จิตวิทยาเชิงบวกในการศึกษาแพทย์

(Positive Psychology in Medical Education)

น.พ. พนม เกตุมาน

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

จิตวิทยาเชิงบวก เป็นจิตวิทยาแนวทางใหม่ ที่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ ที่เกิดจากอารมณ์เชิงบวก ที่ทำให้คนมีความสุข และทำให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวก สามารถนำมาใช้ในการเรียนรู้ การทำงาน และการดำเนินชีวิต

จิตวิทยาในแนวทางเดิม (traditional psychology) ศึกษาอารมณ์ที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ เช่น เครียด กังวล ซึมเศร้า และเน้นที่การช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาอารมณ์ดังกล่าว ให้อาการดีขึ้น จิตวิทยาในระยะแรกจึงมุ่งสนใจเมื่อเกิดปัญหากับอารมณ์และความคิดที่เป็นพยาธิสภาพ  โดยขาดมิติของความสามารถทางจิตใจด้านบวก ที่มีแฝงอยู่ในคนทุกคน ทำให้คนมีความสุข สงบ มีพลัง มีแรงจูงใจ มีเป้าหมายในการเรียน การทำงาน ซึ่งเป็นคุณค่าความหมายของชีวิตที่แท้จริง จิตวิทยาเชิงบวก1 (positive psychology) จึงเป็นแนวทางใหม่ที่เกิดขึ้นปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ชื่อ Martin Seligman แนวคิดของจิตวิทยาเชิงบวกนั้น เชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพมากที่จะพัฒนาตนเอง มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับมนุษย์ด้วยกัน และสิ่งแวดล้อมที่จะดำเนินชีวิตไปถึงจุดมุ่งหมายที่มีคุณค่า และมีความสุขร่วมกันได้ แนวคิดนี้ได้รับความสนใจและมีนักจิตวิทยาสมัยใหม่เข้าร่วมศึกษาวิจัย เห็นประโยชน์และคุณค่า จนเกิดเป็นกลุ่มที่หันมาใช้จิตวิทยาเชิงบวกในชีวิต ส่งเสริมให้เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก ในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ องค์กร ชุมชนและสังคมมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าจิตวิทยาเชิงบวกยังช่วยบำบัดฟื้นฟูผู้ที่มีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ เมื่อดีขึ้นแล้วพัฒนาตนเองต่อไป เกิดทักษะที่ช่วยป้องกันไม่ให้กลับมามีปัญหาเดิมอีกด้วย

ทฤษฎีทางจิตวิทยาพัฒนาการในอดีต มีแนวคิดที่สอดคล้องกับจิตวิทยาเชิงบวก เช่น ทฤษฎีจิตวิทยาของแรงจูงใจมนุษย์ ของ Maslow ที่ให้ความสำคัญของการตอบสนองความต้องการมนุษย์ตามระดับต่างๆ เพื่อให้พัฒนาไปถึงจุดสูงสุดของคนแต่ละคน  พลังสุขภาพจิต (resilience) หรือความยืดหยุ่นในชีวิต ที่เน้นการสร้างเสริมปัจจัยทางบวก ทำให้คนที่เผชิญปัญหา มีความสามารถฟื้นคืนกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อย่างรวดเร็ว ความฉลาดทางอารมณ์ (emotional quotient) ที่เน้นเรื่องการเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น สร้างแรงจูงใจทางบวก การสร้างความสัมพันธ์และทำงานร่วมกับผู้อื่น แนวทางเหล่านี้มุ่งไปที่การพัฒนาคนตั้งแต่เด็ก ให้มีปัจจัยบวกเป็นต้นทุนชีวิตที่ ช่วยให้ดำเนินชีวิตไปอย่างมีความสุข มีคุณค่าทั้งต่อตนเอง ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม

ทางการศึกษามีผู้นำจิตวิทยาเชิงบวก มาใช้ในการเรียนรู้ของเด็ก และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการจัดการศึกษา เกิดกลุ่มจิตวิทยาเชิงบวกในการศึกษา (Positive Education)  แนวทางนี้ให้ความสำคัญกับอารมณ์ จิตใจ สิ่งแวดล้อม ที่มีผลต่อการเรียนรู้ ทำให้เด็กมีความสุข สนุก เรียนรู้เรื่อง นำไปใช้ได้ ทำให้มีแรงจูงใจในการเรียนรู้  อยากเรียนด้วยตัวเอง และเรียนรู้ต่อเนื่องได้มากกว่าแนวทางเดิม  การเรียนในโรงเรียนแบบเดิมที่ผ่านมานั้น  ใช้แนวทางจิตวิทยาที่เน้นอารมณ์ด้านลบมาเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การลงโทษ การตำหนิ เมื่อเด็กไม่มีแรงจูงใจ หรือไม่เรียน  ทำให้เด็กกลัว กังวล โดยเชื่อว่าเด็กจะมีพฤติกรรมเรียนรู้ โดยหลีกเลี่ยงอารมณ์ด้านลบ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จึงเกิดจากความรู้สึกด้านลบ กลัวการลงโทษ ดุด่าว่ากลัว หรือทำให้อับอาย การเปรียบเทียบ การตำหนิ กดดัน ทำให้เกิดการเรียนรู้ เช่น ถ้าตอบไม่ได้จะโดนดุ อับอาย  ไม่เรียนจะโดนลงโทษ ถ้าคะแนนต่ำจะสู้เขาไม่ได้ จะพ่ายแพ้ จะแข่งกับใครไม่ได้  ถ้าไม่อ่านหนังสือจะสอบตก จะอับอาย ชีวิตจะล้มเหลว ถ้าไม่ตั้งใจเรียนจะโง่ ไร้คุณค่า  ถ้าทำงานไม่เสร็จ จะไม่ได้เล่น เรียนไม่ดี ชีวิตจะล้มเหลว การเรียนรู้ในแนวทางแบบนี้  ได้ผลระดับหนึ่ง แต่จะทำให้ผู้เรียนขาดความสุข กลัว ไม่ปลอดภัย ไม่กล้าแสดงออก กลัวผิด  ไม่มีความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างผู้เรียนและผู้สอน การแข่งขันทำให้ขาดความสัมพันธ์เชิงบวกกับเพื่อนๆ ขาดการช่วยเหลือกัน  เรียนรู้ด้วยความจำใจ ไม่อยากเรียน เบื่อเรียน ทำให้เกิดความเครียดและซึมเศร้าได้ง่าย การเรียนจึงเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เลวร้าย เต็มไปด้วยความกังวล และความกลัว โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหา หรือความล้มเหลว เครียดและเศร้า มองตนเองไม่ดี การเรียนถูกฝึกมาให้ชีวิตต้องป้องกันความผิดพลาดตลอดเวลา ครูควรระมัดระวังทัศนคติเชิงลบนี้ เพราะถ้าเกิดขึ้นมากโดยไม่มีอารมณ์ด้านบวก จะเครียดสะสมจนกลายเป็นปัญหาบุคลิกภาพ การใช้แนวคิดของ Positive Psychology นอกจากช่วยให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจจากภายใน มีความสุขในการเรียนรู้  มีความผูกพันกันกับเพื่อน ครูและการเรียนรู้ มีความสัมพันธ์ดีต่อกัน  อยากเรียนรู้มากกว่าถูกบังคับ  มีพลังต่อสู้ได้กับความล้มเหลว ไม่ติดอยู่กับความสำเร็จส่วนตัวแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีความสุขกับความสำเร็จร่วมกันกับผู้อื่น ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพของคนในระยะยาวด้วย

จิตวิทยาเชิงบวก2 ส่งเสริมการเรียนรู้ โดยมีหลักการให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจจากภายใน เริ่มต้นจากการมีอารมณ์ด้านบวก ทำให้เรียนรู้ได้อย่างมีความสุข สนุกสนาน เพลิดเพลิน ตื่นเต้น ท้าทาย อยากเรียน จนลืมเวลา เกิดความไหลลื่นในการเรียนรู้ (Flow)  ซึ่งจะทำให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จำได้ เข้าใจ ทำได้ อยากทำ มีแรงจูงใจ มีส่วนร่วม เกิดความสัมพันธ์ ความผูกพันกับผู้เรียนด้วยกันและกับผู้สอน การเรียนรู้มีคุณค่าและความหมาย เพราะเชื่อมโยงกับชีวิตจริง นำไปใช้ได้ เกิดความสำเร็จในตนเอง นำไปใช้ได้ในอนาคต

จิตวิทยาเชิงบวก เป็นแนวทางจิตวิทยาใหม่ ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณลักษณะเชิงบวก3 คือ Strengths และ Virtues ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมเชิงบวก  ที่จะเกิดขึ้นในพัฒนาการมนุษย์ และมีความสุขร่วมกันกับมนุษย์อื่นและสิ่งแวดล้อม บรรลุความสำเร็จเต็มที่ตามศักยภาพตนเอง

คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับ Positive Psychology

FLOW4 (Mihaly Csikszentmihalyi)

FLOW คือ คำอธิบายประสบการณ์ที่มีความสุขในการเรียนรู้หรือการทำงาน เพลิดเพลินทำไปจนลืมวันเวลา มีความสุขการกระทำจนไม่อยากเลิก และอยากทำสิ่งนั้นต่อไปเรื่อยๆ เกิดความไหลลื่นในการเรียนรู้ เกิดจากการได้ทำในสิ่งที่ชอบ เกิดความสนุก ตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็น ท้าทาย รู้สึกดีต่อตนเอง ได้เรียนรู้และประสบความสำเร็จในการกระทำนั้น เห็นคุณค่าและความหมายรวมทั้งประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งต่อตนเองและผู้อื่น อารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอารมณ์ด้านบวก (positive emotion)

Broaden and Build Theory5,6 (Barbara Fredrickson )

คือทฤษฎีที่อธิบายว่าเมื่อคนมีอารมณ์บวก (positive emotion) จะมีผลทำให้จิตใจกว้าง เปิดรับข้อมูลใหม่ การเรียนรู้ใหม่ได้เร็ว มีประสิทธิภาพ เป็นการเรียนรู้ทางบวก (positive education) มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

คนที่มีอารมณ์ด้านบวก มักอารมณ์ดี เป็นที่รักของคนอื่น มีความยืดหยุ่น (resilience) ปรับตัวได้ดีเวลามีปัญหาอุปสรรคในชีวิต เรียนรู้ได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และลดผลของอารมณ์ลบ (negative emotions)  จึงช่วยป้องกันปัญหาอารมณ์ ลดความกังวล หรืออารมณ์ซึมเศร้า ทำให้มีความสุขกับชีวิต ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น อีคิวดีขึ้น ความสัมพันธ์กับคนอื่นดีขึ้น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีและมีความสุข ทำให้เกิดชุมชนที่มีความสุข (happy workplace)

อารมณ์ที่เป็นบวก ช่วยให้สมองทบทวนความคิดและการกระทำ สามารถทบทวนตนเอง ว่ากำลังคิด รู้สึกอย่างไรต่อพฤติกรรมหรือการกระทำนั้น ครูสามารถนำหลักการนี้มาใช้กับนักเรียน เมื่อสร้างบรรยากาศที่สงบ ปลอดภัย เช่น การการฝึกสติ การกำหนดลมหายใจ ให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน จะฝึกให้เด็กทบทวนว่ากำลังคิดอะไร รู้สึกอย่างไร และสัมพันธ์กับร่างกายอย่างไร เรียกว่า          metacognition training การฝึกเช่นนี้บ่อยๆ ช่วยให้เด็กรู้ตัวได้เร็ว สงบใจได้เร็ว หยุดคิดฟุ้งซ่าน มีสมาธิ และนำมาใช้ในการใคร่ครวญ คิดอย่างมีวิจารณญาณ ป้องกันความเครียด วิตกกังวล ฟุ้งซ่าน และอารมณ์เศร้าได้ การรู้อารมณ์ตัวเอง และสามารถบอกตัวเองในใจได้เร็ว จะช่วยลดอารมณ์ด้านลบได้ด้วยตัวเอง เมื่ออารมณ์สงบ สามารถนำมาไตร่ตรองคิดต่อยอดลึกลงไปได้ว่า ความคิดแบบใดทำให้รู้สึกแบบนั้น ความรู้สึกลบทำให้คิดลบ ความรู้สึกบวกทำให้คิดบวก หรือคิดได้กว้างขวางทั้งบวกและลบ คิดต่อไปได้ว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น ความคิดนั้นมาจากความเชื่อเดิมอย่างไร ความเชื่อเดิมเกิดจากประสบการณ์เดิมในอดีตอย่างไร เมื่อทบทวนลึกลงไปในจิตใจในอดีต จะมองเห็นตัวตน ทั้งด้านบวกด้านลบ เห็นความเชื่อที่อาจไม่ถูกต้อง เห็นความขัดแย้งของความคิดความเชื่อเดิมกับความคิดในปัจจุบัน มองเห็นและเข้าใจอคติที่เคยมีมา และเมื่อไตร่ตรองในอารมณ์สงบ จะเกิดการเรียนรู้ใหม่ ยกเลิกการเรียนรู้เดิม (unlearn) แล้วเกิดการเรียนรู้ใหม่ (relearn) เกิดความคิดใหม่ ความเชื่อใหม่ ที่เป็นจริงมากกว่าเดิม เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวตนจากภายใน (transformative process) การทำใจให้สงบ เมื่อทบทวนตนเอง (reflection) จึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning)

Strength and Virtues7

          จิตวิทยาเชิงบวกให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ เพื่อให้เกิดคุณลักษณะ 6 กลุ่ม (6 virtues) แต่ละกลุ่มมีจุดแข็ง ต่างๆ รวมทั้งหมด 24 ประเภท( 24character strengths) ดังนี้

1. ปัญญาและความรู้ (Wisdom and Knowledge) ประกอบด้วย ความสร้างสรรค์ (Creativity) ความใฝ่รู้ (Curiosity) การเป็นคนเปิดใจยอมรับ (Open-mindedness) ความรักในการเรียนรู้ (Love of learning) และการมีมุมมองวิสัยทัศน์ (Perspective)

 2. ความกล้าหาญ (Courage) ประกอบด้วย ความกล้า (Bravery) ความมุ่งมั่น (Persistence) ความซื่อสัตย์ (Integrity) และ ความมีชีวิตชีวา (Vitality)            

 3. มนุษยธรรม (Humanity) ประกอบด้วย ความรัก (Love) ความเมตตา (Kindness) และการมีความฉลาดทางสังคม (Social intelligence)

 4. ความยุติธรรม (Justice) ประกอบด้วย การเป็นพลเมืองดี (Citizenship) ความเป็นธรรม (Fairness) และความเป็นผู้นำ (Leadership)

 5. การควบคุมอารมณ์ (Moderation/Temperance) ประกอบด้วย การให้อภัย (Forgiveness and mercy) ความเป็นมนุษย์ ถ่อมตน เห็นอกเห็นใจ (Humility/Modesty) และความสุขุมรอบคอบ (Prudence)

 6. การจัดการตนเอง (Self-regulation) ประกอบด้วย การก้าวผ่านตัวตน (Transcendence) การมีสุนทรีย์ในความงามและความเป็นเลิศ (Appreciation of beauty and excellence) ความสำนึกบุญคุณ (Gratitude) การมองโลกบวกมีความหวัง (Hope/Optimism) การมีอารมณ์ขัน (Humor) และการมีจิตวิญญาณมนุษย์ (Spirituality)

PERMA Model

แนวทางของ Positive Psychology (Martin Seligman) มีปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบ 5 มิติ ใช้คำย่อว่า  PERMA  มีรายละเอียดดังนี้

P-Positive Emotion ผู้เรียนเกิดความรู้สึกทางบวก เช่น สนุก ตื่นเต้น ท้าทาย ทึ่ง ชวนคิด อยากรู้ อยากเอาชนะ อยากเปลี่ยนแปลง ชื่นชมตนเอง ชื่นชมผู้อื่น รู้สึกดีต่อตนเอง ภูมิใจตนเอง ชื่นชมกลุ่ม กิจกรรมในการเรียนรู้ จึงควรออกแบบให้ ผู้เรียนมีส่วนร่วม ทำงานร่วมกัน ช่วยกันแก้ปัญหา และเอาชนะอุปสรรคต่างๆด้วยกัน เมื่อจบการเรียนรู้ ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเห็นคุณค่าตนเอง ภูมิใจตนเอง อยากเรียนรู้ต่อไปด้วยตัวเอง และยังรู้สึกเป็นที่ยอมรับจากเพื่อน จากครู จากชุมชนสิ่งแวดล้อม

E-Engagement ผู้เรียนมีพฤติกรรมมีส่วนร่วม (engage) ในกิจกรรม โดยการมีส่วนร่วม แสดงออก ร่วมมือ ไม่สนใจกิจกรรมอื่น ให้เวลา และทุ่มเทในงาน การออกแบบกิจกรรมที่ดี จะช่วยให้เกิดความร่วมใจกับผู้สอนและร่วมมือกันในกลุ่ม การใช้กระบวนการกลุ่มที่ดี มีการแบ่งกลุ่มให้เสมอภาคกันทุกกลุ่ม (heterogeneous) ฝึกให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่าง เน้นกระบวนการกลุ่ม (process) มากกว่าผลงานกลุ่ม (product) มีการสังเกตพฤติกรรมกลุ่ม มีการสอนงานกลุ่ม (group coaching) มีการประเมินกลุ่ม และให้มี constructive feedback สม่ำเสมอ จะช่วยให้เกิดความมีส่วนร่วมนี้ ผู้สอนควรสังเกตพฤติกรรมและการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง และช่วยเหลือผู้เรียนที่ไม่เชื่อมโยงกับกลุ่มให้ร่วมมือกับกลุ่มมากขึ้น ให้เพื่อนยอมรับ มีการรับฟัง แสดงความความเห็น ถกเถียง สรุป มีการฝึกทักษะผู้นำผู้ตาม

               การมีส่วนร่วมนั้น เกิดขึ้นระหว่างคนกับกิจกรรม และระหว่างคนด้วยกันเอง (ระหว่างเพื่อน ระหว่างครูกับนักเรียน) และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม

R-Relationship ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างดี มีความร่วมมือร่วมใจ (collaboration )เป็นอันหนึ่งอันเดียว (cohesion) มีการสื่อสาร (communication) แบ่งปันร่วมทุกข์ร่วมสุข (sharing) มีความเป็นผู้นำผู้ตาม (leadership) ในความสัมพันธ์ที่ดีนั้น มีความรู้สึกที่ดีตามมา เห็นคุณค่าของการทำงานกลุ่ม ยอมรับความแตกต่าง ได้ช่วยเหลือส่งเสริมกัน สะท้อนถึงการทำงานหรือใช้ชีวิตกันในสังคม

ในกลุ่มที่ต้องการเน้นทักษะสังคมในการทำงานร่วมกัน การประเมินเพื่อสร้างสรรค์โดยไม่มีคะแนน จะช่วยให้เกิดการพัฒนาผู้เรียน

ความสัมพันธ์เชิงบวกนั้น เกิดขึ้นระหว่างคนกับกิจกรรม และระหว่างคนด้วยกันเอง (ระหว่างเพื่อนนักเรียน ระหว่างครูกับนักเรียน) และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม

M-Meaning สิ่งที่เรียนรู้มีความหมายสำคัญ มีคุณค่า ตอบคำถามของเป้าหมายชีวิต สัมพันธ์กับการเรียนรู้ในอดีต ชวนให้คิดถึงการเรียนรู้เดิม สัมพันธ์กับปัจจุบัน คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิด หรือความเชื่ออะไร เกิดการเปลี่ยนแปลงใดในปัจจุบัน ทำให้มีแรงจูงใจจะทำอะไรต่อไป สัมพันธ์กับอนาคต จะนำไปใช้กับชีวิตได้อย่างไร ผู้สอนควรช่วยให้ผู้เรียนเห็นความสัมพันธ์นี้เป็นระยะๆ จะช่วยให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญและคุณค่าของสิ่งที่เรียนต่อตนเอง

การเรียนรู้แบบ problem-based learning เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องหนึ่ง ที่ชวนให้ผู้เรียนได้สัมผัสปัญหาก่อน สร้างความตระหนัก และชวนคิดให้แก้ปัญหา ความท้าทายจะสร้างแรงจูงใจ อยากรู้อยากเห็น นำไปสู่การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับชีวิตจริง แสวงหาข้อมูล นำข้อมูลมาเชื่อมโยงกับความรู้ทางทฤษฎีเพื่อแก้ปัญหา เมื่อทำได้สำเร็จจะเห็นคุณค่าและความหมายของการเรียน จะจำได้นานและเกิดสมรรถนะ (competency) ในการนำไปใช้ในชีวิตต่อไป

คุณค่าและความหมายนั้น เกิดขึ้นเชิงบวกในผู้เรียน กิจกรรม คนอื่น ชุมชนกับสิ่งแวดล้อม เช่น ช่วยตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ต่อตนเอง และผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อม

