จิตวิทยาเชิงบวกกับการเรียนรู้ (Positive Psychology and Learning)

 

 

จิตวิทยาเชิงบวก เป็นแนวทางจิตวิทยาสมัยใหม่ที่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ ที่เกิดจากอารมณ์เชิงบวก ที่ทำให้คนมีความสุข

จิตวิทยาเชิงบวก ส่งเสริมการเรียนรู้ โดยมีหลักการให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจจากภายใน มีอารมณ์ด้านบวก ทำให้เรียนรู้ได้อย่างสนุกสนาน เพลิดเพลิน จนลืมเวลา เกิดความไหลลื่นในการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในการเรียนรู้นั้นผู้เรียนมีแรงจูงใจ มีส่วนร่วมเกิดความสัมพันธ์ ความผูกพันกับผู้เรียนด้วยกันและกับผู้สอน เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เกิดความสำเร็จในตนเอง นำไปใช้ได้ในอนาคต

จิตวิทยาในแนวทางเดิม (traditional psychology) ศึกษาอารมณ์ที่ทำให้เกิดความไม่สบาย เช่น เครียด กังวล  ซึมเศร้า การเรียนรู้ที่ผ่านมาได้ใช้แนวทางด้านลบมาเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเชื่อว่าถ้าหลีกเลี่ยงอารมณ์ด้านลบ จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความรู้สึกด้านลบ การลงโทษ การเปรียบเทียบ การตำหนิ  กดดัน จะทำให้เกิดการเรียนรู้ เช่น

  • ถ้าไม่เรียนจะโดนลงโทษ
  • ถ้าคะแนนต่ำจะสู้เขาไม่ได้ จะพ่ายแพ้ จะแข่งกับใครไม่ได้
  • ถ้าไม่อ่านหนังสือจะสอบตก จะอับอาย ชีวิตจะล้มเหลว
  • ถ้าไม่ตั้งใจเรียนจะโง่ ไร้คุณค่า
  • ถ้าทำงานไม่เสร็จ จะไม่ได้เล่น
  • เรียนไม่ดี ชีวิตจะล้มเหลง

การเรียนรู้ในแนวทางนี้อย่างเดียวจะทำให้ผู้เรียนมีชีวิตที่กังวลและซึมเศร้าได้ง่าย ชีวิตเต็มไปด้วยความกังวล และความกลัว โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหา หรือความล้มเหลว จะเครียดและซึมเศร้าได้มาก มองตนเองไม่ดี  เพราะถูกฝึกมาให้ชีวิตต้องป้องกันความผิดพลาดตลอดเวลา  ผู้สอนควรระมัดระวังทัศนคติเชิงลบนี้ เพราะถ้าใช้มากๆโดยไม่มีด้านบวก จะเกิดปัญหาในบุคลิกภาพ ผู้สอนควรหาทางใช้แนวคิดของ Positive Psychology เพื่อให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจจากภายในได้ และช่วยให้ผู้เรียนมีความสุขมีพลังต่อสู้ได้กับความล้มเหลว ไม่ติดอยู่กับความสำเร็จแต่เพียงอย่างเดียว

 

แนวทางของ Positive psychology (Martin Seligman) มีหลักการสรุป 5 มิติ ดังนี้

P-Positive Emotion ผู้เรียนเกิดความรู้สึกทางบวก เช่น สนุก ตื่นเต้น ท้าทาย ทึ่ง ชวนคิด อยากรู้ อยากเอาชนะ อยากเปลี่ยนแปลง ชื่นชมตนเอง ชื่นชมผู้อื่น รู้สึกดีต่อตนเอง ภูมิใจตนเอง ชื่นชมกลุ่ม กิจกรรมในการเรียนรู้ จึงออกแบบให้ ผู้เรียนมีส่วนร่วม  ทำงานร่วมกัน ช่วยกันแก้ปัญหา และเอาชนะอุปสรรคต่างๆด้วยกัน เมื่อจบการเรียนรู้ ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเห็นคุณค่าตนเอง ภูมิใจตนเอง อยากเรียนรู้ต่อไปด้วยตัวเอง

E-Engagement ผู้เรียนมีพฤติกรรมมีส่วนร่วม ในกิจกรรม แสดงความร่วมมือ ไม่สนใจกิจกรรมอื่น ให้เวลา และทุ่มเทเพื่อกิจกรรม การออกแบบกิจกรรมที่ดี จะช่วยให้เกิดความร่วมใจกับผู้สอนและร่วมใจกันในกลุ่ม การใช้กระบวนการกลุ่ม มีการแบ่งกลุ่มที่เสมอภาค ฝึกให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่างกัน เน้นกระบวนการกลุ่ม (process) มากกว่าผลงานกลุ่ม (product)  มีการสังเกตพฤติกรรมกลุ่มร่วมกับการสอนงานกลุ่ม (group coaching) มีการประเมินกลุ่ม และ feedback สม่ำเสมอ จะช่วยให้เกิดความมีส่วนร่วมนี้ ผู้สอนควรมีการสังเกตพฤติกรรมการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง และช่วยเหลือผู้เรียนที่ไม่เชื่อมโยงกับกลุ่ม

R-Relationship ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างดี มีความร่วมมือร่วมใจ (collaboration )เป็นอันหนึ่งอันเดียว (cohesion) มีการสื่อสาร (communication) การร่วมทุกข์ร่วมสุข (sharing) มีความเป็นผู้นำผู้ตาม (leadership)  ในความสัมพันธ์ที่ดีนั้น มีความรู้สึกที่ดีตามมา เห็นคุณค่าของการทำงานกลุ่ม ยอมรับความแตกต่าง ได้ช่วยเหลือส่งเสริมกัน สะท้อนถึงการทำงานหรือใช้ชีวิตกันในสังคม

ในกลุ่มที่ต้องการเน้นทักษะสังคมในการทำงานร่วมกัน การประเมินเพื่อสร้างสรรค์โดยไม่มีคะแนน จะช่วยให้เกิดการพัฒนาผู้เรียน

M-Meaning สิ่งที่เรียนรู้มีความหมายสำคัญ มีคุณค่า ตอบคำถามของเป้าหมายชีวิต สัมพันธ์กับการเรียนรู้ในอดีต ชวนให้คิดถึงการเรียนรู้เดิม สัมพันธ์กับปัจจุบัน คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่ออะไร เกิดการเปลี่ยนแปลงใดในปัจจุบัน ทำให้มีแรงจูงใจจะทำอะไรต่อไป สัมพันธ์กับอนาคต จะนำไปใช้กับชีวิตได้อย่างไร  ผู้สอนควรช่วยให้ผู้เรียนเห็นความสัมพันธ์นี้เป็นระยะๆ จะช่วยให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญและคุณค่าของสิ่งที่เรียน

การเรียนรู้แบบ Problem-based Learning เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องหนึ่ง ที่ชวนให้ผู้เรียนได้ลองสัมผัสปัญหาก่อน สร้างความตระหนัก และชวนคิดให้แก้ปัญหา จะสร้างแรงจูงใจ และอยากรู้อยากเห็น นำไปสู่การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับชีวิตจริง ความรู้ทางทฤษฎีจะนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหา เห็นคุณค่าและความหมายของการเรียน

A-Accomplishment การเรียนรู้นั้นทำให้เกิดความสำเร็จอะไรในชีวิต ผู้เรียนเกิดความรู้สึกทางบวก เมื่อได้ทบทวนว่าได้อะไรบ้าง แม้แต่เป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น ได้ความรู้ ข้อคิด ได้ทักษะ ได้ทัศนคติใหม่ เช่น เกิดความอยากรู้ อยากเรียน อยากอ่าน อยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่ม

สรุปการสร้างจิตวิทยาเชิงบวก ใช้แนวทาง 5 ประการ เรียกว่า PERMA

ในท้ายการเรียนรู้ ควรให้ผู้เรียนสะท้อนการเรียนรู้ (reflection) โดยแสดง PERMA ว่าในการเรียนรู้นั้นความรู้สึกอย่างไร เป็นความรู้สึกด้านบวกหรือไม่ (positive emotion)  ความความสัมพันธ์ผูกพันกับเพื่อนๆและผู้สอน(relationship) มากน้อยแค่ไหน  ความมีส่วนร่วมในกิจกรรม (engagement)นั้นอย่างไร สิ่งทีเรียนรู้ใหม่นั้นมีผลต่อชีวิตอย่างไร (meaning) และรู้สึกว่าได้ทำอะไรสำเร็จบ้าง (accomplishment)

 

การใช้จิตวิทยาเชิงบวก จะช่วยให้ผู้เรียนมีอารมณ์ด้านบวก ในการเรียนและการดำเนินชีวิตต่อไป โดยกำหนดเป้าหมายและการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

 

FLOW (Mihaly Csikszentmihalyi)

FLOW คือ คำอธิบายประสบการณ์ที่มีความสุขในการเรียนรู้หรือการทำงาน เพลิดเพลินทำไปจนลืมวันเวลา มีความสุขการกระทำจนไม่อยากเลิก และอยากทำสิ่งนั้นต่อไปเรื่อยๆ เกิดความไหลลื่นในการเรียนรู้ เกิดจากการได้ทำในสิ่งที่ชอบ เกิดความสนุก ตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็น ท้าทาย รู้สึกดีต่อตนเอง ได้เรียนรู้และประสบความสำเร็จในการกระทำนั้น เห็นคุณค่าและความหมายรวมทั้งประโยชน์ทีเกิดขึ้นทั้งต่อตนเองและผู้อื่น อารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอารมณ์ด้านบวก (positive emotion)

 

Broad and Build Theory (Barbara Fredrickson )

ทฤษฎีที่อธิบายว่าเมื่อคนมีอารมณ์บวก (positive emotion) จะมีผลทำให้จิตใจกว้าง เปิดรับข้อมูลใหม่  การเรียนรู้ใหม่ได้เร็ว มีประสิทธิภาพ เป็นการเรียนรู้ทางบวก (positive education)

คนที่มีอารมณ์ด้านบวก มักจะเป็นที่รักของคนอื่น มีความยืดหยุ่น (resilience) เรียนรู้ได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และลดผลของ negative emotion จึงช่วยป้องกันปัญหาอารมณ์ ลดความกังวล หรืออารมณ์ซึมเศร้า ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น อีคิวดีขึ้น

 

 

 

การพัฒนา Positive Emotion

อารมณ์ด้านบวก กระตุ้นผู้เรียนให้เกิดแรงจูงใจ อยากเรียนรู้ มีส่วนร่วมในกิจกรรม เกิดขึ้นเมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดี การสื่อสารที่ดี ทัศนคติที่ดีระหว่างกัน กิจกรรมทำให้เกิดอารมณ์บวก ได้แก่ความสนุก ตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็น ท้าทาย  เกิดความสำเร็จเป็นขั้นๆ ทำให้เกิดความรู้สึกดีต่อตนเอง เห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ ชื่นชมความหมายและประโยชน์ในการเรียนรู้ต่อตนเอง ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม

อารมณ์ด้านบวก เกิดจาก สามารถกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้ 3 ระดับ

  1. การทบทวนอดีต การชื่นชม เชื่อมโยงกับความรู้หรือประสบการณ์เก่า เกิดความเข้าใจ ยอมรับ ใช้กิจกรรมให้ระลึกถึงคนที่มีคุณค่า ให้ขอบคุณคนที่ทำดี (gratitude) ชื่นชมตนเอง ให้อภัย (forgiveness) คนที่ทำผิดพลาด ให้อภัยตนเอง ให้ย้อนเวลากลับไปบอกตนเองในอดีต
  2. การทบทวนตนเองในปัจจุบัน สติ (mindfulness) สนุก (savoring) ให้ฝึกระลึกถึงความคิดความรู้สึกตนเอง เชื่อมโยงไปในอดีต เชื่อมโยงไปในอนาคต ให้ทบทวนตนเอง รู้ตนเอง (self awareness training)
  3. การคาดหวังในอนาคต (hope) การเห็นคุณค่า การคาดหวังในอนาคต การนำประสบการณ์ไปใช้ หรือประยุกต์ใช้ในชีวิต มีความคาดหวังด้านบวกในอนาคต (optimism)

