที่สุด เรียงลำดับจากมากไปน้อย พร้อมเหตุผล
2. ถ้าท่านเป็นฝ่ายหญิง ท่านจะทำอย่างไร
3. ถ้าท่านเป็นฝ่ายชาย ท่านจะทำอย่างไร
2. กระดาษสรุปผลงานกลุ่ม

ผลงานกลุ่ม

กลุ่มที่…………………..
หัวหน้ากลุ่ม ………………………..
ชื่อสมาชิกกลุ่ม ……………………………………………………………………………………………………………………………

ข้อ 1 ใครเลวที่สุด

ลำดับ บุคคล เหตุผล
1

2

3

4

5

6

7

ข้อ 2 ถ้าท่านเป็นฝ่ายหญิง ท่านจะทำอย่างไร

ข้อ 3 ถ้าท่านเป็นฝ่ายชาย ท่านจะทำอย่างไร

ผศ. นพ. พนม เกตุมาน
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
28 ตุลาคม 2561