A-Accomplishment การเรียนรู้นั้นทำให้เกิดความสำเร็จอะไรในชีวิต ผู้เรียนเกิดความรู้สึกทางบวก เมื่อได้ทบทวนว่าได้อะไรบ้าง แม้แต่เป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น ได้ความรู้ ข้อคิด ได้ทักษะ ได้ทัศนคติใหม่ เช่น เกิดความอยากรู้ อยากเรียน อยากอ่าน อยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่ม

               ความสำเร็จนั้น เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรม (process accomplishment)  หรือ เมื่อทำได้สำเร็จ (product accomplishment)

               ครูช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกทำได้สำเร็จเป็นขั้นๆ ทีละน้อย ให้ชื่นชมกับความก้าวหน้าของตนเอง โดยไม่จำเป็นเปรียบเทียบกับคนอื่น

สรุปการสร้างจิตวิทยาเชิงบวก ใช้แนวทาง 5 มิติ เรียกโดยใช้ตัวย่อว่า PERMA m[

จิตวิทยาเชิงบวกในการศึกษาแพทย์

ครูแพทย์สามารถประยุกต์ PERMA Model มาใช้ในห้องเรียน การเรียนการสอน หรือการออกแบบกิจกรรม โดยให้ผู้เรียนมีอารมณ์ด้านบวก มีความผูกพันกันกิจกรรม มีความสัมพันธ์กันดีและสัมพันธ์กับครูที่ดี เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียน และมีความสำเร็จจากการเรียนรู้นั้น

ครูสามารถประเมินการเรียนรู้โดยการให้ผู้เรียนสะท้อนการเรียนรู้ (reflection) ในตอนท้ายกิจกรรม โดยให้ผู้เรียนทบทวนตนเอง และสะท้อนว่ารู้สึกอย่างไรในการเรียนรู้นั้น เป็นความรู้สึกด้านบวกหรือไม่ (positive emotion) มีส่วนร่วมในกิจกรรม (engagement) นั้นอย่างไร เกิดความความสัมพันธ์ผูกพันกับเพื่อนๆและผู้สอน (relationship) มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่เรียนรู้ใหม่นั้นมีคุณค่าต่อชีวิตอย่างไร นำไปใช้ได้อย่างไร (meaning) และรู้สึกว่าประสบความสำเร็จใดบ้าง (accomplishment)

การใช้จิตวิทยาเชิงบวก ช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนรู้  โดยเกิดอารมณ์ด้านบวกในการเรียน อยากเรียนรู้ต่อ ไปเรียนรู้เพิ่มเติม และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไป โดยกำหนดเป้าหมายและการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต และช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี  เกิดทักษะสำคัญที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 คือ ความร่วมมือร่วมใจ (collaboration) การสื่อสารทางบวก (positive communication) ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (creativity) การคิดไตร่ตรองอย่างมีเหตุผล (critical thinking)

คุณค่าของการเรียนรู้โดยใช้แนวทางจิตวิทยาเชิงบวก

            เมื่อใช้แนวทางของจิตวิทยาเชิงบวกในห้องเรียน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้เรียน และผู้สอน

  1. ห้องเรียนมีความสุข
  2. เรียนรู้อย่างมีความสุข อยากเรียน อยากรู้ ไปเรียนรู้เอง
  3. เรียนแล้วจำได้ ทำได้จริง เรียนรู้แบบต่อยอด เชื่อมโยงกัน
  4. เรียนแล้วนำไปใช้ได้ในชีวิต เห็นคุณค่าและประโยชน์
  5. ผู้เรียนมีความสัมพันธ์กันดี ช่วยเหลือ ไม่แข่งขัน
  6. ผู้สอนมีความสุข สนุก อยากสอน

ห้องเรียนที่มีบรรยากาศทางอารมณ์เชิงบวก (Positive Learning Atmosphere)

            ผู้สอนควรส่งเสริมให้มีลักษณะต่อไปนี้เกิดขึ้น ทั้งตัวผู้สอนและผู้เรียน และสิ่งแวดล้อม

  1. ปลอดภัย ต่อการแสดงออก (Safe Place Environment)
  2. ส่งเสริมการแสดงออก ไม่กลัวผิด แก้ไขเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ได้ง่าย
  3. ส่งเสริมการสร้างอำนาจภายใน (Power from Within และอำนาจร่วม (Power with Other )  ลดการใช้อำนาจเหนือ (Power Over) ในการจัดการพฤติกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน
  4. การสื่อสารเชิงบวก (Positive Communication)  NVC  I-You Message Humanistic Feedback
  5. รู้สึกดีต่อตนเอง มั่นใจตนเอง มีคุณค่า 
  6. รู้สึกดีต่อคนอื่น ดีที่ได้ทำงานร่วมกัน มีความผูกพัน  ความสัมพันธ์แบบร่วมมือ collaboration ช่วยเหลือ แบ่งปัน ไม่เน้นการแข่งขันและทำเพื่อตนเอง อยู่ร่วมกันแบบเพื่อน กัลยาณมิตร
  7. สนุก ตื่นเต้น ท้าทาย อยากค้นหา  ยากแต่สามารถทำได้สำเร็จ 
  8. สงบ และมีจังหวะช้าลงที่จะคิดทบทวนตนเอง
  9. เรียนรู้จากความสำเร็จ และไม่สำเร็จ
  10. เรียนรู้จากตนเอง และ เรียนรู้จากเพื่อน
  11. สังเคราะห์ความรู้ได้ด้วยตนเอง (Constructivism)
  12. บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้


บทบาทครูในการใช้ จิตวิทยาเชิงบวกในชั้นเรียน

               จิตวิทยาเชิงบวกช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสุข สนุกกับการเรียน และสามารถจดจำ นำไปใช้ได้ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้เรียน และช่วยให้ผู้สอนสนุก อยากสอน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เห็นคุณค่าของตนเอง และมีความสุขกับการสอน ผู้สอนควรสร้างปัจจัยบวก PERMA ให้เกิดขึ้น ทั้งต่อผู้เรียน ผู้สอน และสิ่งแวดล้อม           

การพัฒนา Positive Emotion8

อารมณ์ด้านบวก กระตุ้นผู้เรียนให้เกิดแรงจูงใจ อยากเรียนรู้ มีส่วนร่วมในกิจกรรม เกิดขึ้นเมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดี การสื่อสารที่ดี ทัศนคติที่ดีระหว่างกัน กิจกรรมทำให้เกิดอารมณ์บวก ได้แก่ ความสนุก ตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็น ท้าทาย เกิดความสำเร็จเป็นขั้นๆ ทำให้เกิดความรู้สึกดีต่อตนเอง เห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ ชื่นชมความหมายและประโยชน์ในการเรียนรู้ต่อตนเอง ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม

ครูช่วยให้นักเรียนรู้จักอารมณ์ตนเอง เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึก  ความคิด และพฤติกรรม ให้กล้าแสดงออกทางอารมณ์ แลกเปลี่ยนกัน ยอมรับอารมณ์ เริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก และให้ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้โดยให้เกิดความสมดุลของ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม

ผู้สอนสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัย ไม่คุกคาม ยอมรับได้ว่าไม่รู้ ไม่ตำหนิความผิดพลาดหรือความเข้าใจผิด ให้เกิดความกล้าที่จะเปิดเผยตนเอง

อารมณ์ด้านบวก สามารถกระตุ้นให้รับรู้ได้ 3 ระดับ ตามเวลา ดังนี้

1. การทบทวนอดีต (past) การชื่นชม เชื่อมโยงกับความรู้หรือประสบการณ์เก่า เกิดความเข้าใจ ยอมรับ ใช้กิจกรรมให้ระลึกถึงคนที่มีคุณค่า ให้ขอบคุณคนที่ทำดี (gratitude) ชื่นชมตนเอง ให้อภัย (forgiveness) คนที่ทำผิดพลาด ให้อภัยตนเอง ให้ย้อนเวลากลับไปบอกตนเองในอดีต

2. การทบทวนตนเองในปัจจุบัน (present) การฝึกสติ (mindfulness) ทบทวนความสนุก (savoring) ให้ฝึกระลึกถึงความคิดความรู้สึกตนเอง การมรสติทำให้ใจสงบ สามารถคิดเชื่อมโยงไปในอดีต เชื่อมโยงไปในอนาคต ให้ทบทวนตนเอง รู้ตนเอง (self awareness training) ลดอคติ สำรวจความคิดความเชื่อด้วยใจเป็นกลาง

3. การคาดหวังในอนาคต (hope) การเห็นคุณค่า การคาดหวังในอนาคต การนำประสบการณ์ไปใช้ หรือประยุกต์ใช้ในชีวิต มีความคาดหวังด้านบวกในอนาคต (optimism)

การสร้างอารมณ์บวกให้เหมาะสมกับการเรียนรู้

               การเรียนรู้ต้องการสภาวะอารมณ์ที่แตกต่างกัน การเรียนรู้บางอย่างต้องการอารมณ์ที่สงบ ปลอดภัย เช่น การเปิดเผยตัวเอง การทบทวนตนเอง การสำรวจความคิดและความรู้สึก การคิดแบบมีวิจารณญาณ  แต่การเรียนรู้บางอย่างต้องการ ความตื่นเต้น ท้าทาย อยากรู้อยากเห็น ครูช่วยสร้างบรรยากาศและอารมณ์ให้เหมาะกับสถานการณ์  เรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำ กล้าลองผิดถูก แต่ไม่กลัวมากเกินไป ครูช่วยกระตุ้นและสร้างโอกาสให้นักเรียนกล้าลองทำ เรียนรู้จากประสบการณ์ เมื่อเกิดความผิดพลาด ให้เรียนรู้จากความล้มเหลว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

การจัดการกับอารมณ์ (Emotional Regulation)

            ครูช่วยให้นักเรียนเรียนรู้การจัดการอารมณ์ โดยการมีสติรู้อารมณ์ตนเอง (Self Awareness) ฝึกให้สังเกต ความคิด ความรู้สึกและการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

  1. การสงบอารมณ์ มีสติ รู้ตัว ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร คิดอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร
  2. การระบายอารมณ์ มีคนที่รับฟัง ระบายความรู้สึก ความคิด
  3. การแก้ปัญหา เมื่ออารมณ์สงบ มีการคิดทบทวน แก้ไขปัญหาเป็นขั้นตอน
  4. เมื่อไม่รู้ ให้กล้ายอมรับ เปิดใจ แก้ไข
  5. มองตัวเองด้านบวกได้ตามความเป็นจริง และกล้าพัฒนาตนเอง

การสร้าง Engagement

การมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ (learning engagement) มี 5 ด้าน

1พฤติกรรม ผู้เรียนมีส่วนร่วม ในกิจกรรม แสดงออก ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือกัน มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรม ไม่สนใจเรื่องอื่นในกิจกรรมนั้น ให้เวลา และทุ่มเทเพื่อกิจกรรม ทำจนสำเร็จ

2.สติปัญญา ผู้เรียนรับรู้ เรียนรู้ เกิดความเข้าใจ สร้างความเชื่อมโยงกับความคิดเดิม เกิดความคิด ความเชื่อแบบใหม่ ลดอคติและความเชื่อเดิมที่ไม่ถูกต้อง มีมุมมองกว้าง perspectives มองโลกกว้าง มองตนเอง ผู้อื่นและอนาคตบวก มีความคิดยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลง เติบโตได้ growth mindset

3 อารมณ์ ผู้เรียนเกิดความรู้สึกดี มีส่วนร่วม ปลอดภัย อยากเรียนรู้ กล้าซักถาม ยอมรับความล้มเหลว อึด ฮึด สู้ ไม่ท้อแท้

4 ร่างกาย ผู้เรียนมีการแสดงออก เคลื่อนไหว แสดงการมีส่วนร่วม ตอบสนองต่อตัวกระตุ้น และนำไปใช้ในชีวิตจริง

5.สังคม ผู้เรียนเกิดความสัมพันธ์เชิงบวกต่อกัน และต่อผู้สอน มีการสื่อสาร การตอบสนอง การฟัง เข้าใจผู้อื่น

เทคนิค

            ผู้สอนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. การออกแบบกิจกรรมที่ดี ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (student centered) และมีส่วนร่วม (student participation) มีโอกาสเลือก ค้นหา แสดงออก สนทนา แลกเปลี่ยนจะช่วยให้เกิดความสนุก ร่วมใจกับผู้สอนและร่วมใจกันในกลุ่ม ใช้การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (experiential learning) ให้ผู้เรียนได้ทำด้วยตนเอง การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning)
  • การใช้กระบวนการกลุ่ม มีการแบ่งกลุ่มที่เสมอภาค ฝึกให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่างกัน เน้นกระบวนการกลุ่ม (process) มากกว่าผลงานกลุ่ม (product)  มีการสังเกตพฤติกรรมกลุ่มร่วมกับการสอนงานกลุ่ม (group coaching) มีการประเมินกลุ่ม และ feedback สม่ำเสมอ จะช่วยให้เกิดความมีส่วนร่วมนี้
  • สร้างทักษะในการเรียนรู้ และทำงานร่วมกัน ออกแบบกิจกรรมให้มีการร่วมมือ (collaboration) แบ่งงาน ช่วยเหลือกัน วางแผนร่วมกัน มีการสื่อสารทางบวก (positive communication) สร้างสรรค์ (creativity)  และคิดแบบมีวิจารณญาณ (critical thinking)
  • ผู้สอนควรมีการสังเกตพฤติกรรม อารมณ์และการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง และช่วยเหลือผู้เรียนที่ไม่เชื่อมโยงกับกลุ่มกลับเข้ามารวมกลุ่ม ให้เป็นที่ยอมรับและมีบทบาทในกลุ่มตามความถนัด
  • ผู้สอนควรส่งเสริมการฟีดแบค (feedback) อย่างสม่ำเสมอ เป็นระยะ เพื่อพัฒนาผู้เรียน  อาจให้โดยผู้สอน (teacher feedback) หรือ ให้ผู้เรียนช่วยฟีดแบค (peer feedback)กันเอง ส่งเสริมการฟีดแบค ทั้ง positive feedback และ negative feedback สร้างทักษะการสื่อสารทางบวกในการฟีดแบค และให้ผู้เรียนมีโอกาสฟีดแบคผู้สอนด้วย

การสร้าง Relationship

ความสัมพันธ์ในการเรียนรู้ มี 2 ด้าน

1. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน สร้างด้วยการออกแบบการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม ใช้กิจกรรมกลุ่ม เพื่อฝึกทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การทำงานร่วมกันเป็นทีม (collaboration) การสื่อสาร (communication) การเป็นผู้นำ (leadership)

2. ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ครูควรรู้จักนักเรียนทุกคนเป็นรายบุคคล มีทัศนคติด้านบวกต่อเด็ก จำชื่อและรายละเอียดส่วนตัว รู้ความชอบ ความถนัด จุดเด่น ภูมิหลังครอบครัวและปัญหา ให้ความเสมอภาค ให้โอกาสเด็ก รับฟัง ไม่กดดัน ไม่ใช้อำนาจ เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้อย่างอิสระ ให้เด็กได้ใช้ศักยภาพตนเองอย่างเต็มที่

การจัดประสบการณ์เรียนรู้ ควรใช้กิจกรรมกลุ่ม การทำงานร่วมกันเป็นทีม ให้เกิดการทำงานร่วมกัน แบ่งปัน ช่วยเหลือ ยอมรับ ฟัง สื่อสาร ให้เกิดการยอมรับและเรียนรู้ร่วมกัน (collaboration)

การสร้าง Meaning

การเรียนรู้จะมีความน่าสนใจ อยากเรียนรู้ เมื่อผู้เรียนมีเป้าหมายของตนเอง เห็นประโยชน์คุณค่า ครูช่วยสร้างได้ ด้วยการอธิบายเป้าหมายและคุณค่า ความสำคัญของกิจกรรมนั้น และเชื่อมโยงให้เห็นการนำไปใช้งาน แก้ปัญหา หรือมีประโยชน์ต่อตนเองอย่างไร (เชื่อมโยงกับอนาคต) และถ้าเชื่อมโยงไปถึงการเรียนรู้หรือประสบการณ์เก่า จะช่วยให้สนุกในการเข้าใจและเห็นภาพรวม เห็นความหมายและคุณค่าในชีวิตมากขึ้น ทำให้เข้าใจสนุกและเพลิดเพลินกับการเรียน

ครูสามารถกระตุ้นให้นักเรียนเห็นความสำคัญของ meaning ได้

เริ่มต้นกิจกรรม ใช้คำถามนำว่า ทำไมถึงต้องเรียนหรือมีกิจกรรมนี้ ใครมีประสบการณ์เดิมในเรื่องที่จะเรียนรู้มาแล้ว มันมีประโยชน์อย่างไร เกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างไร นำไปใช้อย่างไรในชีวิต

ระหว่างกิจกรรม ให้ลองคิดว่า สิ่งที่กำลังเรียนรู้นั้น สัมพันธ์กับชีวิตอย่างไร เอาไปใช้ได้มั้ย ใช้อย่างไร

เมื่อจบกิจกรรม ให้ลองสังเคราะห์ ว่า จะเอาไปใช้ที่ไหน อย่างไร

การส่งเสริม Accomplishment

ครูควรช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จ ทำได้ ทำได้มากขึ้นกว่าเดิม เห็นความก้าวหน้าของตนเอง การจัดประสบการณ์เรียนรู้ ควรให้ท้าทาย ยากเล็กน้อยแต่พอทำได้สำเร็จ เกิดความภูมิใจตนเอง แล้วเพิ่มความยากขึ้นเล็กน้อย เพียงพอให้กระตุ้นความอยากลอง ท้าทายเล็กน้อยแต่ทำได้มากขึ้นตามลำดับ ให้เหมาะสมกับความสามารถของเด็กแต่ละคน เด็กที่เก่ง ควรมีกิจกรรมท้าทายที่ยากกว่าเด็กปกติทั่วไปมิฉะนั้นจะเบื่อและหมดความสนใจ

ในการเรียนแบบกลุ่มย่อย ควรคละเด็กที่มีความแตกต่างกันทุกด้าน สำหรับเด็กเก่ง ความท้าทายควรอยู่ที่เด็กเก่งช่วยสอนเด็กไม่เก่ง

ครูช่วยสร้างความสำเร็จได้ ด้วยการให้นักเรียนทบทวนตนเองว่า ได้ทำอะไรสำเร็จ ทั้งในกระบวนการ (process) ระหว่างทาง  และ ผลลัพธ์ (product) ปลายทาง นักเรียนแต่ละคนมีความชอบความถนัดแตกต่างกัน ส่งเสริมให้นักเรียนได้ประสบความสำเร็จทางด้านที่ถนัด ฝึกฝนในสิ่งที่ชอบและทำได้ มีความสุขกับการพัฒนาตนเองไปตามจังหวะของตนเอง ครูช่วยให้นักเรียนค้นหาตนเองให้พบว่าชอบและถนัดอะไร ในช่วงวัยรุ่น นักเรียนจะเริ่มรู้ตนเอง สร้างอัตตลักษณ์ของตนเองที่จะกลายเป็นบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่

การประเมินผลการเรียนรู้และฟีดแบค (Assessment and Feedback)

               ครูสามารถออกแบบการประเมินผลการเรียนรู้ ในผู้เรียน ได้ดังนี้

  1. การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมผู้เรียน (behavior observation)
  2. การเขียนสะท้อนการเรียนรู้ (reflection)
  3. การติดตามพฤติกรรมหลังการเรียนรู้ (long term follow up of behaviors)

การประเมินผล 4 ประเภท

  1. ความพึงพอใจ (Satisfaction)  แบบสอบถามความพึงพอใจ
  2. การเรียนรู้ (Learning Outcome) ใช้บันทึกระหว่างการเรียนรู้  บันทึกใบงาน ผลสรุปงานกลุ่ม แบบประเมิน และบันทึกการสะท้อนการเรียนรู้เมื่อสิ้นสุดกิจกรรม (critical thinking / reflection) การทดสอบเริ่ม/เมื่อจบกิจกรรม (Pre-test/Post-test) หรือ การสอบวัดความรู้ (Examination)
  3. พฤติกรรม (Behavior) สังเกต ระหว่างพฤติกรรม หลังการเรียน  ใช้แบบสังเกตและบันทึกพฤติกรรมระหว่างการเรียนรู้ และหลังการเรียนรู้ (Behavior Record) หรือ แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)
  4. ผลสำเร็จ (Outcome) วัดที่ผู้รับผลจากการเรียนรู้นั้น ในเวลาต่อมา ใช้การสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi-structured Interview) เช่น สัมภาษณ์ผู้เรียนที่ได้เรียนกับผู้สอนที่ผ่านกิจกรรมไปแล้ว


แบบประเมิน PERMA  (PERMA Assessment Rubric Scale)