 

การสร้าง Relationship

ความสัมพันธ์ในการเรียนรู้ มี 2 ด้าน

  1. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน สร้างด้วยการออกแบบการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม ใช้กิจกรรมกลุ่ม เพื่อฝึกทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การทำงานร่วมกันเป็นทีม (collaboration) การสื่อสาร (communication) การเป็นผู้นำ (leadership)
  2. ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ครูรู้จักนักเรียนทุกคนเป็นรายบุคคล มีทัศนคติด้านบวกต่อเด็กทุกคน จำชื่อและรายละเอียดส่วนตัวเด็ก รู้ความชอบ ความถนัด จุดเด่น ภูมิหลังครอบครัวและปัญหา ให้ความเสมอภาค ให้โอกาสเด็ก รับฟัง ไม่กดดัน ไม่ใช้อำนาจ เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้อย่างอิสระ ให้เด็กได้ใช้ศักยภาพตนเองอย่างเต็มที่

การจัดประสบการณ์เรียนรู้ ควรใช้กิจกรรมกลุ่ม การทำงานร่วมกันเป็นทีม ให้เกิดการทำงานร่วมกัน แบ่งปัน ช่วยเหลือ ยอมรับ ฟัง สื่อสาร ให้เกิดการยอมรับและเรียนรู้ร่วมกัน (collaboration)

 

การสร้าง Meaning

การเรียนรู้จะมีความน่าสนใจ อยากเรียนรู้ เมื่อผู้เรียนมีเป้าหมายของตนเอง เห็นประโยชน์คุณค่า ครูช่วยสร้างได้ ด้วยการอธิบายเป้าหมายและคุณค่า ความสำคัญของกิจกรรมนั้น และเชื่อมโยงให้เห็นการนำไปใช้งาน แก้ปัญหา หรือมีประโยชน์ต่อตนเอวอย่างไร (เชื่อมโยงกับอนาคต) และถ้าเชื่อมโยงไปถึงการเรียนรู้หรือประสบการณ์เก่า จะช่วยให้สนุกในการเข้าใจและเห็นภาพรวม เห็นความหมายและคุณค่าในชีวิตมากขึ้น ทำให้เข้าใจสนุกและเพลิดเพลินกับการเรียน

 

การส่งเสริม Accomplishment

ครูควรช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จ ทำได้  ทำได้มากขึ้นกว่าเดิม เห็นความก้าวหน้าของตนเอง การจัดประสบการณ์เรียนรู้ ควรให้ท้าทาย ยากเล็กน้อยแต่พอทำได้สำเร็จ เกิดความภูมิใจตนเอง แล้วเพิ่มความยากขึ้นเล็กน้อย เพียงพอให้กระตุ้นความอยากลอง ท้าทายเล็กน้อยแต่ทำได้มากขึ้นตามลำดับ ให้เหมาะสมกับความสามารถของเด็กแต่ละคน เด็กที่เก่ง ควรมีกิจกรรมท้าทายที่ยากกกว่าเด็กปกติทั่วไปมิฉะนั้นจะเบื่อและหมดความสนใจ

ในการเรียนแบบกลุ่มย่อย ควรคละเด็กที่มีความแตกต่างกันทุกด้าน สำหรับเด็กเก่ง ความท้าทายอยู่ที่เด็กเก่งช่วยสอนเด็กไม่เก่ง

 

นพ พนม เกตุมาน 17 ตค 2561

Coaching and Mentoring in Medical Education

 

บทบาทอาจารย์ที่ปรึกษาในหลักสูตรแพทย์บัณฑิต

นพ  พนม เกตุมาน พบ

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ในศตวรรษที่ 21 การเป็นครูแพทย์ควรต้องปรับเปลี่ยนบทบาทให้ทันสมัย เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของนักศึกษาแพทย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม

แนวคิด

  1. โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้านอย่างรวดเร็ว มีความรู้เพิ่มขึ้นมาก การสื่อสารรวดเร็ว สื่อสังคมกว้างขวาง
  2. แรงจูงใจและวิธีการเรียนรู้ของนักศึกษาปัจจุบัน แตกต่างจากอดีต
  3. การสอนแบบเดิมไม่ตอบสามารถตอบโจทย์ในปัจจุบัน

สามเหลี่ยมพฤติกรรมในการเรียนรู้ (Behavior Triangle in Learning)

            การเรียนรู้ของมนุษย์เกิดจากการทำงานร่วมกันของร่างกาย สิ่งกระตุ้นกระทบประสารทสัมผัสทั้ง 5 ของร่างกาย และทำให้เกิดความรู้สึก ความคิด เกิดประสบการณ์ที่สะสมและจดจำไว้ตั้งแต่เด็ก จนเกิดเป็นระบบของร่างกายและความคิดความรู้สึก ที่ทำงานร่วมกันทั้งสามด้าน หรือ สามฐาน

1 ฐานกาย (Psychomotor Domain) การเคลื่อนไหว การตอบสนองทางกายผ่านระบบประสาททั่วไป ประสาทอัตโนมัติ และกลไกการตอบสนองของร่างกายต่างๆ

2 ฐานความรู้สึก (Affective Domain) ความรู้สึก อารมณ์ เจตคติ ที่จะกำหนด แรงจูงใจหรือแรงบันดาลในพฤติกรรม

3 ฐานความคิด (Cognitive Domain) ความคิด ความเชื่อ

ความรู้สึกและความคิด จะมีผลอย่างมากต่อการเกิดพฤติกรรม หรือการตอบสนองทางร่างกาย เมื่อสะสมประสบการณ์ตั้งแต่เด็ก จะเกิดชุดความคิดความรู้สึกที่ซับซ้อน จนเกิดเป็นระบบความคิด (mindset) ที่ฝังแน่นจนกลายเป็นบุคลิกภาพ เมื่อมีสิ่งกระตุ้น จะแสดงออกในรูปแบบซ้ำๆเดิม

การเรียนรู้เดิมที่มีอยู่จึงเป็นอุปสรรค ที่ปิดกั้นการเรียนรู้ใหม่ที่แตกต่างจากเดิม ถ้าต้องการเรียนรู้ใหม่จึงต้องยกเลิกการเรียนรู้เดิม (unlearn) และเรียนรู้ใหม่เข้าไปแทนที่ (relearn)

ในชีวิตคนตั้งแต่เด็ก พบว่ามีการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้องมากมาย การเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้จึงต้องมีตลอดเวลา เพื่อให้พบความจริงในชีวิต การเรียนรู้แบบที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลึกๆถึงระบบความคิดความเชื่อเดิม จึงต้องทำให้เกิดการกระทบจิตใจด้วยประสบการณ์ใหม่ เพื่อกระตุ้นให้รู้สึกอย่างแรง จนเกิดการคิดแบบลึกซึ้ง และเปลี่ยนแปลงจากภายใน จึงจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างถาวร

ในการเรียนรู้สมัยใหม่นั้น ความคิดที่พัฒนาแล้วจะสามารถเลือกการเรียนรู้ ที่เหมาะกับผู้เรียน Metacognition ผู้สอนจึงควรเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียนและออกแบบให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้

 

แนวทางการเรียนรู้แบบจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology)

ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดี เมื่อมีความพร้อมทางจิตใจ อารมณ์ และเกิดสิ่งต่อไปนี้

  1. อารมณ์บวก (positive emotion) คือความรู้สึกด้านดี ที่ทำให้อยากทำกิจกรรมนั้นได้ต่อเนื่องยาวนาน จนไม่อยากหยุด ได้แก่ ความสนุก ท้าทาย ตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็น  เพลิดเพลิน ฯลฯ เกิดจากกิจกรรมที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม ได้ทำด้วยตัวเอง เกิดการสัมผัสด้วยประสาทต่างๆ ทางตา หู จมูก ผิวหนัง ผ่านการเคลื่อนไหว สังเกตอารมณ์และความรู้สึกตัวเองไปกับการกระทำ แล้วถอดบทเรียน สรุป ความคิดรวบยอด สร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง เป็นแนวทางการเรียนรู้แบบ constructivism
  2. มีส่วนร่วม (engagement) คือความมีส่วนร่วม ผู้เรียนจะรู้สึกเป็นเจ้าของ อยากทำ ทำแล้วรู้สึกดี
  3. ความสัมพันธ์ (relationship) คือ ความเป็นส่วนร่วมเดียวกัน ความสัมพันธ์ที่ดี ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย กล้าแสดงออก ไม่กลัวผิด
  4. มีความหมาย (meaning) ผู้เรียนเห็นคุณค่าของสิ่งเรียน การนำไปใช้ประโยชน์ เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ทำให้ผู้เรียนรู้สึกดีกับการเรียนรู้นั้น
  5. ความสำเร็จ (achievement) ผู้เรียนเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จ

ข้อ 2-5 ทำให้เกิด ข้อ 1 อย่างมาก

บทบาทครูแพทย์

ครูแพทย์ช่วยสร้างแพทย์ โดยการส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม 3  ด้าน

  1. ความรู้ (Cognitive Domain) ความรู้พื้นฐานทางสังคมและมนุษย์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ และการแพทย์
  2. ทักษะ (Psychomotor Domain) แยกออกเป็น
  • ทักษะทางการแพทย์ (Professional Skills) การซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจทางห้องปฏิบัติการ การทำคลอด ทำแผล ฉีดยาฯลฯ
  • ทักษะของความเป็นมนุษย์ (Life Skills) การเข้าใจตนเอง พัฒนาจิตใจตนเอง การเข้าสังคม communication collaboration creativity critical thinking contemplative thinking
  1. ทัศนคติ (Affective Domain) การเป็นแพทย์ที่มีหัวใจมนุษย์ การเข้าใจผู้ป่วย และผู้อื่น ความเห็นอกเห็นใจอยากช่วยเหลือผู้อื่น การเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต

 

 

 

Coach and Mentor

เป้าหมายของ coach และ mentor คือ การช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม เพื่อเป็นแพทย์ที่ดี ข้อแตกต่างของ coach และ mentor คือ

  Coach Mentor
Area Task, with specific agenda Life, with unspecific agenda
Focus Performance Individual
Improvement Job Personal growth
Technic Facilitating Role model
Return Material value Spiritual value
Relationship Job allocating Chemistry matching
Duration Medical years Lifelong
Outcome Good doctor Excellent doctor

 

การเป็น coach และ mentor

  1. สร้างความสัมพันธ์ที่ดี เริ่มต้นตั้งแต่แรกที่รู้จักกัน ควรมีข้อมูลพื้นฐาน ประวัติส่วนตัว ครอบครัว
  2. รู้จักเป็นรายบุคคล มีกิจกรรมที่ช่วยให้รู้จักรายละเอียดส่วนบุคคลเพิ่มเติม
  3. ทัศนคติดี ยอมรับในความเป็นบุคคลที่แตกต่าง เข้าใจที่มาของนิสัย พฤติกรรม
  4. การสื่อสาร มีการสื่อสารทางบวก ที่ช่วยให้เกิดความคุ้นเคย เป็นกันเอง ปลอดภัย
  5. การ feedback มีการชม และตักเตือน ด้วยความห่วงใย โดยใช้เทคนิคการให้ข้อมูลป้อนกลับทางบวก
  6. การติดตามต่อเนื่อง มีการติดตามพฤติกรรม ผ่านทางกิจกรรม หรือ ผลงาน เช่น การเขียน reflection ท้ายกิจกรรมสำคัญ

 

 

ระบบที่ช่วยส่งเสริม coaching และ mentoring

คณะแพทย์ศาสตร์สามารถส่งเสริม ได้ดังนี้

  1. มีระบบ coaching and mentoring ชัดเจน ในการศึกษาทุกระดับ และการทำงาน มีการสอนงานแก่ผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นงานทุกระดับ อาจารย์แพทย์ทุกคนมีบทบาทเป็น coach และ mentor ได้รับการยอมรับและบรรจุอยู่ในภาระงาน
  2. มีการเรียนรู้เรื่อง Coaching and Mentoring แก่บุคลากรทุกระดับ ตั้งแต่ นักศึกษา อาจารย์ ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ และให้ถือเป็นนโยบายหลักในการทำงาน มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติ และตัวชี้วัด
  3. มีการกำกับดูแลละติดตามต่อเนื่อง บันทึกในระบบที่ตรวจสอบได้ เช่น แฟ้มสะสมผลงาน (portfolio)

หลักการ Coaching and Mentoring

  • เข้าใจทฤษฎีพฤติกรรม การเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (behavior theory) เข้าใจการเรียนรู้ของวัยผู้ใหญ่ (transformative learning) ความแตกต่างการเรียนรู้ ประสบการณ์เดิมของนักศึกษา เป็นรายบุคคล
  • ช่วยกันค้นหาความแตกต่างระหว่างเป้าหมาย และสถานการณ์ปัจจุบันช่วยกำหนดเป้าหมายรายบุคคลโดยสร้างแรงจูงใจจากภายใน สิ่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง กำหนดเป้าหมาย วางแผน โดยครูเป็นผู้ช่วย
  • ใช้ความสัมพันธ์และการสื่อสาร เพื่อสร้างแรงจูงใจ การเรียนรู้และพัฒนาด้วยตัวเอง
  • ติดตาม ให้กำลังใจ สร้างโอกาสการเรียนรู้ใหม่ตามความต้องการ

เทคนิคที่ใช้

  1. ความสัมพันธ์ที่ดี เป็นแบบสองทาง ที่มีการกำหนดวัตถุประสงค์ และ ภาระงานชัดเจน
  2. การเป็นต้นแบบ Role modeling
  3. การสื่อสาร การฟัง จับใจความ(ความรู้สึก ความคิด ทัศนคติ นิสัย ค่านิยม) การทวนใจความ การใช้คำถาม การเข้าใจ ใส่ใจ มีอารมณ์ร่วม ทัศนคติที่ดี อยากช่วยเหลือ การสร้างแรงจูงใจ motivational interviewing, feedback, I-You message  การสำรวจตนเอง  เพื่อให้ค้นหาตัวเอง อยากรู้เกี่ยวกับตนเอง การให้กำลังใจ positive and negative reinforcement, praising

องค์ประกอบการสื่อสาร

  1. ผู้ส่งข้อมูล (coach or mentor)
  2. ผู้รับข้อมูล (coachee or mentee)
  3. ข้อมูลที่ต้องการสื่อสาร (Message)
  4. สิ่งแวดล้อมของการสื่อสาร (Environmental Context)
  5. เทคนิคการสื่อสาร( Techniques of Communication) เช่น การสื่อสารทางเดียว  หรือสองทาง

 

 

 

GROW Model for Coaching

เทคนิคที่แพร่หลายในการโค้ช คือการสำรวจลงไปใน เรื่องต่อไปนี้ตามลำดับ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในด้วยตัวเอง

  • Goal เป้าหมายคืออะไร เป้าหมายระยะสั้น ระยะยาว เกิดจากอะไร มีอะไรเป็นแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ ที่ผ่านมาทำได้สำเร็จอะไรบ้าง
  • Current Reality สถานการณ์จริงในปัจจุบันเป็นอย่างไร มีอะไรทำได้ ทำไม่ได้
  • Options (or Obstacles) มีทางเลือกอะไรบ้างในขณะนี้ มีปัญหาอุปสรรคอะไร ทำไม่ได้เพราะอะไร
  • Will (or Way Forward) คิดว่าจะเลือกทางใด เพราะอะไร ข้อดี ข้อด้วย จะเผชิญด้วยวิธีใด ต้องการข้อมูลหรือความช่วยเหลืออะไรอีก ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไร

โค้ช จะเป็นผู้ตั้งคำถามดีๆ ทำให้เกิดการคิด ไตร่ตรอง ตระหนัก และตัดสินใจด้วยตัวเอง ใช้แนวทาง nondirective counseling

โค้ชอาจใช้ GROW Model นี้ในกลุ่มขนาดเล็ก ตั้งคำถามชวนคิด ระดมสมอง  แลกเปลี่ยน ถกเถียง หาข้อสรุปและแนวทาง ทางเลือก เพื่อให้นำไปใช้ในชีวิต

 

SOAP Technique in Coaching

S-Subjective สิ่งที่ coachee คิด รู้สึก ทำ ประเมิน

O-Objective สิ่งที่ coach คิด รู้สึก ทำ ประเมิน คาดหวัง ต้องการ

A-Assessment ผลในปัจจุบัน

P-Plan การวางแผนต่อไป

 

ความแตกต่างระหว่าง Coaching Mentoring และ Counseling

  Coaching Mentoring Counseling
เป้าหมาย พัฒนางาน พัฒนาคน แก้ปัญหาคน
เวลา ปัจจุบัน อนาคต อดีต
เน้น วิเคราะห์งาน วิเคราะห์ตน วิเคราะห์ทางออก

 

 

 

เทคนิคการสื่อสารที่ดีสำหรับโค้ช

เทคนิคการสื่อสารเชิงบวก (positive communication) กับนักศึกษา  มีดังนี้

1.ทัศนคติที่ดี (Good Attitudes)

ทัศนคติของผู้สื่อสารที่ดี ทำให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจ  ร่วมมือ  เปิดเผย ยอมรับได้ง่าย  คือท่าทีด้านบวกยอมรับแบบไม่มีเงื่อนไข (unconditional positive regard)  มองในแง่ดีเป็นกลาง (neutral)  มีความเข้าใจ(understanding)  อยากช่วยเหลือ (empathy)  เห็นใจ (sympathy)  เริ่มต้นจากการมองด้านดี  ค้นหา  และหยิบยกมาเริ่มต้นในการสนทนา  หรือการสอน  ความรู้สึกดีนี้จะถ่ายทอดเป็นท่าที  สายตา  และท่าทางที่รับรู้ได้  และเกิดการยอมรับ  เปิดช่องการสื่อสารกันสองทาง (two-way communication)  ในการเรียนการสอน  หรือ การฝึกอบรม  ครูที่สร้างทัศนคติที่ดีได้เร็ว  จะเป็นที่ยอมรับได้เร็วและมากกว่า

2.ทักทาย (Greeting)

ผู้สื่อสารสร้างประโยคทักทายที่อ่อนโยน  นุ่มนวล  เป็นกันเอง  อาจใช่เทคนิค (small talks)  คือประโยคทักทาย ถามเรื่องง่ายๆ แสดงความเป็นกันเอง โดยไม่คุกคาม พยายามเรียกชื่อมากกว่าใช้สรรพนาม  เช่น

“สวัสดีครับ  ………(เรียกชื่อ)”

“………(ชื่อ)เมื่อกี้ทำอะไรอยู่ครับ”

“ทานข้าวแล้วหรือยัง………(ชื่อ)”

ถ้าครูรู้ข้อมูลพื้นฐานบ้าง  เช่น ชอบอะไร ทำอะไร  เพื่อนเป็นใคร  โดยเฉพาะด้านดีๆ  จะหาทางเริ่มต้นคุยได้ นุ่มนวล  และสังเกตว่าพยายามเอ่ยชื่อเพื่อแสดงความรู้จัก สร้างความคุ้นเคยเสมอ หลีกเลี่ยงคำว่า “เธอ” หรือสรรพนามอื่น

ในกรณีที่ยังไม่รู้จักกัน  ครูควรแนะนำตัวเอง  วัตถุประสงค์ของการคุยกัน  เวลาที่จะคุยกัน  เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจ  บรรยากาศผ่อนคลาย และเป็นกันเอง

3.เริ่มต้นจากจุดดี (Beginning with Positive Aspects)

ไม่ว่าเรื่องที่จะคุยกับนักศึกษาเรื่องบวกหรือ ลบ  ให้เริ่มต้นจากการแสดงความยินดี  รับรู้  ข้อดีของนักศึกษาก่อนเสมอ ข้อดีนั้นสังเกตจากตัวนักศึกษาเอง

“ครูดีใจที่ได้คุยกับ…..(ชื่อ)   (พยายามเรียกชื่อ  ดีกว่าใช้คำ “เธอ”)

“ครูยินดีกับผลการสอบที่ผ่านมา”

“การประกวดที่ผ่านมา  เธอทำได้ดีมากนะ”

“ขอบคุณที่มาตามนัด (ที่นัดมาพบครู)”

4.การสำรวจลงไปในปัญหา (Exploration)

ครูพยายามสำรวจความรู้ ความเข้าใจ  ของนักศึกษา  โดยใช้เทคนิคการถาม

“ทราบหรือไม่ว่าครูอยากคุยด้วยเรื่องอะไร”

“ช่วยเล่าให้ครูฟังว่าเกิดอะไรขึ้น”

“เป็นอย่างไร ถึงมาพบครูที่นี่”

เรื่องที่นักศึกษาไม่อยากเล่าในช่วงแรก ควรข้ามไปก่อน แต่ทิ้งท้ายไว้ว่ามีความสำคัญที่น่าจะกลับมาคุยกันอีกในโอกาสต่อไป

“เรื่องนี้น่าสนใจมาก สำคัญทีเดียว   ยังไม่อยากเล่าในตอนนี้ ไม่เป็นไร เอาไว้เมื่อพร้อมที่จะเล่าแล้วค่อยเล่าก็ได้ ครูจะขอคุยเรื่องอื่นก่อน แล้วจะขอย้อนกลับมาคุยเรื่องนี้ทีหลัง ดีไหม”

ในการสำรวจลงลึกในประเด็นปัญหา  ควรสังเกตท่าที  ความร่วมมือ  การเปิดเผยข้อมูล  ว่านักศึกษามีความไว้วางใจมากน้อยเพียงไร  มีเรื่องใดที่ยังกังวล เช่น  ไม่แน่ใจว่าครูจะไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง หรือเปิดเผยให้คนอื่นรู้หรือไม่ ซึ่งอาจมีผลเสียตามมา  ครูควรให้ความมั่นใจเรื่องนี้ โดยเน้นการรักษาความลับ (confidentiality)  ดังนี้

“เรื่องที่คุยกันนี้  ครูคงไม่นำไปบอกพ่อแม่ หรือคนอื่นๆฟัง”

“ถ้ามีเรื่องที่ครูจำเป็นต้องบอกพ่อแม่  ครูจะคุยกับเธอก่อน”

  1. การฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening)

การสื่อสารที่ดีควรเป็นไปแบบสองทางเสมอ  คือการฟัง  และการพูด  แต่ในระยะแรกควรพยายามกระตุ้นให้นักศึกษาพูดและแสดงออกมากๆ  เพื่อลดความเครียดและการป้องกันตนเอง สร้างทัศนคติให้รู้สึกว่า “ครูสนใจ และฟังนักเรียน”

การฟังอย่างตั้งใจ (active listening) แสดงออกโดยมีความสนใจ จดจำรายละเอียด พยายามเข้าใจความคิดความรู้สึก  สอบถามเมื่อสงสัย ให้นักศึกษาขยายความ  และสอบถามความคิด ความรู้สึกเป็นระยะๆ

ในขณะฟังอย่าเพิ่งคิดว่าจะพูดอะไรต่อไป  ให้สนใจจดจำประโยคที่นักศึกษาพูด และทวนความ  นักศึกษาจะรู้สึกประทับใจที่ครูสนใจ  จดจำ  ให้เกียรตินักเรียน  และจะร่วมมือเปิดเผยมากขึ้น

ในระยะเริ่มต้น ควรฟังข้อมูลพื้นฐาน เรื่องส่วนตัว ในอดีต เพื่อให้เข้าใจพื้นฐานของนักศึกษาก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยสำรวจด้วยคำถาม ลงลึกไปในเรื่องที่ละเอียดอ่อนขึ้น

6.หลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า  “ทำไม” 

การใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า  “ทำไม…..” มักทำให้เกิดความรู้สึกด้านลบ  เช่น

“ทำไมเธอเข้าเรียนสาย”  จะสื่อสารความหมาย 2  แบบ คือ

  • เธอแย่มาก
  • ถ้ามีเหตุผลดีๆ ก็มาสายได้

ผลที่ตามมาคือ นักศึกษาจะพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตนเองมากขึ้น  เพื่อพยายามยืนยันว่า  ความคิดและการกระทำของเขาถูกต้อง  เป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้เถียงแบบข้างๆคูๆ  ในที่สุดครูก็จะโมโหนักศึกษาเสียเอง ดังนั้นพยายามหลีกเลี่ยงคำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ทำไม”   ถ้าต้องการทราบเหตุผลจริงๆ  ของพฤติกรรมนั้น  ให้เปลี่ยนเป็นคำถามต่อไปนี้