คำแนะนำ เมื่อจบกิจกรรม

  1. อ่านเกณฑ์การประเมิน
  2. ทบทวน ด้วยใจเป็นกลาง
  3. ให้คะแนนในแบบประเมิน ตามเกณฑ์ในช่อง เป็นตัวเลข 1-5
หัวข้อ PERMAคะแนน
12345
Positive Emotion อารมณ์บวกไม่สนุก ไม่อยากร่วม เบื่อ/เครียด/ ท้อแท้/หมดใจ ถอดใจตลอดกิจกรรม ถูกบังคับมา ไม่ชอบกิจกรรมที่ต้องทำ/มีส่วนร่วม ไม่ได้อยากรู้จักใครมากเริ่มสนุกบางกิจกรรม ลองทำดูก็ดี รู้สึกเฉยๆกับเพื่อนๆ  เริ่มได้ข้อคิดใหม่ๆ แต่มีบางกิจกรรมแอบเบื่อ  สนุกดีเป็นส่วนใหญ่ เริ่มต้นเฉยๆ แต่ต่อมารู้สึกดีขึ้น รู้สึกดีๆกับเพื่อนๆมากขึ้น เริ่มรู้สึกมั่นใจ เห็นการเปลี่ยนแปลงตนเอง จบแล้วรู้สึกดีกับตนเอง/ผู้อื่นสนุกมากทุกกิจกรรม ถ้ามีกิจกรรมอีกจะสมัคร สนุกกับเพื่อนๆ รู้สึกดีที่รู้จักเพื่อนมากขึ้น อยากจะนำไปใช้กับตนเอง/ผู้อื่น จบแล้วรู้สึกดีต่อตนเอง/เพื่อน อยากรู้จักกันมากขึ้น อยากกลับไปพัฒนาตนเอง และผู้อื่นสนุกที่สุด ได้มากว่าที่คาดไว้ จะแนะนำเพื่อนให้เข้ากิจกรรมแบบนี้ ขอบคุณผู้จัด/เพื่อน ขอบคุณที่มีกิจกรรมนี้ น่าจดจำ อยากกลับไปใช้/สอน อยากติดต่อกันอีก อยากปรับเปลี่ยนนโยบาย
Engagement มีส่วนร่วม/ผูกพันไม่มีส่วนร่วม แอบเปิดมือถือ หลุดออกจากกิจกรรม แอบออกไปนอกห้อง คุยนอกเรื่องตอนแรกไม่ค่อยอยากมีส่วนร่วม แต่พอลองทำแล้วดีขึ้น ยังมีหลุดบ่อยๆมีส่วนร่วมเป็นส่วนใหญ่ แสดงความคิดเห็นบ้าง แต่ไม่ค่อยกล้าแสดงออกบางเรื่องมีส่วนร่วมด้วยความเต็มใจ ทำกิจกรรมครบตลอดเวลา ไม่หลุด ได้ถาม/แสดงความเห็นบ้าง จบแล้วรู้สึกผูกพันกับเพื่อนๆเข้าร่วมกิจกรรมครบ/ตลอดเวลา มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น/ถาม/สนทนา/เปิดเผย ไม่พลาดกิจกรรมใดๆเลย
Relationship ความสัมพันธ์เชิงบวกไม่ได้สัมพันธ์กับเพื่อนในกลุ่ม รู้สึกห่างเหิน ไม่ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือเพื่อนเริ่มต้นไม่ได้สัมพันธ์กับใคร ไม่อยากสัมพันธ์ด้วย ต่อมารู้สึกดีขึ้น ผ่อนคลายเป็นกันเอง เริ่มสนุกที่จะทำงานกลุ่มร่วมกัน เริ่มเห็นทักษะสังคมเพิ่มขึ้นในตนเอง เช่น การ ฟัง การเปิดเผยตนเอง การชมได้พัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนมากขึ้น พัฒนาการสื่อสาร ได้ช่วยเหลือกัน แบ่งปัน เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ได้เห็นและฝึกทักษะสังคมมากขึ้น ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์เชิงบวก รู้สึกดีที่มีเพื่อน/ทำงานร่วมกันสัมพันธ์กับเพื่อนดี เข้าใจเพื่อน เข้าใจตนเอง อยากสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน มีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นมากขึ้น จบแล้วรู้สึกสนิทกับเพื่อนๆ และอาจารย์มากขึ้น อยากติดต่อกันอีกรู้สึกดีมากกับการมีความสัมพันธ์กับคนอื่น จะนำไปใช้ในการจัดกิจกรรม จะชวนเพื่อนเรียนรู้และสอน จะนำไปพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบตัว อยากสร้าง/ทำกิจกรรมที่เกิดความสัมพันธ์ดี อยากทำงานกลุ่มอีก
Meaning คุณค่า ความหมาย สาระไม่ได้อะไร กิจกรรม/ไร้สาระ/สิ้นเปลือง เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่ากิจกรรมมีส่วนให้เห็นเป้าหมาย/เห็นความสำคัญตามหัวเรื่องกิจกรรมช่วยกระตุ้นให้เห็นสาระสำคัญ การมีเป้าหมาย การจัดกระบวนการสอน มีคุณค่าต่อตนเองกิจกรรมมีสาระสำคัญมากสำหรับการพัฒนาตนเอง/ผู้อื่น อยากนำไปใช้ อยากพัฒนาคุณค่าตนเอง  กิจกรรมมีสาระสำคัญที่ดีมาก เห็นมุมมองใหม่ๆที่จะนำไปใช้ในชีวิต อยากนำไปใช้/สอนผู้อื่น อยากเรียนรู้เพิ่ม
Accomplishment ทำได้สำเร็จไม่มีเป้าหมายมาก่อน ไม่ได้อะไรที่เป็นประโยชน์เริ่มต้นไม่มีเป้าหมาย กิจกรรมชวนให้ตั้งเป้าหมาย เรียนรู้ได้สำเร็จบ้างมีเป้าหมายมาก่อน เรียนรู้ได้สำเร็จตามเป้ามีเป้าหมายมาก่อน ได้มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้มีเป้าหมายมาก่อน ได้มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้มาก เห็นความสำคัญของการมีเป้าหมาย


แบบประเมิน PERMA ด้วยตนเอง หรือผู้สอนประเมินผู้เรียนรายบุคคล/รายกลุ่ม

(PERMA Assessment Form)

PERMA12345
Positive Emotion     
Engagement     
Relationship     
Meaning     
Accomplishment     


ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการประเมิน

  1. แพทย์ที่ได้เรียนรู้จากครูแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรม มีความสุขในการทำงาน พัฒนาตนเองตลอดชีวิต และดูแลผู้ป่วยและญาติด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ (Humanized Health Care)
  2. ครูแพทย์พัฒนาตนเอง(Self-Developed) และกระบวนการสอนได้ต่อเนื่อง และยั่งยืน (Life-long Learning and Sustainability)
  3. เกิดกระบวนการรวมตัวของครูแพทย์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาตนเอง พัฒนากระบวนการเรียนรู้ต่อเนื่อง (Professional Learning Community : PLC)
  4. กระบวนการมีการไปใช้แพร่หลาย มีการประเมิน ฟีดแบคและพัฒนาขึ้น จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย (Policy Change) ของสถาบันผลิตแพทย์

               การประเมินผล transformative learning สามารถทำได้ด้วยเครื่องมือที่แตกต่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้นั้น การประเมินจะควบคู่ไปการพัฒนาผู้เรียน แบบ formative assessment and feedback

สรุป

จิตวิทยาเชิงบวก ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนสู่การเปลี่ยนแปลงจากภายใน โดยการเรียนรู้ที่เกิดอารมณ์เชิงบวก มีความผูกพันกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การเรียนรู้บรรลุเป้าหมาย โดยเกิดคุณค่าและความหมายต่อชีวิต

กิตติกรรมประกาศ

บทความนี้เป็นเอกสารที่ใช้ประกอบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตรกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการก่อการครูแพทย์ (Transformative Workshops for Medical Teachers) เผยแพร่แก่สาธารณะ เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาครูแพทย์ จัดทำโดย ชมรมก่อการครูแพทย์  โดยได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ  (ThaiHealth  Academy)

บรรณานุกรม

1. Hefferon, K., & Boniwell, I. (2011). Introduction to Positive Psychology. In Positive psychology: Theory, research and applications. Maidenhead, Berkshire: McGraw Hill Open University Press.

2. About Education. (2013). Martin Seligman – Biography and Psychological Theories. Retrieved from http://psychology.about.com/od/profilesmz/p/martin-seligman.htm

3.Seligman M & Csikszentmihalyi, M (2000). Positive psychology: An introduction, American Psychologist, 55, 5-14.

4.Csikszentmihalyi and Happiness. (n.d.). Retrieved from

 http://www.pursuit-of-happiness.org/history-of-happiness/mihaly-csikszentmihalyi

5. Fredrickson, B. L. (2004). The broaden–and–build theory of positive emotions. Philosophical Transactions of the Royal Society of London. Series B: Biological Sciences, 359(1449), 1367-1377.

6. Broad and Build Theory. Retrieved from https://positivepsychology.com/broaden-build-theory/

7. Peterson, ChristopherSeligman, Martin E. P. (2004). Character Strengths and Virtues: A Handbook and Classification. Oxford: Oxford University.

8. What are Positive and Negative Emotions and Do We Need Both? Retrieved from https://positivepsychologyprogram.com/positive-negative-emotions/#psychology

9. https://en.wikipedia.org/wiki/Positive_illusions#cite_note-notso-1

link

ป้องกันแล้ว:ศึกษาธิการ ศึกษาอะไร

บทความนี้มีรหัสผ่านป้องกันอยู่ การจะดูบทความโปรดใส่รหัสผ่านของคุณด้านล่าง

ป้องกันแล้ว:Application of Positive Psychology for Lecture in Medical Curriculum

บทความนี้มีรหัสผ่านป้องกันอยู่ การจะดูบทความโปรดใส่รหัสผ่านของคุณด้านล่าง

ป้องกันแล้ว:ความกล้าเบอร์ไหน ทำให้เปลี่ยนแปลง

บทความนี้มีรหัสผ่านป้องกันอยู่ การจะดูบทความโปรดใส่รหัสผ่านของคุณด้านล่าง

จิตวิทยาเชิงบวกและการเรียนรู้

(Positive Psychology in Learning)

จิตวิทยาเชิงบวกและการเรียนรู้

(Positive Psychology in Learning)

ผศ. นพ. พนม เกตุมาน

ผศ. ดร. สุรวิทย์ อัสสพันธุ์

ตลอดช่วงเวลากว่าศตวรรษที่ผ่านมาจิตวิทยาได้ศึกษาพฤติกรรม ความคิด และคุณลักษณะทางจิตภายในตัวบุคคล อย่างไรก็ตามแนวการศึกษาจิตวิทยา แบบดั้งเดิมนั้นมักจะมุ่งเน้นการแก้ไขคุณลักษณะทางลบ เช่นความเครียดความกังวลภาวะซึมเศร้าอาการป่วยทางจิต เพื่อช่วยเหลือให้บุคคลที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต สามารถฟื้นคืน กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ อย่างไรก็ตามในช่วงที่ ทศวรรษที่ 1990 ได้มีกลุ่มนักจิตวิทยา ที่มุ่งศึกษาคุณลักษณะด้านบวกที่แฝงอยู่ในตัวบุคคล ที่จะนำไปสู่การมีชีวิตที่ดี หรือมีความรุ่งเรือง ซึ่งจะนำไปสู่คุณค่าของความมีชีวิตอย่างมีความสุข

ในบทความนี้จะกล่าวถึงจิตวิทยาเชิงบวก รวมไปถึงประเด็นสำคัญที่มีการศึกษาในแขนงวิชานี้ การจัดการศึกษาเชิงบวก และการปฏิบัติที่จะช่วยเสริมสร้างคุณลักษณะเชิงบวกที่จะทำให้ผู้เรียนมีชีวิตที่ดีและมีความสุขในชีวิตต่อไป

จิตวิทยาเชิงบวก

จิตวิทยาในแนวทางเดิม (Traditional psychology) เป็นการศึกษาเรื่องคุณลักษณะด้านลบ ที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ เช่น เครียด กังวล ซึมเศร้า และเน้นที่การช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาอารมณ์ดังกล่าว ให้อาการหมดไป จิตวิทยาในระยะแรกจึงมุ่งสนใจเมื่อเกิดปัญหากับอารมณ์และความคิดที่เป็นพยาธิสภาพ  โดยละเลยมิติของคุณลักษณะด้านบวก ที่มีแฝงอยู่ในคนทุกคน และทำให้คนมีความสุข สงบ มีพลัง มีแรงจูงใจ มีเป้าหมาย ในการเรียน การทำงาน นำไปสู่การมีชีวิตที่ดี หรือ มีความรุ่งเรือง (Flourishing) (Seligman & Csikszentmihalyi, 2000) ซึ่งเป็นคุณค่าความหมายของชีวิตที่แท้จริง

จิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) (Peterson, 2006) เป็นแนวทางใหม่ที่เกิดขึ้นปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ชื่อ Martin Seligman (Seligman & Csikszentmihalyi, 2000) แนวคิดของจิตวิทยาเชิงบวกนั้น เชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพมาก ที่จะพัฒนาตนเอง มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับมนุษย์ด้วยกัน และรักษาสิ่งแวดล้อมที่จะดำเนินชีวิตไปถึงจุดมุ่งหมายที่มีคุณค่า และมีความสุขร่วมกันได้ แนวคิดนี้ได้รับความสนใจและมีนักจิตวิทยาสมัยใหม่เข้าร่วมศึกษาวิจัย เห็นประโยชน์และคุณค่า จนเกิดเป็นกลุ่มที่หันมาใช้จิตวิทยาเชิงบวกในชีวิต ส่งเสริมให้เกิดคุณลักษณะด้านบวกขึ้นตั้งแต่เด็ก ใช้ในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ องค์กร ชุมชนและสังคมมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าจิตวิทยาเชิงบวกยังช่วยบำบัดฟื้นฟูผู้ที่มีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วยังพัฒนาตนเองต่อไป ป้องกันไม่ให้กลับมามีปัญหาเดิมอีกด้วย

แม้ว่าจิตวิทยาเชิงบวกจะเป็นสาขาจิตวิทยาสมัยใหม่ แต่ยังพบทฤษฎีจิตวิทยาในอดีต มีทฤษฎีที่สอดคล้องกับจิตวิทยาเชิงบวกเช่นกัน เช่น ทฤษฎีแรงจูงใจมนุษย์ ของ Maslow (1970) ที่ให้ความสำคัญของการได้รับการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ตามระดับต่าง ๆ เพื่อให้พัฒนาไปถึงการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Actualization) ของแต่ละบุคคล  ทฤษฎีพลังสุขภาพจิต(Resilience) (Richardson, 2002, Tugade, Fredrickson & Barrett, 2004) หรือความยืดหยุ่นในชีวิต ที่เน้นการสร้างเสริมปัจจัยทางบวก ทำให้คนที่เผชิญปัญหา มีความสามารถฟื้นคืนกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อย่างรวดเร็ว ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence) (Mayer, Roberts, & Barsade, 2008; Goleman, 1998) ที่เน้นเรื่องการเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น สร้างแรงจูงใจทางบวก การสร้างความสัมพันธ์และทำงานร่วมกับผู้อื่น แนวทางเหล่านี้มุ่งไปที่การพัฒนาคนตั้งแต่เด็ก ให้มีปัจจัยบวกเป็นต้นทุนชีวิตที่ ช่วยให้ดำเนินชีวิตไปอย่างมีความสุข มีคุณค่าทั้งต่อตนเอง ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม หรือทฤษฎีการตัดสินใจด้วยตนเอง (Self-determination Theory) (Ryan & Deci 2000) ที่ให้ความสำคัญกับแรงจูงใจภายใน ที่เกิดจากการตัดสินใจที่จะบรรลุความต้องการพื้นฐานได้แก่ การมีความสามารถ การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และ การตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ทฤษฎีเหล่านี้ก็นับเป็นรากฐานในการพัฒนาสาขาจิตวิทยาเชิงบวกในปัจจุบันเช่นกัน

จากที่กล่าวมาทั้งหมด อาจจะสรุปได้ถึงความหมายของจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งเป็นไปตามที่ Seligman และ  Csikszentmihalyi (2000) ได้นิยามไว้ว่าจิตวิทยาเชิงบวกคือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องประสบการณ์ทางบวกของแต่ละบุคคล อุปนิสัยทางบวก และสภาพแวดล้อมทางบวก ที่จะสร้างเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี และ ป้องกันสาเหตุที่จะทำให้ชีวิตปราศจากคุณค่าและไร้ความหมาย

การมีชีวิตที่ดี การมีความสุข และความรุ่งเรือง (Good life, Happiness and Flourishing)

          จากแนวทางการศึกษาจิตวิทยาเชิงบวกที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคคลไปสู่การมีชีวิตที่ดี มีความสุขและ ความรุ่งเรือง (Flourishing) ในส่วนนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องอภิปรายว่าในมุมมองจิตวิทยาเชิงบวกแล้ว ความรุ่งเรือง หรือการมีชีวิตที่ดีคืออะไร  

          จากแนวคิดเรื่อง Authentic happiness ของ Seligman (2002) พบว่าเรามักอธิบายความสุขได้จาก 3 ลักษณะคือ 1) ชีวิตที่มีความยินดี (Pleasant life) ซึ่งจะหมายถึง การมีอารมณ์ทางบวก การมีอารมณ์ยินดี  2) ชีวิตที่ดี (Good Life) ซึ่งจะหมายถึง การได้ทำงาน ทำกิจกรรม หรือได้เล่น อย่างเพลิดเพลินจนเหมือนเวลานั้นหยุดไปรวมถึงการมีเพื่อนที่ดีหรือการได้ประสบความสำเร็จในชีวิต และ 3) ชีวิตที่มีความหมาย (Meaningful life) ซึ่งจะหมายถึง การได้ใช้เติมเต็มชีวิตหรือการได้ใช้ชีวิตด้วยความมุ่งหมายที่ใหญ่ไปกว่าตัวเอง

แม้ว่าการอธิบายความสุขในมิติทั้ง 3 จะเห็นภาพความสุขในมุมมองที่กว้างขวางแต่ต่อมา Seligman (2012; Forgeard, Jayawickreme, Kern & Seligman, 2011) ได้ขยายความและแบ่งความสุขหรือความสุขใจออกเป็น 5 มิติ และเรียกว่าความรุ่งเรือง (Flourishing)  5 ประการได้แก่ การมีอารมณ์ทางบวก (Positive Emotion) การมีส่วนร่วม (Engagement) การมีสัมพันธภาพที่ดี (Relationship) การมีความหมายของชีวิต (Meaning of life) และ ความสำเร็จ (Achievement or Accomplishment) คุณลักษณะทั้ง 5 นี้ เรียกชื่อโดยย่อว่า PERMA มีรายละเอียดดังนี้

การมีอารมณ์ทางบวก (Positive Emotion)

          อารมณ์ทางบวกนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะความพอใจเท่านั้น แต่ยังหลายถึงอารมณ์อื่น ๆ อาทิ การมีความหวัง ความสงบ ความรื่นรมย์ ความรู้สึกขอบคุณ ความรัก ความเมตตา ความภาคภูมิใจ การมีกำลังใจ ฯลฯ อารมณ์ทางบวกเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานของการมีสุขภาวะที่ดี (Fredrickson, 2001)

          อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในแต่ละวันคนเรามีทั้งอารมณ์ทางบวกและลบปะปนกัน และการพยายามสะกดไม่ให้แสดงออกถึงอารมณ์ทางลบ เช่น ความโกรธ ความกลัว ความกังวล และความโศกเศร้า ถูกแสดงออกมา ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น ดังนั้นการเป็นคนอารมณ์ดีจึงไม่ได้หมายถึงการปราศจากอารมณ์ทางลบ หรือ การไม่แสดงออกอารมณ์ทางลบเลย แต่หมายถึงบุคคลที่มีอารมณ์ทางบวกเป็นสัดส่วนที่มากกว่าอารมณ์ทางลบ จากการศึกษาในอดีตพบว่า คนที่มีความรุ่งเรือง (Flourishing) จะมีสัดส่วนระหว่างอารมณ์ทางบวกและอารมณ์ทางลบเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3:1 ขณะที่คนที่ไม่มีความรุ่งเรือง (Unflourishing) จะมีสัดส่วนระหว่าง อารมณ์ทางบวกและอารมณ์ทางลบเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2:1 (Fredrickson, 2013)

          จากที่กล่าวมาการทำให้เป็นคนอารมณ์ดี จึงไม่ได้หมายถึงการทำให้คนปราศจากอารมณ์ทางลบ หรือ ไม่แสดงอารมณ์ทางลบออกมา แต่หมายถึงการจัดการอารมณ์ของตนเองได้ ซึ่งหมายถึงชีวิตที่มีอารมณ์ทางบวกมากกว่าทางลบ  สิ่งที่จะช่วยให้การบุคคลสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขคือการรู้จักอารมณ์ กล่าวคือ เมื่ออยู่สภาพที่มีอารมณ์ทางลบ บุคคลสามารถกำกับ และแสดงออกได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงมีวิธีการกำกับอารมณ์ของตนเองให้มีสภาพเป็นบวกมากขึ้นได้ ซึ่งหมายถึงการมีความปรีชาทางอามรณ์ (Emotional Intelligence, Brackett et al, 2013)    