“ครูอยากรู้จริงๆว่าอะไรทำให้เธอทำอย่างนั้น”

“พอจะบอกครูได้ไหมว่า  เธอคิดอย่างไรก่อนที่จะทำอย่างนั้น”

“เกิดอะไรขึ้น  ทำให้เธอมาสายในวันนี้”

“เหตุการณ์เป็นอย่างไร  ลองเล่าให้ครูเข้าใจหน่อย”

7.ใช้คำพูดที่ขึ้นต้นด้วย  “ฉัน…” ( I-Message)  แทนที่ “เธอ…” (You-Message) 

ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย  “เธอ”  หรือ “คุณ”  นั้นเรียกว่า You-message มักแฝงความรู้สึกด้านลบ  คุกคาม และตำหนิ   การสื่อสารที่ดีควรเปลี่ยนเป็นประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “ฉัน”  หรือ “ผม” ที่เรียกว่า  I-message ที่สร้างความรู้สึกนุ่มนวลกว่า  สังเกตการเปรียบเทียบประโยคต่อไปนี้

“เธอนี่แย่มากที่มาสาย” (You-message) ให้แทนด้วย  “ครูไม่ชอบการที่นักเรียนมาสาย”(I-message)

“ทำไมเธอมาสาย” (You-message) ให้แทนด้วย  “ครูอยากให้นักเรียนมาเช้า” (I-message)

ทำไมพวกเธอไม่ตั้งใจฟัง” ให้แทนด้วย  “ครูไม่ชอบเวลาพูดแล้วไม่มีคนตั้งใจฟัง”

“เธอไม่ฟังครูเลย” ให้แทนด้วย  “ครูอยากให้นักเรียนหยุดฟัง  เวลาครูพูด”

“เธอทำอย่างนั้นไม่ดี” ให้แทนด้วย  “ครูเสียใจที่เธอทำเช่นนั้น”

ลองฝึกใช้คำพูดสร้างความรู้สึกดีๆ ที่ขึ้นต้นด้วยฉัน หรือ ครู  ต่อไปนี้บ่อยๆ

“ครูอยากให้เธอ….”

“ครูจะดีใจมากที่…”

“ครูคิดว่า….”

“ครูกังวลว่า…”

8.กระตุ้นให้บอกความคิด  ความรู้สึกความต้องการ และพฤติกรรม (Sharing of Behavior Triangle)

ครูช่วยกระตุ้นให้นักศึกษามีทักษะในการสื่อสารมากขึ้น กล้าพูด  กล้าบอกสิ่งที่ตัวเองคิด  รู้สึก  และต้องการอย่างสุภาพ  ให้เข้าใจกัน  ทั้งต่อครูและเพื่อนๆด้วยกันเอง

ครูช่วยกระตุ้นเรื่องนี้ได้  ด้วยการฝึกรายบุคคล

“ปีนี้ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้อย่างไร”

“อยากได้อะไรบ้างจากการเรียนวิชานี้”

“เธอคิดอย่างไร  เรื่องนี้..”

“เธอรู้สึกอย่างไร  ลองเล่าให้ครูฟัง…”

“เธอต้องการให้เป็นอย่างไร…”

ครูควรรับฟังนักศึกษามากๆ  ให้เขารู้สึกว่า  การพูดบอกเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เป็นที่ยอมรับ และสามารถบอกกับเพื่อนๆได้ด้วย

ในระยะท้ายๆ  เมื่อความสัมพันธ์ดี  สังเกตท่าทีว่าเริ่มยอมรับยอมฟังบ้างแล้ว  ครูอาจสื่อสารสิ่งที่ครูคิด  รู้สึก  และต้องการอย่างนุ่มนวล  สงบ  สั้นๆ  เป็นแนวทางให้เขาปฏิบัติได้

9.สะท้อนความรู้สึก  (Reflection of Feeling)

การสะท้อนความรู้สึก  ช่วยสร้างความรู้สึกการประคับประคองทางจิตใจ (emotional support)  แสดงถึงความเข้าใจ  สนใจนักศึกษา  ถ้าไม่แน่ใจว่านักศึกษารู้สึกอย่างไร ให้ถามความรู้สึก  เช่น

“เธอคงเสียใจ  ที่โดนลงโทษ” (สะท้อนความรู้สึก)

“หนูรู้สึกอย่างไรบ้าง  ที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน” (ถามความรู้สึก)

“เธอรู้สึกอย่างไรบ้าง  เมื่อเพื่อนทำอย่างนั้น”  (ถามความรู้สึก)

“เธอคงโกรธที่ถูกเพื่อนแกล้ง”  (สะท้อนความรู้สึก)

“เรื่องที่คุยกันนี้คงจะกระทบความรู้สึกของเธอมาก  ครูจะคุยกันต่อได้ไหม” (สะท้อนความรู้สึก)

“เธออึดอัดใจที่ครูถามถึงเรื่องนี้”

“เธอกังวลใจจนนอนไม่หลับ”

การสะท้อนความรู้สึกจะช่วยให้นักศึกษาเกิดความรู้สึกว่าครูเข้าใจความรู้สึก เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

การสะท้อนความรู้สึก ช่วยในการตอบคำถามหรือตอบสนองบางสถานการณ์ได้ เช่น

นักศึกษา(พูดอย่างโกรธๆว่า)    “ครูไม่เข้าใจผมหรอก”

ครู (ใช้เทคนิคการสะท้อนความรู้สึก )  “เธอคงรู้สึกหมดหวัง ไม่มีใครเข้าใจปัญหานี้”

10.ถามความคิดและสะท้อนความคิด (Reflection of Thinking)

การสอบถามความคิด  ช่วยให้เกิดความเข้าใจความคิดนักศึกษา  และแสดงความสนใจและให้เกียรติความคิดเขา เช่น

“เมื่อเธอโกรธ  เธอคิดจะทำอย่างไรต่อไป”  (ถามความคิด)

“ผมอยากกลับไปชกหน้ามัน”

“เธอโกรธมากจนคิดว่าน่าจะกลับไปชกหน้าเขา”  (สะท้อนความรู้สึกและความคิด)

การถามและสะท้อนความรู้สึกและความคิด  มีข้อดีที่ทำให้นักศึกษารู้สึกว่า  เราพยายามเข้าใจความคิด และความรู้สึกของเขา  ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี  เป็นพวกเดียวกัน  และจะเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น  เมื่อความสัมพันธ์ดี  การชักจูงให้เปลี่ยนพฤติกรรมจะง่ายขึ้น

11.การกระตุ้นให้เล่าเรื่อง (facilitation)

การกระตุ้นให้เล่าเรื่องราว  ทำได้โดยใช้ชุดคำถามที่จูงใจ  ตามปัญหา หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น

“ครูทราบเบื้องต้นมาว่า…”

ครูอยากฟังจากเธอเอง  ลองเล่าให้ครูฟังว่าเกิดอะไรขึ้น”

การกระตุ้นจะง่ายขึ้นถ้าครูแสดงท่าทียอมรับ (unconditional positive regard)  ร่วมด้วย  เช่น

“เรื่องที่พูดยาก หรือยังบอกไม่ได้ ขอให้บอกครูด้วย”

“ใครๆที่อยู่ในสภาพเดียวกับเธอ   คงทำใจยอมรับได้ลำบากเหมือนกัน”

“บางทีมันก็ยากที่จะเล่าเรื่องข้างส่วนตัว พร้อมเมื่อไรค่อยเล่าก็ได้”

“เรื่องใดที่ยังไม่พร้อมจะคุย ขอให้บอก”

การสำรวจลงลึก (exploration)

“มีอะไรที่ทำให้รู้สึกหนักใจ กังวลใจ หงุดหงิดใจ”

“ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร”

การสำรวจตนเอง (self perception)

“คิดว่าตัวเอง เป็นคนอย่างไร”

“ข้อดีของตัวเอง”

“อยากให้ตัวเองเปลี่ยนแปลงอย่างไร”

การวางแผน (problem solving and planning)

“คิดอย่างไรกับเรื่องราวที่ผ่านมา

“คิดทางแก้ไขไว้อย่างไรบ้าง”

“ปัญหาอื่นๆละ  มีอะไรหนักใจหรือไม่”

ในตอนท้าย ลองสำรวจในเรื่องอื่นๆ ในตอนท้าย เช่น เรื่องความสัมพันธ์ของพ่อแม่  ความสัมพันธ์กับน้อง หรือญาติคนอื่นๆ

“วางแผนไว้อย่างไรบ้าง ระยะสั้น  ระยะยาว”

12.การใช้ภาษากาย  (Nonverbal Communication)

การสัมผัส สีหน้า แววตา  ท่าทาง ให้เกิดความเป็นกันเอง อยากเข้าใจ อยากช่วยเหลือ ไม่ตัดสินความผิด หรือแสดงการไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมหรือสิ่งที่วัยรุ่นเปิดเผย

  1. แสดงท่าทีเป็นกลาง เข้าใจพฤติกรรม (Nonjudgmental Attitude)

“ความสนใจเรื่องเพศในวัยรุ่น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ  เธอสนใจเรื่องนี้บ้างไหม”

“เพื่อนบางคนอาจลองใช้ยาเสพติด เคยลองบ้างไหม”

14.ชมบนหลังคา  ด่าที่ใต้ถุน

เมื่อนักศึกษามีพฤติกรรมดี  ครูควรมีเทคนิคในการชม  ให้เกิดความภาคภูมิใจตนเอง   ควรชมให้ผู้อื่นทราบด้วย  หรือร่วมชื่นชมด้วย    และเมื่อชมแล้วอาจเสริมให้รู้สึกต่อไปว่า  เขาคงจะพอใจที่ตัวเองเป็นคนดีด้วย   ต่อไปนักศึกษาจะชื่นชมตัวเองเป็น  ไม่ต้องรอให้คนอื่นเห็นความดีของตน  หรือรอให้คนอื่นชมเสมอไป  ดังตัวอย่างนี้

“ครูดีใจมากที่เธอช่วยเหลือเพื่อน  เธอคงรู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ทำเช่นนั้น  ใช่ไหม”

“พวกเราภูมิใจที่เธอได้รางวัลครั้งนี้  ช่วยกันตบเมือให้หน่อย  เธอคงภูมิใจในตัวเองเหมือนกันใช่ไหมจ๊ะ”

ในทางตรงกันข้าม  เมื่อนักศึกษามีพฤติกรรมไม่ดี  ครูควรมีเทคนิคในการตักเตือน   เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  แต่เวลาเตือน อย่าให้เกิดความรู้สึกอับอาย  ให้นักเรียนค่อยๆคิด  และยอมรับด้วยตัวเอง  อย่าให้เสียหน้า  การเตือนเรื่องที่น่าอับอายควรเตือนเป็นการส่วนตัว  ก่อนจะเตือน  ควรหาข้อดีของเขาบางอย่าง  ชมตรงจุดนั้นก่อน  แล้วค่อยเตือนตรงพฤติกรรมนั้น เช่น

“ ครูรู้ว่าเธอเป็นคนฉลาด  แต่ครูไม่เห็นด้วยกับการที่เธอเอาของเพื่อนไปโดยไม่บอก” (ใช้ I-message ร่วมด้วย)

“ครูเห็นแล้วว่าเธอมีความตั้งใจมาก  แต่งานนี้เป็นงานกลุ่ม ที่ครูอยากให้ช่วยกันทำทุกคนนะจ๊ะ”

15.ตำหนิที่พฤติกรรม  มากกว่า ตัวบุคคล  

การตำหนิต้องระวังการต่อต้านไม่ยอมรับ  ซึ่งเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตามกลไกทางจิตใจที่ปกป้องตนเอง  เมื่อเริ่มต้นไม่ยอมรับ  จะไม่สนใจฟัง  ไม่เชื่อ  ไม่ยอมรับสิ่งที่ครูบอก(แม้ว่าเรื่องที่พูดต่อมาเป็นเรื่องจริง)

วิธีการที่ทำให้นักศึกษายอมรับ  และไม่เสียความรู้สึกด้านดีของตนเอง  สามารถทำได้ด้วยการเปลี่ยนการตำหนิที่ตัวนักศึกษา  เป็นการตำหนิที่พฤติกรรมนั้น  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“เธอนี่แย่มาก  ขี้เกียจจังเลยถึงมาสาย” เปลี่ยนเป็น   “ การมาโรงเรียนสาย  เป็นสิ่งที่ไม่ดี”

“เธอนี่โง่มากนะ  ที่ทำเช่นนั้น” เปลี่ยนเป็น  “ การทำเช่นนั้น  ไม่ฉลาดเลย”

“เธอนี่เป็นคนเอาเปรียบเพื่อนนะ”  เปลี่ยนเป็น “ครูไม่ชอบการไม่ช่วยเหลืองานกลุ่ม   งานนี้ทุกคนต้องช่วยกัน “

ไม่ควรใช้คำพูดทำนองว่า  เป็นนิสัยไม่ดี  หรือสันดานไม่ดี  เพราะจะทำให้นักศึกษาต่อต้าน  การตำหนิไปถึงพ่อแม่  เช่น  “อย่างนี้พ่อแม่ไม่เคยสอน  ใช่ไหม”  สร้างความรู้สึกต่อต้านอย่างแรง  เป็นอันตรายต่อการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์

16.การกระตุ้นให้คิดด้วยตนเอง (Facilitating to Problem Solving)

ในการฝึกให้นักศึกษาแก้ปัญหานั้น  ควรฝึกให้นักศึกษาคิดเองก่อนเสมอ  เมื่อนักศึกษาคิดไม่ออกหรือ ไม่รอบคอบ ครูอาจช่วยชี้แนะในตอนท้าย  เช่น

“เธอคิดว่าปัญหาอยู่ที่ไหน”  (ให้คิดสรุปหาสาเหตุของปัญหา)

“แล้วเธอจะทำอย่างไรต่อไปดี”  (ให้คิดหาทางออก)

“ทางออกแบบอื่นละ  มีวิธีการอื่นหรือไม่”  (ให้หาทางเลือกอื่นๆ  ความเป็นไปได้อื่นๆ)

“ทำแบบนี้  แล้วคาดว่าผลจะเป็นอย่างไร”  (ให้คิดถึงผลที่ตามมา)

“เป็นไปได้ไหม  ถ้าจะทำแบบนี้…(แนะนำ)…เธอคิดอย่างไรบ้าง”

  1. การประคับประคองอารมณ์ (Emotional Support)

ครูช่วยให้จิตใจ อารมณ์ของนักศึกษาจะดีขึ้น  เมื่อเกิด :

  • ความหวังด้านบวก (hope) เช่น

“การพูดคุยกันในวันนี้น่าจะช่วยให้ครูเข้าใจมากขึ้น”

  • การได้ระบายความรู้สึก (ventilation) เช่น

“การร้องไห้ ได้ระบายความทุกข์ใจ ก็ช่วยให้ใจสบายขึ้น”

“ครูอยากให้เล่าเรื่องที่ไม่สบายใจ  อาจทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ดีขึ้น”

  • การชมเชย (positive reinforcing) เช่น

“ครูคิดว่าเป็นการดีมาก   ที่…อยากจะเข้าใจตัวเอง   …….อยากแก้ไขเปลี่ยนแปลง”

“ดีนะที่…..มีความสนใจในเรื่องการเรียน”

  • ความหวังในการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

“จากข้อมูลที่เล่ามาทั้งหมด ครูคิดว่า อาการต่างๆเกิดจากอารมณ์ซึมเศร้า อาการนี้พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆ แต่สามารถรักษาได้”

“ครูคิดว่า การตรวจทดสอบบางอย่างอาจจะช่วยให้เข้าใจสาเหตุของปัญหามากขึ้น จะแนะนำว่าน่าจะ….”

  1. การสรุปและยุติการสนทนา (Termination)

การยุติการสื่อสารในตอนท้าย ควรสรุปสิ่งที่ได้คุยกัน และวางแผนต่อไปว่าจะทำอะไร  ตอบคำถามที่นักศึกษาอาจจะมี  กำหนดการนัดหมายสนทนาครั้งต่อไป การยุติการสนทนาได้ดีจะช่วยให้วัยรุ่นร่วมมือมาติดตามการให้คำปรึกษา  และให้ร่วมมือในการให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือ ร่วมมือในการพบครั้งต่อไป

“คุยกันมานานแล้ว ไม่ทราบว่า …อยากจะถามอะไรครูบ้าง”

“ครูดีใจที่…ให้ความร่วมมือดีมาก ครูอยากจะพบเพื่อคุยเรื่องนี้อีก”

“สรุปแล้ววันนี้เราได้คุยอะไรกันบ้าง”  (ให้นักศึกษาสรุป)

“ครูเข้าใจมากที่เดียว  วันนี้สรุปว่า…..” (ครูเป็นผู้สรุป)

 

สรุป  ครูในโรงเรียนแพทย์ควรมีทักษะCoaching and Mentoring ใช้การสื่อสารเป็นหัวใจของการสร้างความสัมพันธ์  การเรียนรู้จากกัน  การทำงานร่วมกัน  เพื่อถ่ายทอดความรู้  ทัศนคติและค่านิยม  เปลี่ยนพฤติกรรม ให้นักศึกษาพัฒนาตนเองเป็นแพทย์ที่ดีและมีความสุข

 

 เอกสารอ้างอิง

  1. พนม เกตุมาน.  สุขใจกับลูกวัยรุ่น. บริษัทแปลน พับลิชชิ่ง  จำกัด,  กรุงเทพฯ: 2535:
  2. Angold A. Diagnostic interviews with parents and children. In: Rutter M, Taylor E, eds. Child and Adolescent Psychiatry.4th ed. Bath : Blackwell Science, 2002:32-51.
  3. Geldard D. Basic personal counselling: a training manual for counsellors. 3rd ed. Sydney : Prentice Hall, 1998:39-168.
  4. MacKinnon RA, Yudofsky SC. In: The psychiatric evaluation in clinical practice. Philadelphia : J.B.Lippincott Company,1986:35-84.
  5. Graham Alexander, Alan Fine, and Sir John Whitmore 1980s for business coaches https://www.mindtools.com/pages/article/newLDR_89.htm

 

9 สิงหาคม 2561

แผนที่ชีวิต Roadmap

 

Roadmap

นพ พนม เกตุมาน

ชีวิตของคนแต่ละคนมีเส้นทางเดินแตกต่างกัน ประสบการณ์เรียนรู้ตั้งแต่เด็ก จะสลับซับซ้อนขึ้นและสะสมไปตามวัย มีผลต่อพัฒนาการบุคลิกภาพ ทำให้คนเรามีความคิด ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน แผนที่ชีวิตเป็นเหมือนแบบจำลองโดยย่อของชีวิต ที่จะแสดงการเรียนรู้ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และแสดงต่อไปถึงจินตนาการที่จะวางแผนชีวิตในอนาคต การเขียนแผนที่ชีวิตช่วยให้ทบทวนชีวิตตนเอง เข้าใจตนเอง และวางแผนชีวิตในอนาคต

แผนที่ชีวิตตนเอง กระตุ้นให้มีการทบทวนตนเอง สื่อสาร การฟังอย่างตั้งใจ การเข้าใจ การเปิดใจตนเองแก่ผู้อื่น ในสิ่งแวดล้อมที่ไว้วางใจกัน ช่วยให้รู้จักกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น เป็นพื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์ และช่วยให้เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตผู้อื่น

เด็กและวัยรุ่นยุคใหม่ สามารถเรียนรู้ตนเอง และผู้อื่นได้ ช่วยให้เข้าใจตนอง เข้าใจผู้อื่น พัฒนาตนเอง มีเป้าหมายในชีวิต และใช้พลังได้อย่างมีคุณภาพ

วัตถุประสงค์กิจกรรม

  1. ทบทวนชีวิตตนเอง เข้าใจตนเอง (Self Reflection)
  2. สื่อสาร เปิดเผยตนเอง (Self Disclosure)
  3. การฟัง เข้าใจ (Deep Listening)
  4. ไว้ใจผู้อื่น (Trust)
  5. เรียนรู้จากชีวิตผู้อื่น เข้าใจผู้อื่น (Understanding and Learning)
  6. วางแผนในอนาคต (Mission and Goal)
  7. เข้าใจความหมายของชีวิต (Meaning of Life)

หลักการ

          การเปิดเผยตนเอง ช่วยให้เกิดความเข้าใจผู้อื่น ไว้วางใจ trust สร้างความสัมพันธ์ที่ดี (relationship) ลดอคติ (bias) เข้าใจตนเอง เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ในอดีต ที่มีผลต่อพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพ  และมีผลต่อการวางแผนในอนาคต

การเปิดเผยตนเอง ทำได้ดีเมื่อ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สงบ ปลอดภัยและเป็นมิตร ยอมรับฟังกัน

การจัดกิจกรรม

  1. กิจกรรมกลุ่ม จัดกลุ่มขนาดเล็ก 4-12 คน
  2. ถ้าเป็นกลุ่มใหญ่ ให้แบ่งเป็นกลุ่มย่อย คละกัน กลุ่มละ 4-12 คน (กลุ่มเล็กจะได้แสดงออกมาก รู้จักกันมาขึ้น ลงรายละเอียดได้มากว่ากลุ่มขนาดใหญ่) ควรแบ่งกลุ่มให้คละกัน ทั้งเพศ อายุ หน้าที่การงาน และอื่นๆ
  3. เวลา 90 นาที (60-180 นาที) ถ้าใช้เวลา 180 นาที ควรมีพักครึ่งระหว่างกลาง
  4. สถานที่ ห้อง นั่งพื้น หรือเก้าอี้ มีที่วาดรูป
  5. อุปกรณ์ กระดาษ A3 หรือ A4 คนละ หนึ่งแผ่น ดินสอคนละ หนึ่งด้าม สีเทียน pastel หรือสีดินสอ markers สีต่างๆ กลุ่มละ อย่างละ หนึ่งกล่อง ยางลบ กลุ่มละ หนึ่งก้อน

1.อธิบายกติกาของกิจกรรม ( 5-10 นาที)

  1. แบ่งกลุ่มทำงาน ประมาณ 6-8 คน มีเกมหรือกิจกรรมนำเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย และกล้าแสดงออก
  2. ทุกคนจะได้รับมอบหมายให้วาดรูปถนนชีวิตตนเอง ในกระดาษที่กำหนดให้ (กระดาษ A3 หรือ A4) ให้เวลา 15-20 นาทีตามตัวอย่าง เริ่มต้นตั้งแต่เกิด จน ตาย กำหนดอายุที่คาดหวังเอง นั่งทำคนเดียวเงียบๆไม่ปรึกษากัน เปิดเผยให้เพื่อนดูได้ แต่ไม่คุยกัน
  3. ถนนมีความคดเคี้ยว กว้างยาว มีแยก ตามประสบการณ์ชีวิตในอายุนั้น ใส่เลขอายุ หรือเวลากำกับตามเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
  4. ใส่รูปวาด หรือสัญลักษณ์แสดงความคิด ข้อคิด ประกอบเหตุการณ์ที่สำคัญ จุดเปลี่ยนของชีวิต ทางแยกที่ต้องตัดสินใจเลือก บุคคลที่ บุคคลที่รู้สึกปลอดภัย บุคคลสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สถานที่ปลอดภัย สถานที่สำคัญที่มีความหมายในชีวิต แล้วลงสีตามใจชอบสะท้อนความรู้สึก
  5. ถนนในอนาคต ให้จินตนาการเองว่า อยากจะเดินทางไปที่ใด อยู่กับใคร ทำอะไรตอนไหน ความฝันที่อยากทำ และบั้นปลายชีวิตจะทำอะไร เป้าหมายสูงสุดของชีวิต คืออะไร
  6. ลงชื่อที่มุมล่างขวามือ แล้วทบทวนตัวเองเงียบๆ ว่าถ้าจะเปิดเผยตนเองให้เพื่อนทราบ
  7. หลังจากวาดเสร็จ ให้เริ่มต้นจากคนใดคนหนึ่ง เล่าเรื่องแผนที่ชีวิตตนเองให้คนอื่นในกลุ่มฟัง ขอให้เปิดเผยตนเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยตั้งใจตั้งแต่ต้นว่า จะเปิดเผยเรื่องอะไรให้เพื่อนๆทราบ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากรูปถนนชีวิตนั้น และได้ฟังถนนชีวิตของคนอื่นที่มีความแตกต่างกัน มีกติกาว่า ในระหว่างที่เพื่อนพูด ให้ตั้งใจฟังอย่างสงบ พยายามเข้าใจชีวิตเพื่อนให้ได้มากที่สุด มีเรื่องใดที่เหมือนหรือแตกต่างจากชีวิตตนเอง ไม่ถามหรือแสดงความคิดเห็น เมื่อเพื่อนเล่าจบ ให้ถามได้ 1-2 คำถาม