การมีส่วนร่วม (Engagement)

          Seligman (2012) ได้เปรียบเทียบความหมายของคำว่า Engagement ว่าเหมือนกันการที่เราเข้าไปสัมผัสและอินอยู่ในบทเพลง ความหมายนี้คล้ายกับ ภาวะไหลลื่น (Flow) ของ Csikszentmihalyi (Csikszentmihalyi & LeFevre, 1989) หรือการทำบางสิ่งด้วยความเพลิดเพลิน เป็นการทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกตัดขาดจากเวลาและสถานที่ เช่นอาจจะทำงานหนึ่ง ๆ เป็นเวลายาวนานเป็นชั่วโมงแต่กลับรู้สึกเหมือนไม่กี่นาที หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การทำงานด้วยความสนใจกับงานที่อยู่ในมือ ณ ปัจจุบันขณะเท่านั้น

          Engagement หรือ Flow จะเกิดขึ้นกับบุคคล เมื่อบุคคลนั้นปฏิบัติงานที่มีความท้าทาย และงานนั้นเรียกร้องความสามารถซึ่งบุคคลนั้นทำได้ดีด้วยเช่นกัน หรืออาจจะเรียกได้ว่างานนั้นเป็นงานที่ยากแต่สำเร็จได้จากการใช้ความสามารถของตนเองนั้นเอง งานวิจัยของ Seligman, Steen, Park, & Peterson (2005) พบว่าบุคคลที่พยายามใช้จุดแข็งของตัวเองในวิธีการใหม่ ๆ ทุก ๆ วัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์จะมีความสุขมากขึ้น และเมื่อพยายามต่อไปอีก 6 เดือนก็จะมีภาวะซึมเศร้าลดลง ทั้งนี้ความสุขเป็นเพียงผลเพียงหนึ่งอย่างจากการที่เรามี Engagement เท่านั้น

การมีสัมพันธภาพที่ดี (Relationship)

          สัมพันธภาพคือรูปแบบที่บุคคลจะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คู่รัก พ่อแม่ ลูก ครู หัวหน้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ รวมไปถึงการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคน หรือชุมชนด้วย การมีสัมพันธภาพที่ดีในที่นี้จะหมายถึงความรู้สึกของการได้รับความรัก การได้รับการสนับสนุน หรือการได้ถูกมองเห็นคุณค่าจากบุคคลอื่น และด้วยการที่มนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม สัมพันธภาพระหว่างบุคคลจึงมีความสำคัญของมนุษย์ไม่เพียงแค่เพื่อให้เราอยู่รอดปลอดภัย หรือช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างความสุขให้กับบุคคลด้วย (Seligman, 2012)

          งานวิจัยของ Siedlecki, Salthouse, Oishi, & Jeswani (2013) แสดงให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดีจะช่วยป้องกันการเสื่อมถอยของการทำงานของสมอง และการมีเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็ง ยังช่วยผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรง อีกด้วย ทั้งนี้เราสามารถเสริมสร้างให้บุคคลมีสัมพันธภาพ ที่ดีกับผู้อื่นได้ด้วยการแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ หรือร่วมยินดีกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตร่วมกับผู้อื่นจะช่วยให้บุคคลมีสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น และการร่วมยินดีกับความสุขของผู้อื่นก็ยิ่งที่ให้สร้างสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นมากขึ้น รวมไปถึงการมีสุขภาวะที่ดีและมีความพึงพอใจกับชีวิตเพิ่มขึ้นด้วย

การมีความหมายของชีวิต (Meaning of life)

          มนุษย์นั้นมีความต้องการที่จะมีคุณค่ามีความสำคัญ ดังนั้นเราจึงพยายามหาความหมายของชีวิตของเรา Seligman (2012) นิยามคำว่าการมีความหมายของชีวิตคือการที่เราเป็นส่วนหนึ่งหรือทำงานให้กับบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าตนเอง การมีจุดมุ่งหมายในชีวิตช่วยให้บุคคลให้ความสนใจไปกับบงวิ่งที่สำคัญเมื่อชีวิตพบกับความท้าทายหรือความทุกข์ยาก

          บุคคลแต่ละคนจะมีรับรู้ถึงความหมายหรือการมีความมุ่งหมายของชีวิตแตกต่างกันออกไป โดยควาหมายของชีวิตของบางคนอจจะเป็นการทำงานในหน้าที่ บทบาทางสังคม หรือเป้าหมายทางทางการเมือง การพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ความเชื่อทางศาสนา ฯลฯ การรับรู้ถึงความหมายของชีวิตของบุคคลนั้นจะขึ้นกับคุณค่าที่เขานั้นยึดถือ ทั้งนี้งานวิจัยของ Aftab และ คณะ (2019) แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่มีความมุ่งหมายในชีวิตจะมีชีวิตที่ยืนยาว มีความพึงพอใจในชีวิตสูงขึ้น และมีปัญหาสุขภาพน้อยลง

ความสำเร็จ (Achievement or Accomplishment)

          ความสำเร็จในความหมายนี้หมายถึงการรู้สึกได้ว่าตนเองประสบความสำเร็จ การมีความเชี่ยวชาญ หรือการมีสมรรถนะ ความรู้สึกประสบความสำเร็จในที่นี้จึงเกิดจากการบรรลุเป้าหมาย การมีความเชี่ยวชาญในกิจกรรมใด ๆ หรือ การมีแรงจูงใจให้ตนเองทำงานบางอย่างเสร็จสิ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้บุคคลมีสุขภาวะทางใจที่ดีเพราะว่าความสำเร็จนี้ทำให้เขามีชีวิตอยู่อย่างภาคภูมิใจ (Seligman, 2012).

          ความสำเร็จนี้ยังหมายถึงการมีความมานะอดทนและมีแรงบันดาลใจ (Passion) ที่จะบรรลุเป้าหมายด้วย เพราะว่าการทำงานที่เสร็จสิ้นนั้นหากปราศจากความมุ่งมั่นพยายามที่เป็นผลจากแรงจูงใจภายใจหรือการทำงานเพื่อตามสิ่งที่ตนเองแสวงหาหรือการพัฒนาตนเอง (Forgeard et al., 2011) ซึ่งการบรรลุเป้าหมายภายใน (เช่น การเติบโต หรือ การผูกสัมพันธ์) จะทำให้เกิดสุขภาวะได้มากกว่า เป้าหมายภายนอก เช่น ชื่อเสียงเงินทอง (Seligman, 2012)​

การประยุกต์การใช้จิตวิทยาเชิงบวกกับการจัดการศึกษา (Positive Education)

ในขอบเขตของแขนงวิชาจิตวิทยาเชิงบวกนั้น มีขอบข่ายหลักอยู่ 3 ส่วนซึ่งเรียกว่า 3 เสาหลักแห่งจิตวิทยาเชิงบวก (3 Pillars of Positive psychology) ซึ่งประกอบด้วย 1) ประสบการณ์เชิงอัตวิสัยเชิงบวก (Positive subjective experience) คือประสบการณ์ทางบวกของบุคคลทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เช่น การมีความพึงพอใจในชีวิต การมีความหวัง การมองโลกในแง่ดี การมีภาวะไหลลื่น หรือ การมีความสุข 2) คุณลักษณะเชิงบวกของบุคคล (Positive individual traits) คือลักษณะส่วนบุคคลที่ทำให้เกิดความสุข เช่น ความเข้มแข็ง ปัญญา ความกล้าหาญ ความสามารถในการชื่นชมความงาม การรู้สึกขอบคุณ และ 3) สถาบันทางบวก (Positive Institutions) คือองค์กรทางสังคมเช่น ชุมชน ครอบครัว โรงเรียน ที่จะทำให้บุคคลมุ่งไปสู่สุขภาวะทางบวก (Seligman & Csikszentmihalyi, 2000) ในส่วนนี้จะกล่าวถึงสถาบันหนึ่งที่มีผลอย่างมากในการเสริมสร้างประสบการณ์ และคุณลักษณะเชิงบวกให้กับเยาวชน นั้นคือ สถาบันการศึกษา และเราจะเรียกการจัดการศึกษาที่มีการนำแนวทางจิตวิทยาเชิงบวกไปประยุกต์ใช้ว่า การศึกษาเชิงบวก (Positive Education)

การจัดการศึกษาแบบเดิม และการจัดการศึกษาเชิงบวก

          ในโรงเรียนแบบเดิมที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จึงมุ่งในการจัดการพฤติกรรมผู้เรียนให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ทำให้ได้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงที่สุดโดยไม่สนใจผลกระทบอื่น ๆ  ซึ่งแนวทางจิตวิทยาที่เน้นอารมณ์ด้านลบมาเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การลงโทษ การตำหนิ เมื่อผู้เรียนไม่มีแรงจูงใจหรือไม่เรียน ครูก็จะสร้างความกังวล หรือความกลัวให้กับผู้เรียน โดยเชื่อว่าผู้เรียนพยายามลดความกลัวหรือความกังวลลงด้วยการแสดงพฤติกรรมเรียนรู้ที่ครูต้องการ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในลักษณะนี้ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกด้านลบ เช่น ความกลัวการลงโทษ ดุด่า กลัวว่าจะทำผิดพลาดจนทำให้เกิดความอับอาย กังวลต่อการทำผลการเรียนที่อาจจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น เช่น ถ้าตอบไม่ได้จะโดนดุ อับอาย  ไม่เรียนจะโดนลงโทษ ถ้าคะแนนต่ำจะสู้เขาไม่ได้ จะพ่ายแพ้ จะแข่งกับใครไม่ได้  ถ้าไม่อ่านหนังสือจะสอบตกจะอับอาย ชีวิตจะล้มเหลว ถ้าไม่ตั้งใจเรียนจะโง่ ไร้คุณค่า ถ้าทำงานไม่เสร็จจะไม่ได้เล่น เรียนไม่ดี ชีวิตจะล้มเหลว การเรียนรู้แบบนี้ทำให้เกิดความเครียดและซึมเศร้าได้ง่าย การเรียนจึงเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เลวร้าย เต็มไปด้วยความกังวล และความกลัว โดยเฉพาะเมื่อชีวิตเกิดปัญหา หรือความล้มเหลว เครียดและเศร้า จะมองตนเองไม่ดี การเรียนเป็นการฝึกให้ชีวิตต้องป้องกันความผิดพลาดตลอดเวลา ครูควรระมัดระวังทัศนคติเชิงลบนี้ เพราะถ้าเกิดขึ้นมากโดยไม่มีอารมณ์ด้านบวก ผู้เรียนจะเครียดสะสมจนกลายเป็นปัญหาบุคลิกภาพ

          อย่างไรก็ตามยังมีการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนไม่เฉพาะผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสำเร็จในการทำงานเท่านั้น แต่ยังมุ่งปลูกฝันความสุข และเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับผู้เรียนอีกด้วยเรียกว่า การศึกษาทางบวก (Positive Education, Seligman, Ernst, Gillham, Reivich, & Linkins, 2009) แนวทางนี้ให้ความสำคัญกับอารมณ์ จิตใจ สิ่งแวดล้อม ที่มีผลต่อการเรียนรู้ ทำให้เด็กมีความสุข สนุก เรียนรู้เรื่อง นำไปใช้ได้ ทำให้มีแรงจูงใจในการเรียนรู้ อยากเรียนด้วยตัวเอง และเรียนรู้ต่อเนื่องนอกจากช่วยให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจจากภายใน มีความสุขในการเรียนรู้  มีความผูกพันกันกับเพื่อน ครูและการเรียนรู้ มีความสัมพันธ์ดีต่อกัน  อยากเรียนรู้มากกว่าถูกบังคับ  มีพลังต่อสู้ได้กับความล้มเหลว ไม่ติดอยู่กับความสำเร็จส่วนตัวแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีความสุขกับความสำเร็จร่วมกันกับผู้อื่น ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพของคนในระยะยาวด้วย    

          จิตวิทยาเชิงบวกนอกจากจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ ให้เกิดคุณลักษณะที่ดีแล้ว ยังช่วยทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก น่าเรียน เรียนอย่างมีความสุข เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่องด้วยตัวเอง ครูผู้สอนก็มีความสุขในการสอน เห็นคุณค่า และความหมายของการเรียนรู้ เมื่อใช้แนวทางของจิตวิทยาเชิงบวกในห้องเรียน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้เรียน และผู้สอนหลาอย่างอาทิ

1.      ห้องเรียนมีความสุข

2.      เรียนรู้อย่างมีความสุข อยากเรียน อยากรู้ ไปเรียนรู้เอง

3.      เรียนแล้วจำได้ ทำได้จริง เรียนรู้แบบต่อยอด เชื่อมโยงกัน

4.      เรียนแล้วนำไปใช้ได้ในชีวิต เห็นคุณค่าและประโยชน์

5.      ผู้เรียนมีความสัมพันธ์กันดี ช่วยเหลือ ไม่แข่งขัน

6.      ผู้สอนมีความสุข สนุก อยากสอน

การเปลี่ยนแปลงของโรงเรียน

Palomera Martín (2017) ได้กล่าวถึงการนำแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกมาใช้ในโรงเรียนว่า การเปลี่ยนแปลงสำคัญของห้องเรียน และโรงเรียนนั้นไม่ใช่แค่การปฏิบัติทางการศึกษาแต่ยังต้องเปลี่ยนแปลงไปถึงราก หรือ มุมมองต่อการจัดการเรียนรู้ ที่จะมุ่งให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนให้เป็นชุมชนทางการศึกษาที่จะเสริมสร้างสุขภาวะควบคู่ไปกับการพัฒนาผู้เรียนไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งอาจจะต้องระลึกถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้

1. โรงเรียนต้องให้คุณค่ากับความสุข กล่าวคือโรงเรียนต้องไม่สนใจเพียงผลสัมฤทธิ์เท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับความสุขของทั้งครูและนักเรียน โดยครูต้องให้ความสำคัญกับความสุขทั้งในระดับจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก เป็นคุณค่าภายในที่บุคลากรในโรงเรียนยึดถือ ซึ่งจะสะท้อนออกมาในช่องทางทางการต่าง ๆ และการปฏิบัติรายวัน  

2. รูปแบบการดำเนินการของโรงเรียนและการจัดการเรียนรู้ต้องมีความยืดหยุ่น ฉับไว และ หลากหลาย ทั้งนี้การจัดการโรงเรียนและการจัดการเรียนรู้จะต้องปรับให้ตอบสนองต่อความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียนได้อย่างทันท่วงที การจัดการเรียนรู้ที่เปิดให้ผู้เรียนได้เลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง และการริเริ่มทดลองจัดการเรียนรู้แบบใหม่ ๆ ที่จะสร้างความสนุก และการช่วยเหลือกัน และ สร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจในการเรียน จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกที่ดีและเรียนรู้ได้ดีขึ้น

3. พื้นที่แห่งความสุข พื้นที่แห่งความสุขนี้จะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ในโรงเรียนแล้วพื้นที่แห่งความสุขและความสำเร็จจะต้องเปิดกว้าง และขยายออกไปนอกห้องเรียน สนามเด็กเล่น ห้องสมุด ในสนามของโรงเรียน และบริเวณอื่น ๆ ในโรงเรียนควรเป็นพื้นที่แห่งความสุขและการเติบโตได้ รวมไปถึงการขยายพื้นเหล่านี้ออกไปนอกโรงเรียน โดยการให้ ชุมชน ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความสุข และทำให้ผู้เรียนเติบโตขึ้นพร้อมกัน

4. เวลาแห่งความสุข การให้ความสำคัญกับช่วงเวลาแห่งความสุขของนักเรียนและครูแต่ละคนนั้นถือว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างให้เกิดความสุขในโรงเรียน ทั้งนี้หากครูและนักเรียนมีการจัดเวลาที่จะได้พูดคุย เล่าเรื่องความสุข ความยินดี ของกันและกันฟังจะช่วย จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้ รวมไปถึงการจัดการห้องเรียนให้มีความร่าเริงและขบขัน โดยไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ ให้การเรียนรู้เป็นเรื่องผ่อนคลายและชี้ชวนให้เกิดการสะท้อนคิด

5. การเคารพในเสียงของเด็ก ความเคารพในที่นี้หมายถึงการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมและตัดสินใจในการจัดการเรียนรู้ และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเอง ความสนใจ ความชอบ รสนิยม และความใคร่รู้ของผู้เรียน ควรนำมาพิจารณาในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ 

6. เจตคติและสุขภาวะของครู เนื่องจากครูเป็นตัวแบบสำคัญตัวแบบหนึ่งของนักเรียน สิ่งต่าง ๆ ที่ครูปฏิบัติ ทั้งคำพูดการกระทำ ทั้งในช่วงการจัดการเรียนรู้ และการสนทนาส่วนบุคคลสะท้อนถึงความเจตคติของครู ไม่เพียงแต่การเป็นตัวแบบเท่านั้นแต่เจตคติทางบวกต่อผู้เรียนและการจัดการเรียนรู้และสุขภาวะที่ดีของครูยังช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับนักเรียนด้วย  ดังนั้นจึงมีความสำคัญมากที่การจัดการเรียนรู้จะต้องคำนึงถึงเจตคติและสุขภาวะของครูด้วย

7.  ความพร้อมของครู จากที่กล่าวมาข้างต้นหากครูไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมมา ก็เป็นไปได้ยากที่ครูจำเป็นต้องได้รับการเตรียมความพร้อมอย่างน้อย 3 ประเด็นได้แก่ การใช้คุณลักษณะที่เป็นจุดแข็งของตนเองในการจัดการเรียนรู้ การมีอารมณ์ขัน และการมีความฉลาดทางอารมณ์และสังคม โดยการเตรียมความพร้อมของครูนั้นจัดขึ้นโดยมุ่งให้ครูเกิด Engagement หรือ อินไปกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถและมีความสุข และการเห็นโอกาสในการใช้ศักยภาพของตนเองในการพัฒนาผู้เรียน ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมของครูนี้ไม่ได้ทำให้ครูเสริมสร้างความสุขและการเติบโตให้กับผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความสุขให้กับครูไปพร้อมกันด้วย

การสร้างบรรยากาศทางบวกในชั้นเรียน

เมื่อใช้แนวทางจิตวิทยาเชิงบวกครูช่วยสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการเรียนรู้ ให้ห้องเรียนที่มีบรรยากาศทางอารมณ์ (Positive Emotion Atmosphere)  นักเรียนควรรู้สึก ปลอดภัย สงบ กิจกรรมและการสื่อสารสร้าง รู้สึกดีต่อตนเอง มั่นใจตนเอง มีคุณค่า ทำให้รู้สึกดีต่อคนอื่น ดีที่ได้ทำงานร่วมกัน บางกิจกรรมมีความ ตื่นเต้น ท้าทาย ยากแต่สามารถทำได้สำเร็จ  ส่งเสริมการแสดงออก ไม่กลัวผิด เรียนรู้จากความไม่สำเร็จ เรียนรู้จากตนเอง  เรียนรู้จากเพื่อน เห็นประโยชน์และคุณค่าของสิ่งที่เรียนรู้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิต และการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต

การที่ผู้เรียนจะรับรู้ถึงบรรยากาศในชั้นเรียนส่วนใหญ่เกิดจากการปฏิบัติการสอนของผู้สอน ทั้งนี้การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นบวกอาจจะพิจารณาจากองค์ประกอบของการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ 6 ประการที่เรียกว่า TARGET ของ Epstein (1988) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

T: Task หรือการลักษณะของกิจกรรมการเรียนรู้ การกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนจำเป็นต้องคำนึงว่ากิจกรรมดังกล่าวจะนำไปสู่ความเพลิดเพลิน (Flow) โดยงานที่มอบหมายควรจะเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนสนใจ และมีความยากในระดับที่ท้าทายแต่ยังสำเร็จได้โดยการนำจุดแข็งของตนเอง และอาจรวมถึงสมาชิกในกลุ่ม มาช่วยกันทำกิจกรรมให้สำเร็จได้ รวมไปถึงไม่ควรมอบหมายงานง่าย ๆ จำนวนมาก แต่ควรเป็นงานที่ยากและจำเป็นต้องใช้เวลาในการทำให้สำเร็จ  

A: Authority หรือ แหล่งของการตัดสินใจ การจัดการเรียนรู้โดยปกติแล้วแหล่งของการตัดสินใจหลักจะอยู่ที่ตัวผู้สอน อย่างไรก็ตามหากเรามีการปรับย้ายการตัดสินใจบางอย่างให้กับผู้เรียนก็จะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นบวกมากขึ้น การมอบอำนาจการตัดสินใจกับผู้เรียนอาจจะเริ่มจาก วิธีการทำงาน ชิ้นงาน ไปจนถึงเป้าหมายการเรียนรู้ก็ได้ รวมไปถึงอาจจะเป็นการตัดสินใจเลือกจากสิ่งที่ผู้สอนเตรียมไว้ให้ หรือ การตัดสินใจอย่างอิสระก็ได้เช่นกัน