2.ดำเนินกิจกรรม (45-60 นาที)

  1. ให้ทุกคนวาดรูปจนเสร็จในเวลาที่กำหนด เมื่อเสร็จแล้ว ให้ผลัดกันเล่าเรื่องแผนที่ชีวิตของตนเอง ให้เพื่อนในกลุ่มฟัง โดยมีกติกาว่า เวลาเพื่อนพูด ขอให้ทุกคนฟังอย่างตั้งใจ เรื่องที่รับฟังนี้อาจมีข้อมูลส่วนตัวที่ ไม่อยากให้คนอื่นนอกกลุ่มรับทราบ จึงขอให้ทุกคนที่ฟังแล้วไม่นำไปเล่าต่อโดยไม่ได้รับอนุญาต (เพื่อสร้างความรู้สึกไว้วางใจ ปลอดภัยที่จะเล่าเรื่องตนเอง)
  2. ผลัดกันอธิบายถนนชีวิตจนครบทุกคน ภายในเวลาที่กำหนด ประมาณ 45-60 นาที โดยให้เวลาเล่าคนละประมาณ 3-5 นาที จบแล้วให้โอกาสซักถาม 1-2 นาที
  3. เมื่อจบทุกคน ผู้นำกลุ่มถามในกลุ่มว่า รู้สึกอย่างไรบ้าง ในการเล่า และการฟัง
  4. ถามในกลุ่มว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากประสบการณ์ของคนอื่น เช่น ข้อคิด ทางแก้ปัญหา
  5. ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากประสบการณ์ของตนเอง เข้าใจตนเองเพิ่มเติมอะไรบ้าง
  6. ให้เวลาทุกคนแสดงความชื่นชมเพื่อนในกลุ่ม
  7. ให้กำลังใจ ให้คำแนะนำเพื่อนในกลุ่ม

ประเด็นเรียนรู้

  1. การเปิดเผยตัวเองมีความแตกต่างกัน บางคนกล้าพูด บางคนลังเล บางคนเปิดเผยมาก บางคนเห็นเพื่อนกล้าพูดจึงเริ่มกล้าตาม
  2. เมื่อเปิดเผยตนเองจะรู้สึกดี รู้สึกเป็นที่ยอมรับ (เพราะมีคนฟัง อย่างตั้งใจ) ได้ระบายความรู้สึก ได้แบ่งปันเรื่องราวทั้งด้านบวกและด้านลบ สิ่งที่ประทับใจ และการเรียนรู้จากอดีต
  3. ความไว้วางใจ บรรยากาศที่ปลอดภัย โอกาสที่ได้พูดและฟังแบบนี้ไม่มาก คงไม่มีใครมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังเอง
  4. การเปิดเผยตนเอง ช่วยให้รู้จักกันเร็วขึ้น และสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ไว้ใจเพื่อน และกล้าเปิดเผยมากขึ้น
  5. คนสำคัญ คนที่รู้สึกปลอดภัย มีบทบาทต่อชีวิตอย่างไร
  6. สถานที่สำคัญ สถานที่ปลอดภัย มีผลต่อชีวิตอย่างไร
  7. จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นตอนไหนในชีวิต เปลี่ยนโดยใคร เปลี่ยนได้อย่างไร มีผลอย่างไรต่อชีวิต เช่นเปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนพฤติกรรม เลิกทำอะไรบางอย่าง หรือเริ่มทำอะไรบางอย่าง
  8. การได้ฟังเป้าหมายชีวิตของคนอื่น มีผลต่อตนเองอย่างไร
  9. ได้ฟังตัวเอง เล่าเรื่องในอดีต แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
  10. ทบทวนตนเองว่ากิจกรรมนี้ได้เรียนรู้อะไร (reflection)
  11. แลกเปลี่ยนการทบทวนการเรียนรู้ในกลุ่ม (discourse)
  12. สรุปการเรียนรู้ ทีได้จากกิจกรรมนี้ (conceptualization)
  13. เสนอแนะการนำกิจกรรมนี้ไปใช้ประโยชน์

 

Tip

บทบาทผู้นำกลุ่ม ชวนทำ ชวนคิด

  1. ผู้นำกลุ่มวาดรูปแผนที่ชีวิตตนเอง และแสดงให้เป็นตัวอย่าง ให้เห็นว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องสวยงาม แต่สื่อความหมายได้ ไม่มีถูกผิด ให้ลองทำแล้วสำรวจใจตัวเองไปเรื่อยๆ
  2. เมื่อวาดเสร็จ ให้เก็บอุปกรณ์ให้เรียบร้อยก่อน ช่วยให้ทุกคนหยุดพร้อมกัน และมีสมาธิที่จะฟังเพื่อนต่อไป
  3. ให้ทุกคนโชว์ผลงานในกลุ่มพร้อมกัน มองภาพเพื่อนๆโดยยังไม่แสดงความเห็น ไม่ซักถาม เก็บความอยากรู้อยากเห็นไว้ในใจ
  4. ให้ทุกคนวางแผนที่ชีวิตคว่ำหน้าไว้ข้างหน้าตนเอง ขออาสาสมัครเริ่มเล่าเรื่องเป็นคนแรก และคนต่อๆไปจนครบ (หรือเวียนไปทางขวามือ) หรือให้คนเปิดเผยง่ายพูดเป็นคนแรก จะกระตุ้นให้คนอื่นในกลุ่มกล้าพูดตาม
  5. คนที่เปิดเผยเรื่องที่ไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน จะรู้สึกดีที่ได้เล่า รู้สึกตนเองมีความสำคัญ เพราะมีคนฟังอย่างตั้งใจ ได้แชร์ประสบการณ์ที่ฝังใจ เจ็บปวด เก็บกด จะรู้สึกผ่อนคลายที่ได้ระบายความทุกข์ที่เก็บไว้
  6. ให้ลองสำรวจต่อไปว่า มีครั้งใดในชีวิตที่ได้เล่าเรื่องแบบนี้ให้ใครฟัง เปรียบเทียบประสบการณ์
  7. ให้ลองคิดต่อไปว่า อะไรควรเล่า อะไรไม่ควรเล่า อะไรที่คิดว่าน่าจะเล่าแต่ไม่ได้เล่า เพราะเหตุใด (เช่น ยังไม่สนิทกัน ไม่รู้ว่าเล่าแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คนฟังจะคิดอย่างไร)
  8. การเรียนรู้ในกิจกรรมนี้ นำไปใช้ในชีวิตอย่างไร
  9. การเล่าและการฟัง ทำให้เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น ได้อย่างไร

Tip

  1. เวลารู้สึกไม่พอใจใคร หรือ รู้ตัวว่า ตนเองมีอคติต่อใคร ลองคุยกับเขาก่อนว่า เขาคิดอย่างไร และมีเหตุใดจึงทำเช่นนั้น เมื่อเข้าใจความคิดความรู้สึกผู้อื่นที่แตกต่างจากเรา จะช่วยให้ใจสงบ มีเมตตา และเข้าใจว่าพฤติกรรมของเขานั้นเกิดได้อย่างไร การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนอื่น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะระบบความคิด ความรู้สึกของคนนั้นเรียนรู้สะสมมาตั้งแต่เด็ก ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าตนเองไม่ตั้งใจจะเปลี่ยนแปลง
  2. เมื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน จะพบว่าทุกคนปัญหาในชีวิต มากน้อยแตกต่างกัน
  3. เหตุการณ์ในอดีตนั้น เมื่อได้เปิดเผยแล้ว ถ้ากลับไปแก้ไขได้ จะทำแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร
  4. ลองถาม และฟังความคิดของคนอื่นก่อนจะตัดสินใคร ไม่ควรตัดสินคนโดยอัตโนมัติ เพราะจะอิงความคิดความรู้สึกตัวเราเอง ซึ่งไม่ตรงตามความจริง
  5. ความคิดและความเชื่อของเราเอง เป็นการเรียนรู้ที่สะสมฝังแน่น จนกลายเป็นบุคลิกภาพ เมื่อเผชิญสิ่งแวดล้อมจะตอบสนองโดยอัตโนมัติ
  6. การแก้ไขการเรียนรู้เดิม ต้องมีสติ และความตั่งใจมั่น ฝึกฝน มิฉะนั้นความเคยชินทำให้ทำแบบเดิมโดยอัตโนมัติ

 

Tip การฝึกสติ

  1. การมีสติ ระลึกรู้ตัวเอง ช่วยให้วิเคราะห์ตัวเองด้วยใจเป็นกลาง
  2. ให้ฝึกสติ กำหนดลมหายใจ เรียนรู้ว่า ทำได้ยาก ต้องค่อยฝึกแบบสะสม จนรู้ตัวได้เร็ว
  3. เมื่อรู้ตัวสติตั้งมั่น จะวิเคราะห์ตนเองได้อย่างตรงความเป็นจริง ไม่เข้าข้างตนเอง และกำหนดใจให้ฝืนทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้ มากขึ้นเรื่อยๆ
  4. ใช้การฝึกฝืนใจตัวเอง เช่น กอดอกในวิธีตรงข้ามกับวิธีเดิม เมื่อทำซ้ำๆบ่อยๆ นาน 3 สัปดาห์ จะทำได้โดยไม่ฝืนใจ แสดงว่า พฤติกรรมของเราเปลี่ยนแปลงใหม่ได้ ถ้ามีแรงจูงใจ และการฝึกสม่ำเสมอ เพื่อแก้ไขการเรียนรู้เก่าๆ

 

 

ประสบการณ์พบได้ในกลุ่มกิจกรรมแผนที่ชีวิต

1.สมาชิกกลุ่มร้องไห้ บางคนเมื่อเปิดเผยเรื่องที่ทำให้เกิดความรู้สึกรุนแรง เช่น การสูญเสีย ความกลัวสุดขีดในเหตุการณ์ที่ผ่านมา

วิธีแก้ไข

  1. ให้หยุดกิจกรรมชั่วครู่ ให้ร้องไห้ได้ และ
  2. สะท้อนความรู้สึกผู้นั้น เช่น “คุณรู้สึกเสียใจมากที่พูดถึงเรื่อง…” หรือ เรื่องที่เล่ามาคงทำให้รู้สึกเสียใจขึ้นมาอีก”
  3. ให้ความรู้ “เวลาเราคิด เราจะรู้สึกไปด้วย ความคิดและความรู้สึกเป็นของคู่กัน ไม่มีอันตราย และเราควบคุมได้ ด้วยการหยุดคิด เช่น หยุดเล่าเรื่องนี้ชั่วคราว ฝึกลมหายใจ เปลี่ยนเรื่องพูดไป ให้คนอื่นเล่าเรื่องต่อไป เมื่ออารมณ์สงบ ให้ถามว่าอยากจะเล่าเรื่องต่อหรือไม่ ถ้าไม่พร้อมไม่เป็นไร  หรือให้เล่าเฉพาะเรื่องที่เล่าได้
  4. ให้กลุ่มช่วย support เช่น “ทุกคนรู้สึกร่วมไป ด้วย” “ มีใครอยากจะให้กำลังใจเพื่อนบ้าง ถ้าไม่มี “บางครั้งก็ยากเหมือนกันเวลาเห็นมีความทุกข์อยู่ตรงหน้า แล้วเราไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร

Tip : ลองนึกนึกถึงประโยคที่เห็นใน Facebook

  1. ไม่ตกใจกับการแสดงอารมณ์ ให้หยุดกิจกรรมชั่วครู่ และให้กลุ่มเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ เมื่ออารมณ์สงบให้ดำเนินกิจกรรมต่อไป การเปลี่ยนคนพูดจะช่วยเบนความสนใจ ( distraction) ช่วยให้เหตุการณ์และบรรยากาศสงบเร็ว
  2. อย่าปล่อยให้เงียบอยู่นาน กระตุ้นให้พูด “ใครมีความคิดเห็นอย่างไร”
  3. อย่าปล่อยให้ร้องไห้นาน โดยไม่จัดการให้กลุ่มรู้สึกสงบ
  4. ท่าทีของผู้นำกลุ่มต้องสงบ และควบคุมสถานการณ์ได้
  5. ถ้าไม่สงบให้ขอพักกลุ่ม ประมาณ 5-7 นาที เพื่อสงบเป็นรายบุคคล ถ้าไม่สงบให้แยกช่วยเหลือรายบุคคล
  6. การสงบจิตใจ ทำได้ง่ายด้วยการฝึกลมหายใจ (breathing exercise) ควรฝึกทันทีที่มีโอกาส เช่น เครียด กังวล เศร้า หรือมีความขัดแย้งในกลุ่ม
  7. สมาชิกกลุ่มไม่ค่อยกล้าแสดงออก

วิธีแก้ไข

  1. ผู้นำกลุ่ม เป็นผู้เริ่มต้น และ เชิญสมาชิกกลุ่มบางคนที่พร้อมก่อน
  2. พยายามให้วาดรูปแสดงพร้อมกัน
  3. เมื่อเริ่มต้นพูด ให้คนอื่นฟัง ถ้าใครอยากต่อเติมรูป ให้เวลาตอนท้าย

3.สมาชิกกลุ่มบางคนพูดมากเกินไป

วิธีแก้ไข

  1. กำหนดเวลาพูด ไม่เกิน 3 นาที ให้มีคนช่วยกำกับเวลา
  2. ช่วยเร่ง เมื่อพูดช้า หรือไม่เข้าประเด็น
  3. ตัดบทอย่างนุ่มนวล
  4. Reflection (10-20นาที)

                เมื่อจบกิจกรรม ให้กลุ่มช่วยกันสรุปการเรียนรู้

  1. คิดอย่างไร รู้สึกอย่างไรต่อกิจกรรมนี้
  2. เปรียบเทียบกับความคิด ความคาดหวังก่อนกิจกรรม
  3. ได้เรียนรู้อะไร วิเคราะห์ เปรียบเทียบการเรียนรู้กับการเรียนรู้เก่า
  4. สามารถเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไร ถ้าจะใช้เองจะทำอย่างไร จะทำแตกต่างไปจากนี้อย่างไร
  5. ข้อเสนอแนะ

Tip

  1. ใครเคยทำกิจกรรมนี้มาก่อน การเรียนรู้แตกต่างจากเดิมอย่างไร
  2. การเปิดเผยไม่เหมือนกัน บางคนจะเปิดเผยมากขึ้น ไม่อายในอดีต
  3. แผนที่ชีวิตนี้ อาจขออนุญาตกลุ่มเปิดเผย ให้ติดแสดง ในห้องประชุมกลุ่มใหญ่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากคนอื่นๆ นอกกลุ่มย่อย เมื่อจบกิจกรรม ให้เก็บไว้ติดตัว เป็นที่ระลึก เป็นเครื่องเตือนใจ ให้กลับมาทบทวนตนเองเป็นระยะๆ
  4. การมีเป้าหมายในชีวิต ความฝัน ช่วยสร้างแรงจูงใจ แรงบันดาลใจในชีวิต ทำให้มีความสุขในการดำเนินชีวิตมากขึ้น

 

การเรียนรู้

  1. ฝึกทักษะการฟังอย่างตั้งใจ (deep listening)
  2. เข้าใจตนเอง จากการได้ “ฟังตนเอง” (self reflection)
  3. ฝึกการมีอารมณ์ร่วม เห็นอกเห็นใจ ยอมรับ เข้าใจ (empathy)
  4. เป็นกันเอง สนิทสนมกันได้รวดเร็ว (trust and relationship)
  5. กล้าแสดงออก (self disclosure) กล้าเปิดเผยและสื่อสารความคิดความรู้สึกตนเอง
  6. ได้ระบายอารมณ์ ทำให้ความรู้สึกฝังใจในอดีตลดลง (emotional ventilation)
  7. รู้สึกดีที่ทุกคนมีปัญหาเช่นเดียวกับตนเอง (universalization) เมื่อได้ฟังเพื่อนมีปัญหามากกว่าตนเอง รู้สึกตัวเองโชคดี ไม่ทุกข์ใจกับปัญหาของตนเอง
  8. ความขัดแย้งเก็บกดลดลง อารมณ์สงบลง (conflict resolution)
  9. รู้สึกผ่อนคลาย ปลอดภัย ไว้วางใจกัน (safe place and safe person)
  10. ยอมรับพฤติกรรมของคนอื่น (acceptance)
  11. ได้ช่วยเหลือเพื่อน (group support)

 

 

ภาคผนวก

การประยุกต์ใช้

1.พัฒนาเป็นกิจกรรมลงลึก เพื่อให้เข้าใจตนเอง และผู้อื่นมากขึ้น

ถ้ามีเวลา หรือจัดกิจกรรมนี้ครั้งที่ 2 หรือครั้งต่อๆไป อาจเพิ่มกิจกรรมเหล่านี้ตามเวลาที่เหมาะสม ได้แก่

  1. ให้เปิดเผย idol ของตนเอง ว่าเป็นใคร มีอะไรประทับใจ
  2. ให้เล่าเรื่องที่ประทับใจมากที่สุด
  3. เรื่องที่ดีใจมากที่สุด เรื่องที่เสียใจมากที่สุด
  4. คติประจำตัว ได้มาอย่างไร ทำได้ หรือไม่ได้ เพระอะไร
  5. เล่าเรื่องเพื่อนสนิทที่สุด หนึ่งคน
  6. เรื่องที่อยากจะกลับไปแก้ไขในอดีต
  7. อยากขอโทษใคร
  8. เรื่องที่อยากเรียนรู้อะไรอีก เช่น ดำน้ำ โดดร่ม ทำอาหาร เล่นเปียโน
  9. ความฝันในอนาคต
  10. การเลือกแฟน คู่ครอง ตั้งชื่อลูก
  11. อนาคต ต้องการทำอะไร
  12. ความใฝ่ฝัน ในชีวิต
  13. Safe person
  14. Safe place
  15. Success
  16. Failure
  17. เป้าหมายของชีวิต
  18. สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเพื่อนในกลุ่ม

Tip ถ้ามีกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม ทำพร้อมกัน บางกลุ่มทำเสร็จก่อน ให้ทำกิจกรรมเสริมเหล่านี้ เพื่อรอกลุ่มอื่น เมื่อเสร็จทุกกลุ่มแล้วให้ reflection พร้อมกัน การแบ่งปัน reflection ช่วยเพิ่มเติมการเรียนรู้ โดยเรียนรู้เพิ่มเติมจากคนอื่น

2.การนำไปใช้ในในกิจกรรมพัฒนาองค์กร ใช้นำในการสร้างความสัมพันธ์ในบุคลากรที่ทำงานร่วมกัน

  1. ใช้ทำความรู้จักกันกลุ่มเล็กที่ต้องมีความสัมพันธ์กันยาวนานในกลุ่มงาน
  2. ใช้สอนเรื่อง พัฒนาการบุคลิกภาพ ความแตกต่างของบุคคล การเข้าใจผู้อื่น
  3. อาจารย์ที่ปรึกษา ใช้ทำกิจกรรมกับนักศึกษา ทำให้นักศึกษารู้จักกันเอง และอาจารย์รู้จักนักศึกษาอย่างลึกซึ้ง เช่น สายรหัสอาจารย์และนักศึกษาแพทย์

 

แหล่งเรียนรู้ (Learning Resources)

หนังสือที่ควรอ่านเพิ่มเติม

  1. พนม เกตุมาน. การเปิดเผยความจริง.ใน: ชัยรัตน์ ฉายากุล, กวิวัณณ์ วีรกุล, รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ, วิเชียร ทองแตง. บรรณาธิการ. จริยธรรมทางการแพทย์.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2555;143-57.
  2. สร้อยสุดา อิ่มอรุณรักษ์. ทักษะการสื่อสาร. ใน: นันทวัช สิทธิรักษ์, กมลเนตร วรรณเสวก, กมลพร วรรณฤทธิ์, ปเนต ผู้กฤตยาคามี, สุพร อภินันทเวช, พนมเกตุมาน. บรรณาธิการ. จิตเวช ศิริราช DSM-5. กรุงเทพฯ: ประยูรสาส์นไทย การพิมพ์, 2558;649-58.

 

ข้อมูลเพิ่มเติม  พนม เกตุมาน  คู่มือผู้นำกลุ่ม ใน: “สุขใจกับการสอนแบบกลุ่ม” (ระหว่างการตีพิมพ์)

 

 

แก้ไขเพิ่มเติม 16 พค 2561

 

ชื่อ………………………………………………………………………                                              วันที่……………………………

 

Reflection

 

  1. ความคาดหวังก่อนการเรียนรู้ (คิดอย่างไร คาดหวังอะไร)

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..

  1. ประสบการณ์เรียนรู้ (เรียนรู้อะไร อย่างไร ชอบ ไม่ชอบ)

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..

  1. ความสัมพันธ์กับการเรียนรู้เดิม

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..

  1. การเรียนรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………….

  1. การนำไปใช้ประโยชน์

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..

  1. การเรียนรู้ที่ได้จากเพื่อนในกลุ่ม

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

  1. ข้อเสนอแนะ

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..

สะท้อนการเรียนรู้ ด้วยกิจกรรมหมวกหกสี

สะท้อนการเรียนรู้ ด้วยกิจกรรมหมวกหกสี

Six Hats Reflection

นพ. พนม เกตุมาน  นพ. นันทวัช สิทธิรักษ์

 

หมวกหกสี ของ Edward de Bono เป็นกิจกรรมที่มีพลัง ในการนำมาประยุกต์ใช้สะท้อนการเรียนรู้แบบกลุ่ม (group reflection) เมื่อจบกิจกรรมใดๆ

หลักการ คือ การให้สมาชิกแบ่งเป็นกลุ่มย่อย 6 กลุ่ม ผลัดกันแสดงบทบาทสมมติตามสีต่างๆ แล้วแสดงออกมาให้เพื่อนๆได้เรียนรู้  ดังนี้

  1. หมวกสีดำ แสดงบทบาทเป็นคนมองด้านลบ เห็นข้อผิดพลาด ปัญหา จุดอ่อน ช่องโหว่ โอกาสผิดพลาด ล้มเหลว
  2. หมวกสีเหลือง แสดงบทบาทเป็นคนมองด้านบวก ประโยชน์ที่ได้ สิ่งที่ดี โอกาสสำเร็จ
  3. หมวกสีขาว แสดงความคิด เนื้อหาสาระ ความรู้ ที่ได้รับจากกิจกรรม
  4. หมวกสีแดง แสดงความรู้สึก อารมณ์ ที่เกิดขึ้นระหว่างทำกิจกรรม
  5. หมวกสีฟ้า แสดงการควบคุม กระบวนการ กติกา ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จในกิจกรรม
  6. หมวกสีเขียว แสดงการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ประยุกต์ใช้ ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

กิจกรรม

การประยุกต์ใช้กิจกรรมหมวกหกสี ในการสะท้อนการเรียนรู้ หลังกิจกรรม แบ่งกลุ่มเป็นหกกลุ่ม แต่ละกลุ่มได้รับมอบหมายให้สวมหมวกแต่ละสี และทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย โดยการพูดคุยปรึกษาหารือกันในกลุ่ม ให้ทุกคนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น โดยพยายามให้อยู่ในบทบาทนั้นมากที่สุด แล้วเขียนหรือวาดรูปในกระดาษแผ่นใหญ่ เพื่อประกบการนำเสนอในตอนท้าย