R: Recognition หรือ การจดจำผู้เรียน การจดจำนี้อาจจะหมายรวมถึงการบันทึก และการให้รางวัลก็ได้ การระบุถึงสิ่งที่ครูจดจำนักเรียน รวมถึงการสะท้อนข้อมูลที่ครูรวบรวมจะสะท้อนถึงความหมายของชั้นเรียนนี้ การที่ครูระบุอารมณ์ ระดับความสุข ของผู้เรียนจะเป็นการแสดงออกว่าครูให้คุณค่ากับความสุขของผู้เรียน รวมไปถึงการสะท้อนการเติบโต พัฒนาการ และการเรียนรู้ ก็เช่นกัน อย่างไรก็ตามในระบบการศึกษาปัจจุบันผู้สอนมักจะสะท้อนระดับความสามารถของผู้เรียน จึงเหมือนทำให้การจัดการเรียนรู้เหมือนสนามแข่งมากกว่าการบ่มเพาะให้ผู้เรียนเติบโต

G: Group หรือการจัดกลุ่มทำงาน การจัดกลุ่มทำกิจกรรมการเรียนรู้หลายครั้งมักจะสะท้อนถึงระดับความสามารถของผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นการจัดนักเรียนแยกกลุ่มเพื่อนให้ทำกิจกรรมตามระดับความสามารถ หรือการจัดกลุ่มคละความสามารถเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถสูงช่วยเหลือผู้เรียนที่มีความสามารถต่ำกว่า อย่างไรก็ตามการจัดกลุ่มทั้ง 2 แบบสะท้อนความคิดว่าผู้สอนให้ความสำคัญกับความสามารถของผู้เรียน รวมถึงอาจเป็นการตีตราผู้เรียนทั้งระดับสูง และระดับต่ำ การจัดกลุ่มที่จะเอื้อให้เกิดบรรยากาศเชิงบวก อาจจะเป็นการจัดกลุ่มตามความสนใจ กล่าวคือ ผู้เรียนเลือกเข้ากลุ่มเดียวกันเพราะสนใจกิจกรรมลักษณะเดียวกัน หรือ การเลือกเข้ากลุ่มเสริมศักยภาพกัน คือการเลือกเข้ากลุ่มของคนที่มีทักษะ หรือจุดแข็งต่างกัน เพื่อให้สามารถช่วยเหลือกันได้ หรือ การเลือกเข้ากลุ่มตามความสมัครใจ

E: Evaluation หรือ การประเมิน การประเมินแบบสรุปความ หรือการประเมินเพื่อตัดสินความสามารถของผู้เรียนนั้นมักจะผลักให้ผู้เรียนอยู่ตรงข้ามกับผู้สอน การจัดรูปแบบการประเมินที่เป็นบวกจะช่วยให้ผู้เรียนรับรู้ถึงบรรยากาศที่เป็นบวกในชั้นเรียนได้ การจัดรูปแบบดังกล่าวอาจจะทำได้หลายวิธี เช่น การมุ่งใช้การประเมินแบบให้ข้อมูล (Formative Evaluation) การร่วมกันกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ และกิจกรรมการประเมิน การประวิงเวลาการประเมินออกไป รวมถึงให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมินตนเอง

T: Time Allocation การกำหนดเวลาในการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ หากจัดอย่างเร่งรีบ การให้งานจำนวนมากโดยมุ่งหวังให้นักเรียนทำงานให้เสร็จอย่างรวดเร็วจะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกทางลบ แต่การให้เวลาควรคำนึงถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก การกำหนดเวลาอาจจะมีความยืดหยุ่น การกำหนดการส่งงานอาจจะมีการเลื่อนออกไปหากการเลื่อนนั้นจะส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้สอนอาจจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการเวลาให้กับผู้เรียน โดยหากเป็นงานระยะยาวอาจจะมีการแบ่งชิ้นงานออกเป็นงานเล็ก ๆ สร้างหมุดหมายที่เป็นเป้าหมายระยะสั้นเพื่อให้ผู้เรียนได้ติดตามการดำเนินกิจกรรมและพัฒนาการของตนเองได้

 

การศึกษาเชิงบวกในทางปฏิบัติ (Positive Education in Practice)

          เมื่อใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการเรียนรู้ ครูสามารถใช้หลักการ PERMA Model ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้ดังนี้       

            Positive Emotion

          Fredrickson (2004) ได้อธิบายประโยชน์ของอารมณ์ทางบวกต่อการมีชีวิตรอดของมนุษย์ผ่านทฤษฎี Broaden-and-build ว่าเมื่อคนมีอารมณ์บวก (positive emotion) จะมีผลทำให้จิตใจกว้าง เปิดรับข้อมูลใหม่ การเรียนรู้ใหม่ได้เร็ว มีประสิทธิภาพ เป็นการเรียนรู้ทางบวก (positive education) มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

          คนที่มีอารมณ์ด้านบวก มักอารมณ์ดี เป็นที่รักของคนอื่น มีความยืดหยุ่น (resilience) ปรับตัวได้ดีเวลามีปัญหาอุปสรรคในชีวิต เรียนรู้ได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และลดผลของอารมณ์ลบ (negative emotions)  จึงช่วยป้องกันปัญหาอารมณ์ ลดความกังวล หรืออารมณ์ซึมเศร้า ทำให้มีความสุขกับชีวิต ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น มีระดับความฉลาดทางอารมณ์สูงขึ้น ความสัมพันธ์กับคนอื่นดีขึ้น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีและมีความสุข ทำให้เกิดชุมชนที่มีความสุข (happy workplace)

          อารมณ์ที่เป็นบวก ช่วยให้สมองทบทวนความคิดและการกระทำ สามารถทบทวนตนเอง ว่ากำลังคิด รู้สึกอย่างไรต่อพฤติกรรมหรือการกระทำนั้น ครูสามารถนำหลักการนี้มาใช้กับนักเรียน เมื่อสร้างบรรยากาศที่สงบ ปลอดภัย เช่น การการฝึกสติ การกำหนดลมหายใจ ให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน จะฝึกให้เด็กทบทวนว่ากำลังคิดอะไร รู้สึกอย่างไร และสัมพันธ์กับร่างกายอย่างไร เรียกว่า metacognition training การฝึกเช่นนี้บ่อยๆ ช่วยให้เด็กรู้ตัวได้เร็ว สงบใจได้เร็ว หยุดคิดฟุ้งซ่าน มีสมาธิ และนำมาใช้ในการใคร่ครวญ คิดอย่างมีวิจารณญาณ ป้องกันความเครียด วิตกกังวล ฟุ้งซ่าน และอารมณ์เศร้าได้ การรู้อารมณ์ตัวเอง และสามารถบอกตัวเองในใจได้เร็ว จะช่วยลดอารมณ์ด้านลบได้ด้วยตัวเอง เมื่ออารมณ์สงบ สามารถนำมาไตร่ตรองคิดต่อยอดลึกลงไปได้ว่า ความคิดแบบใดทำให้รู้สึกแบบนั้น ความรู้สึกลบทำให้คิดลบ ความรู้สึกบวกทำให้คิดบวก หรือคิดได้กว้างขวางทั้งบวกและลบ คิดต่อไปได้ว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น ความคิดนั้นมาจากความเชื่อเดิมอย่างไร ความเชื่อเดิมเกิดจากประสบการณ์เดิมในอดีตอย่างไร เมื่อทบทวนลึกลงไปในจิตใจในอดีต จะมองเห็นตัวตน ทั้งด้านบวกด้านลบ เห็นความเชื่อที่อาจไม่ถูกต้อง เห็นความขัดแย้งของความคิดความเชื่อเดิมกับความคิดในปัจจุบัน มองเห็นและเข้าใจอคติที่เคยมีมา และเมื่อไตร่ตรองในอารมณ์สงบ จะเกิดการเรียนรู้ใหม่ ยกเลิกการเรียนรู้เดิม (unlearn) แล้วเกิดการเรียนรู้ใหม่ (relearn) เกิดความคิดใหม่ ความเชื่อใหม่ ที่เป็นจริงมากกว่าเดิม เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวตนจากภายใน (transformative process) การทำใจให้สงบ เมื่อทบทวนตนเอง (reflection) จึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning)

          ผู้เรียนเกิดความรู้สึกทางบวก เช่น สนุก ตื่นเต้น ท้าทาย ทึ่ง ชวนคิด อยากรู้ อยากเอาชนะ อยากเปลี่ยนแปลง ชื่นชมตนเอง ชื่นชมผู้อื่น รู้สึกดีต่อตนเอง ภูมิใจตนเอง ชื่นชมกลุ่ม กิจกรรมในการเรียนรู้ จึงควรออกแบบให้ ผู้เรียนมีส่วนร่วม ทำงานร่วมกัน ช่วยกันแก้ปัญหา และเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยกัน เมื่อจบการเรียนรู้ ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเห็นคุณค่าตนเอง ภูมิใจตนเอง อยากเรียนรู้ต่อไปด้วยตัวเอง และยังรู้สึกเป็นที่ยอมรับจากเพื่อน จากครู จากชุมชนสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาให้เกิด Positive Emotion

          อารมณ์ด้านบวก กระตุ้นผู้เรียนให้เกิดแรงจูงใจ อยากเรียนรู้ มีส่วนร่วมในกิจกรรม เกิดขึ้นเมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดี การสื่อสารที่ดี ทัศนคติที่ดีระหว่างกัน กิจกรรมทำให้เกิดอารมณ์บวก ได้แก่ ความสนุก ตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็น ท้าทาย เกิดความสำเร็จเป็นขั้นๆ ทำให้เกิดความรู้สึกดีต่อตนเอง เห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ ชื่นชมความหมายและประโยชน์ในการเรียนรู้ต่อตนเอง ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม

          ครูช่วยให้นักเรียนรู้จักอารมณ์ตนเอง เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึก  ความคิด และพฤติกรรม ให้กล้าแสดงออกทางอารมณ์ แลกเปลี่ยนกัน ยอมรับอารมณ์ เริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก และให้ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้โดยให้เกิดความสมดุลของ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม

          อารมณ์ด้านบวก สามารถกระตุ้นให้รับรู้ได้ 3 ระดับ ตามเวลา ดังนี้

          1. การทบทวนอดีต (past) การชื่นชม เชื่อมโยงกับความรู้หรือประสบการณ์เก่า เกิดความเข้าใจ ยอมรับ ใช้กิจกรรมให้ระลึกถึงคนที่มีคุณค่า ให้ขอบคุณคนที่ทำดี (gratitude) ชื่นชมตนเอง ให้อภัย (forgiveness) คนที่ทำผิดพลาด ให้อภัยตนเอง ให้ย้อนเวลากลับไปบอกตนเองในอดีต

          2. การทบทวนตนเองในปัจจุบัน (present) การฝึกสติ (mindfulness) ทบทวนความสนุก (savoring) ให้ฝึกระลึกถึงความคิดความรู้สึกตนเอง การมรสติทำให้ใจสงบ สามารถคิดเชื่อมโยงไปในอดีต เชื่อมโยงไปในอนาคต ให้ทบทวนตนเอง รู้ตนเอง (self awareness training) ลดอคติ สำรวจความคิดความเชื่อด้วยใจเป็นกลาง

          3. การคาดหวังในอนาคต (hope) การเห็นคุณค่า การคาดหวังในอนาคต การนำประสบการณ์ไปใช้ หรือประยุกต์ใช้ในชีวิต มีความคาดหวังด้านบวกในอนาคต (optimism)

          การสร้างอารมณ์บวกให้เหมาะสมกับการเรียนรู้

          การเรียนรู้ต้องการสภาวะอารมณ์ที่แตกต่างกัน การเรียนรู้บางอย่างต้องการอารมณ์ที่สงบ ปลอดภัย เช่น การเปิดเผยตัวเอง การทบทวนตนเอง การสำรวจความคิดและความรู้สึก การคิดแบบมีวิจารณญาณ  แต่การเรียนรู้บางอย่างต้องการ ความตื่นเต้น ท้าทาย อยากรู้อยากเห็น ครูช่วยสร้างบรรยากาศและอารมณ์ให้เหมาะกับสถานการณ์  เรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำ กล้าลองผิดถูก แต่ไม่กลัวมากเกินไป ครูช่วยกระตุ้นและสร้างโอกาสให้นักเรียนกล้าลองทำ เรียนรู้จากประสบการณ์ เมื่อเกิดความผิดพลาด ให้เรียนรู้จากความล้มเหลว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

            อารมณ์บวก จะช่วยให้นักเรียนมีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ กล้าแสดงออก ช่วยเติมเติมในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ช่วยคิดต่อยอด คิดนอกกรอบ สร้างสิ่งใหม่ๆ

การจัดการกับอารมณ์ (Emotional Regulation)

            ครูช่วยให้นักเรียนเรียนรู้การจัดการอารมณ์ โดยการมีสติ รู้อารมณ์ตนเอง (self awareness) ฝึกให้สังเกต ความคิด ความรู้สึก และการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

  1. การสงบอารมณ์ มีสติ รู้ตัว ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร คิดอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร
  2. การระบายอารมณ์ มีคนที่รับฟัง ระบายความรู้สึก ความคิด
  3. หากิจกรรม คำพูด หรือวิธีการ ที่จะเคลื่อนย้ายอารมณ์ของตนเอง ณ ปัจจุบันไปสู่อารมณ์ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ และแก้ปัญหา
  4. การแก้ปัญหา เมื่อมีความพร้อมด้านอารมณ์ และดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน

          Positive Engagement

                   ผู้เรียนมีพฤติกรรมมีส่วนร่วม (engage) ในกิจกรรม โดยการมีส่วนร่วม แสดงออก ร่วมมือ ไม่สนใจกิจกรรมอื่น ให้เวลา และทุ่มเทในงาน การออกแบบกิจกรรมที่ดี จะช่วยให้เกิดความร่วมใจกับผู้สอนและร่วมมือกันในกลุ่ม การใช้กระบวนการกลุ่มที่ดี มีการแบ่งกลุ่มให้เสมอภาคกันทุกกลุ่ม (heterogeneous) ฝึกให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่าง เน้นกระบวนการกลุ่ม (process) มากกว่าผลงานกลุ่ม (product) มีการสังเกตพฤติกรรมกลุ่ม มีการสอนงานกลุ่ม (group coaching) มีการประเมินกลุ่ม และให้มี constructive feedback สม่ำเสมอ จะช่วยให้เกิดความมีส่วนร่วมนี้ ผู้สอนควรสังเกตพฤติกรรมและการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง และช่วยเหลือผู้เรียนที่ไม่เชื่อมโยงกับกลุ่มให้ร่วมมือกับกลุ่มมากขึ้น ให้เพื่อนยอมรับ มีการรับฟัง แสดงความความเห็น ถกเถียง สรุป มีการฝึกทักษะผู้นำผู้ตาม

                    การมีส่วนร่วมนั้น เกิดขึ้นระหว่างคนกับกิจกรรม และระหว่างคนด้วยกันเอง (ระหว่างเพื่อน ระหว่างครูกับนักเรียน) และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม

                   อีกประการหนึ่งที่จะทำให้เกิด Positive Engagement ในชั้นเรียนคือการสร้างกิจกรรมที่ทำให้เกิดความไหลลื่น (Flow, Csikszentmihalyi, 2009) หรือความเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นภาวะที่มีความสุขในการเรียนรู้หรือการทำงาน เพลิดเพลินทำไปจนลืมวันเวลา มีความสุขการกระทำจนไม่อยากเลิก และอยากทำสิ่งนั้นต่อไปเรื่อยๆ เกิดความไหลลื่นในการเรียนรู้ เกิดจากการได้ทำในสิ่งที่ชอบ เกิดความสนุก ตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็น ท้าทาย รู้สึกดีต่อตนเอง ได้เรียนรู้และประสบความสำเร็จในการกระทำนั้น เห็นคุณค่าและความหมายรวมทั้งประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งต่อตนเองและผู้อื่น สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิด Flow ได้คือต้องทำให้เกิดงานที่มีความท้าทายและบุคคลสามารถใช้ศักยภาพของตนเองทำงานนั้นได้สำเร็จ ทั้งนี้การสำรวจศักยภาพที่เป็นจุดแข็งของตนเองจึงมีความสำคัญ​

                    การสำรวจจุดแข็งของตนเองนั้น อาจจะนำมาจากข้อค้นพบจากการศึกษา Character Strengths and Virtues (Peterson & Seligman, 2004, Niemiec, 2019) ที่ศึกษาพบว่าคนในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใดมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 6 ด้าน (6 virtues) แต่ละด้านมีองค์ประกอบย่อย (24 strengths) ดังนี้

                   1. ปัญญาและความรู้ (Wisdom and Knowledge) ประกอบด้วย ความสร้างสรรค์ (Creativity) ความใฝ่รู้ (Curiosity) การเป็นคนเปิดใจยอมรับ (Open-mindedness) ความรักในการเรียนรู้ (Love of learning) และการมีมุมมองวิสัยทัศน์ (Perspective)

                   2. กล้าหาญ (Courage) ประกอบด้วย ความกล้า (Bravery) ความมุ่งมั่น (Persistence) ความซื่อสัตย์ (Integrity) และ ความมีชีวิตชีวา (Vitality)        

                   3. มนุษยธรรม (Humanity) ประกอบด้วย ความรัก (Love) ความเมตตา (Kindness) การมีความฉลาดทางสังคม (Social intelligence)

                   4. ยุติธรรม (Justice) ประกอบด้วย การเป็นพลเมืองดี (Citizenship) ความเป็นธรรม (Fairness) ความเป็นผู้นำ (Leadership)

                   5. ควบคุมอารมณ์ (Moderation/Temperance) ประกอบด้วย การให้อภัย (Forgiveness and mercy) ความเป็นมนุษย์ ถ่อมตน เห็นอกเห็นใจ (Humility/Modesty) ความสุขุมรอบคอบ (Prudence)

                   6. การจัดการตนเอง (Self-regulation) ประกอบด้วย การก้าวผ่านตัวตน (Transcendence) การมีสุนทรีย์ในความงามและความเป็นเลิศ (Appreciation of beauty and excellence) ความสำนึกบุญคุณ (Gratitude) การมองโลกบวกมีความหวัง (Hope/Optimism) การมีอารมณ์ขัน (Humor) การมีจิตวิญญาณมนุษย์ (Spirituality)

                   ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ของครูนั้นอาจจะดึงเอาจุดแข็งของผู้เรียนออกมาใช้ในการเรียนรู้และดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ครูจัดขึ้น ซึ่งแม้งานนี้อาจจะมีความยากแต่เมื่อนักเรียนใช้ความเข้มแข็งของตนเองก็จะช่วยให้นักเรียนสามารถบรรลุผล ซึ่งความสอดคล้องกันระหว่างระดับความยากกิจกรรมการเรียนรู้กับความสามารถของนักเรียนนี้เองที่จะช่วยเพิ่มระดับ Engagement ของนักเรียนนั้นเอง

การสร้างความมีส่วนร่วมและผูกพัน (Engagement)

          การมีส่วนร่วมในการเรียน ครูออกแบบการเรียนรู้ ที่มีความเคลื่อนไหว ใช้กิจกรรมที่ตื่นเต้น ท้าทาย เชื่อมโยงกับชีวิตจริง มีการใช้แบ่งกลุ่มเล็กในบางช่วง เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั่วถึง

  1. ได้คิด แสดงออก ด้วยตัวเอง
  2. มีความสัมพันธ์เชิงบวก การสื่อสาร การทำงานร่วมกัน
  3. เรียนรู้อย่างสนุก เข้าใจการเรียน ตื่นเต้น ท้าทาย อยากรู้อยากเห็น
  4. ผู้เรียนรู้สึกว่าตนเองส่วนร่วม ได้รับความสนใจจากครู และจากเพื่อนด้วยกันเอง  รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าต่อส่วนรวม มีความสำคัญ มีส่วนร่วมในกิจกรรม ทำได้สำเร็จ
  5. การเรียนรู้นั้นมีคุณค่า ตอนสรุปการเรียนรู้ ครูช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่ชีวิตจริง เช่น การนำไปแก้ปัญหา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ และสามารถนำไปบูรณาการกับการเรียนรู้วิชาอื่น

ครูควรประเมินการมีส่วนร่วมของนักเรียนอย่างต่อเนื่องตลอดกระบวนการเรียนรู้ โดยการสังเกตพฤติกรรมที่มีส่วนร่วม ได้แก่ สีหน้า ท่าทาง ความร่วมมือการทำงานร่วมกัน  ความกระตือรือร้น การแสดงความคิดเห็น การตอบคำถาม การถามคำถาม ความตั้งใจทำกิจกรรม ความมุ่งมั่นให้เกิดความสำเร็จ และผลงานทีทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย และ การสะท้อนการเรียนรู้