การดำเนินกิจกรรม 60 นาที

  • อธิบายความเป็นมาและกติกา 3 นาที
  • แบ่งกลุ่ม 6 กลุ่ม ให้คละกัน เตรียมตัวกลุ่ม 2 นาที
  • ทำงานกลุ่มรอบแรก 10 นาที
  • สลับบทบาท เปลี่ยนสีหมวก 6 รอบๆละ 3 นาที รวม 20 นาที (modified World Café)
  • นำเสนอผลงานกลุ่มๆละ 3 นาที รวม 20 นาที
  • สรุปการเรียนรู้ 5 นาที

ข้อดีของกิจกรรม

  1. ใช้เวลาสั้น
  2. ทำได้ง่าย ทุกคนมีส่วนร่วม
  3. กระตุ้นให้ทุกคนกล้าแสดงออกในบทบาทต่างๆกัน

คำแนะนำ

  1. กลุ่มสีต่างๆควรมีขนาดเล็ก 3-5 คน
  2. ให้ช่วยกันวาดรูปประกอบ โดยใช้สัญลักษณ์ ข้อความสั้นๆ สื่อความหมายชัดเจน ใช้สีและเส้น แสดงความรู้สึกและสาระที่ต้องการถ่ายทอด
  3. กระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วม ปรึกษาหารือกันก่อน
  4. ขอให้แสดงออกอย่างจริงใจ ความเห็นทุกคนมีคุณค่า จะช่วยเติมให้คนอื่น เพิ่มการเรียนรู้ ไม่เน้นถูกผิด แสดงสิ่งที่กลุ่มคิด
  5. ในรอบที่เปลี่ยนสีหมวก ให้เวียนไปดูผลงานของกลุ่มอื่น แล้วเขียนความเห็นเพิ่มเติม
  6. การนำเสนอผลงานกลุ่ม ควรเรียงตามลำดับ 1-6 จบด้วยหมวกสีเขียว เพื่อกระตุ้นให้นำไปคิดต่อยอด นำใช้ในชีวิตต่อไป

 

I-You Message

I-You Message

ผศ.  นพ.  พนม  เกตุมาน

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

วัตถุประสงค์  เรียนรู้การสื่อสารทางบวก โดยใช้ I-Message

คำจำกัดความการสื่อสาร 

การถ่ายทอดสาร(ข้อมูล  ความรู้  ความคิด  ความรู้สึก) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม(ความรู้สึก ความคิด ทัศนคติ แรงจูงใจ  การกระทำ)

วัตถุประสงค์ของสื่อสาร  เพื่อให้ผู้รับสาร

  1. ได้รับความรู้-เข้าใจ
  2. เกิดความรู้สึก ความคิด  ทัศนคติ
  3. เกิดแรงจูงใจ
  4. เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เกิดขึ้นได้ง่าย  เมื่อผู้รับสารมี

  1. ความรู้สึก ดีต่อตนเอง และต่อผู้สื่อสาร
  2. แรงจูงใจ อยากทำ

สังเกตความรู้สึกในประโยคต่อไปนี้

  • ไปไหนมา ทำไมถึงเพิ่งมาถึง
  • ทำไมเธอแต่งตัวแบบนี้
  • เธอไม่น่าทำอย่างนี้เลย
  • เธอไม่ได้เข้าเรียน รู้มั้ยว่าจะสอบไม่ได้

ข้อสังเกต  จากประโยคสื่อสารเหล่านั้น มีจุดอ่อนในการสื่อสาร คือ

  1. บางประโยคเป็นคำถาม ไม่รู้ว่าต้องการคำตอบหรือไม่  หรือแค่บ่นๆ  เหน็บแนม
  2. ไม่ชัดเจนว่าต้องการอย่างไร
  3. คำว่า “ทำไม…” สร้างความรู้สึกด้านลบ ทำให้รู้สึกผิด รู้สึกไม่ดีต่อตนเอง
  4. จู่โจม คาดคั้น  สั่งสอนตำหนิ  ข่มขู่
  5. ทำให้ผู้ฟังเกิดความอึดอัด อาย โกรธ กลัว กังวล เครียด
  6. ชวนให้เกิดพฤติกรรมด้านลบ เช่น หลบเลี่ยง  ต่อต้าน  ไม่ร่วมมือ  ไม่เกิดแรงจูงใจ

ลักษณะร่วมของประโยคเหล่านี้

  1. ขึ้นต้นด้วย   “คุณ”   เป็นลักษณะ  You-message
  2. ตำหนิ  วิพากษ์วิจารณ์
  3. ใช้อำนาจ

ผลที่ตามมา

  1. แก้ตัว เถียง  (ทั้งเปิดเผย  และในใจ)  ไม่ยอมรับ
  2. หลบเลี่ยง  หนี  ไม่แก้ตรงปัญหา
  3. ไม่ร่วมมือ
  4. ดื้อ  ต่อต้าน
  5. เสียความสัมพันธ์
  6. ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

 

ลองสังเกต เมื่อเปลี่ยนประโยคตัวอย่างข้างต้น

 

ประโยคเดิม You message ประโยคใหม่ I-message
ไปไหนมา ทำไมถึงเพิ่งมา

 

·       ครูอยากให้เธอเข้าเรียนตรงเวลา

·       ครูจะดีใจมากที่นักศึกษามาตรงเวลา

·       ครูอยากรู้สาเหตุที่เธอมาสาย

·       ครูเป็นห่วงที่เธอเข้าห้องเรียนไม่ทัน

ทำไมเธอแต่งตัวแบบนี้ ·       ครูต้องการให้เธอแต่งกายให้ถูกระเบียบ
เธอไม่น่าทำอย่างนี้เลย

 

·       ครูไม่อยากให้เธอทำอย่างนี้

·       ครูเกรงว่าจะเกิดผลเสียจากการกระทำเช่นนั้น

ทำไมเธอไม่ได้เข้าเรียน  รู้มั้ยว่าจะสอบไม่ได้ ·       ครูเป็นห่วงว่าเธอจะสอบไม่ได้  ถ้าขาดเรียน

 

ข้อสังเกตการเปลี่ยนแปลง

  1. You  เปลี่ยนเป็น  I
  2. เปลี่ยนจากการวิจารณ์ เป็นการบอกความคิด  ความรู้สึก ความต้องการและความคาดหวังของผู้สื่อสาร
  3. เปลี่ยนจากการแสดงอำนาจเหนือกว่า มาเป็นมิตร
  4. อารมณ์ด้านลบ (โกรธ) เปลี่ยนเป็น อารมณ์ด้านบวก (เห็นใจ)
  5. ผู้ฟังอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

การบอกความรู้สึกหรืออารมณ์ตนเอง  ช่วยให้เกิดความรู้สึกร่วม  เกิดความเข้าใจ และความสัมพันธ์ที่ดี   แต่ควรทำด้วยความสงบ  

“เปิดเผยอารมณ์  มิใช่เปิดเผยด้วยอารมณ์”

 

ปัญหาของอารมณ์ด้านลบ

  1. เกิดความรู้สึกโกรธ กลัว
  2. ลดแรงจูงใจ ไม่อยากคิด  ไม่อยากเปิดเผย
  3. ไม่กล้าแสดงออก ปิดบัง หลบเลี่ยง
  4. ปิดช่องการสื่อสาร
  5. เสียความสัมพันธ์

 

 

การตรวจสอบเนื้อหา  ผู้สื่อสารตรวจสอบว่าได้สื่อสารสิ่งต่อไปนี้  ทางด้านบวก

  1. บอกความคิด : คิดดี ต่อผู้ฟัง
  2. บอกความรู้สึก : แสดงความรู้สึกดี  สงบ
  3. บอกความต้องการ ของผู้สื่อสาร
  4. แสดงความคาดหวัง ด้านดีต่อผู้ฟัง
ความคิด ความรู้สึก ความต้องการ ความคาดหวัง
ครูอยากให้เธอเข้าเรียนตรงเวลา / / /
ครูจะดีใจมากเมื่อนักเรียนมาตรงเวลา / / /
ครูอยากรู้สาเหตุที่เธอมาสาย / /
ครูเป็นห่วงที่เธอเข้าห้องเรียนไม่ทัน / / /
ครูต้องการให้เธอตัดผมให้ถูกระเบียบ
ครูไม่อยากให้เธอทำอย่างนี้
ครูเกรงว่าจะเกิดผลเสียจากการกระทำเช่นนั้น
ครูเป็นห่วงว่าเธอจะสอบไม่ได้  ถ้าขาดเรียน
ครูสังเกตว่าว่าผลงานของเธอทั้งคู่เหมือนกัน
ครูอยากให้นักเรียนทุกคนฝึกทำด้วยตนเอง
ครูอยากให้เธอเรียนจบ
ครูเชื่อว่าเธอจะพัฒนาขึ้นอีก
ครูกังวลว่าเธอจะเรียนไม่จบ
ครูอยากให้เธอพูด แสดงความคิดเห็น
ครูชอบที่นักเรียนกล้าแสดงออก
ครูอยากให้เธอทำตัวให้ดีขึ้น
ครูอยากให้เธอทำให้ถูกต้อง
ครูอยากให้เธอห้ามใจตัวเอง  ไม่ทำผิดอีก
ครูเชื่อว่าเธอจะแก้ไขได้

 

 

แบบฝึกหัด

          เปลี่ยนประโยค You-Message  ต่อไปนี้ให้เป็น I-Message 

 

You-Message I-Message
1.      ไปทำอะไรมาถึงสายป่านนี้  
2.      ทำไมไม่ทำการบ้าน  
3.      เรียนแบบนี้ไม่มีทางจบหรอก  
4.      ไม่ได้ส่งงานตามกำหนด  ไม่ตรวจให้หรอก  
5.      ไม่เข้าใจทำไมไม่ถาม  ไปทำเองแล้วผิดๆพลาดๆ  
6.      ทำไมเธอทำอย่างนี้อีกแล้ว  
7.      แต่งตัวแบบนี้  เธอคิดว่าเหมาะมั้ย  
8.      เธอนี่แย่จริง  รับปากว่าจะทำแล้วไม่ทำ  ไม่รับผิดชอบเลย  
9.      ทำอย่างนี้คราวหน้าไม่ต้องมาหาครูนะ  
10.  เธออย่ามาอ้างโน่นอ้างนี่  คนอื่นยังทำได้  

 

แบบฝึกหัด 2    ช่วยหาประโยค You-Message  ที่เคยพบ แล้วเปลี่ยนให้เป็น I-Message

 

You-Message I-Message
 
 
 

 

ประโยคส่งท้าย  หลังจากใช้ I-message ผู้สื่อสารใช้ประโยคส่งท้าย แสดงความคาดหวังบวกและให้กำลังใจ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจ   ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • ครูเชื่อว่าเธอทำได้
  • ครูเป็นกำลังใจให้นะ
  • ครูจะคอยดูความพยายามของเธอ
  • ครูเห็นความพยายามที่ผ่านมาของเธอแล้ว ชื่นใจจริงๆ
  • ครูดีใจด้วยกับความตั้งใจของเธอ
  • ครูยินดีด้วยกับการเรียนของเธอที่ผ่านมา
  • ครูขอชมที่เธอมีความพยายาม
  • เธอมีความพยายามดีมาก ทำต่อไปอีกนะ
  • ครูเชื่อในสิ่งดีๆในตัวเธอ
  • ครูเชื่อมั่นในวิจารณญาณของเธอ
  • ครูหวังว่าเธอจะไตร่ตรองเรื่องนี้อีกครั้ง
  • ครูยินดีที่จะคุยกับเธออีกครั้ง
  • ครูคาดว่าเธอจะกลับไปคิดทบทวน

 

สรุป

การสื่อสารทางบวกด้วยการใช้ I-Message  แทนที่ You-Message  จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี  ทัศนคติทางบวก  และแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ดีขึ้น  ผู้สื่อสารควรพยายามฝึกตนเองให้สังเกตการสื่อสารของตนเอง  และเปลี่ยนวิธีสื่อสารให้เป็นทางด้านบวกอย่างสม่ำเสมอ  การสื่อสารแบบนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้กับคนทุกระดับ