การมีส่วนร่วมที่ดี จะทำให้การเรียนรู้สนุก เกิดอารมณ์บวก อยากเรียน และเกิดความสัมพันธ์เชิงบวก นอกจากนี้การกระตุ้นให้นักเรียนได้นำจุดแข็งของตนเองออกมาใช้ รวมไปถึงการทำงานเป็นกลุ่ม โดยดึงศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคนมาช่วยทำให้งานกลุ่มสำเร็จก็จะช่วยให้ผู้เรียนเกิด Engagement ในระดับที่สูงขึ้น

            Positive Relationship

ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างดี มีความร่วมมือร่วมใจ (collaboration )เป็นอันหนึ่งอันเดียว (cohesion) มีการสื่อสาร (communication) แบ่งปันร่วมทุกข์ร่วมสุข (sharing) มีความเป็นผู้นำผู้ตาม (leadership) ในความสัมพันธ์ที่ดีนั้น มีความรู้สึกที่ดีตามมา เห็นคุณค่าของการทำงานกลุ่ม ยอมรับความแตกต่าง ได้ช่วยเหลือส่งเสริมกัน สะท้อนถึงการทำงานหรือใช้ชีวิตกันในสังคม

ในกลุ่มที่ต้องการเน้นทักษะสังคมในการทำงานร่วมกัน การประเมินเพื่อสร้างสรรค์โดยไม่มีคะแนน จะช่วยให้เกิดการพัฒนาผู้เรียน

ความสัมพันธ์เชิงบวกนั้น เกิดขึ้นระหว่างคนกับกิจกรรม และระหว่างคนด้วยกันเอง (ระหว่างเพื่อนนักเรียน ระหว่างครูกับนักเรียน) และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม

การสร้างความสัมพันธ์เชิงบวก (Positive Relationship)

ครูสามารถส่งเสริมความสัมพันธ์ในการเรียนรู้ 2 ด้าน 

1. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน สร้างด้วยการออกแบบการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม มีการสื่อสารสองทาง ใช้กิจกรรมกลุ่ม เพื่อฝึกทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การทำงานร่วมกันเป็นทีม (collaboration) การสื่อสาร (communication) การเป็นผู้นำ (leadership)

2. ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ครูควรรู้จักนักเรียนทุกคนเป็นรายบุคคล มีทัศนคติด้านบวกต่อเด็ก จำชื่อและรายละเอียดส่วนตัว รู้ความชอบ ความถนัด จุดเด่น ภูมิหลังครอบครัวและปัญหา ให้ความเสมอภาค ให้โอกาสเด็ก รับฟัง ไม่กดดัน ไม่ใช้อำนาจ เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้อย่างอิสระ ให้เด็กได้ใช้ศักยภาพตนเองอย่างเต็มที่

3. การจัดประสบการณ์เรียนรู้ ควรใช้กิจกรรมกลุ่ม ฝึกการทำงานร่วมกันเป็นทีม ให้เกิดการทำงานร่วมกัน แบ่งปัน ช่วยเหลือ ยอมรับ ฟัง สื่อสาร ให้เกิดการยอมรับและเรียนรู้ร่วมกัน (collaboration) ตั้งเป้าหมายร่วม (shared goal) ทั้งนี้การทำให้ทำงานกลุ่มอาจจะ

4. จัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสได้ชื่นชม ขอบคุณ และขอโทษ ซึ่งกันและกัน อาจจะจัดเป็นกลุ่มการทำงาน หรือการอาจจะจัดในลักษณะเปิดให้ทุกสามารถ ชื่นชม ขอบคุณ และขอโทษกับใครก็ได้

5. จัดการฝึกการสำนึกรู้คุณ (Gratitude) โดยการให้ผู้เรียนได้ขอบคุณบุคคลที่ทำให้เกิดเรื่องดี ๆ กับตัวแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยอยู่เป็นประจำ

            Positive Purpose

          สิ่งที่เรียนรู้มีความหมายสำคัญ มีคุณค่า ตอบคำถามของเป้าหมายชีวิต สัมพันธ์กับการเรียนรู้ในอดีต ชวนให้คิดถึงการเรียนรู้เดิม สัมพันธ์กับปัจจุบัน คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิด หรือความเชื่ออะไร เกิดการเปลี่ยนแปลงใดในปัจจุบัน ทำให้มีแรงจูงใจจะทำอะไรต่อไป สัมพันธ์กับอนาคต จะนำไปใช้กับชีวิตได้อย่างไร ผู้สอนควรช่วยให้ผู้เรียนเห็นความสัมพันธ์นี้เป็นระยะจะช่วยให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญและคุณค่าของสิ่งที่เรียนต่อตนเอง

          การสร้างคุณค่าและความหมาย (Meaning)

          การเรียนรู้จะมีความน่าสนใจ อยากเรียนรู้ เมื่อผู้เรียนมีเป้าหมายของตนเอง เห็นประโยชน์คุณค่า ครูช่วยสร้างได้ ด้วยการอธิบายเป้าหมายและคุณค่า ความสำคัญของกิจกรรมนั้น และเชื่อมโยงให้เห็นการนำไปใช้งาน แก้ปัญหา หรือมีประโยชน์ต่อตนเอวอย่างไร (เชื่อมโยงกับอนาคต) และถ้าเชื่อมโยงไปถึงการเรียนรู้หรือประสบการณ์เก่า จะช่วยให้สนุกในการเข้าใจและเห็นภาพรวม เห็นความหมายและคุณค่าในชีวิตมากขึ้น ทำให้เข้าใจสนุกและเพลิดเพลินกับการเรียน

ครูสามารถกระตุ้นให้นักเรียนเห็นความสำคัญของ meaning ได้

          เริ่มต้นกิจกรรม ใช้คำถามนำว่า ทำไมถึงต้องเรียนหรือมีกิจกรรมนี้ ใครมีประสบการณ์เดิมในเรื่องที่จะเรียนรู้มาแล้ว มันมีประโยชน์อย่างไร เกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างไร นำไปใช้อย่างไรในชีวิต

ระหว่างกิจกรรม ให้ลองคิดว่า สิ่งที่กำลังเรียนรู้นั้น สัมพันธ์กับชีวิตอย่างไร เอาไปใช้ได้มั้ย ใช้อย่างไร

เมื่อจบกิจกรรม ให้ลองสังเคราะห์ ว่า จะเอาไปใช้ที่ไหน อย่างไร

            Positive Accomplishment

                   การเรียนรู้นั้นทำให้เกิดความสำเร็จอะไรในชีวิต ผู้เรียนเกิดความรู้สึกทางบวก เมื่อได้ทบทวนว่าได้อะไรบ้าง แม้แต่เป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น ได้ความรู้ ข้อคิด ได้ทักษะ ได้ทัศนคติใหม่ เช่น เกิดความอยากรู้ อยากเรียน อยากอ่าน อยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่ม

          ความสำเร็จนั้น เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรม (process accomplishment)  หรือ เมื่อทำได้สำเร็จ (product accomplishment)

          ครูช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกทำได้สำเร็จเป็นขั้นๆ ทีละน้อย ให้ชื่นชมกับความก้าวหน้าของตนเอง โดยไม่จำเป็นเปรียบเทียบกับคนอื่น

การส่งเสริมให้สำเร็จ (Accomplishment)

          ครูควรช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จ ทำได้ ทำได้มากขึ้นกว่าเดิม เห็นความก้าวหน้าของตนเอง การจัดประสบการณ์เรียนรู้ ควรให้ท้าทาย ยากเล็กน้อยแต่พอทำได้สำเร็จ เกิดความภูมิใจตนเอง แล้วเพิ่มความยากขึ้นเล็กน้อย เพียงพอให้กระตุ้นความอยากลอง ท้าทายเล็กน้อยแต่ทำได้มากขึ้นตามลำดับ ให้เหมาะสมกับความสามารถของเด็กแต่ละคน เด็กที่เก่ง ควรมีกิจกรรมท้าทายที่ยากกว่าเด็กปกติทั่วไปมิฉะนั้นจะเบื่อและหมดความสนใจ

          ในการเรียนแบบกลุ่มย่อย ควรคละเด็กที่มีความแตกต่างกันทุกด้าน โดยให้เด็กแต่ละคนได้มีโอกาสใช้ความสามารถและจุดแข็งของตนเองช่วยเหลือให้กิจกรรมของกลุ่มบรรลุผลสำเร็จได้

          ครูช่วยสร้างความสำเร็จได้ ด้วยการให้นักเรียนทบทวนตนเองว่า ได้ทำอะไรสำเร็จ ทั้งในกระบวนการ (process) ระหว่างทาง  และ ผลลัพธ์ (product) ปลายทาง นักเรียนแต่ละคนมีความชอบความถนัดแตกต่างกัน ส่งเสริมให้นักเรียนได้ประสบความสำเร็จทางด้านที่ถนัด ฝึกฝนในสิ่งที่ชอบและทำได้ มีความสุขกับการพัฒนาตนเองไปตามจังหวะของตนเอง ครูช่วยให้นักเรียนค้นหาตนเองให้พบว่าชอบและถนัดอะไร ในช่วงวัยรุ่น นักเรียนจะเริ่มรู้ตนเอง สร้างอัตตลักษณ์ของตนเองที่จะกลายเป็นบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่

ครูสามารถประยุกต์ PERMA Model มาใช้ในห้องเรียน โดยการออกแบบกิจกรรม ให้ผู้เรียนมีอารมณ์ด้านบวก มีความผูกพันกันกิจกรรม มีความสัมพันธ์กันดีและสัมพันธ์กับครูที่ดี เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียน และมีความสำเร็จจากการเรียนรู้นั้น

ครูสามารถประเมินการเรียนรู้โดยการให้ผู้เรียนสะท้อนการเรียนรู้ (reflection) ในตอนท้ายกิจกรรม โดยให้ผู้เรียนแสดงว่าในการเรียนรู้นั้นรู้สึกอย่างไร เป็นความรู้สึกด้านบวกหรือไม่ (positive emotion) มีส่วนร่วมในกิจกรรม (engagement) นั้นอย่างไร ความความสัมพันธ์ผูกพันกับเพื่อนๆและผู้สอน (relationship) มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่เรียนรู้ใหม่นั้นมีคุณค่าต่อชีวิตอย่างไร นำไปใช้ได้อย่างไร (meaning) และรู้สึกว่าได้ทำอะไรสำเร็จบ้าง (accomplishment)

การใช้จิตวิทยาเชิงบวก จะช่วยให้ผู้เรียนมีอารมณ์ด้านบวก ในการเรียน อยากเรียนรู้ต่อ ไปเรียนรู้เพิ่มเติม และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไป โดยกำหนดเป้าหมายและการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต และช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี  เกิดทักษะสำคัญที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 คือ ความร่วมมือร่วมใจ (collaboration) การสื่อสารทางบวก (positive communication) ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (creativity) และการคิดไตร่ตรองอย่างมีเหตุผล (critical thinking)

การประเมินการเรียนรู้กับจิตวิทยาเชิงบวก

ครูสามารถออกแบบการประเมินผลการเรียนรู้ ในผู้เรียน เพื่อใช้ในการพัฒนาผู้เรียน หรือ formative assessment ร่วมกับการป้อนข้อมูลย้อนกลับ (feedback) อย่างสม่ำเสมอ การประเมินทำได้ดังนี้

  1. การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมผู้เรียน (behavior observation) สังเกตว่าผู้เรียนเรียนรู้รู้อย่างไร เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมระหว่างทางอย่างไร และเมื่อจบการเรียนรู้พฤติกรรมด้านใดที่เปลี่ยนแปลงบ้าง ทั้งด้าน ความรู้ ทักษะ และเจตคติ
  2. การเขียนสะท้อนการเรียนรู้ (reflection) ผู้สอนประเมินการเขียนสะท้อนการเรียนรู้ได้ทั้งด้านปริมาณ (quantitative)  และเชิงคุณภาพ (qualitative) โดยอ่านและแปลความของการเขียนหรือการพูดนั้น ว่าได้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นหรือไม่ ได้อะไรบ้าง
  3. การติดตามพฤติกรรมหลังการเรียนรู้ (long term follow up of behaviors) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างอาจต้องใช้เวลาในการติดตาม ผู้สอนควรออกแบบการประเมินไว้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ถ้าสามารถทำได้ หรือมีการบันทึกไว้ในแฟ้มสะสมผลงาน (portfolio)

การประเมินผล 4 ระดับ

  1. ระดับความพึงพอใจ  แบบสอบถามความพึงพอใจ
  2. ระดับการเรียนรู้ ประเมินว่าเรียนรู้อะไร อย่างไร มีการคิดใคร่ครวญ อย่างเป็นระบบ อาจใช้ reflection   หรือแบบประเมิน reflection critical thinking
  3. ระดับพฤติกรรม (behavior) ใช้วิธีสังเกต ระหว่างพฤติกรรม และหลังการเรียน
  4. ระดับผลสำเร็จ (outcome) วัดที่ผู้รับผลจากนผู้สอนนั้น เช่น ประเมินนักศึกษาแพทย์โดยวัดผลการตรวจรักษาที่ผู้ป่วย

การเรียนรู้โดยการใช้โครงงานเป็นฐานกับการจัดการศึกษาเชิงบวก

การเรียนรู้แบบ problem-based learning เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องหนึ่ง ที่ชวนให้ผู้เรียนได้สัมผัสปัญหาก่อน สร้างความตระหนัก และชวนคิดให้แก้ปัญหา ความท้าทายจะสร้างแรงจูงใจ อยากรู้อยากเห็น นำไปสู่การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับชีวิตจริง แสวงหาข้อมูล นำข้อมูลมาเชื่อมโยงกับความรู้ทางทฤษฎีเพื่อแก้ปัญหา เมื่อทำได้สำเร็จจะเห็นคุณค่าและความหมายของการเรียน จะจำได้นานและเกิดสมรรถนะ (competency) ในการนำไปใช้ในชีวิตต่อไป

คุณค่าและความหมายนั้น เกิดขึ้นเชิงบวกในผู้เรียน กิจกรรม คนอื่น ชุมชนกับสิ่งแวดล้อม เช่น ช่วยตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ต่อตนเอง และผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อม

แนวทางการศึกษาของเด็กไทย

เมื่อนำจิตวิทยาเชิงบวก มาประยุกต์เข้ากับเป้าหมายของการศึกษาในปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเน้นเรื่องสมรรถนะในการเรียนรู้ (competency) เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ สมรถนะหลัก 5 ด้าน ที่เป็นเป้าหมายของการศึกษาในเด็กไทย คือ การจัดการตนเอง การสื่อสาร การคิดขั้นสูง การรวมพลังทำงานเป็นทีม และการเป็นพลเมืองเข้มแข็ง ครูสามารถออกแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ให้เกิดสมรรถนะดังกล่าว โดยใช้กระบวนการกลุ่ม ทุกคนมีส่วนร่วม ช่วยเหลือกัน เรียนรู้จากกัน กิจกรรมท้าทาย สนุก ผสมผสาน เริ่มจากการกระตุ้นให้เปิดเผยตนเอง กล้าแสดงออก เน้นการสื่อสารสองทาง สนทนา แลกเปลี่ยน ถกเถียง การฟัง เข้าใจ ยอมรับ เปิดโอกาสให้ทำงานร่วมกันเป็นทีม มีผู้นำผู้ตาม วางแผนร่วมกัน ตั้งเป้าหมาย สร้างสรรค์ หาทางแก้ปัญหา ถอดบทเรียนให้ได้ข้อสรุปหลักการ นำไปสู่ความสำคัญ คุณค่าและความหมายของการเรียนรู้ และการนำไปใช้ในชีวิตจริง

บทสรุป

จิตวิทยาเชิงบวก ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนสู่การเปลี่ยนแปลงจากภายใน โดยการเรียนรู้ที่เกิดอารมณ์เชิงบวก มีความผูกพันกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การเรียนรู้บรรลุเป้าหมาย โดยเกิดคุณค่าและความหมายต่อชีวิต ช่วยให้การเรียนรู้มีความสุข และพัฒนาตนเองทั้งผู้เรียนและผู้สอน

ตัวอย่างกิจกรรม

การเรียนรู้เรื่อง Character Strengths  (ผู้เรียนเป็นครู จำนวน 30 คน เวลา 90 นาที)

  • กิจกรรมนำ 10 นาที ให้ผู้เรียนเคลื่อนไหว ตื่นตัว ผูกพันกับกิจกรรม กล้าเปิดเผยตัวตน กล้าแสดงออก โดยเช็คอิน ให้แนะนำตัว และอารมณ์ตนเองสั้นๆ ใช้เกมนำให้เคลื่อนไหวและ engage กับกิจกรรมและกลุ่ม  เปิดเผยตัวเองด้วยกิจกรรม sociogram นำไปสู่คุณลักษณะประจำตัวของผู้เรียนแต่ละคน
  • กิจกรรมค้นหา คุณลักษณะด้านต่างๆ ของตัวเอง ขอให้ทุกคนหลับตา ทบทวนตนเองว่าเรามีคุณลักษณะที่คิดว่าเป็นด้านบวกอะไรบ้าง แล้วเขียนใส่กระดาษโพสต์อิท แผ่นละ 1 อย่าง ให้ได้มากเท่าที่มี ในเวลา 5 นาที
  • กิจกรรมแลกเปลี่ยน ให้ผู้เรียนจับคู่กัน แลกเปลี่ยนคุณลักษณะของตนกับเพื่อน ให้ผลัดกันเล่า คนละ 1-2 นาที ขอให้ฟังอย่างตั้งใจ เมื่อจบถามได้สั้นๆ แล้วเปลี่ยนคู่ ประมาณ 3-4 รอบ แล้วกลับมาทบทวนตัวเองเงียบๆ 5 นาที ลองเขียนคุณลักษณะที่คิดว่ามีเพิ่มเติม แล้วนำไปแลกเปลี่ยนกับคู่ใหม่ที่ไม่ซ้ำเดิมอีก 2-3 รอบ
  • กิจกรรมถอดบทเรียน จับกลุ่มย่อย 4-5 คน ช่วยกันคิด ว่าได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมนี้ ตั้งแต่เริ่มต้น ค้นหา แลกเปลี่ยน และกลับมาคิดอีกครั้ง แล้วกลับมาแบ่งปันในกลุ่มใหญ่

ประเด็นการเรียนรู้

  1. ทุกคนมี awareness ต่อคุณลักษณะตนเองแตกต่างกัน มากบ้าง น้อยบ้าง
  2. คุณลักษณะที่ดีมีความหลากหลาย ไม่เหมือนกัน แล้วแต่การตีความ ให้คุณค่า ความหมาย
  3. การแลกเปลี่ยนมุมองกัน ทำให้เห็นตัวเอง เห็นคนอื่น เรียนรู้จากตัวเอง เข้าใจตนเอง เรียนรู้จากคนอื่น เข้าใจคนอื่น เกิด ความผูกพัน สัมพันธ์ อารมณ์บวก
  4. คุณค่าของกิจกรรม รู้จักตนเอง รู้จักคนอื่น มองเห็นข้อดีของตนเองงและผู้อื่น กล้าแสดงออก
  5. คุณลักษณะบางอย่างของเพื่อน ช่วยให้ระลึกได้ว่าเราก็มีเหมือนกัน แต่คิดไม่ถึง เรามีดีมากกว่าที่คิดได้
  6. คุณลักษณะที่ดี นั้นมีที่มา เกิดจากการเรียนรู้ ตัวอย่าง ประสบการณ์ในอดีตทีแตกต่างกัน
  7. การนำไปใช้ในชีวิต เราสามารถสร้างคุณค่า ความหมาย ให้เกิดคุณลักษณะที่ดี
  8. เราสามารถไปช่วยให้ผู้อื่นเกิดคุณลักษณะที่ดีได้
  9. กิจกรรมบรรยายสั้น เกี่ยวกับ Character Strengths and Virtues ที่เกี่ยวข้องกับ Positive Psychology
  10. สรุปการเรียนรู้  Character strengths คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรต่อชีวิต และเป็นส่วนสำคัญของ จิตวิทยาเชิงบวกอย่างไร การเรียนรู้ต่อไปจะช่วยให้ทบทวนตัวเอง ว่า ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม เพื่อเพิ่ม strengths ในตนเอง
  11. ตอบคำถาม แลกเปลี่ยนมุมมอง และสนทนาปลายเปิด
  12. ชวนคิดต่อว่า รู้สึกอย่างไรต่อกิจกรรมนี้  ถ้าจะนำกิจกรรมนี้ไปใช้กับนักเรียน ควรจะประยุกต์อย่างไร

ข้อคิดและข้อสังเกต

  1. กิจกรรมนี้ ช่วยนำให้ผู้เรียนที่ยังไม่รู้จักกัน มาทำงานร่วมกัน เกิดความสัมพันธ์ที่ดี มีการทบทวนตนเอง (self reflection) เปิดเผยตนเอง (self disclosure)  การรับฟัง (listening) สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่สนุก ตื่นเต้น ท้าทาย แต่มีความปลอดภัย (safe place)  ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี (positive relationship) นำไปสู่การเรียนรู้ที่ลึกขึ้นและต้องการเปิดเผยตัวตนมากขึ้น
  2. การถอดบทเรียน ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม เกิดการเรียนรู้ใหม่ ด้วยวิธีการสร้างขึ้นจากผู้เรียนเอง ตามแนวทาง constructivism ได้แนวคิดและหลักการร่วมกันของกลุ่ม collective wisdom

บรรณานุกรม

Aftab, A., Lee, E. E., Klaus, F., Daly, R., Wu, T.-C., Tu, X., Huege, S., & Jeste, D. V. (2019). Meaning in life and its relationship with physical, mental, and cognitive functioning. The Journal of Clinical Psychiatry, 81(1). https://doi.org/10.4088/jcp.19m13064

Brackett, M. A., Bertoli, M., Elbertson, N., Bausseron, E., Castillo, R., & Salovey, P. (2013). Emotional intelligence: Reconceptualizing the cognition-emotion link. In M. D. Robinson, E. Watkins, & E. Harmon-Jones (Eds.), Handbook of cognition and emotion (pp. 365–379). The Guilford Press.

Csikszentmihalyi, M. (2009). Flow: The psychology of optimal experience. Harper and Row.

Csikszentmihalyi, M., & LeFevre, J. (1989). Optimal experience in work and leisure. Journal of Personality and Social Psychology, 56(5), 815–822. https://doi.org/10.1037/0022-3514.56.5.815

Epstein, J. L. (1988). Effective schools or effective students: Dealing with diversity. In R. Haskins & D. MacRae, Jr. (Eds.), Policies for America’s public schools: Teachers, equity, and indicators (pp. 89–126). Ablex Publishing.

Forgeard, M. J. C., Jayawickreme, E., Kern, M. & Seligman, M. E. P. (2011). Doing the right thing: Measuring wellbeing for public policy. International Journal of Wellbeing, 1(1), 79-106. Doi:10.5502/ijw.v1i1.15

Fredrickson, B. L. (2001). The role of positive emotions in positive psychology: The broaden-and-build theory of positive emotions. American Psychologist, 56(3), 218–226. https://doi.org/10.1037/0003-066X.56.3.218

Fredrickson, B. L. (2004). The broaden–and–build theory of positive emotions. Philosophical Transactions of the Royal Society of London. Series B: Biological Sciences, 359(1449), 1367–1377. https://doi.org/10.1098/rstb.2004.1512

Fredrickson, B. L. (2013). Updated thinking on positivity ratios. American Psychologist, 68(9), 814–822. https://doi.org/10.1037/a0033584

Goleman D . Working with emotional intelligence. New York: Bantam Books, 1998.

Maslow, A. H. (1970) Motivation and Personality. 2nd ed. New York: Harper & Row

Mayer, J. & Roberts, R. & Barsade, S. (2008). Human Abilities: Emotional Intelligence. Annual review of psychology. 59. 507-536. https://doi.org/10.1146/annurev.psych.59.103006.093646.

Niemiec, R. M. (2019). Finding the golden mean: The overuse, underuse, and Optimal Use of Character Strengths. Counselling Psychology Quarterly, 32(3-4), 453–471. https://doi.org/10.1080/09515070.2019.1617674

Palomera Martín, R. (2017). Positive psychology in schools: A change with deep roots. Papeles Del Psicólogo – Psychologist Papers, 37(1), 66. https://doi.org/10.23923/pap.psicol2017.2823

Peterson C. (2006). A Primer in Positive Psychology. Oxford University Press.

Peterson, C., & Seligman, M. E. P.. (2004). Character strengths and virtues a handbook and Classification. Oxford University Press.

Richardson, G. E. (2002). The metatheory of resilience and resiliency. Journal of Clinical Psychology, 58(3), 307–321. https://doi.org/10.1002/jclp.10020

Ryan, R. M., & Deci, E. L. (2000). Self-determination theory and the facilitation of intrinsic motivation, social development, and well-being. American Psychologist, 55(1), 68–78. https://doi.org/10.1037/0003-066X.55.1.68

Seligman, M. E. P. (2002) Authentic happiness: Using the new positive psychology to realize your potential for lasting fulfillment. Free Press.

Seligman, M. E. P. (2012). Flourish: A visionary new understanding of happiness and well-being. Simon and Schuster.

Seligman, M. E. P., & Csikszentmihalyi, M. (2000). Positive psychology: An introduction. American Psychologist, 55(1), 5–14. https://doi.org/10.1037/0003-066x.55.1.5

Seligman, M. E. P., Steen, T. A., Park, N., & Peterson C. (2005). Positive psychology in progress. Empirical validation of interventions. American Psychologist, 60, 410–421.

Seligman, M. E., Ernst, R. M., Gillham, J., Reivich, K., & Linkins, M. (2009). Positive education: Positive psychology and classroom interventions. Oxford Review of Education, 35(3), 293–311. https://doi.org/10.1080/03054980902934563

Siedlecki, K. L., Salthouse, T. A., Oishi, S., & Jeswani, S. (2013). The relationship between social support and subjective well-being across age. Social Indicators Research, 117(2), 561–576. https://doi.org/10.1007/s11205-013-0361-4

Tugade, M. M., Fredrickson, B. L., & Feldman Barrett, L. (2004). Psychological resilience and positive emotional granularity: Examining the benefits of positive emotions on coping and health. Journal of Personality, 72(6), 1161–1190. https://doi.org/10.1111/j.1467-6494.2004.00294.x

เลี้ยงแมวหมา พาพ้นเศร้า

เลี้ยงแมวหมา พาพ้นเศร้า

                กิจกรรมมหัศจรรย์หนึ่งที่ผมแนะนำ ให้ผู้ป่วยซึมเศร้าลองทำเสมอ เพื่อช่วยพาอารมณ์ตัวเองให้กลับมาเป็นปกติ ในยามที่จิตใจเศร้าหมอง เบื่อชีวิต หรือคิดอยากตาย คือการเลี้ยงหมาแมวครับ มาดูกันว่ามันช่วยได้อย่างไร

                คนที่เคยเลี้ยงสัตว์จะพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยงนั้นไม่ธรรมดา เลี้ยงแล้วมีความผูกพัน คิดถึงกัน เกิดความสัมพันธ์แบบที่ไม่เหมือนกับมนุษย์ด้วยกัน  มีความห่วงใยกัน เวลาไมได้เจอกันนานๆก็จะคิดถึงมาก  เมื่อกลับมาพบกันจะดีใจ หมากับกับแมวเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมของคน นิสัยใจคอจะไม่เหมือนกัน แมวนั้นออกจะหวงตัว ไม่ค่อยแคร์คน แต่ละตัวมีนิสัยใจคอการแสดงออกไม่เหมือนกัน พอใกล้ชิดไปนานๆจะเห็นบุคลิกภาพแตกต่างกัน ที่ทำให้เรารู้สึกน่ารัก น่าค้นหา และเขาจะแสดงความผูกพันกับคนด้วยวิธีแปลกๆบ้าง เดาทางไม่ถูกบ้าง ขี้อ้อนบ้าง จนทำให้คนตกเป็นทาสโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ อะไรๆก็นึกถึงแต่แมวก่อนเสมอ ส่วนเจ้าหมานั้นก็ไม่น้อยหน้า ความรักที่มีต่อคนนั้น เรียกว่าไร้เงื่อนไข จงรักภักดี และจะทำดีกับเจ้านายเสมอ ไม่ว่าเจ้านายจะดีหรือร้าย แม้บางคนอารมณ์ขึ้นๆลงๆบ่อย แต่พวกหมาไม่เคยโกรธหรือจดจำฝังใจ ยกเว้นถูกทำร้ายจนกลัว ก็จะไม่กัดเจ้าของ อาจจะไปทำร้ายคนอื่นแทน เวลาเจ้านายกลับบ้าน ท่าทางดีใจของเขาจะฟินมากเป็นพิเศษ คือ เว่อร์วังอลังการเหมือนขาดคนไม่ได้ ทำให้ดูน่ารักน่าสงสารน่าเห็นใจเป็นพิเศษ ความผูกพันนี้มากจนบางคนคิดไปได้ว่า ชาติก่อนอาจเคยเป็นลูกหลาน เหมือนเป็นเจ้ากรรมนายเวร ชาตินี้เลยมาให้เลี้ยงดูต่อ ความรักผูกพันกันขนาดนี้ มีผลต่อจิตใจอย่างไร ทางจิตวิทยาอธิบายว่า เป็นความสัมพันธ์เชิงบวกแบบหนึ่งครับ ทำให้เกิดอารมณ์บวก ตอนได้ดูแลให้อาหาร เล่นด้วย อาบน้ำ เก็บอุนจิ พาไปเที่ยว เวลาที่อยู่ด้วยกันเพลินๆดี หรือเวลาห่างกันคิดถึงกัน อารมณ์บวกนี้ ช่วยเยียวยาอารมณ์ลบ เช่น ซึมเศร้า หรือ เครียด ให้ลดลงได้ครับ ความรู้สึกบวกแบบนี้ พบว่าเกิดจากสารสื่อนำประสาทตัวหนึ่ง ที่ชื่อว่า อ๊อกซีโทซิน (Oxytocin) ซึ่งจะหลั่งออกมาภายในสมอง ทำให้เกิดความสุข เกิดขึ้นตอนที่ เหมือนตอนแม่ให้นมลูก กอดลูก เวลามีความสัมพันธ์เชิงบวก แล้วรู้สึกดีๆ นั้นเกิดจากสารตัวนี้ครับ สารนี้อยู่ในกลุ่มที่ทำให้เกิดความสุข หรือ “สารสุข” ทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย และมีพฤติกรรมใกล้ชิดสัตว์เลี้ยงมากขึ้น เป็นวงจรแห่งความสุข ดังนั้นจึงไม่ประหลาดใจที่คนเลี้ยงสัตว์แล้ว เป็นทาสได้ง่ายๆ ในคนธรรมดาที่ไม่ได้ซึมเศร้า ก็ได้ประโยชน์เช่นกันนะครับ แต่ผมจะแนะนำเสมอสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่กำลังรักษาด้วยยาต้านเศร้า แนะนำตรงๆเลยว่า นอกจากกินยา ออกกำลังกาย จัดกิจกรรมในชีวิตให้สมดุลแล้ว ให้มีกิจกรรมผ่อนคลายสลับด้วย กิจกรรมเลี้ยงสัตว์เป็นอันหนึ่งเลยครับ และเท่าที่ผ่านพบว่าได้ผลดีมาก อารมณ์ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว มีพลังกลับมา อยากทำโน่นนี่มากขึ้น อธิบายได้เพิ่มเติมว่า นอกจากเราจะเติมสารสุขเอง เอาชนะความเศร้าได้ด้วยตัวเองแล้ว กิจกรรมเชิงบวกแบบนี้ เป็นการเบนความคิดและอารมณ์ออกจากความเศร้าครับ แม้ว่าในระยะแรกจะได้ผลสั้นๆชั่วคราว แต่ทำบ่อยๆ อารมณ์บวกจะมากขึ้นเอาชนะอารมณ์เศร้าได้เอง และนี่เป็นวิธีสร้างอารมณ์บวกด้วยตัวเอง เสริมกับการใช้ยานะครับ นอกจากนี้ยังพบว่า บางคนเกิดความรู้สึกบวกกับตัวเอง ที่ได้ทำอะไรดีๆ ได้ช่วยให้อาหาร ทำความสะอาด พาไปพบสัตวแพทย์ การดูแลสัตว์ที่ช่วยตัวเองไม่ได้เช่นนี้ ทำให้ตนเองรู้สึกมีค่า เห็นคุณค่าในตัวเอง รู้สึกชีวิตมีประโยชน์ มีเป้าหมาย  นอกจากนี้ การทำดีต่อคนอื่น ต่อสังคมสิ่งแวดล้อมนอกตัว เช่น ช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยสังคมให้ดีขึ้น ก็ทำให้เกิดอารมณ์บวกด้วยเช่นกัน บางคนไม่ได้เลี้ยงสัตว์เอง แต่ก็ช่วยสัตว์ที่ไม่มีใครเลี้ยง เกิดความรู้สึกบวกเช่นกัน ผมมีคนไข้โรคซึมเศร้า ที่ดีขึ้นเร็วจากการแอบไปเลี้ยงสัตว์จรจัด ทำแล้วรู้สึกดีมาก ตอนหลังไปหาทางช่วยเหลือคนอื่นในสังคมในที่อื่นๆด้วย เขาบอกว่า เขารู้สึกดีที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น  ความรู้สึกทางบวกนี้ เรียกว่า positive emotion  จะสอดคล้องกับหลักจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) ที่กำลังแพร่หลายในขณะนี้ครับ มีประโยชน์ทั้งในคนธรรมดา ทำให้มีความสุขในชีวิตมากขึ้น และได้ผลมากกับคนที่กำลังซึมเศร้า หรือเครียด หรือมีปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ  การเลี้ยงสัตว์กลายเป็นการรักษาที่เป็นที่ยอมรับในวงการจิตเวชศาสตร์ จนเป็นการรักษาแบบหนึ่ง ชื่อว่า “สัตว์เลี้ยงบำบัด” หรือ Pet Therapy ครับ

                อยู่บ้านมากในช่วงเก็บตัว เอางานมาทำที่บ้าน มีเวลาทำกิจกรรมที่บ้านมากขึ้น การเลี้ยงสัตว์เป็นกิจกรรมที่ดีนะครับ และช่วยบำบัดเยียวยาผู้ที่กำลังจิตตก เครียด หรือซึมเศร้าให้ดีขึ้นด้วยครับ

ปีเก่าผ่านไป ทบทวนจิตใจ

ปีเก่าผ่านไป ทบทวนจิตใจ

                ชีวิตปีนี้ผ่านไปรวดเร็ว ไม่น่าเชื่อว่าเราผ่านวิกฤตกันมาได้ คนที่ยังปลอดภัยอยู่ก็หวังว่าเราจะผ่านไปได้อีกปีหนึ่ง ลองมาทบทวนจิตใจกันก่อนจะจบปีนะครับ

                การทบทวนตนเองนี้ เป็นทักษะพิเศษ ที่มีเฉพาะในมนุษย์นะครับ เนื่องจากเรามีสมองที่พัฒนามากกว่าสัตว์อื่นใดในโลก เราจึงสามารถมองจิตตนเองได้ เหมือนการถอดตัวเองออกจากร่าง ลอยสูงขึ้นแล้วมองกลับมาที่ตัวตนของเรา เราสามารถย้อนคิดได้ว่า ปัจจุบันเรากำลังคิดอะไร รู้สึกอย่างไร ความสามารถของจิตใจแบบนี้เรียกว่า การหยั่งรู้ตนเอง หรือ metacognition ทำให้เราสามารถติดตามความคิด ความรู้สึก และเห็นความสัมพันธ์กันของความคิดและความรู้สึก  จนออกมาเป็นพฤติกรรม  เมื่อคิดก็รู้สึก มีอารมณ์ร่วมไปด้วยเสมอ คิดดีก็รู้สึกดี คิดไม่ดีก็รู้สึกไม่ดี ในทางกลับกัน เมื่อรู้สึกดีหรืออารมณ์ดี ก็จะคิดดี เมื่ออารมณ์เสียก็จะคิดลบ การหยั่งรู้ใจตนเองนี้ต้องฝึกนะครับ ไม่เช่นนั้นจะแค่คิดและรู้สึกเฉยๆ เกิดการตอบสนองไปเป็นพฤติกรรม ที่แสดงออกโดยเป็นสัญชาติญาณ ไม่ได้ใช้ความคิด หรือไม่ยั้งคิด ตอบสนองตามไปความรู้สึก ตามอารมณ์ธรรมชาติ ซึ่งอาจไปละเมิดผู้อื่นได้  การฝึกจิตใจให้สงบ เช่น การฝึกสติ การฝึกสมาธิ จะช่วยให้ใจสงบลง และมองเห็นตัวเองได้  จิตที่สงบก็จะมองโดยไม่เข้าข้างตัวเอง เห็นมุมมองของตัวเองได้ชัด รับรู้ว่าสิ่งที่คิดและรู้สึกนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นธรรมดา เมื่อจิตใจสงบมากๆ จะเข้าใจความจริงของชีวิต ไม่ยึดติดกับตัวตน ยอมรับความคิดความรู้สึกของตัวเองได้ ว่าความคิดนั้นมีความเป็นมาอย่างไร เหตุใดจึงคิดหรือรู้สึกแบบนั้น มีปัจจัยในอดีตใด ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์นั้น เมื่อระลึกได้ จะเกิดความเข้าใจตนเอง ไม่เก็บกดไว้ในใจตลอดไปได้ ทำให้ใจสงบ ปลอดโปร่ง สมองจะมีความสามารถมากกว่าปกติ และนำไปใช้คิดในเรื่องราวอื่นๆได้

                การทบทวนตนเองนั้นความจริงควรทำทุกวัน วันละครั้ง ใช้เวลาสงบๆตอนเย็นหรือหัวค่ำก่อนนอน นั่งสงบๆ ไม่มีคนรบกวน กำหนดลมหายใจเข้า-ออก ตามความผ่อนคลาย แล้วทบทวนว่าวันนี้เราทำอะไรบ้าง รู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร ได้เรียนรู้อะไรที่เป็นประโยชน์กับชีวิต ถ้าใช้แนวทางจิตวิทยาเชิงบวก หรือ positive psychology  จะทบทวนไปตามมิติต่างๆ 5 ด้าน คือ 1 ด้านอารมณ์บวก (positive emotion) ในเวลาที่ผ่านมานั้น อารมณ์ด้านบวกมีอะไรบ้าง เช่น สงบ ปลอดภัย ตื่นเต้น สนุก ผ่อนคลาย อยากรู้อยากเห็น  ลองทบทวนว่า กิจกรรมใด หรือพฤติกรรมใดที่ทำให้เรารู้สึกบวก รู้สึกมีคุณค่าต่อตนเอง หรือต่อผู้อื่น  2 ด้านความผูกพัน (engagement) ในสิ่งที่ทำไปแล้วนั้น ตนเองได้ผูกพัน มีส่วนร่วม ตอบสนองทางบวกกับผู้อื่นมากน้อยเพียงไร อะไรทำให้เกิดความผูกพัน ความผูกพันนั้นทำให้ตัวเองเดือดร้อน  3 ความสัมพันธ์เชิงบวก (relationship) เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับใคร หรือกับสิ่งใดบ้าง  แสดงให้เห็นว่า ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการมีเพื่อน เป็นที่ยอมรับและมีคุณค่า  4 คุณค่าและเป้าหมาย (meaning and purpose) สิ่งที่ทำนั้นตอบโจทย์ ความต้องการ ความคาดหวัง ความฝันของตนเองอย่างไร เช่น ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ได้รักษาสิ่งแวดล้อม การได้ทำในสิ่งที่ใฝ่ฝันถึงมานานแล้วตั้งแต่เด็ก สิ่งที่ทำนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมีประโยชน์ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อโลกอย่างไร 5 ความสำเร็จ  (accomplishment) ทบทวนตัวเองว่าได้ทำอะไรสำเร็จ บรรลุตามเป้าหมายหรือความฝัน ความสำเร็จอาจอยู่ที่ความรู้สึกระหว่างทาง เช่น ทำงานได้สำเร็จ ตั้งเป้าหมายที่อารมณ์และความสงบสุข จากการเรียนรู้เช่นเดียวกับผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

ส่งท้ายปีเก่าปีนี้  ลองหัดหยั่งรู้โดยสำรวจตัวเอง ที่ผ่านมาทั้งปีเลยครับ เรียงไปตามเวลา ทบทวนกิจกรรมหลักๆที่ประทับใจ ทำแล้วถ้ารู้สึกดี มีกำลังใจ แสดงว่ามาถูกทางแล้ว ให้ทำต่อไปเรื่อยๆ ชีวิตจะมีความสุข และพัฒนาไปสู้ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าอย่างแน่นอนครับ

ไฮไลท์

“การทบทวนตนเองนี้ เป็นทักษะพิเศษ ที่มีเฉพาะในมนุษย์นะครับ เนื่องจากเรามีสมองที่พัฒนามากกว่าสัตว์อื่นใดในโลก เราจึงสามารถมองจิตตนเองได้ เหมือนการถอดตัวเองออกจากร่าง ลอยสูงขึ้น แล้วมองกลับมาที่ตัวตนของเรา เราสามารถย้อนคิดได้ว่า ปัจจุบันเรากำลังคิดอะไร รู้สึกอย่างไร ความสามารถของจิตใจแบบนี้เรียกว่า การหยั่งรู้ตนเอง หรือ metacognition”

บทความหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2563

ห้องเรียนเชิงบวก (Positive Classroom)

ห้องเรียนเชิงบวก (Positive Classroom)

(จิตวิทยาเชิงบวกในชั้นเรียน : Positive Psychology in the Classroom)

นพ พนม เกตุมาน

เอกสารประกอบกิจกรรมเชิงปฏิบัติ “ก่อการครูเชียงราย”

20 ธันวาคม 2563

จิตวิทยาเชิงบวก เป็นแนวทางจิตวิทยาแนวทางใหม่ ที่ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ ที่เกิดจากอารมณ์เชิงบวก ที่ทำให้คนมีความสุข และทำให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวก สามารถนำมาใช้ในการเรียนรู้ การทำงาน และการดำเนินชีวิต

จิตวิทยาในแนวทางเดิม (traditional psychology) ศึกษาอารมณ์ที่ทำให้เกิดความไม่สบาย เช่น เครียด กังวล ซึมเศร้า การเรียนรู้ที่ผ่านมาได้ใช้แนวทางด้านลบมาเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเชื่อว่าถ้าหลีกเลี่ยงอารมณ์ด้านลบ จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความรู้สึกด้านลบ การลงโทษ การเปรียบเทียบ การตำหนิ กดดัน จะทำให้เกิดการเรียนรู้ เช่น

• ถ้าไม่เรียนจะโดนลงโทษ

• ถ้าคะแนนต่ำจะสู้เขาไม่ได้ จะพ่ายแพ้ จะแข่งกับใครไม่ได้

• ถ้าไม่อ่านหนังสือจะสอบตก จะอับอาย ชีวิตจะล้มเหลว

• ถ้าไม่ตั้งใจเรียนจะโง่ ไร้คุณค่า

• ถ้าทำงานไม่เสร็จ จะไม่ได้เล่น

• เรียนไม่ดี ชีวิตจะล้มเหลว

การเรียนรู้ในแนวทางนี้อย่างเดียว จะทำให้ผู้เรียนขาดความสุข แข่งขัน ไม่มีความสัมพันธ์เชิงบวก เรียนรู้ด้วยความจำใจ ทำให้เครียดและซึมเศร้าได้ง่าย ชีวิตเต็มไปด้วยความกังวล และความกลัว โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหา หรือความล้มเหลว เครียดและซึมเศร้า มองตนเองไม่ดี เพราะถูกฝึกมาให้ชีวิตต้องป้องกันความผิดพลาดตลอดเวลา ครูควรระมัดระวังทัศนคติเชิงลบนี้ เพราะถ้าใช้มากๆโดยไม่มีด้านบวก จะเกิดปัญหาในบุคลิกภาพ ควรหาทางใช้แนวคิดของ Positive Psychology เพื่อให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจจากภายใน มีความสุขในการเรียนรู้ อยากเรียนรู้มากกว่าถูกบังคับ  มีพลังต่อสู้ได้กับความล้มเหลว ไม่ติดอยู่กับความสำเร็จแต่เพียงอย่างเดียว

จิตวิทยาเชิงบวก ส่งเสริมการเรียนรู้ โดยมีหลักการให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจจากภายใน โดยเริ่มต้นจากการมีอารมณ์ด้านบวก ทำให้เรียนรู้ได้อย่างสนุกสนาน เพลิดเพลิน จนลืมเวลา เกิดความไหลลื่นในการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในการเรียนรู้นั้นผู้เรียนมีแรงจูงใจ มีส่วนร่วมเกิดความสัมพันธ์ ความผูกพันกับผู้เรียนด้วยกันและกับผู้สอน เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เกิดความสำเร็จในตนเอง นำไปใช้ได้ในอนาคต

PERMA Model

แนวทางของ Positive Psychology (Martin Seligman) มีหลักการสรุปได้ 5 มิติ (PERMA) ดังนี้

P-Positive Emotion ผู้เรียนเกิดความรู้สึกทางบวก เช่น สนุก ตื่นเต้น ท้าทาย ทึ่ง ชวนคิด อยากรู้ อยากเอาชนะ อยากเปลี่ยนแปลง ชื่นชมตนเอง ชื่นชมผู้อื่น รู้สึกดีต่อตนเอง ภูมิใจตนเอง ชื่นชมกลุ่ม กิจกรรมในการเรียนรู้ จึงควรออกแบบให้ ผู้เรียนมีส่วนร่วม ทำงานร่วมกัน ช่วยกันแก้ปัญหา และเอาชนะอุปสรรคต่างๆด้วยกัน เมื่อจบการเรียนรู้ ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเห็นคุณค่าตนเอง ภูมิใจตนเอง อยากเรียนรู้ต่อไปด้วยตัวเอง และยังรู้สึกเป็นที่ยอมรับจากเพื่อน จากครู จากชุมชนสิ่งแวดล้อม

E-Engagement ผู้เรียนมีพฤติกรรมมีส่วนร่วม (engage) ในกิจกรรม โดยการมีส่วนร่วม แสดงออก ร่วมมือ ไม่สนใจกิจกรรมอื่น ให้เวลา และทุ่มเทในงาน การออกแบบกิจกรรมที่ดี จะช่วยให้เกิดความร่วมใจกับผู้สอนและร่วมมือกันในกลุ่ม การใช้กระบวนการกลุ่มที่ดี มีการแบ่งกลุ่มให้เสมอภาคกันทุกกลุ่ม (heterogeneous) ฝึกให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่าง เน้นกระบวนการกลุ่ม (process) มากกว่าผลงานกลุ่ม (product) มีการสังเกตพฤติกรรมกลุ่ม มีการสอนงานกลุ่ม (group coaching) มีการประเมินกลุ่ม และให้มี constructive feedback สม่ำเสมอ จะช่วยให้เกิดความมีส่วนร่วมนี้ ผู้สอนควรสังเกตพฤติกรรมและการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง และช่วยเหลือผู้เรียนที่ไม่เชื่อมโยงกับกลุ่มให้ร่วมมือกับกลุ่มมากขึ้น ให้เพื่อนยอมรับ มีการรับฟัง แสดงความความเห็น ถกเถียง สรุป มีการฝึกทักษะผู้นำผู้ตาม

                การมีส่วนร่วมนั้น เกิดขึ้นระหว่างคนกับกิจกรรม และระหว่างคนด้วยกันเอง (ระหว่างเพื่อน ระหว่างครูกับนักเรียน) และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม

R-Relationship ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างดี มีความร่วมมือร่วมใจ (collaboration )เป็นอันหนึ่งอันเดียว (cohesion) มีการสื่อสาร (communication) แบ่งปันร่วมทุกข์ร่วมสุข (sharing) มีความเป็นผู้นำผู้ตาม (leadership) ในความสัมพันธ์ที่ดีนั้น มีความรู้สึกที่ดีตามมา เห็นคุณค่าของการทำงานกลุ่ม ยอมรับความแตกต่าง ได้ช่วยเหลือส่งเสริมกัน สะท้อนถึงการทำงานหรือใช้ชีวิตกันในสังคม

ในกลุ่มที่ต้องการเน้นทักษะสังคมในการทำงานร่วมกัน การประเมินเพื่อสร้างสรรค์โดยไม่มีคะแนน จะช่วยให้เกิดการพัฒนาผู้เรียน

ความสัมพันธ์เชิงบวกนั้น เกิดขึ้นระหว่างคนกับกิจกรรม และระหว่างคนด้วยกันเอง (ระหว่างเพื่อนนักเรียน ระหว่างครูกับนักเรียน) และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม

M-Meaning สิ่งที่เรียนรู้มีความหมายสำคัญ มีคุณค่า ตอบคำถามของเป้าหมายชีวิต สัมพันธ์กับการเรียนรู้ในอดีต ชวนให้คิดถึงการเรียนรู้เดิม สัมพันธ์กับปัจจุบัน คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิด หรือความเชื่ออะไร เกิดการเปลี่ยนแปลงใดในปัจจุบัน ทำให้มีแรงจูงใจจะทำอะไรต่อไป สัมพันธ์กับอนาคต จะนำไปใช้กับชีวิตได้อย่างไร ผู้สอนควรช่วยให้ผู้เรียนเห็นความสัมพันธ์นี้เป็นระยะๆ จะช่วยให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญและคุณค่าของสิ่งที่เรียนต่อตนเอง

การเรียนรู้แบบ Problem-based Learning เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องหนึ่ง ที่ชวนให้ผู้เรียนได้ลองสัมผัสปัญหาก่อน สร้างความตระหนัก และชวนคิดให้แก้ปัญหา ความท้าทายจะสร้างแรงจูงใจ อยากรู้อยากเห็น นำไปสู่การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับชีวิตจริง ความรู้ทางทฤษฎีจะนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหา เห็นคุณค่าและความหมายของการเรียน

คุณค่าและความหมายนั้น เกิดขึ้นเชิงบวกในผู้เรียน กิจกรรม คนอื่น ชุมชนกับสิ่งแวดล้อม

A-Accomplishment การเรียนรู้นั้นทำให้เกิดความสำเร็จอะไรในชีวิต ผู้เรียนเกิดความรู้สึกทางบวก เมื่อได้ทบทวนว่าได้อะไรบ้าง แม้แต่เป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น ได้ความรู้ ข้อคิด ได้ทักษะ ได้ทัศนคติใหม่ เช่น เกิดความอยากรู้ อยากเรียน อยากอ่าน อยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่ม

                ความสำเร็จนั้น เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรม (process accomplishment)  หรือ เมื่อทำได้สำเร็จ (product accomplishment)

                ครูช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกทำได้สำเร็จเป็นขั้นๆ ทีละน้อย ให้ชื่นชมกับความก้าวหน้าของตนเอง โดยไม่จำเป็นเปรียบเทียบกับคนอื่น

สรุปการสร้างจิตวิทยาเชิงบวก ใช้แนวทาง 5 มิติ เรียกโดยใช้ตัวย่อว่า PERMA

ครูสามารถประยุกต์ PERMA Model มาใช้ในห้องเรียน โดยการออกแบบกิจกรรม ให้ผู้เรียนมีอารมณ์ด้านบวก มีความผูกพันกันกิจกรรม มีความสัมพันธ์กันดีและสัมพันธ์กับครูที่ดี เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียน และมีความสำเร็จจากการเรียนรู้นั้น

ครูสามารถประเมินการเรียนรู้โดยการให้ผู้เรียนสะท้อนการเรียนรู้ (reflection) ในตอนท้ายกิจกรรม โดยให้ผู้เรียนแสดงว่าในการเรียนรู้นั้นรู้สึกอย่างไร เป็นความรู้สึกด้านบวกหรือไม่ (positive emotion) มีส่วนร่วมในกิจกรรม (engagement) นั้นอย่างไร ความความสัมพันธ์ผูกพันกับเพื่อนๆและผู้สอน (relationship) มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่เรียนรู้ใหม่นั้นมีคุณค่าต่อชีวิตอย่างไร นำไปใช้ได้อย่างไร (meaning) และรู้สึกว่าได้ทำอะไรสำเร็จบ้าง (accomplishment)

การใช้จิตวิทยาเชิงบวก จะช่วยให้ผู้เรียนมีอารมณ์ด้านบวก ในการเรียน อยากเรียนรู้ต่อ ไปเรียนรู้เพิ่มเติม และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไป โดยกำหนดเป้าหมายและการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต และช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี  เกิดทักษะสำคัญที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 คือ

ความร่วมมือร่วมใจ (collaboration)

การสื่อสารทางบวก (positive communication)

ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (creativity)

การคิดไตร่ตรองอย่างมีเหตุผล (critical thinking)

คุณค่าของการเรียนรู้โดยใช้แนวทางจิตวิทยาเชิงบวก

            เมื่อใช้แนวทางของจิตวิทยาเชิงบวกในห้องเรียน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้เรียน และผู้สอน

  1. ห้องเรียนมีความสุข
  2. เรียนรู้อย่างมีความสุข อยากเรียน อยากรู้ ไปเรียนรู้เอง
  3. เรียนแล้วจำได้ ทำได้จริง เรียนรู้แบบต่อยอด เชื่อมโยงกัน
  4. เรียนแล้วนำไปใช้ได้ในชีวิต เห็นคุณค่าและประโยชน์
  5. ผู้เรียนมีความสัมพันธ์กันดี ช่วยเหลือ ไม่แข่งขัน
  6. ผู้สอนมีความสุข สนุก อยากสอน

การประเมินผลการเรียนรู้

                ครูสามารถออกแบบการประเมินผลการเรียนรู้ ในผู้เรียน ได้ดังนี้

  1. การสังเกตและบันทึกพฤติกรรมผู้เรียน (behavior observation)
  2. การเขียนสะท้อนการเรียนรู้ (reflection)
  3. การติดตามพฤติกรรมหลังการเรียนรู้ (long term follow up of behaviors)

ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับ Positive Psychology

FLOW (Mihaly Csikszentmihalyi)

FLOW คือ คำอธิบายประสบการณ์ที่มีความสุขในการเรียนรู้หรือการทำงาน เพลิดเพลินทำไปจนลืมวันเวลา มีความสุขการกระทำจนไม่อยากเลิก และอยากทำสิ่งนั้นต่อไปเรื่อยๆ เกิดความไหลลื่นในการเรียนรู้ เกิดจากการได้ทำในสิ่งที่ชอบ เกิดความสนุก ตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็น ท้าทาย รู้สึกดีต่อตนเอง ได้เรียนรู้และประสบความสำเร็จในการกระทำนั้น เห็นคุณค่าและความหมายรวมทั้งประโยชน์ที่เกิดขึ้นทั้งต่อตนเองและผู้อื่น อารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอารมณ์ด้านบวก (positive emotion)

Broaden and Build Theory (Barbara Fredrickson )

ทฤษฎีที่อธิบายว่าเมื่อคนมีอารมณ์บวก (positive emotion) จะมีผลทำให้จิตใจกว้าง เปิดรับข้อมูลใหม่ การเรียนรู้ใหม่ได้เร็ว มีประสิทธิภาพ เป็นการเรียนรู้ทางบวก (positive education)

คนที่มีอารมณ์ด้านบวก มักจะเป็นที่รักของคนอื่น มีความยืดหยุ่น (resilience) เรียนรู้ได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และลดผลของ negative emotion จึงช่วยป้องกันปัญหาอารมณ์ ลดความกังวล หรืออารมณ์ซึมเศร้า ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น อีคิวดีขึ้น

บทบาทครูในการใช้ จิตวิทยาเชิงบวกในชั้นเรียน

การพัฒนา Positive Emotion

อารมณ์ด้านบวก กระตุ้นผู้เรียนให้เกิดแรงจูงใจ อยากเรียนรู้ มีส่วนร่วมในกิจกรรม เกิดขึ้นเมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดี การสื่อสารที่ดี ทัศนคติที่ดีระหว่างกัน กิจกรรมทำให้เกิดอารมณ์บวก ได้แก่ ความสนุก ตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็น ท้าทาย เกิดความสำเร็จเป็นขั้นๆ ทำให้เกิดความรู้สึกดีต่อตนเอง เห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ ชื่นชมความหมายและประโยชน์ในการเรียนรู้ต่อตนเอง ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม

ครูช่วยให้นักเรียนรู้จักอารมณ์ตนเอง เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึก  ความคิด และพฤติกรรม ให้กล้าแสดงออกทางอารมณ์ แลกเปลี่ยนกัน ยอมรับอารมณ์ เริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก และให้ความสำคัญของการจัดการเรียนรู้โดยให้เกิดความสมดุลของ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม

อารมณ์ด้านบวก สามารถกระตุ้นให้รับรู้ได้ 3 ระดับ ตามเวลา ดังนี้

1. การทบทวนอดีต (past) การชื่นชม เชื่อมโยงกับความรู้หรือประสบการณ์เก่า เกิดความเข้าใจ ยอมรับ ใช้กิจกรรมให้ระลึกถึงคนที่มีคุณค่า ให้ขอบคุณคนที่ทำดี (gratitude) ชื่นชมตนเอง ให้อภัย (forgiveness) คนที่ทำผิดพลาด ให้อภัยตนเอง ให้ย้อนเวลากลับไปบอกตนเองในอดีต

2. การทบทวนตนเองในปัจจุบัน (present) การฝึกสติ (mindfulness) ทบทวนความสนุก (savoring) ให้ฝึกระลึกถึงความคิดความรู้สึกตนเอง การมรสติทำให้ใจสงบ สามารถคิดเชื่อมโยงไปในอดีต เชื่อมโยงไปในอนาคต ให้ทบทวนตนเอง รู้ตนเอง (self awareness training) ลดอคติ สำรวจความคิดความเชื่อด้วยใจเป็นกลาง

3. การคาดหวังในอนาคต (hope) การเห็นคุณค่า การคาดหวังในอนาคต การนำประสบการณ์ไปใช้ หรือประยุกต์ใช้ในชีวิต มีความคาดหวังด้านบวกในอนาคต (optimism)

การสร้าง Relationship

ความสัมพันธ์ในการเรียนรู้ มี 2 ด้าน

1. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน สร้างด้วยการออกแบบการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม ใช้กิจกรรมกลุ่ม เพื่อฝึกทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การทำงานร่วมกันเป็นทีม (collaboration) การสื่อสาร (communication) การเป็นผู้นำ (leadership)

2. ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ครูควรรู้จักนักเรียนทุกคนเป็นรายบุคคล มีทัศนคติด้านบวกต่อเด็ก จำชื่อและรายละเอียดส่วนตัว รู้ความชอบ ความถนัด จุดเด่น ภูมิหลังครอบครัวและปัญหา ให้ความเสมอภาค ให้โอกาสเด็ก รับฟัง ไม่กดดัน ไม่ใช้อำนาจ เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้อย่างอิสระ ให้เด็กได้ใช้ศักยภาพตนเองอย่างเต็มที่

การจัดประสบการณ์เรียนรู้ ควรใช้กิจกรรมกลุ่ม การทำงานร่วมกันเป็นทีม ให้เกิดการทำงานร่วมกัน แบ่งปัน ช่วยเหลือ ยอมรับ ฟัง สื่อสาร ให้เกิดการยอมรับและเรียนรู้ร่วมกัน (collaboration)

การสร้าง Meaning

การเรียนรู้จะมีความน่าสนใจ อยากเรียนรู้ เมื่อผู้เรียนมีเป้าหมายของตนเอง เห็นประโยชน์คุณค่า ครูช่วยสร้างได้ ด้วยการอธิบายเป้าหมายและคุณค่า ความสำคัญของกิจกรรมนั้น และเชื่อมโยงให้เห็นการนำไปใช้งาน แก้ปัญหา หรือมีประโยชน์ต่อตนเอวอย่างไร (เชื่อมโยงกับอนาคต) และถ้าเชื่อมโยงไปถึงการเรียนรู้หรือประสบการณ์เก่า จะช่วยให้สนุกในการเข้าใจและเห็นภาพรวม เห็นความหมายและคุณค่าในชีวิตมากขึ้น ทำให้เข้าใจสนุกและเพลิดเพลินกับการเรียน

ครูสามารถกระตุ้นให้นักเรียนเห็นความสำคัญของ meaning ได้

เริ่มต้นกิจกรรม ใช้คำถามนำว่า ทำไมถึงต้องเรียนหรือมีกิจกรรมนี้ ใครมีประสบการณ์เดิมในเรื่องที่จะเรียนรู้มาแล้ว มันมีประโยชน์อย่างไร เกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างไร นำไปใช้อย่างไรในชีวิต

ระหว่างกิจกรรม ให้ลองคิดว่า สิ่งที่กำลังเรียนรู้นั้น สัมพันธ์กับชีวิตอย่างไร เอาไปใช้ได้มั้ย ใช้อย่างไร

เมื่อจบกิจกรรม ให้ลองสังเคราะห์ ว่า จะเอาไปใช้ที่ไหน อย่างไร

การส่งเสริม Accomplishment

ครูควรช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จ ทำได้ ทำได้มากขึ้นกว่าเดิม เห็นความก้าวหน้าของตนเอง การจัดประสบการณ์เรียนรู้ ควรให้ท้าทาย ยากเล็กน้อยแต่พอทำได้สำเร็จ เกิดความภูมิใจตนเอง แล้วเพิ่มความยากขึ้นเล็กน้อย เพียงพอให้กระตุ้นความอยากลอง ท้าทายเล็กน้อยแต่ทำได้มากขึ้นตามลำดับ ให้เหมาะสมกับความสามารถของเด็กแต่ละคน เด็กที่เก่ง ควรมีกิจกรรมท้าทายที่ยากกว่าเด็กปกติทั่วไปมิฉะนั้นจะเบื่อและหมดความสนใจ

ในการเรียนแบบกลุ่มย่อย ควรคละเด็กที่มีความแตกต่างกันทุกด้าน สำหรับเด็กเก่ง ความท้าทายควรอยู่ที่เด็กเก่งช่วยสอนเด็กไม่เก่ง

ครูช่วยสร้างความสำเร็จได้ ด้วยการให้นักเรียนทบทวนตนเองว่า ได้ทำอะไรสำเร็จ ทั้งในกระบวนการ (process) ระหว่างทาง  และ ผลลัพท์(product) ปลายทาง

สรุป

จิตวิทยาเชิงบวก ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนสู่การเปลี่ยนแปลงจากภายใน โดยการเรียนรู้ที่เกิดอารมณ์เชิงบวก มีความผูกพันกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การเรียนรู้บรรลุเป้าหมาย โดยเกิดคุณค่าและความหมายต่อชีวิต

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

What are Positive and Negative Emotions and Do We Need Both?

https://positivepsychologyprogram.com/positive-negative-emotions/#psychology